กาลัญญูกับวิถีชีวิตของฆราวาส

วันที่ 08 ตค. พ.ศ.2558

กาลัญญูกับวิถีชีวิตของฆราวาส


            สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ก็ควรนำหลักการจากกาลัญญูมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหลักการบริหารเวลาในเบื้องต้นก็คงคล้ายๆ กับของพระภิกษุเช่นกัน คือเริ่มจากการมองเห็นคุณค่าของเวลาที่มีว่าสำคัญ และต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองให้ได้มากที่สุดเมื่อมีแนวคิดอย่างนั้น จะทำให้เวลาที่มีอยู่ถูกใช้ไปกับเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อนเสมอ เช่นเดียวกับหลักการบริหารเวลาในทางโลก ที่มักจะใช้วิธีแบ่งภารกิจการงานที่ต้องทำออกเป็น 4 รูปแบบ คือ


1. ภารกิจที่สำคัญ และต้องทำเร่งด่วน เช่น ภารกิจฉุกเฉินทั้งหลาย หรืองานเฉพาะหน้าสำคัญที่จำเป็นต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน เป็นต้น

2. ภารกิจที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน เช่น งานในด้านการวางแผน หรือกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิต หน่วยงาน หรือองค์กรในระยะยาว เป็นต้น
3. ภารกิจไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน ได้แก่เรื่องเล็กน้อยทั่วๆ ไป เช่นการรับโทรศัพท์ที่กำลังดัง เป็นต้น
4. ภารกิจไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน เช่น การไปเที่ยวเตร่เา หรือการไปชมภาพยนตร์ ที่ไม่ได้มีผลดีต่อตนเอง เป็นต้น


           ในภารกิจเหล่านั้น หากจัดตามลำดับความสำคัญ คนในทางโลกคงให้ความสำคัญกับภารกิจที่ 2 คือ
"สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน" เป็นอันดับแรกส่วนภารกิจสำคัญและเร่งด่วนก็อยู่ในลำดับรองลงมา ทั้งนี้เนื่องจากว่า
ภารกิจสำคัญ ที่ไม่เร่งด่วนนั้น แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบในระยะสั้นแต่อย่างใด แต่ถ้าหากนิ่งนอนใจไม่รีบทำ
ไว้ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนและนโยบาย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อความก้าวหน้าของงาน หรือต่อ
องค์กรนั้นๆ ในอนาคตสำหรับภารกิจสำคัญและเร่งด่วนนั้น แม้จะมีความสำคัญต้องรีบทำก็จริง แต่ก็มัก
ส่งผลในระยะสั้น และนานๆ จึงจะมีให้ทำสักครั้งหนึ่ง


           จากเหตุปัจจัยดังกล่าว แม้หลักการบริหารเวลาในทางโลก ก็ยังให้ทุ่มเวลาไปกับภารกิจสำคัญก่อนเช่นกัน ดังนั้นหากจะนำกาลัญูมาปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของฆราวาสก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มต้นจากการแบ่งกาลทั้ง 4 ออกเป็น 2 ภารกิจ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ
1. การเรียนและการสอบถาม ก็คือ การศึกษาในด้านปริยัติ
2. การประกอบความเพียรและการหลีกออกเร้น ก็คือ การศึกษาในด้านปฏิบัติ


            ในเมื่อฆราวาสก็ต้องบริหารเวลาเพื่อการสร้างบารมี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิตเช่นกัน แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น คงต้องฝึกปฏิบัติด้วยวิธีที่เหมาะกับเพศภาวะของตนเอง ซึ่งในที่นี้ ก็คือการฝึกฝนตนเองผ่านการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ดังนั้นจึงต้องฝึกบริหารเวลาไปเพื่อใช้ในการ ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ทาน ศีล และภาวนา อย่างจริงจัง และ นำมาฝึกปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามานั้น และหมั่นตอกย้ำซ้ำเดิมเรื่อยไปด้วยวิธีนี้ ผู้เป็นฆราวาสก็ย่อมจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ คือการได้นำชีวิตของตนเองให้เข้าใกล้กับเป้าหมายชีวิตอย่างแท้จริง

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001396918296814 Mins