ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ สัจจก-นิครนถ์ (๕)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ สัจจก-นิครนถ์ (๕)

 Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
 
DhammaPP104%205_01.jpg
 
ชัยชนะครั้งที่ ๖ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
(ตอนที่ ๕ ชนะสัจจกนิครนถ์)
 
 
                การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของเราทุกคน เพราะชีวิตของผู้มีใจหยุดดีแล้ว เป็นชีวิตที่ประเสริฐ มีพลัง มีความบริสุทธิ์ มีอานุภาพที่จะทำความดี เอาชนะความชั่ว ขจัดความไม่บริสุทธิ์ ทำให้เราได้เข้าถึงธรรมที่มุ่งตรงไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน  เพราะฉะนั้นใจหยุดนิ่ง จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราเกิดมาชาตินี้ จะต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ได้ หยุดใจได้สมบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้สมปรารถนาในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาสร้างบารมีอย่างแท้จริง
 
        มีวาระพระบาลีที่ท่านกล่าวไว้ใน เอกบุคคล ว่า
 
                “เอกปุคฺคโล ภิกฺขเว โลเก อุปฺปชฺชมาโน อุปฺปชฺชติ อทุติโย อสหาโย อปฺปฏิโม อปฺปฏิสโม อปฺปฏิภาโค อปฺปฏิปุคฺคโล อสโม อสมสโม ทิปทานํ อคฺโค กตโม เอกปุคฺคโล ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
 
                 บุคคลเอก  เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นแบบไม่เป็นที่สองรองใคร ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีใครเสมอด้วยพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเลิศกว่าชนทั้งหลาย บุคคลเอกผู้นั้น คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”
 
 
DhammaPP104%205_02.jpg
               คำว่า "ไม่เป็นที่สองรองใคร" ไม่ใช่เป็นเพียงคำยกย่องธรรมดาๆ เพราะกว่าพระพุทธเจ้าจะได้รับการเฉลิมพระนามเช่นนี้ ต้องสร้างบารมี และฝึกฝนอบรมตนมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ท่านกล้าคิดในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่กล้าคิด คือ กล้าคิดใหญ่ คิดจะไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ และนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากทุกข์ตามพระพุทธองค์ไปด้วย ท่านกล้าทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก ทรงเสียสละได้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายหวงแหน พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายล้วนกล้าคิด กล้าพูดและกล้าทำในสิ่งที่ดี ที่จะส่งผลให้ท่านได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด
 
 
               มนุษย์ในโลกนี้มีมากมาย ตั้งแต่มนุษย์ในชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหะทวีปและอปรโคยานทวีป สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเทวดา พรหมหรืออรูปพรหม ในหมื่นโลกธาตุนี้ ถ้าจะนับกันแล้ว นับอย่างไรก็นับไม่หมด มีมากมายเป็นอสงไขย ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครจะมาเสมอเหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสมือนดวงดาวในท้องนภากาศ มีมากมายนับไม่ถ้วน แต่มีดวงไหนสว่างเท่าดวงอาทิตย์ก็หาไม่  เพราะฉะนั้น  เมื่อพระพุทธองค์ผู้เป็นบุคคลเอกบังเกิดขึ้นในโลก จึงเป็นอัจฉริยบุรุษที่ไม่มีใครเปรียบได้
 
 
                  ตอนที่แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าถึงการแสวงหาทางตรัสรู้ ก่อนที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าว่า พระองค์พบผู้รู้ที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้มากมาย สามารถรู้วาระจิตได้ จนกระทั่งสามารถบรรลุธรรมขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ หากละโลกไปแล้วย่อมได้เกิดในพรหมโลก หรืออรูปภพ แต่พระพุทธองค์ทรงรู้ว่า นั่นไม่ใช่หนทางหลุดพ้นอย่างแท้จริง จึงทรงบอกกับสัจจกนิครนถ์ ให้รู้ถึงหนทางที่เป็นเหตุให้ พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วโดยชอบด้วยพระองค์เอง
 
 
                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เรานั้นแลเสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล  เมื่อแสวงหาทางอันสงบอย่างประเสริฐ จึงเที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ ก็ลุถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ จึงดำริว่า ภูมิภาคนี้ สมควรใช้เป็นที่บำเพ็ญเพียร จึงนั่งลงเจริญสมาธิภาวนา ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์ ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่เรา
 
 
 
                อุปมาข้อที่ ๑ เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาแช่ไว้ในน้ำ บุรุษถือไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจักให้ติดไฟ บุรุษนั้นเอาไม้สีไฟที่ไม้สดมียางที่เขาวางในน้ำ ย่อมทำให้ไฟเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นเพราะไม้สดนั้นมียางทั้งแช่ไว้ในน้ำ บุรุษนั้นมีแต่ความเหน็ดเหนื่อยเปล่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน หากยังไม่หลีกจากกามด้วยกาย ยังมีความรักใคร่ ความกระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อนอันเกิดขึ้น เพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ล้วนเป็นผู้ไม่ควรเพื่อการตรัสรู้อันประเสริฐ
 
