Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ชัยชนะครั้งที่ ๖ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(ตอนที่ ๑ ชนะสัจจกนิครนถ์)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศทั้งพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ จะหาบุคคลใดๆ ในภพทั้งสาม มาเสมอเหมือนหรือยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธญาณลึกซึ้งกว้างไกล ทรงรู้แจ้งโลกและแทงตลอด ทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ แม้พระพุทธเจ้าจะพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าด้วยกัน ยังไม่อาจพรรณนาได้หมดสิ้น เพราะพระคุณของพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ เป็นอจินไตย อนันตจักรวาลก็ยังแคบเกินไปที่จะพรรณนาพระคุณของพระพุทธองค์ เราจะซาบซึ้งต่อเมื่อ ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างจริงจัง โดยลงมือปฏิบัติตามคำสอนให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน แล้วเราจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง
มีบทสรรเสริญชัยมงคลคาถา บทที่ ๖ ว่า
“สจฺจํ วิหาย มติสจฺจกวาทเกตุ
วาทาภิโรปิตมนํ อติอนฺธภูตํ
ปญฺญาปทีปชลิโต ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
พระจอมมุนีทรงรุ่งเรืองด้วยประทีปคือปัญญา ได้ทรงชนะสัจจก-นิครนถ์ผู้เป็นคนมืดบอด มีอัธยาศัยไม่ยอมรับความจริง มีใจคิดแต่จะยกตนข่ม ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน”
เรื่องของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์นี้ เป็นหนึ่งในพุทธชัยมงคล เพราะเป็นชัยชนะที่ประเสริฐ โดยอาศัยพุทธปัญญาที่ไม่มีใครเสมอเหมือน แม้สัจจกนิครนถ์ที่ชาวเมืองต่างนับถือว่า เป็นผู้มีปัญญามาก ยังต้องยอมรับในพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ ในเรื่องนี้ท่านกล่าวไว้ ๒ สูตรด้วยกัน คือ มหาสัจจกสูตรและจูฬสัจจกสูตร ในที่นี้หลวงพ่อจะขอนำเสนอจูฬสัจจกสูตรก่อน เรื่องมีอยู่ว่า
*สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี เป็นลูกชายของนิครนถ์อาศัยอยู่ที่เมืองเวสาลี เป็นนักโต้วาที พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ มหาชนต่างยกย่องว่า เป็นผู้รอบรู้เพราะเป็นอาจารย์สอนศิลปวิทยาให้กับพระกุมารของเจ้าลิจฉวี เนื่องจากทะนงตนว่าเป็นผู้มีความรู้มาก จึงเอาแผ่นเหล็กรัดท้องไว้ เกรงว่าท้องจะแตก เพราะคิดว่าภายในท้องของตนเป็นที่เก็บความรู้ไว้
วันหนึ่งสัจจกนิครนถ์กล่าวในที่ประชุมว่า “เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่คณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญาณตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โต้ตอบปัญหากับเราแล้วจะไม่ประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว แม้แต่ผู้เดียว หากเราโต้วาทะกับเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้เสานั้นก็ถึงอาการหวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยกับมนุษย์ทั่วไป”
จะเห็นว่า เพียงความคิดเท่านี้ก็รู้แล้วว่า สัจจกนิครนถ์เป็นผู้ทะนงตนและมีมานะถือตัวมาก ยากที่จะมีใครมาปรามได้ วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์พร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ ได้เข้าไปกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
พบพระอัสสชิเถระ กำลังเดินบิณฑบาตในเมืองเวสาลี จึงเข้าไปหาพลางถามว่า “ท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดมแนะนำสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดม เน้นไปในเรื่องใดมาก”
พระอัสสชิตอบว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ดูก่อนอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายเช่นนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเน้นเรื่องนี้กับสาวกทั้งหลาย”
สัจจกนิครนถ์ฟังแล้วไม่คล้อยตาม กล่าวว่า “ดูก่อนท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าฟังวาทะของพระสมณโคดมเช่นนี้แล้ว เห็นทีจะต้องเจรจากันสักหน่อย ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะไปพบกับพระสมณโคดมผู้เจริญด้วยตัวของข้าพเจ้าเอง จะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วข้าพเจ้าจะได้ช่วยปลดเปลื้องพระสมณโคดม จากความเห็นผิดนั้นเสีย” จากนั้นได้เดินทาง เพื่อจะไปโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อไปถึงพระอาราม ก็เที่ยวถามหาพระพุทธองค์ว่า ประทับอยู่ที่ไหน เมื่อรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปป่ามหาวัน ประทับพักกลางวันที่โคนไม้ จึงชักชวนเจ้าลิจฉวีจำนวนมากไปป่ามหาวัน
เมื่อพบพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สนทนาธรรมกับพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าขอถามพระสมณโคดมหน่อยเถิด ถ้าพระองค์จะให้โอกาสเพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามอะไรก็เชิญถามเถิด” สัจจกนิครนถ์ถามว่า “พระสมณโคดมมีปกติแนะนำพวกสาวกอย่างไรบ้าง” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเช่นเดียวกับที่พระอัสสชิเถระกล่าวไว้ คือ “ขันธ์ ๕ อันได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน” สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นเอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
นิครนถ์ได้ฟังแล้ว ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสมานั้นเป็นความจริง เพราะตนเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอัตตาควรยึดถือไว้ จึงแสดงอุปมาว่า “พระโคดมผู้เจริญ เหมือนพืชพันธุ์ไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องทำด้วยกำลัง การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดินต้องอยู่ในแผ่นดินจึงทำได้ฉันใด บุรุษมีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญผลบาป ฉันนั้น"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย้อนถามว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเราดังนี้มิใช่หรือ” ทรงได้รับคำยืนยันว่า “ถูกแล้ว ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวเช่นนั้น” พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากจักทำอะไรแก่ท่าน เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด” สัจจกนิครนถ์ก็ยังยืนยันว่า ขันธ์ ๕ คือ รูปเป็นตนของเรา เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น เราจักสอบถามท่าน ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้อย่างนั้น ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชาผู้มุรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้ามคธอชาตศัตรู อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้ในพระราชอาณาเขตของพระองค์มิใช่หรือ"
นิครนถ์ทูลตอบว่า “ถูกต้อง พระราชาเหล่านั้นย่อมทำในสิ่งที่พระองค์ตรัสมาแล้วทั้งหมดได้ แม้แต่เจ้าวัชชีมัลละก็อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคนที่ควรเนรเทศได้ เพราะอำนาจของพระราชาผู้มุรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องให้เป็นไปได้ด้วย ควรจะเป็นไปได้ด้วย”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เถิด ดังนี้ได้หรือ” เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามถึง ๒ ครั้ง นิครนถ์ก็ยังนิ่งเฉยไม่ยอมตอบคำถาม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “บัดนี้เป็นการอันสมควร ท่านจงแก้เถิด ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้ว ถึง ๓ ครั้ง หากมิได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง"
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ศีรษะของนิครนถ์จะแตกเป็น ๗ เสี่ยงหรือไม่ หลวงพ่อจะนำมาเล่าในตอนต่อไป ให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมกันให้ดี ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เราจะได้ไปรู้เรื่องขันธ์ ๕ ว่าความจริงเป็นอย่างไร หรือธรรมขันธ์เป็นอย่างไร แตกต่างกันไหม สิ่งเหล่านี้รู้ได้ด้วยธรรมกาย เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมกันทุกๆ คน
พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)