5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ
กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันพ่อแห่งชาตินี้
1. ในวันพ่อแห่งชาติเราควรประดับธงชาติไทยที่อาคารบ้านเรือน
2. จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
และใน วันพ่อแห่งชาติ ที่จะมาถึงนี้ ลูก ๆ ทั้งหลายก็อย่าลืมแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพ่อ แม้ว่าจริง ๆ แล้วการแสดงความรักและความกตัญญูต่อพ่อสามารถแสดงได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่ วันพ่อแห่งชาติ เพียงวันเดียว
ประวัติ วันพ่อแห่งชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ ในทั่วโลก
วันพ่อแห่งชาติ ถือเป็นวันสำคัญที่ฉลองถึงความเป็นพ่อ และบุคคลที่นับถือเยี่ยงพ่อ โดย จอห์น บี. ดอดด์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิด วันพ่อแห่งชาติ ซึ่ง วันพ่อแห่งชาติ ครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ในโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองแฟร์มอนต์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่แนวคิด วันพ่อแห่งชาติ ของจอห์น บี. ดอดด์ จะถูกเผยแพร่ไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดย วันพ่อแห่งชาติ ของแต่ละประเทศจะกำหนดวัน และจัดงานแตกต่างกันไป เช่น
วันที่ 19 มีนาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศสเปน โปรตุเกส อิตาลี
วันที่ 8 พฤษภาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศเกาหลีใต้
วันที่ 5 มิถุนายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศเดนมาร์ก
วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร
วันที่ 23 มิถุนายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศโปแลนด์
วันอาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศบราซิล
วันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์
วันที่ 5 ธันวาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศไทย
ประวัติวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม มหาราช
ประวัติวันพ่อแห่งชาติ จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดย คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติขึ้น ด้วยความจงรักภักดี และมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของประชาชนชาวไทย ในฐานะ "พ่อแห่งชาติ" และ "พ่อของแผ่นดิน" ในประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันพ่อแห่งชาติ
ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งชาติ” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้ วัฒนาถาวรสืบไป
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน วันพ่อแห่งชาติ
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน วันพ่อแห่งชาติ คือ
1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2.เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3.เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
4.เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
5. เพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับพ่อ และลูกที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี สมควรแก่การยกย่องของสังคม
6. เพื่อรักษาประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป
ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดให้ ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ
“พุทธรักษา” ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครอง ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวัน พระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อ จึงเสมือนกับการบอกถึง ความรักและเคารพบูชาพ่อ ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายเกิดแก่บ้านและผู้อาศัย
พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ ตะละภัฎ (ชูกระมล) (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) มีพระนามขณะนั้นว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"
พระนาม "ภูมิพลอดุลเดช" นั้น พระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja"ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล"ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกดตราบปัจจุบัน
พระนามของพระองค์มีความหมายว่า
• ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"
• อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "ผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเทียบได้"
เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา
การศึกษา
พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศสภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ "โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์" (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne) เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรีพระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช"เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2478 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทย เป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงปี พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ และผลงานอื่น
ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี
ในฐานะที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่าง ๆ หลายแขนง จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติและบิดาแห่งการดนตรี พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกเขียนภาพ และมีพระปรีชาสามารถในเรื่องการถ่ายภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีพระปรีชาสามารถปั้นพระพุทธรูปพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระองค์เอง
งานทางด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในภาษาหลากหลายภาษา ทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น
ด้านการพัฒนาชนบท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทุกหนแห่งไม่ว่าดินแดนแห่งนั้นจะทุรกันดารเพียงใด ไม่ว่าใกล้ไกลแค่ไหน พระองค์จัดทำโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริควบคู่ไปในทุกๆ ด้าน ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่ง พระองค์มีจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อขจัดความทุกข์ยากของชาวชนบท และสนับสนุนส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาสังคมเมืองให้ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเป็นโครงการเกี่ยวกับปรับปรุงถนนหนทาง การก่อสร้างถนนเพื่อการ สัญจรไปมาได้สะดวกและทั่วถึง การคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ สำคัญของการนำความเจริญไปสู่ชนบท การสื่อสาร ติดต่อที่ดียังผล สำคัญทำให้เศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น ราษฎรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการพัฒนาชนบทนั้น การคมนาคม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะมองข้ามไปเสียมิได้ เพราะเป็นเสมือนประตูเชื่อม ระหว่างในเมือง และชนบท ดังนั้น การที่จะเริ่มโครงการพัฒนาใดๆ นั้นจะต้องเริ่มจากการปรับปรุง และการก่อสร้างถนนหนทางเป็นการเปิดประตูนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่
ด้านการเกษตรและชลประทาน
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทานนับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศเพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปีเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอก เขตชลประทานซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลักทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอและไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น
ด้านการแพทย์
โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า หากประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากดรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้ได้ทันที
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด้กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่า ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย
ใน พ.ศ. 2554 ทางองค์กรแพทย์ศัลยศาสตร์จากทั่วโลก ต่างพร้อมใจกันถวายใบประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตรสมาชิกกิตติมศักดิ์ และเหรียญสดุดี จากคุณูปการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พระองค์ทรงอุทิศเพื่อพสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์
เพลง King of King V.1
เพลง King of King V.2
ร่วมลงนาม ถวายพระพรออนไลน์ (คลิ๊กที่รูป)
บทบาทของพ่อ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปบทบาทหน้าที่ของพ่อและแม่ไว้ 5 ข้อ
1. กันลูกออกจากความชั่ว
2. ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี
3. ให้ลูกได้รับการศึกษาเล่าเรียน
4. ให้ลูกได้แต่งงานกับคนดี
5. มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงการณ์อันควร
ในส่วนของพ่อเองก็ต้องตั้งใจฝึกตนเองให้ดี ให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกให้ได้ หาเวลามาทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้มีเวลาแนะนำอบรมสั่งสอนกันเพื่อครอบครัวจะได้ เป็นครอบครัวอบอุ่น โดยในวันพ่อที่จะถึงนี้ ก็ขออวยพรให้คุณพ่อทุกท่านมีความสุข ดูแลลูกๆ และอยู่กับลูกๆ ไปตราบนานเท่านาน
ความหมายของคำว่าพ่อ
คำว่า พ่อ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายว่าหมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดลูก หรือคำที่ลูกเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน ส่วนทางพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า พ่อ หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก มีใช้หลายคำ เช่น บิดา (พ่อ), ชนก (ผู้ให้กำเนิด) ซึ่งจริงๆ แล้วพ่อเป็นได้มากกว่าในพจนานุกรม ด้วยจากความรัก และความห่วงใย ที่พ่อมีให้แก่ลูก คนที่ได้ชื่อว่า พ่อ นั้นเป็นได้ทุกอย่างสำหรับลูก อาทิ
- เพื่อน
คือ ทำให้เราไม่รู้สึกเหงา ในวันที่ครอบครัวย้ายบ้านใหม่ ทำให้เราไม่รู้จักใครเลยสักคน พ่อจะเปลี่ยนสถานะจากสามีแม่ มาเป็นเพื่อนของเรา ทำให้เรารู้สึกไม่เหงา พ่อพาเราไปเดินเล่นรอบหมู่บ้าน พาเราไปเตะบอลที่สนามหลังหมู่บ้าน ทำให้เรารู้สึกว่าไม่เหงาอีกต่อไป ทำให้เรารู้สึกไม่ต้องการใครอีก ขอเพียงเพื่อนคนนี้ที่เราเรียกเขาว่า "พ่อ" ก็พอ
- พี่
คือเวลาที่เราทะเลาะกับเพื่อน เราจะรู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่แย่ที่สุด แต่ทั้งที่ไม่แสดงออก ซึ่งจะมีคนหนึ่งที่รู้นั้น ก็คือพี่ (หมายถึงพ่อเรานั่นเอง) จะเข้ามาถามว่า ทำไมวันนี้กลับบ้านมาเร็วจัง มีอะไรหรือเปล่า! พอเราบอกว่าทะเลาะกับเพื่อน พี่(พ่อ) ของเราก็จะปลอบใจว่า "ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็ดีกันเชื่อพ่อเถอะ" หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น เพื่อนเราก็กลับมาเล่นกันเหมือนเดิม แม้วันนั้นจะโกรธกัน แต่เพราะพ่อของเรา ที่เข้ามาไกล่เกลี่ยทำให้เรากลับมาคบกันเหมือนเดิม
- พันธบัตร
คือ ตอนเราเป็นเด็ก เราทุกคนยังไม่มีรายได้ ที่จะซื้อสิ่งของต่างๆ ที่อยากได้ พ่อก็จะเป็นเหมือนพันธบัตร ที่คอยซื้อสิ่งของที่เราอยากได้ให้กับลูก ถึงแม้จะมีราคาแพงเท่าไร พ่อก็จะขวนขวายหามาให้เรา เพื่อความสุขของลูก ถ้าเรารักพ่อ ก็ควรจะช่วยพ่อประหยัด เพื่อพ่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยก็พอ
- พาหนะ
คือ ไม่ว่าเราอยากไปที่ไหนนั้น พ่อก็จะเป็นคนพาเราไปเหมือนดั่ง พาหนะ ที่จะพาเราไปทุกที่ทีอยากไป หรือเป็นรถโรงเรียน ในวันที่เราไปไม่ทัน เพราะพ่อหวังอย่างเดียวว่า ขอให้ลูกมีความสุข และเป็นคนดีของสังคม เพียงเท่านี้ต่อให้ใกล้หรือไกล พ่อก็จะเป็นพาหนะให้เราไปทุกที่
- พยาบาล
คือ ในยามที่เราป่วยไข้ ไม่สบาย ก็มีพ่อนี่แหล่ะ ที่เป็นพยาบาลคอยดูแลรักษาเรา ด้วยความรักและห่วงใยตลอด ถึงจะดึกแค่ไหน พ่อก็ดูแลเราไม่ให้คลาดสายตา ถึงแม้ว่าพ่อจะเหนื่อย หรืออดหลับอดนอนเพื่อดูแลเรา เพียงขอให้ลูกหายป่วย เท่านั้นพ่อก็มีความสุขแล้ว กับการได้เป็นพยาบาล
- พระ
คือ พ่อเราเปรียบเสมือนพระในบ้าน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ บอกว่าอะไรก็ไม่ดี เท่ากับพระที่บ้านที่มีอยู่ 2 องค์ คือพ่อกับแม่ของเรา เราจึงควรรักและเคารพท่าน เพราะท่านนั้นอยากให้เราได้ดี เพราะไม่มีพ่อคนไหน ที่อยากให้ลูกเป็นคนเลวประพฤติตนไม่ดี เช่น บางทีเราจะไปเที่ยวพ่อก็จะเตือนว่า "อย่ากลับดึกนะลูก" เมื่อเราได้ยินประโยคนี้จะตอบไปว่า "พ่อผมโตแล้ว" คำพูดของพ่อนั้น มาจากความห่วงใยอย่างแท้จริง
ถ้าคนเป็นพ่ออยากจะพูดเป็นล้านคำ แต่เมื่อลูกโตแล้ว จึงคิดว่าถ้าโตแล้ว จะบังคับก็คงไม่ได้ จึงพูดในเชิงความห่วงใย ซึ่งทุกคนก็คงคิดว่า แค่คำแบบนี้เอง แต่สำหรับคนที่เป็นพ่อนั้น คำพูดแบบนี้ ก็เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้ง ถ้าเป็นไปได้ พ่อคงจะรั้งเรา แต่เพราะพ่อเคารพในตัวเรา และการตัดสินใจของเรา แต่เราทุกคนจงอย่าลืมนะว่า ตอนเรากลับบ้าน คนที่ตื่นมาเปิดไฟ หรือเปิดประตูให้เรา จะเป็นใครนอกจากคนที่เราเรียกว่า "พ่อ" นั่นเอง ที่กล่าวมานั้น พ่อเป็นได้ทุกอย่าง เพื่อลูกทั้งนั้นโดย เป็นทั้ง พ่อ, เพื่อน, พี่, พันธบัตรหรือเป็นพาหนะ
ที่กล่าวมานั้น ถือเป็นผู้ที่หวังดีที่สุด และเรารักมากที่สุด และเนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" เราก็ควรที่จะตอบแทนพระคุณของท่าน โดยการมอบสิ่งดีๆ ให้กับท่าน ด้วยการพาคุณพ่อไปทำบุญที่วัด พาคุณพ่อไปทานข้าว หรือส่ง SMS บอกรักพ่อ ซึ่งการแสดงความรักต่อพ่อนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะทำแค่วันพ่อเพียงแค่วันเดียว แต่เราทุกๆ คน ควรที่จะรักพ่อทุกๆ วัน ให้สมกับที่ท่านรักเรา ทะนุถนอม และเลี้ยงเราจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันนี้ หากใครยังเขินที่จะบอกรักพ่อ กอดพ่อ ก็ให้เอาวันพ่อเป็นวันเริ่มต้น และกระทำให้เป็นนิสัย เชื่อเถอะ ลูกผู้ชายอย่างพ่อ...ก็มีน้ำตาซึมได้
เพลง รักพ่อทุกวัน
วันชาติไทย
ทั้งนี้ นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็น วันพ่อแห่งชาติ แล้ว ยังถือว่าวันนี้เป็น "วันชาติของไทย" อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีการกำหนดวันชาติให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ
ซึ่ง "วันชาติ" ของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี จนวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยเหตุที่เปลี่ยนเพราะมีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน
จึงควรถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย ดังนั้นนับแต่ปี พ.ศ. 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันชาติ" ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เพลงที่เกี่ยวกับวันพ่อ
เพลง พ่อ (ลูกทุ่ง)
เพลง ในหลวงของแผ่นดิน (สตริง)
เพลง ปิดทองหลังพระ (เพื่อชีวิต)