Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน ความรู้เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา 1
ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง ต้องดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ด้วยการละบาปอกุศลทั้งหลาย ทำความดีให้ถึงพร้อม และหมั่นทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใสเป็นประจำ ชีวิตก็จะปลอดภัย ทั้งภายในโลกนี้ ภายในอบายภูมิ และภายในสังสารวัฏ จะทำให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป
นอกจากนี้การทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ยังเป็นทางมาแห่งมหากุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะถ้าเราหมั่นเจริญสมาธิภาวนาทำใจให้สงบ หยุดนิ่ง จะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน เราจะได้ปิดอบายได้สนิท และก็จะมีสวรรค์นิพพานเป็นที่ไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอรกานุสาสนีสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี่คืออนุศาสนีของเรา สำหรับพวกเธอทั้งหลาย
ช่วงนี้เป็นเทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ท่านก็แสวงหาที่สัปปายะเพื่อการหยุดจำพรรษาในที่ที่เหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนาตลอดไตรมาส อบรมใจให้หยุดนิ่ง เพิ่มพูนความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ในช่วงเวลานี้ท่านจะฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยไม่ไปค้างแรมที่ไหน แต่จะแสวงหาทางแห่งความบริสุทธิ์ภายใน ทำพระนิพพานให้แจ้ง
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ ก็ควรจะศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเข้าพรรษาของชีวิตสมณะ ว่าการเข้าพรรษานั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง ทำไมต้องมีการเข้าพรรษา เมื่อเรารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติตัวและปฏิบัตต่อภิกษุสงฆ์ได้ถูกต้อง จะได้เป็นการสนับสนุนการบำเพ็ญสมณะธรรมของท่าน
เมื่อท่านปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้าแล้วก็จะได้มาเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศให้กับพวกเราต่อไป ผู้ที่เริ่มสนใจพระพุทธศาสนาใหม่ ๆมักจะมีคำถามว่า วันเข้าพรรษาคืออะไร พรรษาแปลว่าฤดูฝน การเข้าพรรษาก็หมายถึงการพักอยู่ในที่แห่งเดียว เฉพาะในช่วงฤดูฝน
วันเข้าพรรษาก็คือวันแรกที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษาที่วัด ไม่ไปพักแรมหรือค้างคืนที่ไหนจนครบสามเดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งก็คือหลังวันอาสาฬหบูชาหนึ่งวัน ไล่เรื่อยไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน ในปีนั้นวันเข้าพรรษาจะเลื่อนตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง
บางท่านฟังแล้วอาจจะรู้สึกเข้าใจยากสักนิด แต่วันขึ้นหรือวันแรม เราชาวพุทธก็ควรจะรู้เอาไว้ ส่วนใหญ่เรามักจะดูปฏิทินตามหลักสุริยคติ บางท่านจึงไม่รู้ว่าวันโกณ วันพระ คือวันไหน ถ้าหากเราหมั่นดูปฏิทินตามหลักจันทรคติบ่อยๆก็จะเพิ่มพูนความเข้าใจในวันที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น
สำหรับปฐมเหตุหรือความเป็นมาของวันเข้าพรรษา ก็มีอยู่ ในช่วงปฐมโพธิกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ทีวัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ สมัยนั้นพระพุทธองค์ยังไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องการอยู่จำพรรษา
ภิกษุสงฆ์จึงเที่ยวจากริกไปตามสถานที่ต่างๆในช่วงฤดูฝน เป็นฤดูการในการทำไล่ทำนาของชาวบ้าน เพราะเป็นฤดูกาลที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เมื่อภิกษุเที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ บางครั้งไม่ได้ระมัดระวัง ก็เผลอเหยียบข้าวกล้าในนา ทำความเสียหายแก่พืชพรรณของชาวบ้าน
ในบางครั้งก็พลาดพลั้งไปเหยียบสัตว์ตายบ้าง ชาวบ้านจึงพูดกันว่า ทำไมพระภิกษุซึ่งเป็นเชื้อสายพระสมณศากยบุตรจึงได้เที่ยวจาริกไปในฤดูฝน และได้เหยียบย่ำข้าวของชาวไร่ชาวนา แถมยังทำชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ตกร่วงไปด้วย
แม้พวกปริพาชกผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยังรู้จักพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน กระทั่งฝูงนกก็ยังทำรังอยู่บนยอดไม้ตลอดฤดูฝน แต่พระภิกษุเหล่านี้กลับเที่ยวจาริกไปตลอดทุกฤดูกาล เมื่อภิกษุสงฆ์ได้ยินชาวบ้านว่ากันอย่างนี้จึงนำเรื่องไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ
