ทัศนคติเรื่องชีวิตกับเวลาในทางพระพุทธศาสนา

วันที่ 08 ตค. พ.ศ.2558

ทัศนคติเรื่องชีวิตกับเวลาในทางพระพุทธศาสนา


         จากที่ได้ศึกษามา เราอาจกล่าวถึงแนวความเห็นเรื่องชีวิตกับเวลา ในทางพระพุทธศาสนา ได้ดังนี้

 เวลาในชีวิตมีน้อย
ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีอายุยืนนานเท่าไร ก็ยังนับว่าน้อยอยู่ดี ซึ่งในเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน"อรกานุสาสนีสูตร" ว่า แม้ใน มัยที่มนุษย์มีอายุประมาณ 60,000 ปี ศาสดาคนหนึ่งชื่อว่าอรกะ ก็ยังสอนศิษย์ของตนเองว่าชีวิตนี้ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ท่านสอนศิษย์ของตนเองว่า
1. ชีวิตเหมือนน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็แห้งหายไปโดยเร็ว
2. ชีวิตเหมือนฟองน้ำที่เกิดยามฝนตก ที่แตกสลายไปอย่างรวดเร็ว
3. ชีวิตเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันอย่างรวดเร็ว
4. ชีวิตเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา เพราะไหลไปไม่มีหยุด
5. ชีวิตเหมือนก้อนน้ำลายที่ถ่มออกไป เพราะกำจัดทิ้งได้อย่างง่ายดาย
6. ชีวิตเหมือนก้อนเนื้อในกระทะเหล็กที่เผาไฟตลอดวัน ซึ่งเนื้อนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้นาน
7. ชีวิตเหมือนแม่โคที่เขาจูงไปเชือด มีแต่เดินหน้าไปหาความตาย


            แม้ในยุคที่คนมีอายุยืนยาวกว่าสมัยของเราถึงขนาดนั้น ผู้มีปัญญาก็ยังเห็นว่าเวลาในชีวิตมีเพียงน้อยนิดเดียว ไม่นานก็ต้องแตกสลายทำลายลง ผิดกับคนในยุคปัจจุบัน ที่แม้จะมีชีวิตอยู่กันเพียงแค่ไม่กี่สิบหรือ
ร้อยปี กลับรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนี้ยืนนาน ทั้งๆ ที่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วช่างแตกต่างกันมากเหลือเกินเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระภิกษุฟังจบแล้ว จึงทรงสรุปว่า


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบก็พึงกล่าวว่าชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์
เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มีดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีหรือ
น้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง"

 

 ชีวิตมีความไม่แน่นอน
            นอกจากเวลาในชีวิตจะมีอยู่น้อยมากดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเราจะมีชีวิตยืนยาวไปได้นานเท่าไร ชีวิตจึงไม่มีความแน่นอน บางคนเกิดมาเสียชีวิตไปในเวลาอันไม่ควรก็มี แต่ในขณะ
ที่บางคนกลับมีอายุยืนยาว จนอาจกล่าวได้ว่าความตายไม่มีนิมิต คือไม่มีเครื่องหมายให้ทราบล่วงหน้าได้เลย
ซึ่งในเรื่องนี้มีปรากฏในอรรถกถาสมิทธิสูตร กล่าวไว้ว่า
1. ชีวิต ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะกำหนดแน่ไม่ได้ ว่าจะตายในวัยไหน หรืออายุเท่าไร
2. พยาธิ ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะกำหนดแน่ไม่ได้ ว่าจะตายด้วยโรคใด
3. กาล ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะกำหนดแน่ไม่ได้ ว่าจะตายเวลาใด เช้าหรือค่ำ
4. สถานที่ทอดทิ้งร่างกาย ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะกำหนดแน่ไม่ได้ ว่าจะตายที่ใด
5. คติ ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะกำหนดแน่ไม่ได้ ว่าตายแล้วจะไปเกิด ณ ที่ใด

 

ควรใช้เวลาที่มีเพื่อทำความดีให้มากที่สุด
            เพราะเหตุที่ความตายไม่มีนิมิตหมายนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระภิกษุใช้เวลาที่มีในแต่ละคืนละวันให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ดังที่ตรัสไว้ใน "ภัทเทกรัตตสูตร" ว่า


"บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงสิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึงก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก
บุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ"


            ด้วยทั้งเวลาของชีวิตที่มีอยู่เพียงน้อยนิด กอปรกับเราเองไม่ทราบว่าชีวิตเราจะยืนยาวพียงไหนจะตายลงในวันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนพระภิกษุไม่ให้ประมาทในวันเวลา แต่ให้เร่งรีบทำความเพียรเพื่อการบรรลุธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญจึงไม่ได้ขึ้นกับว่าเราจะมีชีวิตอยู่ยาวนานเท่าไร แต่ขึ้นกับว่าเราเองได้ใช้วันเวลาที่มีจำกัดนั้น ไปกระทำสิ่งที่มีคุณค่า เป็นคุณงามความดี และเป็นประโยชน์กับชีวิตของตนเองมากน้อยเพียงไรมากกว่า และเพราะเหตุนั้น พระภิกษุจึงต้องรู้จักการบริหารเวลา ตามที่พระองค์ตรัสสอนไว้ในหมวดธรรมที่ชื่อว่า "กาลัญญู"

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029043368498484 Mins