ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ปฏิปทาของผู้ไปเกิดเป็นเปรต


ธรรมะเพื่อประชาชน : ปฏิปทาของผู้ไปเกิดเป็นเปรต

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
 

DhammaPP152_01.jpg

ปฏิปทาของผู้ไปเกิดเป็นเปรต
 
               จิตใจของเราจำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการสวดมนต์เจริญภาวนา เหมือนกับร่างกายที่เราต้องใช้อยู่ทุกวัน มีความจำเป็นจะต้องชำระล้างให้สะอาดด้วยน้ำที่สะอาด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัทเจริญภาวนาอยู่ในหนทางสายกลาง ให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกฝนใจว่า ใจที่ผ่องใสย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้ ใจผ่องใสเป็นทางมาแห่งมหากุศล เป็นเครื่องนำสัตวโลกทั้งหลายไปสู่สุคติภูมิ และนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้นวันเวลาที่ผ่านไป  เราควรชำระล้างทั้งสรีระร่างกายและจิตใจให้สะอาดควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน
 
 
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน มหาสีหนาทสูตร ว่า
 
     "ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมรู้จักซึ่งเปตวิสัย ทางไปสู่เปตวิสัย และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใดเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย
 
     ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้นและขึ้นสู่หนทางนั้นแล้วเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงเปรตวิสัย โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้นเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตกเข้าถึงแล้วซึ่งเปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์"
 
 
               การเห็นเรื่องราวความเป็นไปของเปรต และปฏิปทาของผู้ที่จะไปบังเกิดเป็นเปรตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความแจ่มแจ้งชัดเจนมาก ท่านอุปมาเหมือนต้นไม้ที่เกิดในพื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีเงาโปร่งไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อผู้มาอาศัย ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีเนื้อตัวถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง มีความหิวกระหาย เดินทางหาต้นไม้เพื่อเป็นที่พักระหว่างทาง คนตาดีเห็นเขาแล้ว รู้ว่ามีต้นไม้ต้นหนึ่งพอจะเป็นที่พักให้อาศัยได้บ้าง ก็มีใจกรุณาแนะนำว่า “พ่อมหาจำเริญ ถ้าท่านเดินไปทางนี้ จักไปถึงต้นไม้ซึ่งพอจะเป็นที่พักอาศัยของท่านได้บ้าง” เมื่อหนุ่มพเนจรเดินตามทางที่คนตาดีบอก ในไม่ช้าก็ลุถึงต้นไม้นั้นตามคำบอกเล่าทุกอย่าง
 
 
               พระพุทธองค์ก็เช่นเดียวกัน ทรงเห็นผู้ทำบาปอกุศลเอาไว้ในโลกนี้ แล้วเห็นเลยไปอีกว่า ชีวิตหลังความตายของเขา ต้องไปเสวยทุกข์ที่ไหนบ้าง เช่นเข้าถึงเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนาในเปตโลก เพราะพระองค์ทรงมีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ เกินกว่าจักษุของมนุษย์สามัญทั่วไป เพียงแต่ยังไม่จำเป็นที่จะนำมาบอกเล่าทั้งหมด คำสอนที่พระองค์ทรงนำมาแสดงนั้น เหมือนใบไม้ในกำมือ ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้พุทธบริษัทสามารถช่วยเหลือตัวเองให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ส่วนที่ยังไม่นำออกแสดง เป็นเหมือนใบไม้ในป่าซึ่งมีมากมายมหาศาล
 
 
               * มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ รุ่งอรุณของวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะครองผ้าเรียบร้อยแล้ว ก็ถือบาตรเข้าไปชักชวนพระลักขณเถระเพื่อไปบิณฑบาตด้วยกันในพระนครราชคฤห์ ในขณะที่พระเถระทั้งสองลงจากภูเขาคิชฌกูฏนั้น พระมหาโมคคัลลานะผู้มีทิพยจักษุได้แสดงอาการยิ้มขึ้นในที่แห่งหนึ่ง
 
 
               พระลักขณเถระแปลกใจ จึงได้ถามว่า “ท่านผู้มีอายุ อะไรหนอ เป็นเหตุให้ท่านแสดงอาการยิ้มแย้มขึ้นมา” พระมหาโมคคัลลานะบอกว่า “เวลานี้ ไม่ใช่เวลาที่จะเฉลยปัญหาข้อนี้ ขอท่านจงถามผมในสำนักของพระบรมศาสดาเถิด” แล้วก็ออกเดินทางเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์  ครั้นกลับจากบิณฑบาตและฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว พระเถระทั้งสองพากันไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายบังคมและได้นั่งในที่ที่สมควรแล้ว พระลักขณเถระเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะ จึงได้ถามพระมหาโมคคัลลานเถระต่อเบื้องพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง พระเถระได้ตอบว่า “เมื่อผมลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมกับท่านเมื่อเช้านี้ ผมได้เห็นโครงกระดูกลอยอยู่ในอากาศ พวกแร้งบ้าง กาบ้าง นกตะกรุมบ้าง ต่างโผถลาตามทึ้งตามจิกตีโครงกระดูกนั้น และโครงกระดูกนั้นสามารถส่งเสียงร้องครวญครางได้ ผมจึงคิดว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยคิดเลยว่า สัตว์ที่มีรูปร่างอย่างนี้ก็มีอยู่ การได้อัตภาพเห็นปานนี้ก็มีเหมือนกัน ครั้นคิดเช่นนี้แล้ว ผมจึงได้แสดงอาการยิ้มขึ้น”
 
 
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธฎีกาว่า “ดูก่อนเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย สาวกของเราเป็นผู้มีจักษุหนอ สาวกของเราเป็นผู้มีญาณหนอ เพราะว่า สาวกของเราได้เห็นสัตว์เช่นนั้นได้ จักได้เป็นพยานของเรา เมื่อก่อนนี้เราก็ได้เห็นสัตว์ตนนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พยากรณ์ไว้ เพราะหากว่าเราจะพยากรณ์สัตว์นั้นไซร้ คนบางพวกก็จะไม่พึงเชื่อเรา ข้อที่คนทั้งหลายไม่เชื่อเรา ก็จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน” จากนั้นพระองค์ทรงตรัสเล่าประวัติของเปรตโครงกระดูกที่พระเถระเห็นในเช้าวันนั้นว่า
 
 
               แต่ก่อนเปรตตนนั้น เกิดเป็นคนฆ่าโคอยู่ในพระนครราชคฤห์ ครั้นตายไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งผลกรรมนั้น จึงต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก ต้องหมกไหม้อยู่ในมหานรกเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากทุกข์โทษในนรก ก็หลุดมาอยู่ที่อุสสทนรก ครั้นกรรมเบาบางก็มาอยู่ในยมโลก เมื่อหลุดจากการเป็นสัตว์นรกแล้ว ก็มาเกิดเป็นเปรตโครงกระดูกด้วยเศษบาปกรรมยังเหลืออยู่ ต้องเสวยทุกขเวทนา ดังที่ท่านโมคคัลลานะเห็นเมื่อเช้านี่แหละ
 
 
               พระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้เลิศทางด้านมีฤทธิ์มาก การไปตรวจดูความเป็นอยู่ของสัตว์นรกหรือชาวสวรรค์จึงเป็นเรื่องปกติ และบ่อยครั้งที่ท่านเห็นเปรตด้วยตาเนื้อของท่านเอง เมื่อเห็นแล้วก็จะนำมาเล่าให้พระบรมศาสดาฟังในท่ามกลางมหาสมาคมอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้พยากรณ์เรื่องกฏแห่งกรรมของสรรพสัตว์ ให้พุทธบริษัทได้รับฟังกัน
 
 
               บางวันพระเถระเห็นเปรตรูปร่างผอมโซ เอาค้อนเหล็กลุกแดงด้วยเปลวไฟตีกระหนํ่าลงไปบนศีรษะตัวเองไม่มีว่างเว้นเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ที่ต้องมาเสวยกรรมเช่นนี้ ก็เพราะเคยเป็นคนพาลสันดานร้าย ประกอบด้วยโทสจริต ลืมคิดถึงคุณของพ่อแม่ พอโกรธขึ้นมาก็ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ จึงเอาไม้เอามือตบตีหัวบิดามารดา ด้วยอกุศลกรรมที่ทำบาปต่อบุพการีเช่นนี้ เมื่อสิ้นชีวิตจึงต้องมาเกิดเป็นเปรตบ้า ก้มหน้าก้มตาจะเอาค้อนเหล็กแดงประหัตประหารตีศีรษะตนเองอยู่เป็นนิตย์ ด้วยฤทธิ์แห่งอกุศลกรรมชักนำให้เป็นไปนั่นเอง
 
 
               เรื่องของเปรตนี้ มีข้อคิดที่น่าสนใจคือ เมื่อมนุษย์ไปเกิดเป็นเปรต ต้องเสวยความทุกข์ทรมานเพราะความอดอยากเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะไปเกิดเอง อันที่จริงการที่มนุษย์จะต้องไปเกิดเป็นเปรตก็เพราะมีเหตุปัจจัย มีเบื้องหลังซึ่งเป็นมุมมืดของชีวิตที่ได้ทำไว้ทั้งนั้น เหตุปัจจัยหรือปฏิปทาที่ให้ทำสัตว์ต้องไปเกิดในอบายภูมิ โดยเฉพาะไปเป็นเปรตนี้ ก็คือความตระหนี่ และประมาทในชีวิตไปทำอกุศลกรรมบถ ซึ่งเป็นความชั่วที่ทำทางกาย วาจาและใจ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ได้แก่ ประพฤติผิดทางกายคือ ฆ่าสัตว์ ลักขโมย ประพฤติผิดในกาม ประพฤติผิดทางวาจา ซึ่งได้แก่ เป็นคนพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และบาปทางใจคือ โลภอยากได้ของคนอื่น คิดพยาบาทปองร้ายเขา คิดเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
 
 
               เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ว่าบาปธรรมเหล่านี้เป็นปฏิปทาที่ดำเนินไปสู่ทุคติ และเป็นทางไปสู่ความเป็นเปรตผู้หิวโหย ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงรู้ทรงเห็น และทรงเมตตานำมาแนะนำเราไว้แล้ว ก็ขอให้ทุกท่านได้ละเว้นบาปธรรมเหล่านี้ ให้ประพฤติกุศลธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งตรงกันข้ามกับอกุศลกรรม ชีวิตของเราจะได้ปลอดภัย การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ควรเป็นไปเพื่อการสร้างบุญสร้างบารมีอย่างเดียว บาปอกุศลทั้งหลายอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ให้เก็บเกี่ยวเอาบุญไปให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะหมดกิเลสเข้าสู่พระนิพพานกันทุกคน
 
* มก. เล่ม ๒๖ หน้า ๗๐๑
 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล