Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โลหิจจสูตร 1 (ศาสดาที่ใคร ๆ ทักท้วงไม่ได้)
มีวาทะของโลหิจจพราหมณ์กล่าวเอาไว้ว่า
สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ พึ่งบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรแก่ผู้อื่นได้ เปรียบเสมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าออกได้แล้ว เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนคนใดจะช่วยผู้สอนได้
วาทะที่หลวงพ่อยกขึ้นมากล่าวนี้หากไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณากันให้ลึกซึ้งอาจดูเหมือนว่าเป็นวาทะที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้วถือว่าเป็นความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง นี่ไม่ใช่พุทพจน์ แต่เป็นวาทะหรือแนวคิดของพราหมณ์ท่านหนึ่ง
เนื่องจากลัทธิของศาสดาที่โลหิจจพราหมณ์ยึดถือนั้น ถือว่าผู้ที่พยายามบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุกุศลธรรมชั้นสูงสุดของเขาได้แล้วก็ถือว่าอยู่จบพรหมจรรย์ จึงไม่ควรหวังอะไรอีกต่อไปเพราะคิดว่าความหวังเป็นกิเลส ถ้าหวังสิ่งใด
เช่น หวังจะได้ศิษย์หรือสาวกแสดงว่ามีความโลภเจือปน จะต้องไปสอนธรรมที่บรรลุแล้วให้เขาก็เท่ากับสร้างเครื่องผูกพันมาผูกมัดเขาเอง เหมือนบุคคลที่ถูกจองจำเมื่อทำลายเครื่องจองจำเก่าไปแล้ว เรื่องอะไรจะคิดสร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาผูกมัดตัวเองอีก
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีมุมมองอีกมุมหนึ่งที่ก่อประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น วาทะธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแย้งแนวคำสอนนี้และให้ทัศนะไว้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้เสด็จจาริกไปหมู่บ้านสาลวติกา ซึ่งหมู่บ้านนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระราชทานให้โลหิจจพราหมณ์ครอบครอง
โลหิจจพราหมณ์มีคาวมเห็นว่าสมณพราหมณ์ในโลกนี้ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกคนอื่นเพราะเข้าใจว่าเป็นความโลภอย่างหนึ่ง คืออยากได้ชื่อเสียง อยากได้ความนิยมนับถือ ฉะนั้นผู้บรรลุกุศลธรรมแล้วไม่ควรมาติดอยู่กับอกุศลธรรม เพราะความโลภเป็นอกุศลธรรมที่ต่ำทราม
ถ้ายังติดอยู่ก็เปรียบเสมือนผู้หลุดพ้นจากเครื่องจองจำเก่าและมาติดเครื่องจองจำใหม่ โลหิจจพราหมณ์ได้สดับข่าวว่าพระบรมศาสดาเสด็จมายังหมู่บ้านของตน และด้วยความที่ตนได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นต้น
จึงปรารถนาที่จะสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์ จึงสั่งให้ช่างกัลบกชื่อโรสิกะไปเฝ้าทูลอาราธนาให้พุทธองค์ไปเสวยที่นิเวศน์ของตน รุ่งขึ้นพระบรมศาสนาเสด็จไปที่นิเวศของพราหมณ์นั้น
โรสิกะซึ่งเป็นผู้ไปรับพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตามเสด็จมาด้านหลังด้วยความที่ปรารถนาดีต่อโลหิจจพราหมณ์ผู้เป็นเจ้านาย จึงถือโอกาสกราบทูลเรื่องความเห็นของโลหิจจพราหมณ์ให้ทรงทราบและขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แก้ไขความเห็นผิดของโลหิจจพราหมณ์ด้วย พระบรมศาสดาตรัสว่า ตถาคตจะแก้ไขความเห็นให้
“ดูก่อนโรสิกะ เรากระทำทุกรกิริยาหลายอย่างและบำเพ็ญบารมีตลอด ๔ อสงไขยแสนมหากัป ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่สัตว์ เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยสัพพัญญุตญาณก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้แหละ การขจัดความเห็นผิดของโลหิจจพราหมณ์ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจของตถาคต การที่จะมีบุคคลดังเช่นโลหิจจพราหมณ์สงสัยในปัญหาตั้งแสนข้อแล้วมาถามตถาคต ตถาคตก็มีกำลังพอที่จะบรรเทาความสงสัยเหล่านั้นได้ และการบรรเทาความเห็นผิดของบุคคลเพียงคนเดียว ไฉนจึงเป็นเรื่องหนักใจสำหรับตถาคตเล่า”
