พุทธานุญาตเกี่ยวกับปัจจัย 4

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

พุทธานุญาตเกี่ยวกับปัจจัย 4


วัตถุประสงค์ในการใช้ปัจจัย 4
            โดยปกติคนส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการใช้ปัจจัย 4 น้อยจนเกินไป ในขณะที่บางคนมีไม่พอใช้
แต่บางคนกลับมีมากเกินไปจนใช้ไม่ทัน และที่สำคัญคือส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเราใช้ปัจจัย 4 ไปเพื่ออะไร และเพราะไม่ทราบ จึงมักแสวงหาปัจจัย 4 มามากเกินความจำเป็น เช่น บางคนมีเสื้อผ้ามากชุดเกินไป บางชุดใส่ไม่กี่ครั้งก็เลิกใช้ทั้งที่ยังอยู่ในสภาพที่ดี บางคนซื้ออาหารมามากเกินไป รับประทานจนอิ่มกระทั่งรับประทานต่อไม่ไหวก็ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดายก็มีในเรื่องการใช้ปัจจัย 4 นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุให้รู้จักใช้อย่างมีสติด้วยความพินิจพิจารณา ไม่ใช่ใช้ตามอารมณ์ความชอบใจ ซึ่งเป็นคำสอนที่ทำให้พระภิกษุใช้ปัจจัย 4 อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับประโยชน์สูงสุด ดังที่พระองค์ตรัสถึงวัตถุประสงค์ของการใช้ปัจจัย 4 กับพระจุนทเถระไว้ว่า


จีวร (เครื่องนุ่งห่ม)
ดูก่อนจุนทะ เพราะฉะนั้นแล เราอนุญาตจีวรแก่พวกเธอก็เพียงเพื่อเป็นเครื่องบำบัดหนาว บำบัดร้อน บำบัดสัมผั แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะอันยังความละอายให้กำเริบ


บิณฑบาต (อาหาร)
เราอนุญาตบิณฑบาตแก่พวกเธอ ก็เพียงเพื่อให้กายดำรงอยู่ได้ ให้กายเป็นไปได้ ให้ความลำบากสงบ เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าเราจักบรรเทาเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ด้วยประการดังนี้ ความเป็นไปแห่งชีวิต ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่สบาย จักมีแก่เรา


เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)
เราอนุญาตเสนาสนะแก่พวกเธอ ก็เพียงเพื่อบำบัดหนาว บำบัดร้อนบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาอันตรายอันเกิดแต่ฤดู เพื่อความยินดีในการหลีกออกเร้นอยู่

 

คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรค)
เราอนุญาตคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พวกเธอ ก็เพียงเพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความไม่ลำบากอย่างนี้ ดังนี้จากพุทธพจน์ข้างต้นสามารถสรุปวัตถุประสงค์ของการใช้ปัจจัย 4 ได้ดังนี้


จีวร หรือเครื่องนุ่งห่ม มีวัตถุประสงค์ในการใช้ดังนี้
1.สำหรับบรรเทาความหนาวและร้อน
2.สำหรับบรรเทาจากการถูกกัดหรือทำร้ายจากสัตว์และแมลง
3. ใช้ปกปิดร่างกายไม่ให้อุจาดตา


อาหาร มีวัตถุประสงค์ในการบริโภคดังนี้
1. เพื่อให้ร่างกายยังคงอยู่ หรือมีชีวิตอยู่ได้
2. เพื่อให้ร่างกายเป็นไป คือสามารถทำกิจกรรมตามปกติได้
3. เพื่อให้ความลำบากทางกายที่เกิดจากความหิวหายไป
4. เพื่อให้สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการฉันแต่พอดีแก่ความต้องการของร่างกาย
คือ ฉันพอแค่อิ่มท้อง ไม่ฉันมากไปจนอึดอัด
5. เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ และมีความ บายแก่ตัว


