Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โทษภัยของการไม่รักษาศีล
การสร้างอุปนิสัยที่ดีและขัดเกลาแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีให้หมดไป เป็นนิสัยของบัณฑิต นักปราชญ์ วันหนึ่งคืนหนึ่งมันประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็หมดเวลาแล้ว เราเกิดมาสร้างบารมีเราก็ต้องสร้างบารมีให้เต็มที่ อย่าให้กำลังใจของเราให้ตกต่ำ อย่าไปหวังพึ่งกำลังใจจากใครหรือไปเที่ยวขอกำลังใจจากคนอื่น เราต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง
เพราะกำลังใจ ยิ่งใช้ ยิ่งมี กำลังใจมีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว จะดึงมาใช้เท่าไรก็ได้เท่านั้น และก็มีมากไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนภูเขาหรือทะเลแห่งกำลังใจที่ไม่มีฝั่ง เรายังต้องเอากำลังใจมาใช้ในการทำความดี ในการสร้างบารมี อย่าให้เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง เดี๋ยวมันจะติดไปข้ามภพข้ามชาติ เราจะต้องเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา และตลอดไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในเภสัชชขันธกะ ความว่า
ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลและวิบัติของคนทุศีล มี 5 ประการ คือ
1.คนทุศีลในโลกนี้ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะความประมาทเป็นเหตุ
2.ย่อมเสียชื่อเสียงเพราะความไม่ดีต่างๆฟุ้งขจรรไป
3.คนทุศีลเข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหปติบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน เข้าไปหาบริษัทนั้นๆ
4.คนทุศีลมักหลงทำกาละ
5.เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก
ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลายโทษและศีลและวิบัติของคนทุศีล มี 5 ประการฉันนี้แล ทุกข์โทษบางประการจากการผิดศีลอาจเป็นสิ่งเหลือวิสัยที่เราจะรู้เห็นได้ในชาตินี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม บางอย่างเป็นสิ่งมีโทษที่มองเห็นได้ในชาตินี้ แต่คนส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เช่นการดื่มน้ำเมา เหล้าเบียร์ เล่นการพนัน
หรือบางคนที่ไม่ได้นับถือศาสนา ไม่รักษาศีล5 จึงมองว่าดื่มเหล้าเล่นการพนันไม่เป็นบาป เป็นต้น แม้กระทั่งบ้านเมืองก็ไมได้ออกกฎหมายห้ามคนดื่มเหล้า จะมีบ้างก็เพียงออกระเบียบห้ามขายเหล้าให้เยาวชนอายุต่ำกว่า18ปี แสดงว่าแม้ซื้อไม่ได้แต่ก็ดื่มได้
เมื่อทุกคนในสังคมมองว่าไม่ผิดศีลหรือไม่เป็นบาป จึงมีการโฆษณาชวนให้ดื่มกันอย่างเต็มที่ และก็ดื่มกันในทุกชนชั้น เพราะไม่รู้ว่าวิบากกรรมของการดื่มสุราเมรัยน่าสะพรึงกลัวเพียงใด
กฎหมายเป็นเรื่องที่กำหนดขึ้นมาเฉพาะท้องถิ่น แต่กฎแห่งกรรมนั้นเป็นกฎสากล ผิดก็คือผิด แม้กฎหมายจะบอกว่าไม่ผิด แต่กฎแห่งกรรมก็ไม่ได้ยกเว้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจให้ดี ระหว่างกฎหมายกับกฎแห่งกรรม ชีวิตจะได้ไมผิดพลาด คือ ทำถูกกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องถูกกฎแห่งกรรมด้วย
มีโทษทัณฑ์ประการหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ การถูกลงโทษจากกฎหมายบ้านเมือง เช่นผู้ก่ออาชญากรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือรุนแรงเพียงใด การที่ปล้นทรัพย์สินของคนอื่น ล้วนมาจากการกระทำผิดศีลทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด กฎหมายบ้านเมืองก็ได้เข้ามามีบทบาทลงโทษผู้ทำผิดศีลไว้เสมอ ส่วนผู้ที่รักษาศีลเป็นอย่างดีก็เป็นผู้ที่ไม่มีโทษภัยจากกฎหมาย มีแต่อยู่เย็นเป็นสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า เพราะศีลธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม
ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่าบุรุษนี้ละปาณาติบาต เป็นผู้ละเว้นจากการปาณาติบาตแล้ว พระราชาทั้งหลายจับเขามาประหารจองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเป็นคนงดเว้นจากปาณาติบาต”
เมื่อภิกษุสงฆ์กล่าวว่า ไม่เคยเลยพระเจ้าค่ะ
พระพุทธองค์กล่าวว่า “ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิงหรือชายตาย พระราชาหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงจับเขาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามความผิด เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ อย่างนี้เธอทั้งหลายเคยเห็นหรือเคยได้ยินบ้างไหม”
พระภิกษุตอบว่า เคยเห็น เคยได้ยิน และจะได้ยินต่อไป
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเข้าใจว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็น หรือได้ยินบ้างหรือไม่ว่า บุรุษนี้ละอทินนาทาน เป็นผู้เว้นจากอทินนาทานแล้ว จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาส และจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานแล้ว พระราชาหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามความผิดเพราการงดเวนจากสุราเมรัยเป็นต้น”
พระภิกษุตอบว่าไม่เคยเลยพระเจ้าค่ะ
“ถูกแล้วภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน มีแต่เขาจะประกาศการกระทำชั่วว่า คนผู้นี้ลักทรัพย์เขามาจากบ้านหรือจากป่า คนผู้นี้ประพฤติละเมิดในสตรี หรือในบุตรีของผู้อื่น คนผู้นี้ทำลาประโยชน์ของชาวบ้านด้วยการกล่าวเท็จ คนผู้นี้ดื่มสุราเมรัยและลักทรัพย์จากบ้านหรือจากป่า คนผู้นี้ดื่มสุราเมรัยแล้วละเมิดบุตรีหรือสตรีของผู้อื่น”
“คนผู้นี้ดื่มสุราเมรัยแล้วทำลายประโยชน์ของชาวบ้านหรือลูกชาวบ้านด้วยการกล่าวเท็จ พระราชาหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็จับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศและกระทำตามความผิดเพราะอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาส และเพราะสุราเมรัยเป็นเหตุอย่างนี้เธอทั้งหลายเคยเห็นหรือเคยได้ยินบ้างไหม”
ภิกษุสงฆ์ก็กราบทูลเช่นเดิมว่า เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วยพระเจ้าค่ะ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพรวมของทุกข์ภัยที่เกิดจากการล่วงละเมิดศีล 5 ที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำการลงโทษตามกบินเมือง ถ้าศีลหรือวินัยข้อไหนที่ไม่มีคนอื่นเห็นหรือจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน ก็ถือว่าผู้ทำผิดโชคดีไป ที่ไม่ต้องถูกลงโทษ
แต่ก็ไม่พ้นกฎแห่งกรรม เพราะยังมีโทษในอบายที่เป็นกฎสากลที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ บางอย่างยังต้องรอการพิพากษาในยมโลกอีกต่อไป เพราฉะนั้นอย่าได้ประมาทหรือดูเบาในเรื่องการประพฤติศีลธรรมกัน
ทุกข์ภัยของการประพฤติผิดศีลห้านั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน สัพพลหุสสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัยวิบากแห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด
เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์จะทำให้เป็นผู้มีอายุสั้น ผู้ลักขโมยเป็นอาจินจะทำให้ไปบังเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุดเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ โภคทรัพย์ย่อมวิบัติพินาศไป ผู้ประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจาร ทำให้ไปบังเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย
วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร อย่างเบาที่สุดเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเป็นผู้มีศตรูและมากไปด้วยเวร ผู้กล่าวมุสาวาสเป็นประจำ จะทำให้ไปบังเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาสอย่างเบาที่สุดเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์มักจะถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริง
ผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยเป็นอาจิน ครั้นละโลกแล้ว จะทำให้ไปบังเกิดในนรก ไปกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมถึงกาลเป็นบ้าจากพุทธพจน์นี้จะเห็นตัวเราเองหรือไม่ก็คนใกล้ตัวที่อายุสั้น ตายก่อนถึงเวลาอันสมควร เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำบ้าง
บางคนมีทรัพย์น้อยหรือกำลังจะรวยแต่ก็ถูกโกงซะก่อน ถูกขโมยไปบ้างก็มี บางคนมองไปทางไหนก็เห็นแต่ศตรู รู้สึกหวาดระแวงเป็นนิจ อยู่ดีๆก็ถูกกล่าวตู่ใส่ความถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
บางคนเกิดมาสติปัญญาอ่อน เป็นบ้าใบตั้งแต่เกิด เลยไม่อาจแก้ไขได้เลย ทั้งหมดนี้สาเหตุหลักๆเป็นเพราะวิบากกรรมของศีล 5 เมื่อแก้ไขไม่ได้จึงได้แต่ก้มหน้าใช้กรรมจนกว่าจะหมดกรรม
เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะแก้ไขที่ปลายเหตุหรือต้องคอยมาชดใช้วิบากกรรม เราควรจะมาตัดไฟแต่ต้นลม แก้ไขที่ต้นเหตุด้วยการสมาทานยึดมั่นในศีล5