เมื่อพระบรมศาสดาเสวยภัตราหารเสร็จแล้วได้ถามโลหิจจพราหมณ์ถึงความเห็นผิดเช่นนั้นของเขา พราหมณ์ก็รับว่าตนมีความเห็นอย่างนั้นจริง พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เปรียบเสมือนพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือโลหิจจพราหมณ์เองที่ครอบครองบ้านเมืองได้บริโภคผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแต่ผู้เดียวและไม่เผื่อแผ่แก่ผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่าตระหนี่ เป็นความโลภอย่างแท้จริง
แต่การที่ตัวเองประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตแล้วช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขตามไปด้วย เขาเรียกว่าเป็นผู้มีเมตตา พระบรมศาสดาทรงแสดงวาทะโดยใช้วิธีปฏิปุจฉาพยากรณ์คือการตรัสถามและพราหมณ์ตอบตามที่ตัวเองเข้าใจ คือมีความเห็นอย่างไรก็ให้ตอบอย่างนั้น ทรงเริ่มพุทธปุจฉาว่า
“ดูก่อนโลหิจจ เราขอถามท่าน ผู้ใดพึงกล่าวว่าเมื่อโลหิจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกาก็ใช้สอยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนั้นแต่ผู้เดียวไม่ควรให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพใช่หรือไม่”
พราหมณ์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้พระเจ้าค่ะ”
เมื่อทำความเดือดร้อนให้ชื่อว่าหวังประโยชน์ต่อชนเหล่านั้นหรือไม่
“ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์พระเจ้าค่ะ”
ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์จะชื่อว่ามีเมตตาจิตหรือจะชื่อว่าคิดเป็นศตรูกับคนเหล่านั้น
“ชื่อว่าคิดเป็นศตรูพระเจ้าค่ะ”
เมื่อคิดเป็นศตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ
“ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิพระเจ้าค่ะ”
ดูก่อนโลหิจจผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็นสอง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน
สรุปได้ความว่า ผู้กล่าวว่าโลหิจจปกครองหมู่บ้านสาลวติกาก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนั้นแต่เพียงผู้เดียว ไม่ควรแบ่งปันให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ เมื่อว่าไม่หวังประโยชน์ชื่อว่าคิดเป็นศตรู เมื่อคิดเป็นศตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปมานี้ก็ฉันนั้น
ผู้ที่กล่าวว่าสมณพราหมณ์ในโลกนี้ครั้นได้บรรลุกุศลธรรมแล้วไม่ควรสอนคนอื่นเพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเสมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าออกได้แล้วไม่ควรสร้างเครื่องจองจำใหม่ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าทำอันตรายแก่เหล่ากุลบุตร
ผู้ที่ได้อาศัยพระธรรมวินัยที่ตถาคตแสดงไว้แล้วจึงจะบรรลุธรรมอันวิเศษคือทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง และทำอันตรายแก่กุลบุตรผู้ที่อบรมคุณธรรมให้แก่กล้า ผู้บังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำความเดือดร้อนชื่อว่าไม่หวังผลประโยชน์ เมื่อไม่หวังประโยชน์ชื่่อว่าคิดเป็นศตรู
เมื่อคิดเป็นศตรูก็เชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเรากล่าวว่ามีคติเป็นสอง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน
โลหิจจพราหมณ์ครั้นได้ฟังพุทธวาทะแล้วรู้ได้ด้วยตัวเองว่าตนมีความเห็นผิดจริง แต่ก็ไม่เข้าใจแจ้งทีเดียว เพราะในโลกนี้มีผู้ที่ปฏิญาณตนเป็นศาสดาหรือเจ้าลัทธิเที่ยวสั่งสอนคนอื่นให้ปฏิบัติตาม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นข้อปฏิบัติสู่สวรรค์และนิพพานหรือไม่ ท่านจึงอยากรู้ว่าลักษณะของศาสดาประเภทไหนควรถูกทักท้วงและประเภทไหนควรถูกยกย่องสรรเสริญ