Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ชัยชนะครั้งที่ ๓ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(ตอน ชนะช้างนาฬาคีรี)
การจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จะต้องลงมือปฏิบัติธรรมเท่านั้น จะสวดมนต์อ้อนวอนอย่างไร ย่อมไม่อาจบรรลุธรรมได้ แม้จะมีความรู้ในทางทฤษฎีหรือปริยัติธรรมมากมายเพียงใด ล้วนไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาธรรมะทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ ยังเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะการศึกษา และถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ คู่โลกต่อไปอย่างยาวนาน จึงควรทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเข้าถึงธรรมได้ดีที่สุด
ในพุทธชัยมงคลคาถา บทที่ ๓ ได้พรรณนาพุทธคุณไว้ว่า
“นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ
ทาวคฺคิจกฺกมสนีว สุทารุณนฺตํ
เมตฺตมฺพุเสกวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจอมมุนี ได้ชัยชนะต่อช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคีรี ซึ่งเป็นช้างตกมัน สุดแสนที่จะทารุณร้ายกาจ ด้วยนํ้าพระเมตตา ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงบังเกิดมีแก่ท่าน”
พระบรมศาสดาทรงมีมหากรุณา ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก และปรารถนาดีนี้ มิใช่เกิดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเพียงภพชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น แต่มีต่อเนื่องกันมายาวนาน นับภพนับชาติไม่ถ้วน จวบจนถึงวันที่พระองค์ ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของโลก ทรงมีน้ำพระทัยเสมอกันทั้งต่อบุคคลที่มาประทุษร้าย หรือมาเคารพบูชาพระองค์ ทรงมีพระหทัยใสสะอาดบริสุทธิ์ ดุจห้วงมหรรณพที่ให้ความชุ่มเย็น แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดุจท้องนภาที่กว้างใหญ่ไพศาล ให้สกุณาได้เริงร่าโผบินอย่างอิสระ ไฟไม่ตั้งอยู่ในนํ้า พืชไม่งอกบนหินล้วนๆ หมู่หนอนไม่ดำรงอยู่ในยาพิษฉันใด ความโกรธย่อมไม่มีแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันนั้น เพราะพระพุทธองค์มีแต่เมตตาธรรม พื้นดินไม่หวั่นไหวต่อของหนัก ของเน่าเหม็นทุกอย่าง สมุทรสาครกว้างใหญ่ไพศาลประมาณไม่ได้และอากาศไม่มีที่สุดฉันใด พระพุทธเจ้าก็มีมหากรุณาอันหาประมาณมิได้ฉันนั้น
ในสมัยพุทธกาล มีตัวอย่างที่พระจอมมุนีทรงได้ชัยชนะช้างนาฬาคิรี ด้วยกระแสแห่งเมตตาจิตอันหาประมาณมิได้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในชัยมงคลคาถาที่พระองค์ทรงได้ชัยชนะ เรื่องมีอยู่ว่าสมัยหนึ่ง พระเทวทัตมีความปรารถนาที่จะปกครองสงฆ์เอง ขาดความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงได้คบหากับพระเจ้าอชาตศัตรูและทำสัญญากันว่า “ถ้ามหาบพิตรปลงพระชนม์พระบิดาแล้วเป็นพระราชา อาตมภาพจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้า”
พระเทวทัตเข้าไปในโรงช้าง สั่งคนเลี้ยงช้างว่า “ให้ช้างนาฬาคิรีดื่มเหล้าถึง ๑๖ หม้อ แล้วให้ปล่อยไปในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ เมื่อช้างถูกมอมเหล้า เกิดอาการเมาอย่างหนัก เป็นช้างตกมัน ดุร้ายเกรี้ยวกราด ไม่มีใครจะห้ามได้ ทันทีที่ถูกปล่อยออกจากโรงช้าง มันรีบวิ่งตรงไปตามถนน
ขณะนั้น พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปในกรุงราชคฤห์พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงพระดำเนินมาถึงตรอกนั้น ช้างได้ชูงวง วิ่งรี่ตรงไปทางที่พระพุทธองค์เสด็จดำเนินทันที ภิกษุสงฆ์ที่ตามเสด็จเห็นดังนั้น พากันกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ช้างนาฬาคิรีตัวนี้ดุร้าย หยาบช้าฆ่ามนุษย์ กำลังวิ่งเข้ามาในตรอกนี้ ขอพระสุคตเจ้าจงเสด็จกลับเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้เสด็จกลับ ทรงตรัสว่า “มาเถิดภิกษุ เธออย่ากลัวเลย ภพชาตินี้ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ฐานะ ที่บุคคลอื่นจะปลงชีวิตของตถาคตได้ เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น”
แม้ภิกษุสงฆ์จะเชื่อในพระดำรัสของพระบรมศาสดา แต่อดเป็นห่วงพระพุทธองค์ไม่ได้ จึงทูลขอร้องให้เสด็จกลับถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้ายังคงตรัสคำเดิม ขณะเดียวกันนั้นเอง มหาชนพากันหนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนบ้านร้างบ้าง บนหลังคาบ้าง พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา ต่างกล่าวว่า พระมหาสมณะกำลังจะถูกช้างทำร้าย ส่วนผู้มีศรัทธาพากันชื่นชมว่า “วันนี้อานุภาพของพระพุทธเจ้าจะปรากฏเลื่องลือ พวกเราจะได้ดูการต่อยุทธ์ของพญาช้างกับพระพุทธเจ้า”