เสนาสนะ หรือที่พักอาศัย มีวัตถุประ งค์ในการใช้ดังนี้
1.สำหรับบรรเทาความหนาวและร้อน
2.สำหรับบรรเทาจากการถูกกัดหรือทำร้ายจากสัตว์และแมลง
3.สำหรับบรรเทาอันตรายที่เกิดในฤดูต่างๆ เช่น ความร้อน ความหนาว หรือฝน เป็นต้น
4.สำหรับการหลีกออกเร้นเพื่อเจริญสมาธิภาวนา
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือยารักษาโรค มีวัตถุประสงค์ในการใช้ ก็เพื่อกำจัดความทุกข์ทรมาน
ที่เกิดขึ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วย

 

ปริมาณและประเภทของปัจจัย 4
            นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงให้แนวทางแก่พระภิกษุในการใช้ปัจจัย 4 ตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องแล้ว พระองค์ยังให้ความสำคัญกับประเภทและปริมาณของปัจจัย 4 อีกประการหนึ่งด้วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราใช้ปัจจัย 4 ได้อย่างถูกต้องแล้ว ปริมาณที่มากเกินไปย่อมไม่ได้ทำให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้น เช่นถ้าเสื้อผ้ามีไว้เพื่อบรรเทาหนาวและร้อน ป้องกันแมลงและสัตว์ร้าย และปกปิดอวัยวะที่น่าละอายเท่านั้น การมีเสื้อผ้าหลากหลาย สีสัน หลากหลายรูปทรง ก็แทบจะไม่จำเป็นเลย ถ้าอาหารมีไว้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ช่วยให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงไปทำกิจกรรมที่สำคัญ ปริมาณอาหารที่มากจนเกินกว่าที่จะบริโภคได้นั้น ก็ไม่มีความจำเป็นถ้าที่อยู่อาศัยมีไว้เพื่อบรรเทาหนาวและร้อน ป้องกันแมลงและสัตว์ร้าย หรืออันตรายจากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป การมีที่อยู่ใหญ่โตมากเกินไป ก็แทบไม่จำเป็น ถ้ายารักษาโรคมีไว้เพื่อกำจัดความทุกข์ทรมานจากโรคภัย ไข้เจ็บแล้ว ยาบำรุงอื่นๆ ที่มีวางขายตามท้องตลาดหลากหลาย แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ก็แทบจะไม่จำเป็น


            เพราะเหตุที่กล่าวมานั้น การมีปริมาณปัจจัย 4 ที่พอดี จึงมีความสำคัญยิ่งกว่าการมีอย่างมากมาย
เกินจำเป็น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงเห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงทรงพิจารณาปริมาณที่พอดี
เพื่อให้พระภิกษุได้ใช้ปัจจัย 4 ด้วยความแยบคาย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

จีวร (เครื่องนุ่งห่ม)
ในคราวหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นพระภิกษุมีผ้ามากเกินไป พระองค์จึงทรงดำริว่า พระภิกษุควรมีผ้าจำนวนเท่าไร จึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร เมื่อดำริอย่างนั้นพระองค์จึงทรงทดลองด้วยตัวพระองค์เอง โดยทรงครองผ้าผืนเดียวนั่งกลางแจ้งในตอนกลางคืนของช่วงฤดูหนาวขณะที่น้ำค้างตก ปรากฏว่าด้วยผ้าผืนเดียวนั้นเพียงพอจะทำให้พระองค์ไม่รู้สึกหนาวแต่เมื่อปฐมยามผ่านไป (หลัง 22.00 นาฬิกา) ก็ทรงเริ่มหนาว พระองค์จึงห่มจีวรผืนที่ 2 ความหนาวก็หายไปและเมื่อมัชฌิมยามผ่านไป (หลัง 02.00 นาฬิกา) ก็ทรงเริ่มหนาว พระองค์จึงห่มจีวรผืนที่ 3 ความหนาวก็หายไปและเมื่อปัจฉิมยามผ่านไป (เวลารุ่งอรุณ หลัง 06.00 นาฬิกา) ก็ทรงเริ่มหนาว พระองค์จึงห่มจีวรผืนที่ 4 ความหนาวก็หายไปเมื่อทรงทดลองตลอดทั้งคืนอย่างนี้แล้ว จึงทรงตรัสกับพระภิกษุว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิ 2 ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว"
จึงเป็นอันว่าสำหรับพระภิกษุ ผ้านุ่งผ้าห่มหรือจีวรที่พอแก่ความต้องการ ควรมีอย่างน้อยที่สุดจำนวน3 ผืน แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามารถรับจีวรไว้ได้มากกว่านั้น หากมีความจำเป็นซึ่งวินิจฉัยในข้อนี้เป็นสิ่งที่พระภิกษุต้องพิจารณาด้วยตนเอง

 

บิณฑบาต (อาหาร)
สำหรับเรื่องการบริโภคอาหาร ท่านพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้มีปัญญาเลิศกว่าภิกษุใด ได้ให้แนวทางในการบริโภคอาหารไว้ว่า
"ภิกษุเมื่อบริโภคอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก 4  5 คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำเป็นการสมควร
เพื่อความอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว"
แม้ในเรื่องอาหาร ก็ยังสามารถประมาณปริมาณที่ควรบริโภคได้เช่นเดียวกัน โดยอาศัยความอิ่มอาหารในมื้อนั้นๆ ของแต่ละคนมาเป็นเกณฑ์ในการประมาณ โดยไม่ว่าจะฉันอาหารไปมากน้อยเพียงใดก็ตามหากรู้สึกว่าถ้าได้ฉันอีกประมาณ 4  5 คำ เราก็จะอิ่มพอดี ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านให้หยุดฉัน แล้วดื่มน้ำแทนตามปกติ ปริมาณที่ฉันไปก็จะพอดีกับร่างกาย คือ ทำให้อิ่ม สบาย ไม่อึดอัด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

 

เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)
สำหรับที่อยู่อาศัย พระองค์ทรงกำหนดขนาดเป็นพระวินัยไว้สำหรับพระภิกษุดังนี้"ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเองพึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว 12 คืบโดยกว้างในร่วมใน 7 คืบ ด้วยคืบสุคต"สำหรับกุฏิที่พักของพระภิกษุ 1 รูป พระองค์ทรงกำหนดขนาดกว้าง  ยาวไว้ประมาณ 1.75  -  2.0 เมตร ซึ่งถือว่าไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป เพียงพอที่พระภิกษุจะอยู่อาศัยด้วยความเรียบง่าย และบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้ที่อยู่อาศัยทุกประการ

 

คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรค)
สำหรับยารักษาโรค พระองค์ทรงพิจารณาแล้วกำหนดชนิด หรือประเภทของยาที่เหมาะสมแก่พระ
ภิกษุไว้ดังนี้"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตก สืบต่อไปว่า เภสัช 5นี้แล (คือ) เนยใสเนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตเภสัช 5 นี้แก่ภิกษุทั้งหลายให้รับประเคนในกาลแล้วบริโภคในกาลดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช 5 นั้นในกาล แล้วบริโภคในกาล"สำหรับในเรื่องนี้ พระองค์ทรงพิจารณาถึงประเภทของยาที่เหมาะสม โดยอาศัยหลักเกณฑ์ว่าสิ่งนั้นต้องมีสรรพคุณเป็นยาด้วย คนทั่วไปก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นยาอยู่แล้วด้วย และไม่ได้เป็นอาหารหยาบ เหมือนเช่นข้าวและกับข้าว ที่พระภิกษุบิณฑบาตมาฉันส่วนปริมาณการใช้ยา พระองค์ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน เนื่องจากการใช้ยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเจ็บไข้ที่มากน้อยแตกต่างกันไปอีก

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016277988751729 Mins