ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๘ พกาพรหม (๑)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๘ พกาพรหม (๑)

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
 
 
DhammaPP108_01.jpg
ชัยชนะครั้งที่ ๘ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(ชนะพกาพรหม ตอนที่ ๑)
 
                นักสร้างบารมีต้องมีใจจรดจ่ออยู่กับการสร้างบารมี ไม่ใช่ส่งใจไปในเรื่องอื่นที่ไม่เป็นสาระ อันเป็นเหตุให้อาสวกิเลสเข้ามาอยู่ในใจ ต้องคิดตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรบารมีของเราจึงจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ดวงบุญในตัวเราจะขยายใหญ่ขึ้น ทำอย่างไรใจของเราจึงจะหยุดจะนิ่ง หยุดนิ่งสนิทจนสามารถเข้าถึงพระธรรมกายได้ ตลอดทั้งวันต้องคิดเพื่อการเพิ่มเติมบุญบารมีให้กับตัวเอง พร้อมกับทำความบริสุทธิ์ หยุดใจให้ละเอียดไว้เสมอ ส่วนการทำมาหากินเป็นเรื่องรอง ภารกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม
 
 
 DhammaPP108_03.jpg
                ในบทชัยมังคลกถาที่ ๘ พระโบราณาจารย์ได้รจนาไว้ว่า
 
                “ทุคฺคาหทิฏฺฐิภุชเคน สุทฏฺฐหตฺถํ
                พฺรหฺมํ วิสุทฺธิชุติมิทฺธิพกาภิธานํ
                ญาณาคเทน วิธินา ชิตวา มุนินฺโท
                ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
 
                พระชินสีห์ผู้เป็นจอมมุนีได้ชนะพกาพรหมผู้มีฤทธิ์ สำคัญตนว่าเป็นผู้รุ่งเรือง ด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีอสรพิษคือทิฏฐิที่ตนถือผิดรัดรึงไว้ ด้วยเทศนาญาณวิธี ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงบังเกิดมีแก่ท่าน
 
                ชัยชนะของพระพุทธเจ้าครั้งสุดท้าย เป็นชัยชนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีชัยต่อพกาพรหม ผู้มีความยึดมั่นว่า ตนเป็นผู้มีอายุยืนที่สุด สถานที่ของพรหมนี้เที่ยงแท้ที่สุด แต่หารู้ไม่ว่า ยังถูกพญามารบังคับบัญชาได้ เรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงเล่าให้ภิกษุสงฆ์ที่พระวิหารเชตวันฟังว่า  เมื่อครั้งที่ทรงดูวาระจิตของพกาพรหมที่เสวยสุขอันเกิดจากผลสมาบัติเป็นเวลายาวนานนั้น มีความเห็นอย่างไรบ้าง ทรงรู้ว่าพกาพรหมเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่า พรหมโลกเป็นที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่มีการจุติ ไม่มีการเกิด เป็นที่พ้นไปจากทุกข์ คือ คิดว่าพรหมโลกหลุดพ้นจากวัฏสงสารแล้ว
 
 
 
 
DhammaPP108_04.jpg
 
                เมื่อพระพุทธองค์ล่วงรู้ความคิดของพกาพรหม จึงไปปรากฏกายที่พรหมโลกทันที เสมือนบุรุษที่มีกำลังเหยียดแขนและคู้แขนในเวลาอันสั้น ก็ถึงพรหมโลกแล้ว พกาพรหมเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็ทูลว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ นานทีเดียวหนอที่ท่านไม่ได้มาในที่นี้ ท่านผู้นิรทุกข์ พรหมสถานที่นี้เที่ยงแท้ มั่นคง ยั่งยืน ไม่เกิด ไม่ตาย เป็นที่ออกจากทุกข์ สุขที่ยิ่งกว่าพรหมสถานย่อมไม่มี” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนพกาพรหม ท่านถูกอวิชชาคือความมืดครอบงำแล้วหนอ เพราะท่านกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง แท้ที่จริง ผู้ที่เกิดในพรหมโลกยังมีเกิด แก่ ตาย ไม่เที่ยง แต่ไฉนท่านจึงกล่าวว่าเที่ยง”
 