บรรดาพระมหาสาวกทั้งหลายต่างรับอาสาจะทรมานช้างนาฬาคิรี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “การทรมานช้างนาฬาคีรีไม่ใช่วิสัยของเธอ เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า” ขณะนั้นพระอานนท์ซึ่งจงรักและภักดีในพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก รีบก้าวออกไปยืนขวางหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า “ขอช้างจงฆ่าเราเถิด เราจะสละชีวิตแทนพระพุทธองค์” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งว่า “อานนท์จงหลีกไป” พระอานนท์ก็ไม่ยอมหลีกไป คงยืนขวางหน้าอยู่เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่เมตตาช้างนาฬาคิรี ช้างได้สัมผัสกระแสแห่งเมตตาธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำให้สร่างเมาเป็นปลิดทิ้ง ลดงวงลง ค่อยๆ เยื้องกรายเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่เบื้องหน้าของพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองช้างนาฬาคิรี พลางตรัสว่า “ดูก่อนกุญชร เจ้าอย่าเข้าไปหาพระพุทธเจ้าด้วยจิตที่คิดจะฆ่า อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในอบาย ผู้ฆ่าพระพุทธเจ้า จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าจะไม่มีสุคติเลย เจ้าจงสร่างเมาและอย่าประมาท ผู้ที่ประมาทแล้วจะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้านี่แหละ จักทำโดยประการที่จักไปสู่สุคติได้ ดูก่อนช้างนาฬาคีรี เจ้านี้เป็นเดรัจฉาน มีโอกาสพบเราตถาคตในครั้งนี้ นับเป็นกุศลอย่างยิ่ง ตถาคตนี้อุปมาดังพญาช้างตัวประเสริฐ ประกอบด้วยคุณของพระอรหันต์ เป็นใหญ่ใน ๓ โลก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าดุร้ายไล่ทิ่มแทงมนุษย์อีก จงมีเมตตา ยังใจให้โสมนัส อย่าได้ประกอบโทษ จงหมั่นเจริญเมตตาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สิ้นชีพแล้ว เจ้าจะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
ด้วยเมตตานุภาพอันไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ ทำให้ช้างนั้นมีจิตชื่นชมโสมนัส ซึ่งหากเป็นมนุษย์จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แต่เนื่องจากเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทำให้พลาดจากการได้บรรลุโลกุตตรธรรมอันยอดเยี่ยม แต่ก็เป็นอุปนิสัยติดไปในภพหน้า จากนั้นช้างได้เอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระองค์ แล้วพ่นลงบนกระหม่อมของตน ย่อตัวถอยออกไปชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เดินกลับเข้าไปสู่โรงช้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ช้างนาฬาคิรีก็ได้ชื่อใหม่ว่า ช้างธนปาล มหาชนเห็นเมตตานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างเกิดปีติโสมนัส พากันกล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า “ชาวเราเอ๋ย ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ คนบางพวกย่อมฝึกช้างและม้า ด้วยการใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้าง ใช้แส้บ้าง แต่พระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างโดยใช้เมตตาธรรม”
จะเห็นว่า การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นการบังเกิดขึ้น เพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้น เพื่อเปลื้องทุกข์ให้กับสรรพชีวิต แม้บางชาติต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ยอม สมควรอย่างยิ่งที่เราจะยึดพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างในการสร้างความดี หมั่นระลึกนึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ ที่ทรงประทานธรรมโอสถ รักษาทุกข์ของมนุษย์ ให้หายจากความทุกข์ทรมานในสังสารวัฏ ได้พบความสุขอันเกษม เปรียบเสมือนสุริยาที่ทอฉายแสงให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้พบกับแสงสว่างในชีวิต การที่เราจะระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ได้ถูกตัวจริง ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติธรรม เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นพุทธภาวะเป็นต้นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด
พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*พุทธประวัติ เล่ม๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)