 
                อุปมาข้อที่ ๒ เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาแช่ไว้บนบกห่างจากนํ้า บุรุษถือไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า จักให้ไฟปรากฏขึ้น ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุรุษเอาไม้สีไฟสีลงที่ไม้สดที่เขาวางไว้บนบกห่างจากนํ้า พึงให้ไฟปรากฏขึ้นไม่ได้ มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยเปล่าเท่านั้นเอง สมณะหรือพราหมณ์บางพวกก็เช่นเดียวกัน แม้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจรักใคร่ กระวนกระวายเพราะกาม ยังมิได้ระงับด้วยดีภายใน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นจากความเพียรก็ดี หรือมิได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้น ล้วนเป็นผู้ไม่ควรเพื่อการตรัสรู้อันประเสริฐ
 
 
                อุปมาข้อที่ ๓ เปรียบเหมือนไม้แห้งสนิทที่เขาวางไว้บนบกห่างจากนํ้า บุรุษถือไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยความหวังว่า จักให้ติดไฟ  ครั้นเอาไม้สีไฟสีลงที่ไม้อันแห้งสนิท ที่เขาวางไว้บนบกห่างจากนํ้า ไฟย่อมปรากฏเกิดขึ้นได้ เหมือนสมณะหรือพราหมณ์ ผู้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว ทั้งระงับความพอใจในกามทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นจากความเพียรก็ดี หรือมิได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อการตรัสรู้อันประเสริฐ นี้แลอุปมาข้อที่ ๓ ที่ไม่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่เรา”
 
 
 
DhammaPP104%205_03.jpg
                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเล่าถึงการทำความเพียรของพระองค์ต่อไปว่า “เรานั้นมีความดำริว่า ถ้ากระไรเราพึงกดฟันด้วยฟัน เอาลิ้นดันเพดานปากไว้ให้แน่น เอาจิตข่มจิตให้เร่าร้อน เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน เอาลิ้นดันเพดานไว้ให้แน่น  เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังมาก จับบุรุษที่มีกำลังน้อยกว่ากดที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น
 
 
                ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่ได้ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวายไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นถึงปานนี้ มิอาจครอบงำจิตของเรา เรากลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปาก และทางจมูก  เมื่อทำเช่นนั้น ลมจะออกทางหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอื้ออึง เหมือนเสียงสูบเตาของช่างทองที่เขาสูบอยู่ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นถึงปานนี้ มิอาจครอบงำจิตเราได้เลย
 
 
                     เรามีความดำริว่า “ถ้ากระไรเราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ” เราได้กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู  เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางจมูกและทางช่องหู ลมได้ก็เสียดแทงศีรษะ เหมือนบุรุษมีกำลังเอามีดโกนที่คมเชือดศีรษะนั้น เรามีสติตั้งมั่น ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นถึงปานนี้ มิอาจครอบงำจิตเราได้เลย
 
 
                     ดูก่อนอัคคิเวสสนะ  เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู เกิดเวทนาแสนสาหัสในศีรษะ เหมือนบุรุษที่มีกำลังเอาเชือกรัดเข้าที่ศีรษะ มีกายกระวนกระวายไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นถึงปานนี้ มิอาจครอบงำจิตของเราเลย เรากลั้นลมหายใจเข้าออก ทั้งหู จมูกและทางปาก ทำให้ลมบาดท้อง เหมือนนายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาต เอามีดสำหรับแล่โคที่คมเถือแล่ท้องฉะนั้น เรากลั้นลมหายใจ จนทำให้เกิดความเร่าร้อนในร่างกาย เหมือนบุรุษที่มีกำลัง ๒ คน ช่วยกันจับบุรุษหนึ่งที่มีกำลังน้อยกว่าที่แขนทั้ง ๒ ข้าง แล้วพาไปที่ใกล้หลุมถ่านเพลิง”
 
 
 
DhammaPP104%205_04.jpg
                จากพระดำรัสนี้จะเห็นได้ว่า กว่าพระบรมโพธิสัตว์ของเราจะได้ตรัสรู้ธรรม ต้องทดลองตั้งหลายวิธี ใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างมาก พระองค์ทุ่มเทชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ก็ยังไม่พบเห็นหนทางที่ถูกต้อง หนทางที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร พระองค์จะบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีการอย่างไร และทรงใช้วิธีการไหน จึงได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราทุกคน คงต้องมาติดตามศึกษาเรียนรู้กันในครั้งต่อไป

 

 
พระ ธรรมเทศนา โดย :  พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. มหาสัจจกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๑๑๗

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล