พิธีถวายกองทุนแสงสว่างและผ้าอาบน้ำฝนวันอาสาฬหบูชา
ขอเชิญร่วมพิธี ถวายกองทุนแสงสว่างและผ้าอาบน้ำฝน
เนื่องในวันอาสาฬหบูชา
วันศุกร์ที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ. 2557
ณ รัตนบัลลังก์ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
พรรษามหาบูชา ฤดูกาลแห่งการสร้างบารมี เทศกาลเข้าพรรษานับเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายพิเศษต่อวิถีชีวิตชาวไทยทุกคน
ขอเรียนเชิญสาธุชนทุกท่านพร้อมใจกันสั่งสมบุญใหญ่ในพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดตัว และกองทุนแสงสว่าง เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา แด่พระภิกษุสามเณร ที่จำพรรษา ณ วัดพระธรรมกาย ในวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ตรงกับวันอาสาฬหบูชา ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
โดยภาคเช้าในเวลา 10.00 น. พิธีสวดพระพุทธมนต์ ทำบุญปุพพเปตพลี อุทิศส่วนกุศลไปให้บุคคลอันเป็นที่รัก ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เวลา 10.30 น. พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดตัว และอุปกรณ์ให้แสงสว่าง
ร่วมเป็นเจ้าของบุญอจินไตย ในกองทุนกิตติมศักดิ์ กองทุนกิตติมเสริม กองทุนกิตติมสุข และกองทุนกิตติมใส ให้บุญใหญ่ของการมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส รัศมีกายสว่างไสว ได้ทิพยจักษุ และสามารถเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่าย ไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ประสานงานภาคที่ท่านสังกัดหรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-482-6688 , 083–540-5006
ให้บุญใหญ่ของการมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส รัศมีกายสว่างไสว ได้ทิพยจักษุและสามารถเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่าย ไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
กำหนดการ
08.00 น. - เปิดรับลงทะเบียนสำหรับเจ้าภาพ
10.20 น. - คณะสงฆ์และผู้มีบุญ ประจำพื้นที่นั่ง ณ หน้ารัตนบัลลังก์
10.30 น. - พิธีสวดพระพุทธมนต์ ทำบุญปุพพเปตพลี อุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก
- พิธีอาราธนาศีล / อาราธนาธรรม / คณะสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
- เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
- พิธีกล่าวถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน
10.45 น. - พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน หลอดไฟ และอุปกรณ์ให้แสงสว่าง
- พิธีกล่าวถวายผ้าอาบน้ำฝน
- พิธีกล่าวถวายกองทุนแสงสว่าง
- พิธีกล่าวคำอธิษฐานจิต
- คณะสงฆ์ ให้พร
11.15 น. - เสร็จพิธี / รับประทานอาหารกลางวันที่จุดให้บริการ
ประวัติความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชา
เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์สำคัญๆในพระพุทธศาสนา มักจะเกี่ยวข้องกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ สำหรับ “วันอาสาฬหบูชา” ก็เช่นกัน เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 คำว่า “อาสาฬห” แปลว่า “เดือน 8” ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชานั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ครั้งพุทธกาล ซึ่งเป็นการประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรก หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ล่วงมา 2 เดือนแล้ว วันนั้นเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ ทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ประทานให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
เนื้อหาหลักธรรมนี้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติตนตามเส้นทางสายกลางไม่สุดโต่งไม่หมกมุ่นในกามสุขที่ทำให้กิเลสห่อหุ้มใจ และไม่ทรมานตนเองให้เป็นทุกข์ ให้ฝึกปฏิบัติแนวทางดำเนินชีวิตแบบพระอริยเจ้า คือ มัชฌิมาปฏิปทา อันประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 และดำเนินจิตตามอริยสัจ 4 ซึ่งเมื่อได้ปฏิบัติแล้วจะเป็นหนทางไปสู่การสงบระงับกิเลสจนกระทั่งดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง เข้าถึงความสุขอันไพบูลย์อันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ เป็นบุคคลแรกที่เห็นแจ้งรู้แจ้งตามคำสอน เป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ จึงทำให้เกิดองค์ประกอบแห่งพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ “วันอาสาฬหบูชา” จึงเป็นวาระอันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนต่างร่วมใจกัน มาระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวข้างต้น ด้วยการปฏิบัติบูชาพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ที่มีน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นหาที่สุดมิได้ ที่ประทานหลักธรรมนำชีวิต ตลอดจนธรรมปฏิบัติ แล้วยังมีพระภิกษุสงฆ์สาวกเป็นธรรมทายาทสืบทอดคำสอนและเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่มวลมนุษยชาติ
สำหรับกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำในวันนี้ได้แก่ การทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารหวานคาวไปถวายพระที่วัดใกล้บ้าน ไปฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนาและเวียนเทียนประทักษิณรอบโบสถ์หรือพระเจดีย์ เพื่อแสดงความเคารพนับถืออันสูงสุดต่อพระรัตนตรัย
พ้นจากวันอาสาฬหบูชาแล้ว ยังมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องถัดมาอีกวันหนึ่ง คือ “วันเข้าพรรษา” ปีนี้คือ วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ในอาวาสแต่ละแห่งจะอธิษฐานพรรษา ไม่ไปค้างพักแรมที่ไหนเป็นเวลา 3 เดือน เรียกว่า “จำพรรษา” (พรรษา แปลว่าฤดูฝน, จำ แปลว่า พักอยู่) กล่าวคือ นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพื่อจะได้มีเวลาทบทวนพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ตลอดจนปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ในช่วงเข้าพรรษา มีประเพณีของชาวพุทธเพื่อสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการถวายภัตตาหาร หรือทำบุญตักบาตร ทั้งยังนิยมถวายเทียนพรรษาหรือหลอดไฟฟ้า ผ้าอาบน้ำฝน และคิลานเภสัช เป็นต้น
แม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นวินัยบัญญัติเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ แต่พุทธศาสนิกชนผู้มีปัญญารู้คุณค่าแห่งกาลเวลา ก็ใช้โอกาสช่วงวันเข้าพรรษานี้ทำความดีด้วยการปฏิบัติตนให้ยิ่งยวดขึ้นไป ด้วยการหมั่นบำเพ็ญบุญกุศล ฝึกฝนอบรมตนเองด้วยการละชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส เรียกได้ว่าเข้าพรรษาพร้อมเพรียงกันทั้งพระภิกษุทั้งญาติโยม
บทความโดย สันโตสา
ที่มา : http://www.dhammakaya.net/