พระพุทธองค์จึงบัญญัติพระวินัยให้ภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเป็นเวลาตลอดสามเดือน ในเรื่องการบัญญัติพระวินัยนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ พุทธองค์พึงคำนึงถึงประโยคที่ภิกษุจะพึงได้รับเพื่อท่านจะได้ฝึกหัดขัดเกลาตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆขึ้นไป ไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งร้ายหรืออาศัยอคติความลำเอียงแต่อย่างใด
ประโยชน์สิบประการ คือ เป็นไปเพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความอยู่สำราญแห่งหมู่สงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน เพื่อกำจัดอาสวะที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อความเลื่อมใสของชนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชนที่เลื่อมใสแล้ว เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม และประการสุดท้ายก็เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย
นี่ก็เป็นพระปัญญาอันชาญฉลาดและมหากรุณาของพระบรมศาสดา กฎระเบียบหรือที่เรียกว่าพระวินัยนั้น ทุกข้อต่างก็เป็นไปเพื่อมุ่งให้ภิกษุสงฆ์เป็นสมณะแท้ ไม่ใช่บัญญัติเพราะมีอคติความลำเอียงต่อสาวกรูปใดรูปหนึ่งเลย และการจะบัญญัติวินัยแต่ละข้อนั้นจะต้องมีเหตุเกิดเสียก่อนจึงทรงบัญญัติ แต่จะไม่บัญญัติในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องปลีกย่อยที่ควรจะรู้ไว้ประดับสติปัญญา สำหรับคนที่พึ่งจะศึกษาธรรมะกัน
พระสงฆ์ต่างก็สงสัยกันว่า จะต้องเริ่มเข้าอยู่จำพรรษาช่วงเดือนไหนดี จึงทูลถามพระพุทธองค์อีกครั้ง พุทธองค์ตรัสตอบว่าเราอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาในฤดูฝน ซึ่งวันเข้าพรรษามีอยู่สองวันด้วยกันคือ วันเข้าพรรษาต้นและวันเข้าพรรษาหลัง วันเข้าพรรษาต้นคือวันที่พระจันทร์เสวยล่วงอาสฬหะล่วงแล้วหนึ่งวันตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ส่วนวันเข้าพรรษาหลังคือวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ว ๑ เดือน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙
หากภิกษุรูปใดมาจำพรรษาในวันเข้าพรรษาต้นไม่ทัน อาจเป็นเพราะติดศาสนกิจอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาหลังได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาภิกษุสงฆ์ก็เริ่มเข้าอยู่จำพรรษาตามพุทธบัญญัติ
ในสมัยก่อนเวลาเข้าพรรษา พระท่านจะปรารถความเพียรกันอย่างจริงจัง มีกติกาเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรมเพื่อให้การปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้าจนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
ส่วนญาติโยมก็ตั้งใจเป็นแรงสนับสนุนในเรื่องการขบฉัน อีกทั้งรักษาศีลและเจริญภาวนาตามที่พระท่านสอน ทำให้ได้บรรลุธรรมกันมากมาย การเข้าพรรษาในสมัยพุทธกาลถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญกันมากทีเดียว
พระสงฆ์ในหลายๆวันท่านก็มีข้อตกลงกันเพื่อที่จะเป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมได้ผลยิ่งขึ้นไป เพราะการออกบวชในสมัยแรกๆนั้นท่านบวชอย่างมีเป้าหมายเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง จึงได้สละชีวิตทางโลกมุ่งตรงต่อเส้นทางธรรมเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เมื่อบวชแล้วท่านก็ตั้งใจลงมือปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง เพียงบวชได้ไม่กี่วันก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้ากันมากมายนับไม่ถ้วน
เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายผู้เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่อเข้าใจชีวิตสมณะเกี่ยวกับการเข้าอยู่จำพรรษาแล้ว หน้าที่ของเราก็คือต้องทำหน้าที่อุปฐากดูแลท่านให้ดี สนับสนุนภัตราหารจตุปัจจัยไทยธรรม ท่านจะได้ปลอดกังวลในเรื่องการขบฉัน จากนั้นเราก็ไปขอฟังธรรมจากท่านในวันโกน วันพระ
หรือวันสำคัญๆ ให้ไปสมาธานศีล ๕ หรือศีล ๘ ไปเข้าอยู่จำอุโบสถศีลที่วัด ธรรมะที่ท่านนำมาเทศก์สอนจะถือเป็นปฏิการะคุณตอบแทนญาติโยมก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นในช่วงพรรษานี้ให้ทุกคนหมั่นสั่งสมบุญกันให้เต็มที่ ตั้งแต่ทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาทำให้ยิ่งๆกว่าพรรษาที่ผ่านมา
โลกของเราจะได้เป็นโลกแก้วที่น่าอยู่ สว่างไสวด้วยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันธรรมดาก็ให้เราปฏิบัติธรรมกันที่บ้าน ส่วนวันอาทิตย์และวันบุญใหญ่เราก็มาสร้างบารมีรวมกันที่วัด ถ้าทำอย่างนี้ได้พรรษานี้ก็จะเป็นพรรษาแห่งความสมปรารถนาของเราทุกคนกัน