ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พุทธปัจฉิมโอวาท


ธรรมะเพื่อประชาชน : พุทธปัจฉิมโอวาท

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP194_01.jpg

พุทธปัจฉิมโอวาท
 

                หลังจากตรัสรู้แล้วตลอด ๔๕ พรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติพุทธกิจ ๕ ประการ เป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ ที่ใด ไม่ได้ทรงละกิจ ๕ ประการนี้เลย คือเวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาเย็นทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน เวลาค่ำประทานโอวาทแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ เวลาเที่ยงคืนทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดาและเวลาย่ำรุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลก ที่มีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม แล้วจึงเสด็จไปโปรด

 


                และในวันสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ทรงสรุปคำสอนทั้งหมดเหลือเพียง ๑ คือความไม่ประมาท ความไม่ประมาทคือหลักประกันของชีวิต ว่าจะไม่พลัดไปเกิดในอบายภูมิ ชีวิตจะเวียนวนอยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียว เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม ก็จะทำให้ได้นิพพานสมบัติ ดังนั้นเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน ควรผ่านไปพร้อมกับบุญบารมีที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนะจ๊ะ

 


พระสัมมาสัมพุทธตรัสปัจฉิมโอวาทไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า

หันทะทานิ ภิกขะเว  อามันตะยามิ โว
วะยะธัมมา สังขารา   อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

 


                พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติพุทธกิจ ๕ ประการ เป็นประจำทุกวันความไม่ประมาทคือการมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูดหรือจะทำสิ่งใดก็ไม่ยอมถลำไปในทางที่เสื่อม ความไม่ประมาทในที่นี้ หมายถึงไม่ประมาทในธรรมหรือในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งโดยทั่วไปก็ได้แก่

 

            ไม่ประมาทในเวลา อย่าเอาเวลาไปทำในสิ่งที่ไร้สาระ ให้เร่งสร้างบารมีกันให้เต็มที่ เพื่อแข่งกับเวลาที่มีอยู่น้อย เมื่อผ่านไปแล้วก็เรียกกลับคืนมาไม่ได้ 

            ไม่ประมาทในวัย อย่าคิดว่าตัวเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ 

            ไม่ประมาทในความไม่มีโรค อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้าวิบากกรรมในอดีตตามมาทันเมื่อไหร่ อาจจะป่วยขึ้นมากระทันหันก็ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีกันให้เต็มที่ 

            ไม่ควรประมาทในชีวิต ให้มีสติเตือนตนอยู่เสมอ

 


                เหมือนดังเรื่องของพระติสสเถระที่ท่านรู้ว่าอีก ๔ เดือนพระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงเร่งรีบทำความเพียร ส่วนภิกษุอีก ๗๐๐ รูปกลับมัวเสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ จับกลุ่มปรึกษากันว่า พวกเราจะทำอย่างไรกันดีหนอ 
    

 

                พระติสสเถระคิดว่าอันตัวเรานี้ยังเป็นผู้มีราคะ โทสะและก็โมหะอยู่ เมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ เราไม่ควรประมาทและมัวเสียใจในการจะเสด็จดับขันของพระพุทธองค์ ควรรีบเร่งปฏิบัติให้ได้บรรลุอรหัตผล จะเป็นประโยชน์มากกว่า 

 


                ตั้งแต่นั้นมาจึงไม่ไปมาหาสู่กับเพื่อนสหธรรมมิตร ไม่สนทนากับภิกษุรูปใดเลยมุ่งทำความเพียรในอริยบททั้ง ๔ ครั้นเพื่อนสหธรรมิกถามว่า ทำไมท่านติดสสจึงไม่ยอมมาร่วมสนทนาเหมือนแต่ก่อน อาการเศร้าโศกเสียใจในการที่จะต้องพลัดพรากจากพระบรมศาสดา แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี ท่านไม่มีความรักในพระพุทธเจ้าแล้วหรือไร ท่านติสสจึงได้บอกวัตถุประสงค์ของตนเองให้ทราบ บางรูปก็เข้าใจและชื่นชมอนุโมทนา แต่บางรูปก็ไม่ยอมเข้าใจจึงได้กราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ


    

                พระบรมศาสดารับสั่งให้หาพระติสสมา แล้วก็ตรัสถามว่าเป็นอย่างที่ภิกษุมากราบทูลจริงหรือ ซึ่งตามปกติพุทธองค์ทรงทราบด้วยพุทธญาณอันบริสุทธิ์อยู่แล้วนะจ๊ะ เพียงแต่พระองค์ต้องการให้ท่าน ได้ประกาศคุณความดีของตน ท่ามกลางเหล่าพุทธบริษัท เมื่อท่านทูลความจริงให้ทราบก็ทรงอนุโมทนาว่า ดีแล้วติสสเธอทำดีแล้วสมเป็นบุตรของเรา ภิกษุผู้มีความรักในเราจงเป็นเหมือนพระติสสนี้เถิด เพราะแม้บุคคลผู้กระทำการบูชาอยู่ ด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ไม่ชื่อว่าบูชาเราเลย แต่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมนั่นแหละชื่อว่าบูชาเรา 

 


                ภิกษุผู้ดื่มรสอันเกิดแต่วิเวกและรสแห่งพระนิพพานอันเป็นที่เข้าไปสงบ ดื่มรสปีติอันเกิดแต่ธรรม ย่อเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาปจากนั้นก็ทรงเทศน์สอนให้ภิกษุสงฆ์ ยินดีในความไม่ประมาท ให้มีใจยินดีในพระนิพพาน เมื่อจบพระเทศนาท่านพระติสสเถระก็ได้บรรลุอรหัตผล สมดังใจปรารถนา 

 


                นี่ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิตอย่างแท้จริงนะจ๊ะ ลูกๆ ของหลวงพ่อก็เช่นเดียวกัน อย่าได้ประมาทในการปฏิบัติธรรม หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกันให้ได้ทุกๆ วัน ปฏิบัติธรรมให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่รอจนแก่ แล้วจึงค่อยเข้าวัด ตอนนั้นจะฟังเทศน์ก็ฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด เมื่อระลึกได้เช่นนี้ก็ให้มีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรม 

 


                เพระการปฏิบัติธรรมนั้นจะนำความสุขมาให้ แก่ตนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แล้วก็เป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดคือพระนิพพานได้ ธรรมชาติของจิตของคนเรานี้นะจ๊ะ ชอบนึกคิดอยู่ตลอดเวลา การนึกคิดถ้าไม่มีสติกำกับก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้วจะทำให้มีเผลอ สามารถควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ นอกจากนี้สติยังช่วยทำให้เกิดความระมัดระวัง ป้องกันภัยที่จะมาถึงตัวอีกด้วย สติเป็นเครื่องยับยั้งเตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม  ไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินไปในสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเอง

 


                สติยังเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เราขวนขวายในการสร้างความดี ไม่ทอดธุระ ไม่เกียจคร้าน กระตุ้นให้เรามีความขมักเขม้น คือเมื่อเตือนตนเองให้ทำความดีแล้วก็จะทำอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ทำแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ทำให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่อยู่เสมอ ตระถึงหนักถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ตระหนักถึงสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ และทำให้มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ไม่ประมาทชะล่าใจว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร


    

                วิธีที่จะฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาทนั้นจะต้องละเว้นทุจริตทางกาย วาจาและก็ทางใจให้ระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจอยู่ในเนืองๆ อย่าได้ขาดจะทำอะไรก็ให้มีสติระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นบุญเป็นกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นกุศลจึงทำ ให้ระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่บ่อยๆ คือมีสติระลึกเสมอว่า การเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็ดีล้วนมีทุกข์มาก เมื่อระลึกเช่นนี้แล้วก็จะไม่ยอมทำความชั่วเลย ให้เราระลึกถึงความทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ ในวัฏสงสารอยู่เป็นประจำ คือให้ระลึกว่า ถ้าเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมีการเกิดแก่ เจ็บ ตายมีทุกข์อยู่ร่ำไป จะได้เร่งรีบปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดถึงพระนิพพานให้เร็วที่สุด จะได้หมดทุกข์ เมื่อระลึกเช่นนี้บ่อยๆ จะได้ไม่ประมาทกันนะจ๊ะ 

 


                และให้เราระลึกถึงพระกรรมฐานคือฐานที่ตั้งของใจ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้เพื่อที่จะละราคะ โทสะ โมหะให้ขาดออกจากใจ คือให้มีสติระลึกไว้ว่าการที่เราจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ มีทางเดียวเท่านั้นคือต้องหยุดใจให้ได้ ใจหยุดจึงจะหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารและโลกามิสทั้งหลาย วิธีที่จะฝึกใจให้หยุดได้ดีที่สุดก็คือการเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ 

 


                เพราะฉะนั้นที่สุดของความไม่ประมาทนั้นก็คือ การหมั่นเจริญเจริญสมาธิภาวนาฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นพุทธวิธีที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล โดยอาศัยความไม่ประมาทและสติเป็นรากฐานที่สำคัญ ที่จะทำให้สมาธิก้าวหน้าขึ้น ถ้าไม่ประมาทเช่นนี้ชีวิตการสร้างบารมีก็จะมีความสุข และก็จะได้รับความสุขไปทุกภพทุกชาติ จะเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ ตื่นจากบาปอกุศล ความไม่ดีต่างๆ จะสูญสิ้นไป

 


                เพราะฉะนั้นให้ลูกทุกๆ คน อย่าได้ประมาทและให้ตั้งใจฝึกสติ เจริญสมาธิภาวนากันให้ดี ให้สมกันที่เราเกิดมาทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญสร้างบารมี แล้วสติของเราก็จะได้กลายเป็นมหาสติ ในที่สุดก็จะได้เข้าถึงพระธรรมกาย และเกิดมหาปัญญานำพาไปสู่นิพพานกันทุกคนนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล