แนวทางใช้ธรรม 6 ประการเพื่อประเมินตนเอง

วันที่ 02 ตค. พ.ศ.2558

แนวทางใช้ธรรม 6 ประการเพื่อประเมินตนเอง


สำหรับการนำธรรมทั้ง 6 ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณ มาใช้ประเมินคุณธรรมในตนเอง มีแนวทางดังนี้ คือ


 ประเมินด้วย "ศรัทธา"
สำหรับพระภิกษุ
            การมีศรัทธา หมายถึงการมีความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่าตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อมั่นว่าสิ่งที่พระองค์สั่งสอนทั้งหมดดีจริง และเป็นสิ่งที่พระภิกษุต้องปฏิบัติตาม
            ดังนั้น การจะรู้ว่าตัวเองเชื่อมั่นมากแค่ไหน ให้พิจารณาว่า เราได้ทุ่มเทฝึกหัดขัดเกลา กาย วาจา ใจ ตามที่พระองค์ทรงสอนขนาดใช้ชีวิตเป็นเดิมพันหรือไม่ เป็นเกณฑ์ความเลื่อมใสในระดับใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน หมายความว่า พระภิกษุจะต้องพากเพียรปฏิบัติชนิดไม่มีข้อแม้ เงื่อนไข และข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือลำบากยากแค้นเพียงใด ก็ต้องเพียรพยายามเรื่อยไป โดยมีเป้าหมายคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ด้วยวิธีการอย่างนี้ พระภิกษุจึงต้องหมั่นพิจารณาศรัทธาที่ตนเองมีอยู่เสมอ เช่น ประเมินตนเองว่า วันนี้ได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองไปมากน้อยแค่ไหน ยังคงมีความตั้งใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้ก้าวหน้าหรือไม่ หรือมีข้อวัตรปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ใดๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เป็นต้น
            ดังนั้น แนวทางในการประเมินศรัทธาของพระภิกษุ คือ "ให้พิจารณาว่า ตนเองพยายามฝึกฝนขัดเกลากาย วาจา ใจ ตามคำสอนอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันหรือไม่"

สำหรับฆราวาส
            อาจใช้หลักการประเมินแบบเดียวกันกับพระภิกษุ ด้วยเหตุที่บทฝึกปฏิบัติของฆราวาส คือการทำทานรักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ฆราวาส จึงควรพิจารณาตนเองว่า เราได้ทุ่มเทฝึกปฏิบัติได้ดีเพียงใด อาทิเช่น การทำทาน อาจพิจารณาดังนี้
1. เราได้ทำทานสม่ำเสมอทุกวันหรือไม่
2. เราสามารถทำทานได้ตามหลักการทำทานที่ได้บุญมากหรือไม่ โดยให้พิจารณาจาก
2.1 รักษาใจให้ผ่องใสทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำได้หรือไม่
2.2 จัดเตรียมทานได้ประณีตหรือไม่
2.3 วัตถุทาน เจตนา ผู้รับทานของเราบริสุทธิ์หรือไม่
2.4 เราให้ทานด้วยความเคารพเลื่อมใสและให้ด้วยมือตนหรือไม่
            ส่วนการรักษาศีล และการเจริญสมาธิภาวนา ก็สามารถใช้หลักการในทำนองเดียวกัน โดยอาศัย
เกณฑ์ที่ว่า "เราทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบารมี เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่"

 

 ประเมินด้วย "ศีล"
สำหรับพระภิกษุ
            ให้ประเมินจากความผ่องใสของใจ โดยนึกถึงวัตรปฏิบัติอันหมดจดทางกายของเราทีไรแล้วใจ ว่าง
มีปีติเบิกบาน เย็นกายเย็นใจสัมผัส ได้ถึงความบริสุทธิ์ของตนเอง โดย
1. หมั่นประเมินโดยการทบทวนตัวเองว่า ในแต่ละวัน เรามีความเคร่งครัดในการรักษาศีลมากน้อยเพียงใด เช่น ความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในปาริสุทธิศีล โดยพิจารณาว่า เรามีกำลังใจที่จะปฏิบัติตามศีลที่พระองค์ทรงห้ามไว้ หรือที่ทรงอนุญาตไว้เคร่งครัดเพียงใด สมบูรณ์หรือบกพร่องด่างพร้อยแค่ไหน เป็นต้น
2. หมั่นประเมินว่า เราปฏิบัติกิจวัตรกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ครบถ้วน สมบูรณ์ดีหรือไม่ เช่นการสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา การเล่าเรียนศึกษาธรรมะ เป็นต้น
3. การประเมินศีลในทางธรรมปฏิบัติ ให้พิจารณาจากการ "เข้าถึงดวงศีลภายใน" ซึ่งหมายถึง"อธิศีล" ดังพระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนีที่ว่า"ศีลเป็นดวงใสอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ดวงศีลอยู่ภายในนั้น ใสบริสุทธิ์เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ศีลดวงนั่นแหละ ถ้าผู้ปฏิบัติไปถึง ไปเห็นเป็นปรากฏขึ้น ในศูนย์กลางกายมนุษย์ เห็นเป็นปรากฏขึ้น ศีลดวงนั้นแหละได้ชื่อว่าเป็นอธิศีล เป็นอธิศีลแท้ๆ"

สำหรับฆราวาส
            สำหรับฆราวาส ก็เช่นเดียวกัน ให้ประเมินจากความผ่องใสของใจ โดยอาศัยพิจารณาจากความเคร่งครัดในศีล 5 หรือศีล 8 ที่ตนรักษา และที่สุดก็สามารถประเมินจาก "ดวงศีล" เช่นกัน

 

ประเมินด้วย "สุตะ"
สำหรับพระภิกษุ
            การประเมินด้วยสุตะ หรือการฟังธรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้สามารถประเมินโดยอาศัยแนวทาง 3
ประการ ดังนี้
1. ประเมินจากความกระตือรือร้นในการฟังหรืออ่านธรรมะว่ามีมากน้อยแค่ไหน เช่น มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าหาพระอุปัชฌาย์อาจารย์เพื่อฟังหรือสอบถามธรรมะเพียงใด มีความรู้สึกเบื่อหน่ายในการศึกษาหาความรู้หรือไม่ มักจะใจลอยหรือหลับในเวลาฟังธรรมหรือไม่ เป็นต้น
2. ได้ข้อคิดจากการฟังหรืออ่านธรรมะมากน้อยเพียงใด มีความเข้าใจละเอียดลึกซึ้งแค่ไหน เช่นสิ่งที่ศึกษามาคืออะไร พระองค์สอนเช่นนั้นทำไม และเราจะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร เป็นต้น
3. ได้พิจารณาเห็นความบกพร่องในตนเองที่ต้องเร่งแก้ไขมากน้อยแค่ไหน

สำหรับฆราวาส
สามารถประเมินด้วยหลักการเดียวกับพระภิกษุเช่นกัน คือ
1. มีความกระตือรือร้นในการเข้าวัดฟังธรรมแค่ไหน ขวนขวายหาหนังสือธรรมะมาอ่านมากน้อยเพียงไร
2. ได้ข้อคิดจากการศึกษาธรรมะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด
3. เห็นข้อบกพร่องของตนเอง ทั้งในด้านของนิสัย หรือเรื่องอื่นๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขหรือไม่
4. ได้พยายามฝึกหัดขัดเกลาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองไปได้มากน้อยเพียงไร และทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เป็นต้น

 

ประเมินด้วย "จาคะ"
            การประเมินด้วยจาคะหรือการสละ ทั้งในส่วนของพระภิกษุและฆราวาสามารถประเมินโดยอาศัยแนวทาง 4 ประการนี้ คือ
1. ประเมินจากการ " สละสิ่งของ" โดยพิจารณาว่า เราเป็นผู้รักการให้หรือไม่ ให้แล้วยังมีความตระหนี่ หวงแหน รู้สึกเสียดายในภายหลังหรือไม่ เป็นต้น
2. ประเมินจากการ " สละความสะดวกสบาย" โดยพิจารณาว่าเราเป็นคนประเภทติดสบายหรือไม่ หรือชอบเกี่ยงงอน งานหนักไม่เอางานเบาไม่สู้ ซึ่งเป็นเหตุให้กลายเป็นคนเกียจคร้านในการทำความดีเป็นต้น
3. ประเมินจากการ " สละอารมณ์" คือ สละความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความยินดียินร้าย โดยพิจารณาว่า เราสามารถ สละเรื่องเหล่านี้ได้ดีเพียงใด รวดเร็วเพียงไหน
4. ในทางธรรมปฏิบัติ ให้ประเมินจากการ " สละนิวรณ์ 5" โดยพิจารณาการที่ใจหยุดนิ่ง เข้าถึงดวงสว่างภายในกลางกาย ที่เรียกว่า "ปฐมมรรค"

 

ประเมินด้วย "ปัญญา"
            การประเมินด้วยปัญญา หรือความรอบรู้ ความรู้เท่าทันในสังขาร ทั้งพระภิกษุและฆราวาสามารถประเมินโดยอาศัยแนวทางใน 2 ระดับ ได้แก่
1. ปัญญาทางโลก หรือปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ หรืออาศัยการคิดพิจารณาด้วยสมอง ได้แก่ปัญญาในระดับจินตมยปัญญา และสุตมยปัญญาสามารถประเมินได้ใน 2 ประเด็น คือ
1.1 ประเมินจาก "ความสามารถในการทำงาน" เพราะการทำงานต้องใช้ปัญญา และต้องมีความรับผิดชอบในงานนั้น
1.2 ประเมินจากการ "รู้เท่าทันสังขาร หรือสุขภาพร่างกายของตนเอง" เช่น เราเอาใจใส่ในการดูแลรักษสุขภาพได้ดีแค่ไหน คือ ดูแลให้แข็งแรงเพียงพอที่จะใช้สร้างบุญบารมีได้นานๆ ไม่ใช่ว่าร่างกายแข็งแรงดี แต่ไม่ใช้สร้างความดีอะไรเลย หรือร่างกายไม่แข็งแรง แต่กลับหักโหมใช้เกินไป อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่ารู้เท่าทันในสังขารตัวเอง
2. ปัญญาทางธรรม ในทางธรรมปฏิบัติ จะประเมินจากการ "เข้าถึงกายภายใน" เพราะปัญญาทางธรรม หมายถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสังขาร ที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนาทำให้รู้เท่าทันกิเลสภายในตัว ซึ่งในทางธรรมปฏิบัติพบว่า ภายในตัวของมนุษย์ทุกๆ คนมีกายที่ซ้อนๆ กันอยู่ ฉะนั้นการที่เราจะรู้เท่าทันสังขาร ก็คือการรู้เท่าทันในความไม่จีรังยั่งยืนของกายต่างๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใน ซึ่งพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทสโร) ได้เคยแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับกายภายในไว้ว่า"ว่าในด้านภาวนา กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหมคนเราที่ว่าตายนั้น คือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน เหมือน
มะขามกะเทาะล่อนจากเปลือก ฉะนั้น กายทิพย์ก็หลุดพรากจากกายมนุษย์ไปการละกิเลสของพระองค์หลุดไปเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กิเลส ในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เป็นลำดับไป
กิเลส ในกายมนุษย์ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ
กิเลส ในกายทิพย์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ
กิเลส ในกายรูปพรหม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายอรูปพรหม คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย"


            ดังนั้น การปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงกายที่ซ้อนกันอยู่ภายใน จึงเป็นสิ่งที่บอกถึงระดับของปัญญา
คือความรู้แจ้งเห็นจริง หรือความรู้เท่าทันกิเลส ที่มีอยู่ในกายต่างๆ ตามลำดับ เพราะกายแต่ละกายมีกิเลส
หยาบละเอียดไม่เท่ากัน โดยที่กายมนุษย์มีกิเลส หยาบกว่ากายทิพย์ กายทิพย์มีกิเลส หยาบกว่ากายรูปพรหม
เป็นต้น เมื่อเราฝึกปฏิบัติสมาธิเข้าถึงกายไหน ปัญญาของเราก็จะยิ่งกว้างขวางมากมาย เท่าทันกับสังขาร
ของกายแต่ละกายนั้นไปด้วย

 

ประเมินด้วย "ปฏิภาณ"
            การประเมินด้วยปฏิภาณ หรือการโต้ตอบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งพระภิกษุและฆราวาสสามารถ
ประเมินโดยอาศัยแนวทางนี้ คือประเมินจาก "ความสามารถในการแก้ปัญหาผ่านการทำงาน" เพราะการทำงานมักจะต้องพบกับปัญหา คนมีปฏิภาณจะเป็นคนไม่หนีปัญหา แต่จะสู้โดยอาศัยปัญญา และการแก้ปัญหาต้องอยู่ในเส้นทางธรรมคือ ไม่แก้ปัญหาโดยการทำบาป เป็นต้น

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015082232157389 Mins