 
 DhammaPP108_05.jpg
                ขณะนั้นมารผู้มีใจบาปได้เข้าไปสิงพรหมปาริสัชชาผู้หนึ่ง ทำให้ตกอยู่ในอำนาจ พรหมท่านนั้นจึงกล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ดูก่อนสมณะ ขอพระองค์อย่าได้เบียดเบียนรุกรานพกาพรหม พกาพรหมนี้เป็นท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่ อันคณะพรหมทั้งหมดไม่อาจฝ่าฝืนได้ เป็นผู้ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นผู้สร้างโลก เนรมิตโลก เป็นผู้ปรุงแต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของสรรพสัตว์ที่เกิดแล้วและกำลังจะเกิด ดูก่อนผู้เจริญ สมณพราหมณ์ก่อนๆ เป็นผู้ติเตียน ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นผู้ติเตียนเทวดา ติเตียนพรหมว่าไม่เที่ยง  เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไป ต้องไปเกิดในอบายกันมากมาย ส่วนสมณพราหมณ์ ผู้สรรเสริญ ดิน น้ำ ลม ไฟ สรรเสริญเทวดา พรหม  เมื่อตายไปแล้วจะเข้าถึงพรหมโลก  เพราะฉะนั้น ท่านจงทำตามคำของพกาพรหม อย่าได้ฝ่าฝืนอำนาจเลย”
 
 
                เป็นเรื่องแปลกที่ มารตนนี้ มีความเพียรพยายามมาก พยายามกีดขวางพระพุทธองค์มาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งที่พระองค์เสด็จออกผนวช ก็ถูกพญามารตนนี้เอาสมบัติจักรพรรดิมาล่อ แต่เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยของพระองค์ได้ ก็คอยหาทางกลั่นแกล้ง หาทางขัดขวางเส้นทางการสร้างบารมีเรื่อยมา หรือแม้พระพุทธองค์จะได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ยังตามรังควานตลอด ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน พญามารได้เฝ้าติดตามว่า “วันนี้พระสมณโคดม จะไปโปรดใครเราจะต้องไปขัดขวาง”
 
 
 
 DhammaPP108_06.jpg
                เมื่อพญามารรู้ว่า พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่เมืองอุกกัฏฐะที่ป่าสุภคะ ก็สำรวจดูว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ไหน  ครั้นรู้ว่ากำลังจะไปพรหมโลก จึงคิดว่า “พระสมณโคดมกำลังไปพรหมโลกเพื่อกลับใจของพกาพรหม เราไม่ยอมให้พกาพรหมไปสู่อำนาจของพระพุทธเจ้า และจะให้พวกพรหมทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจของเรา ไม่ให้พรหมก้าวล่วงพ้นวิสัยของพญามาร” จึงปาฏิหาริย์กายติดตามพระบรมศาสดาไป แล้วมายืนกำบังตัวในระหว่างหมู่พรหม
 
 
 
 DhammaPP108_07.jpg
                เมื่อมารรู้ว่า พระบรมศาสดากำลังนำพาเหล่าพรหมไปสู่เส้นทางนิพพาน จึงทำตนเป็นผู้ค้ำชูพรหม ด้วยการเข้าสิงพรหมปาริสัชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า เสียงที่กล่าวออกมานั้น ไม่ใช่เสียงของพรหม แต่เป็นเพราะพรหมถูกมารเข้าสิง แล้วยังบังอาจมาโกหกพระองค์ ผู้ซึ่งไม่มีใครสามารถทำให้หลงใหลหรือคล้อยตามได้ จึงบันลือสีหนาทว่า “แน่ะมาร เราเท่านั้นในพรหมโลกนี้ที่รู้จักท่าน เหล่าพรหมและบริษัทพรหมอยู่ในอำนาจของท่าน ท่านคิดว่าแม้เราก็อยู่ในอำนาจของท่านหรือ แต่เราไม่อยู่ในอำนาจของท่านหรอก”
 
 
 
 
DhammaPP108_08.jpg
                พกาพรหมกล่าวถึงความเป็นใหญ่ของตน อวดอ้างอิทธิฤทธิ์ของตนว่า ไม่มีใครยิ่งใหญ่เทียมเท่าตน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เรารู้แล้วว่า ท่านเป็นผู้มีอานุภาพมาก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมโคจรส่องสว่างอยู่เท่าใด อำนาจของท่านเป็นไปในพันจักรวาลเท่านั้น ท่านย่อมรู้จักสัตว์ที่เลวและประณีต รู้จักสัตว์ที่มีราคะและไม่มีราคะ รู้จักจักรวาลนี้และจักรวาลอื่น รู้จักการมาและการไปของสัตว์ทั้งหลาย ดูก่อนพกาพรหม เราย่อมรู้ความสำเร็จและอานุภาพของท่าน แต่ท่านไม่รู้ไม่เห็นกาย ๓ อย่าง ส่วนเราตถาคตทั้งรู้เห็นกาย ๓ อย่าง คือ กายอาภัสสระ กายสุภกิณหะ กายเวหัปผลา เราเป็นผู้รู้สูงกว่าท่าน
 
 
 
 
DhammaPP108_09.jpg
 
                ดูก่อนพกาพรหม กายหมู่สัตว์ชื่ออาภัสสระมีอยู่ กายสุภกิณหะและเวหัปผลามีอยู่ ท่านเคลื่อนแล้วจากไหนมาอุบัติในที่นี้ ท่านมีสติหลงลืมเพราะความอยู่อาศัยมานาน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่รู้ไม่เห็นกายนั้น ส่วนเรารู้เห็นกายนั้น ดูก่อนพรหม เราเป็นผู้อันท่านเทียบไม่ได้แม้เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่ง แล้วเราจะเป็นผู้ตํ่ากว่าท่านได้อย่างไร ที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน เรารู้จักดิน น้ำ ลม ไฟ รู้จักสรรพสัตว์ เทวดา พรหม อรูปพรหมทุกชั้น เรารู้จักสิ่งเหล่านั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้จักนิพพานอันสัตว์ไปถึงได้ยาก โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นอมตธรรม เราไม่ได้มีความยึดถือในสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีความยึดถือแล้วว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของเรา”
 
 
 
 
DhammaPP108_10.jpg
 
                เนื่องจากในอดีตตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่มาตรัสรู้นั้น พกาพรหมได้บวชเป็นฤๅษีเจริญกสิณจนได้ฌานอยู่ในป่าเป็นเวลายาวนาน แล้วได้ไปเกิดในเวหัปผลาพรหมอันเป็นจตุตถฌานภูมิ มีอายุ ๕๐๐ กัป แล้วถอยลงมาเกิดในสุภกิณหพรหมภูมิ ด้วยอำนาจตติยฌาน  เมื่อเสวยสุขในพรหมชั้นนั้นแล้ว ต่อมาได้ถอยลงมาเกิดในอาภัสสราพรหมด้วยอำนาจของทุติยฌาน เสวยสุขในพรหมชั้นนั้นจนหมดอายุขัย แล้วถอยลงมาเกิดเป็นท้าวมหาพรหมในปฐมภูมิ นั่นหมายถึงว่า พกาพรหมได้เสื่อมจากฌานที่สูงที่สุด ตั้งแต่จตุตถฌานลงมาจนถึงปฐมฌาน ซึ่งมีอายุเพียง ๑ กัป ตอนที่เกิดใหม่ๆ นั้น ยังระลึกถึงกรรมในชาติก่อนๆ ได้ว่า เคยได้ฌานอะไร ไปเกิดที่ไหน ต่อมาเนื่องจากเสวยสุขอันเกิดจากอารมณ์ของฌานสมาบัติเป็นเวลายาวนาน ทำให้หลงอยู่ในฌานสุข เกิดสัสสตทิฏฐิว่า พรหมโลกเป็นของเที่ยง ยั่งยืน ภพที่ออกจากทุกข์ นอกจากพรหมโลกนี้ไม่มีอีกแล้ว เข้าใจว่าพรหมโลกนี่แหละประเสริฐที่สุด
 
 
 
 
DhammaPP108_11.jpg
                จะเห็นว่า แม้กระทั่งพรหมที่ชาวโลกเข้าใจกันว่า เป็นผู้สร้างโลกยังหลงตัวเอง และเข้าใจผิดไปได้ถึงเพียงนั้น ความเข้าใจผิดเป็นอันตรายใหญ่หลวง พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงแก้ความเห็นผิดนั้น ส่วนพระพุทธองค์จะทรงแก้ไขพกาพรหมด้วยวิธีการอย่างไรนั้น ต้องติดตามในตอนต่อไปว่า พกาพรหมจะยอมเข้าใจไปตามความเป็นจริงไหม จะยอมกลับใจเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วหันมานับถือพระรัตนตรัยหรือไม่ ขอให้พวกเราอย่าลืมการปฏิบัติธรรม หมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่ง เราจะได้รู้จักความเป็นจริงของพรหมโลก จะได้ไม่หลงผิดหลงทาง แต่จะดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องตลอดไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พรหมนิมันตนิกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๔๔๑
 
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล