ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ต้อนรับดีมีอานิสงส์ใหญ่


ธรรมะเพื่อประชาชน : ต้อนรับดีมีอานิสงส์ใหญ่

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

Dhamma115_01.jpg

ต้อนรับดีมีอานิสงส์ใหญ่

               การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพราะพระธรรมกายมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนภาษาไหนศาสนาไหน หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ทุกคนเข้าถึงได้ทั้งนั้น วิธีที่จะทำให้เกิดสันติภาพแก่โลกเราจะต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน โดยการสร้างสันติสุขภายในให้บังเกิดขึ้น ฝึกใจของเราให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน เมื่อเข้าถึงแล้วความสุข ความบริสุทธิ์ ความเบิกบานก็จะแผ่ขยายออกไป กลั่นบรรยากาศและทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแผ่คลุมไปทั่วทั้งโลก เมื่อความแตกต่างหมดไป สันติสุขทั้งภายนอกและภายในก็จะบังเกิดขึ้น

 

 

Dhamma115_02.jpg

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในคาถาธรรมบทว่า ตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ เหล่านี้คือ
                    เขาต้อนรับด้วยความพอใจ 
                    อภิวาสความพอใจ 
                    ให้อาสนะด้วยความพอใจ 
                    ไม่ซ่อนของที่มีอยู่ 
                    เมื่อของมีมากก็ให้มาก
                    เมื่อมีของประณีตก็ให้ของประณีต 
                    ให้โดยเคารพไม่ให้โดยไม่เคารพ 
                    เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม 
                    เมื่อกล่าวธรรมอยู่เขาก็ยินดีในธรรมเทศนา 
               ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ เหล่านี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไป ครั้นเข้าไปแล้วก็ควรนั่งใกล้ 


               การต้อนรับปฏิสันถาร เป็นคุณธรรมประการหนึ่งในคารวธรรม ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นเหตุแห่งความสุข และความเจริญ การต้อนรับด้วยการแสดงน้ำใสใจจริง และมีไมตรีจิตนี้ เป็นการช่วยลดช่องว่าง ความเคอะเขินของผู้มาเยือน ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ที่่อาจค้างคาใจมาก่อน ก็จะพลอยมลายหายศูนย์ไปด้วย เพราะเราได้แบ่งปันความสุขให้กับทุกๆ คนที่มาเยือนบ้านของเราด้วยความยินดี พระบรมศาสดาทรงให้ข้อสังเกตแก่ภิกษุสงฆ์ ผู้จำเป็นจะต้องเข้าไปในตระกูล ว่าบ้านไหนมีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา เต็มใจในการต้อนรับแขกแค่ไหน พระองค์ทรงแนะนำเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นเราก็มาติดตามรับฟังกันเลยนะจ๊ะ

 

 

Dhamma115_04.jpg


              ในสมัยพุทธกาลมีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ภายในพระราชมณเฑียร ทรงทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายพันรูป ซึ่งกำลังเดินทางไปรับภัตตาหารในคฤหาสน์ของมหาเศรษฐีประจำเมืองคือท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขามหาอุบาสิกาและพระนางสุปปวาสา จึงตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พระคุณเจ้าจะพากันไปไหน เมื่อทราบว่าภิกษุ ๒,๐๐๐ รูปไปรับภัตตาหาร ซึ่งมีเจ้าภาพคอยถวายเป็นประจำ ในคฤหาสน์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีทุกวัน ภิกษุอีก ๕๐๐ รูปได้รับบาตรที่คฤหาสน์ของจุลอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นประจำ ส่วนในคฤหาสน์ของนางวิสาขามหาอุบาสิกาและพระนางสุปปวาสาก็เช่นเดียวกัน จึงเกิดกุศลจิตศรัทธา อยากได้บุญจากการถวายสังฆทานบ้าง 

 

 

Dhamma115_03.jpg


              ครั้นดำริเช่นนั้นแล้วจึงเสด็จไปที่วิหาร นิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมทั้งภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปถวายทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองถึง ๗ วันในวันที่ ๗ พอถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงรับภิกษาของพระองค์เป็นประจำ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่ผได้สดับเช่นนั้นก็ทรงปราบปลื้มพระทัยมาก ที่คณะสงฆ์จะไปเป็นเนื้อนาบุญให้ทุกวัน แต่เนื่องจากพระราชาทรงมีพระราชกรณียกิจมาก จึงถวายทานด้วยพระองค์เองเพียง ๗ วัน พอวันที่ ๘ พระราชามัวแต่ทรงพระราชกิจเพลิน เลยลืมจัดอาหารถวายพระภิกษุ ธรรมเนียมในราชราชตระกูลอย่างหนึ่งก็คือเมื่อพระราชาไม่ทรงรับสั่ง พวกราชบุรุษก็จะไม่ปูลาดอาสณะ หรือนิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้นั่ง ฝ่ายภิกษุสงฆ์เมื่อไม่ได้รับการต้อนรับก็หลีกไปเสียหลายรูปในวันที่ ๒ พระราชาก็ยังทรงลืมอีกคราวนี้ภิกษุสงฆ์จำนวนมากพากันกลับไปก่อน แม้ในวันที่ ๓ พระราชาก็ยังลืมอีกเช่นเคย คราวนี้ภิกษุสงฆ์ทุกรูป ได้ไปบิณฑบาตเสียที่อื่นจนหมด เหลือเพียงพระอานนท์เถระรูปเดียวเท่านั้น 

 

 

Dhamma115_05.jpg


              เมื่อพระราชาระลึกได้ก็รีบเสด็จไปเตรียมถวายภัตตาหาร ครั้นทอดพระเนตรเห็นภัตตาหาร ที่จัดเตรียมถวายเหลือมากมาย แต่ไม่ทรงเห็นภิกษุสงฆ์ จึงตรัสถามว่าพระคุณเจ้าทั้งหลายไม่ได้มาหรือ ก็สดับว่าเพียงพระอานนท์เถระมารูปเดียวเท่านั้น จึงไม่พอพระทัยต่อคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก จึงเสด็จไปฟ้องพระบรมศาสดาว่าภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่ให้ความสำคัญต่อหม่อมฉันเลยพระเจ้าข้า พระบรมศาสดาทรงแก้ต่างให้พระภิกษุสงฆ์ว่า มหาบพิตรสาวกของอัตมาภาพไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์ เพราะฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจึงไม่ไป จากนั้นจึงทรงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์มาประชุมกัน พร้อมกับแนะนำลักษณะของตระกูลที่ควรเข้าไป และไม่ควรเข้าไป อีกทั้งเป็นการสอนพระราชาทางอ้อมด้วยว่า พระองค์ไม่ได้มีคุณสมบัติของทานบดี ที่ภิกษุควรเข้าไปเลย


              ทรงให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่าภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ ภิกษุยังไม่เข้าไปแล้วก็ไม่ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่งใกล้ ตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ คือ 

                   เจ้าภาพไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ
                   ไม่อภิวาทด้วยความพอใจ
                   ไม่ให้อาสนะด้วยความพอใจ
                   ซ่อนของที่มีอยู่เอาไว้
                   เมื่อของมีอยู่มากก็ให้แต่น้อย
                   ให้ของที่เศร้าหมอง
                   ให้โดยไม่เคารพ             
                   ไม่เข้ามาฟังธรรม
                   เมื่อแสดงธรรมอยู่เขาก็ไม่ยินดี
              ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ เหล่านี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไปแล้วก็ไม่ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่งใกล้ 

    

 

Dhamma115_06.jpg

              ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ ที่ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไปแล้วเมื่อเข้าไปแล้วก็ควรนั่งใกล้คือ 
                    เจ้าภาพต้อนรับ 
                    อภิวาส
                    ถวายอาสนะด้วยความเต็มใจ 
                    ไม่ซ่อนของที่มีอยู่ 
                    มีของมากก็ให้ของมาก
                    เมื่อมีของประณีตก็ให้ของประณีต 
                    ให้โดยเคารพ 
                    เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม 
                    เมื่อพระแสดงธรรมอยู่เจ้าภาพก็ยินดีในการฟังธรรม
              ภิกษุทั้งหลายตระกูลที่ประกอบไปด้วยองค์ ๙ เหล่านี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไปแต่ครั้นนั้นเข้าไปแล้วก็ควรนั่งใกล้ 

 

 

Dhamma115_07.jpg


              เห็นไหมจ๊ะว่าถ้าเราอยากให้พระภิกษุท่านมาโปรดเราถึงบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ที่จะได้สั่งสมบูรณ์ให้กับตนเองให้ยิ่งขึ้นไป ก็ต้องทำให้ถูกหลักวิชาคือต้องต้อนรับท่านด้วยความปีติยินดียิ้มแย้มแจ่มใส กราบไหว้ด้วยความเคารพ ถวายโดยความเคารพ ถวายอาสนะที่นั่งที่เหมาะสม เมื่อของมีมากก็ถวายของมาก เมื่อมีของประณีตก็ถวายของประณีต ถวายโดยความเคารพ เพราะอานิสงค์นี้จะให้เราเกิดในตระกูลสูงมีสมบัติให้ไม่ขาดมือ ของกินของใช้ก็จะประณีต พระท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก่อนจะรับพรพระเป็นภาษาบาลี ก็อาราธนาท่านเทศให้พวกเราฟัง ถ้ากล่าวคำอาราธนาธรรม เป็นภาษาบาลีไม่ได้กล่าวนิมนต์เป็นภาษาไทยนั่นแหละ จากนั้นก็ตั้งใจฟังธรรมให้ดีเพราะพระท่านกำลังให้ธรรมทาน เป็นปฏิกาลคุณในวัตถุทานที่เราได้ถวายไว้ดีแล้ว การฟังธรรมยังถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุดอีกด้วย นี่ก็เป็นทางมาแห่งบุญใหญ่ของเรานะจ๊ะ อีกทั้งยังทำให้เราเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เหล่าเทวาที่มาฟังธรรมก็จะลงปกป้องคุ้มครองรักษาบ้านของเรา ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข พระภิกษุที่มาเป็นเนื้อนาบุญให้กับเราท่านก็จะเมตตาแนะนำธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง ทำให้ใจของเราเบิกบาน แช่มชื่นอยู่ในบุญ เมื่อคราวนั่งธรรมะใจของเราก็จะละเอียดอ่อน หยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้อย่างง่ายดาย สดวกสบายกันทุกคนนะจ๊ะ

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล