ข่าวประชาสัมพันธ์ : กัลยาณมิตร ธรรมะออนไลน์

เทศกาลวันลอยกระทง 2556

วันที่ 05 พย. พ.ศ.2556

เทศกาลวันลอยกระทง ปี พ.ศ. 2556

 
ประกาศ - กทม.จัดงานลอยกระทงเหมือนเดิม หวั่นกระทบการท่องเที่ยว แต่สั่งงดกิจกรรมการแสดง การละเล่น และกิจกรรมบันเทิงทั้งหมด เพื่อถวายอาลัย “สมเด็จพระสังฆราช” ด้านสวนสาธารณะทั่วกรุง 28 แห่ง ยังเปิดให้ลอยกระทงตามปกติ

     นายมานิต เตชอภิโชค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พ.ย.แต่ช่วงดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ไว้ทุกข์เป็นเวลา 30 วัน เพื่อถวายอาลัยแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ทรงสิ้นพระชนม์ลง ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักวัฒนธรรม ท่องเที่ยวและกีฬา จะไม่งดการจัดงาน เพราะอาจกระทบกับการท่องเที่ยว และภาคเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จองแพ็กเกจท่องเที่ยวมานาน แต่จะงดการแสดง การละเล่น กิจกรรมบันเทิงทั้งหมด เพื่อเป็นการแสดงความไว้อาลัย สำหรับสถานที่จัดงานหลัก ยังเป็นบริเวณใต้สะพานพระราม 8

                                                                                                                                      เทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2556 เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมตัวพาครอบครัวไปลอยกระทงร่วมกันที่ใดที่หนึ่งแล้ว แต่ก่อนที่จะไปลอยกระทงกันนั้น เรามาทำความรู้จักประเพณีลอยกระทงให้ถ่องแท้กันก่อนดีกว่าจะได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของ ประเพณีอย่างแท้จริง 

 

กำหนดการณ์วันลอยกระทง 

วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขึ้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง 

        

 

ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง 

ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ"(1) หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน 

ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 

ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า 

"ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกผกาเกษรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..." 

เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน"  พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย 

        

 

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง 

สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลายประการของแต่ละท้องที่ได้แก่        

1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงไปในน้ำอันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด           

2.เพื่อเป็นการสักการะ รอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดียปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทธ         

3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์           

4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้            

5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ           

6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน           

7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อีกด้วย

 

 

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค 

ลักษณะการจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัด และแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ 

ภาคเหนือ (ตอนบนจะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง" อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่  (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย) โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุตต์ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า

        

จังหวัดตาก จะประดิษฐ์กระทงขนาดเล็ก แล้วปล่อยลอยไปพร้อม กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"  

         

จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี ..2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง   

        

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ (2) โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง 

        

กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานลอยกระทงหลายแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ "งานภูเขาทอง" ที่จะเนรมิตงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ส่วนใหญ่จัดอยู่ราว 7-10 วัน ตั้งแต่ก่อนวันลอยกระทง จนถึงหลังวันลอยกระทง 

        

ภาคใต้ มีการจัดงานลอยกระทงในหลาย จังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีงานยิ่งใหญ่ทุกปี 

 

กิจกรรมในวันลอยกระทง 

ในปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงทุก จังหวัด ซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือน กันก็คือ การประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่าง ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม 

        

เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทง ก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จ หรือเสี่ยงทายในสิ่งต่าง จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำ และในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา 

นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง และตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่ มหรสพสมโภชต่าง บางแห่งอาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย 

 

idea การทำกระทงง่ายๆจากรายการ ตลาดสดสนามเป้า

 

เพลงประจำเทศกาลลอยกระทง

เมื่อเราได้ยินเพลง "รำวงลอยกระทง" ที่ขึ้นต้นว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง..." นั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้จะถึงวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งเพลงนี้เป็นที่คุ้นหูของทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เพราะในต่างประเทศมักเปิดเพลงนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงถึงความเป็นประเทศไทย

เพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี ..2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็นเพลง "รำวงลอยกระทงที่ติดหูกันมาทุกวันนี้ มีเนื้อร้องว่า 

 

วันเพ็ญเมื่อเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง  

เราทั้งหลายชายหญิง  

สนุกกันจริง วันลอยกระทง  

ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง  

ลอยกระทงกันแล้ว  

ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง  

รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง  

บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ 

 

         

  

สำหรับท่านที่ยังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวหรือทำบุญที่ไหน ก็อย่าลืมชวนครอบครัว และเพื่อน มาร่วมกันสานต่อประเพณีที่ดีงามนี้ไว้นะครับ อ่อ... และอย่าลืมใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติด้วยล่ะ เพราะนอกจากจะไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ประเพณีแล้ว ยังจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติไว้อีกต่อหนึ่งด้วยครับ

                        

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Kapook.com

 

รับชมวีดีโอ เทศกาลลอยกระทง จากรายการ ข้อคิดรอบตัว

 

 

แนะนำสถานที่ลอยกระทง พ.ศ 2556

(จังหวัดเชียงใหม่ “ประเพณียี่เป็ง”)

ชาวเหนือจะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง” โดยจะนิยมทำโคมลอยขึ้นมาแทนกระทงเรียกกันว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ซึ่งทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ โดยมีความเชื่อกันว่าเพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ซึ่งท่านบำเพ็ญศีลอยู่ในท้องทะเลลึก ความเชื่อนี้มีมาแต่โบราณเป็นความเชื่อร่วมกันของชาวล้านนาและชาวพม่า

(จังหวัดเชียงราย “ประเพณีลอยกระทงเชียงแสน”)

เป็นงานเทศกาลใหญ่แห่งปีของจังหวัด มีงานรื่นเริงต่างๆ เช่น การประกวดนางนพมาศ หนูน้อยนพมาศ การประกวดกระทงสวยงาม การประกวดโคมไฟล้านนา และการลอยกระทงสาย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน .. 2556

(จังหวัดตาก “ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1000 ดวงชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ”)

เป็นประเพณีการทำกระทงขนาดเล็ก แล้วนำไปลอยพร้อมๆ กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสายเรียกกันว่า "กระทงสาย" จัดขึ้น บริเวณลุ่มน้ำปิง มีขบวนแห่อัญเชิญพระประทีปและถ้วยพระราชทานฯ ขบวนแห่กระทงสายของชุมชนต่างๆ การประกวดกระทงนำ-กระทงตาม-กระทงปิดท้าย การออกร้านสินค้าโอท็อป (OTOP) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน .. 2556

(จังหวัดสุโขทัย “งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ”)

ชมขบวนแห่โคมชัก-โคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง สุโขทัยเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ งานลอยกระทงจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน .. 2556

(กรุงเทพมหานคร “งานภูเขาทอง” และ “เทศกาลสีสันแห่งสายน้ำมหกรรมลอยกระทงกรุงเทพมหานคร”)

เป็นงานลอยกระทงยิ่งใหญ่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานกรุงเทพไปจนถึงสะพานกรุงธนฯ มีการตกแต่งประดับไฟตามอาคารและโบราณสถานริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีขบวนเรือประดับไฟ การแสดงศิลปวัฒนธรรม และงานเทศกาลบริเวณภูเขาทอง จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน .. 2556

(จังหวัดสกลนคร “เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล”)

มีขบวนแห่ประทีปพระราชทาน การประกวดกระทงสวยงาม การประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และงานมหรสพรื่นเริงต่างๆ

(จังหวัดสมุทรสงคราม)

"ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง" การลอยกระทงกาบกล้วยกว่า 100,000 ใบ มีการแสดงมหรสพ หุ่นกระบอกเพลงเรือ แารแสดงดนตรีไทย

(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

เทศกาลลอยกระทงตามประทีป ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ

(จังหวัดสุพรรณบุรี)

ประเพณีลอยกระทงจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นงานเทศกาลยาวตลอดเดือน ในวันลอยกระทงจะมีการลอยกระทงสาย ชมเรือไฟ และการแสดงแสงเสียงตำนานลอยกระทงกลางแม่น้ำท่าจีน การประกวดกระทงประเภทต่างๆ นอกจากนั้นยังมีงานการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมรำวงย้อนยุค การแสดงวงดนตรีลูกทุ่ง การจำหน่ายสินค้าต่างและงานมหรสพต่างๆ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน ..2556

(จังหวัดนครพนม)

เทศกาลประจำปีในช่วงวันลอยกระทง ซึ่งในจังหวัดนครพนมจะมีเทศกาลไหลเรือไฟ” มีการตกแต่งเรือแล้วประดับไฟเป็นรูปต่างๆ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปี

(จังหวัดร้อยเอ็ด)

มีชื่องานประเพณีว่าสมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” มีการประกวดประทีปโคมไฟและการประกวดกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง 11 หัวเมือง และมหรสพรื่นเริงต่างๆ

(จังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่)

งานลอยกระทงประจำปี มีการประดับโคมไฟสีสันต่างๆ เป็นงานลอยกระทงชื่อดังของทางใต้ และมีชื่อเสียงระดับประเทศ

ขอขอบคุณข้อมูลสถานที่ท่องเทียวจาก : http://goo.gl/KxY98R

######################################################

(1) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมพิธีจองเปรียญได้ที่ http://goo.gl/CzB15Y

(2) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเพณีไหลเรือไฟที่ http://goo.gl/nvxcKD

.....................................................................................................

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน กด Like ให้ได้บุญ Share ต่อขอให้รวย  กดเลยจ้า      

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล