อานิสงส์บูชาพระเจดีย์ทุกวัน

วันที่ 10 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์บูชาพระเจดีย์ทุกวัน
 

 

        การบูชาในสิ่งที่ควรบูชานั้น ก่อให้เกิดอานิสงส์ใหญ่อย่างไม่มีประมาณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวกทั้งหลาย คือผู้ที่ควรบูชาอย่างสูงสุด ด้วยคุณธรรมอันเป็นโลกุตตระ เพราะการที่เราบูชาในสิ่งที่ควรบูชานี้ เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นไปตามลำดับ  จนกระทั่งถึงระดับคือพระนิพพาน เพราะผู้ที่เราบูชานั้น ท่านสถิตอยู่ในอายตนนิพพาน  เมื่อใจของเรายกสูงอยู่ในระดับนี้  ก็จะเป็นใจที่สะอาด บริสุทธิ์และผ่องใสเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญที่จะบังเกิดขึ้นในทุกๆ ขั้นตอน

                                      มีวาระแห่งภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน วิสาลักขิวิมาน ความว่า

          "ข้าพเจ้ามีใจเลื่อมใส  ได้ถือเอาดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้  ไปบูชาพระสถูปของพระศาสดาด้วยมือของตนเอง  เพราะกรรมนั้น รูป คติ ฤทธิ์และอานุภาพเช่นนี้จึงมีแก่ข้าพเจ้า”
 
       ผู้ใดก็ตามมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเลื่อมใส  น้อมจิตบูชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า ด้วยอามิสบูชาหรือปฏิบัติบูชาก็ตาม  บุญอันบริสุทธิ์ก็จะบังเกิดขึ้นกับผู้นั้น  มีผลานิสงส์มากมายมหาศาลทีเดียว  จะส่งผลให้พบแต่สิ่งที่ดีงาม  ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขสงบร่มเย็นทั้งในภพนี้และภพชาติเบื้องหน้า  ในขณะที่ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส  ต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏจะเป็นผู้ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสองภพภูมิ คือมนุษยโลกแล้วก็เทวโลก ขณะที่ดำรงอยู่บนเทวโลกจะเต็มเปี่ยมด้วยมหาสมบัติอันเป็นทิพย์  ดังเช่น เทพนารี ผู้มีอานุภาพมาก  ที่หลวงพ่อได้นำมากล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
 
       
 
* ชีวประวัติการสร้างบารมีของนางเทพนารีองค์นี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ที่รักบุญมาก ไม่มีวันใดเลยที่จะเว้นว่างจากการสร้างบุญ  จะสั่งสมบุญอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทั้งการให้ทาน รักษาศีล แล้วก็อบรมจิตใจตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม  การสร้างบารมีของนางเกิดขึ้นหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายล้วนต้องการที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดากลับไปยังบ้านเมืองของตน เพื่อไว้สักการบูชา
 
      พระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งกรุงราชคฤห์ เมื่อทรงเห็นผิดกระทำปิตุฆาตแล้ว  ภายหลังฟังธรรมจากพระศาสดาก็ได้สติ ตั้งใจสั่งสมบุญอย่างเต็มที่ หวังเพื่อเอาบุญใหญ่นี้  ชดเชยในการกระทำที่ผิดพลาดของตนเองในอดีต  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาจากมือของโทณพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่แจกพระบรมสารีริกธาตุ  เมื่อรับมาแล้วก็นำกลับมาที่เมืองราชคฤห์ ทรงสร้างพระสถูปเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้น  เมื่อสร้างเสร็จก็มีการทำบุญฉลองในกรุงราชคฤห์
 
      ในสมัยนั้น  มีลูกสาวของช่างทำดอกไม้คนหนึ่งอยู่ที่กรุงราชคฤห์นั้นชื่อว่าสุนันทา เป็นหญิงที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัยมาก  นางได้ตั้งใจรักษาศีล ปฏิบัติธรรมไม่เคยขาด  ตั้งแต่สมัยที่พระศาสดายังทรงมีพระชนม์อยู่จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  แม้กระนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในบุญเลย  นางก็ยังบำเพ็ญบุญไม่ขาดสาย เมื่อทราบข่าวว่า พระราชาได้สร้างสถูปบรรจุพระสารีริกธาตุไว้เพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะ  นางก็ตั้งใจมั่นว่า แม้พระพุทธองค์จะปรินิพพานแล้วก็ตาม  เราจะเอาบุญกับพระองค์ท่านไม่ให้ขาดเลย  พอตั้งใจมั่นอย่างนี้  นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป  สุนันทาอุบาสิกานี้ก็จะส่งพวงมาลัยและของหอมเป็นอันมากที่บิดาส่งมาให้ ไปทำการบูชาพระเจดีย์นั้นอยู่ทุกวันไม่เคยขาดเลย  ทุกๆ วันอุโบสถนางก็จะเดินทางไปไหว้พระเจดีย์ด้วยตัวเองอย่างสมํ่าเสมอ
 
     จิตใจของอุบาสิกาท่านนี้  มีแต่ความคิดที่จะบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ใจผูกพันและมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์  ในกาลต่อมาภายหลัง นางล้มป่วยอย่างกระทันหัน ไม่สามารถเยียวยาได้ทัน จึงได้สิ้นชีวิตลง  ครั้นละจากโลกนี้ไปแล้วก็ได้บังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  บังเกิดในมหาวิมานที่โอฬาร วันหนึ่งเทพนารีสุนันทานี้ ได้เข้าไปยังสวนจิตรลดาอันเป็นอุทยานทิพย์และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเหล่าเทวาทั้งหลาย
 
      ตามปกติความอลังการของสวนทิพย์นี้จักไม่มีประมาณ รัศมีแห่งดอกไม้ทิพย์ทั้งหลายก็จะรุ่งเรืองสว่างไสว เปล่งประกายนวลไปทั่วอาณาบริเวณ  เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย เวลาที่เข้ามาสู่สวนจิตรลดานี้แล้ว จะถูกรัศมีของดอกไม้ทิพย์ที่มีสีสันวิจิตรพิสดารนั้นครอบงำ บดบังรัศมีจากเรือนกายอย่างสิ้นเชิง  แต่พอเทพนารีสุนันทาเดินเข้ามาในสวนทิพย์เท่านั้น  รัศมีของดอกไม้ทิพย์ไม่สามารถบดบังรัศมีจากเรือนกายของเทพนารีสุนันทาได้แม้แต่นิดเดียว รัศมีของนางยังคงสว่างไสวดังเดิมมิเปลี่ยนแปลงเลย
 
     ท้าวสักกเทวราช จอมเทพแห่งดาวดึงส์ ซึ่งเสด็จเข้าไปสู่สวนจิตรลดาพร้อมกับเทพนารีนั้น  ทรงอัศจรรย์พระทัยยิ่งนัก  ได้ทอดพระเนตรดูเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายที่อยู่อาณาบริเวณนั้น ถูกรัศมีดอกไม้ทิพย์บดบัง มีแต่เทพนารีสุนันทาเท่านั้นที่ไม่ถูกครอบงำรัศมี  ปรารถนาที่จะสดับผลแห่งการทำความดีของนางเทพธิดานี้ จึงตรัสถามเทพนารีสุนันทาว่า
 
     “ดูก่อนแม่เทพธิดาผู้มีนัยน์ตางดงาม  เธอชื่ออะไรจึงมีอานุภาพมากอย่างนี้  มีหมู่นางฟ้าแวดล้อม เดินวนเวียนอยู่ในสวนจิตรลดาอันแสนรื่นรมย์  พวกเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์มีร่างกายที่ประดับตกแต่งอย่างงดงาม  ล้วนแต่ขึ้นม้าขึ้นรถอันเป็นทิพย์ แล้วจึงเข้ามาที่สวน แต่เมื่อเธอเดินทางมาถึง  กำลังเที่ยวอยู่ในสวนนี้  รัศมีของเธอสว่างไสวไปทั่วสวนจิตรลดา  แสงสว่างของสวนไม่ได้ปรากฏเลยแม้นิดเดียว  รัศมีของเธอมาข่มแสงสว่างของสวนนี้  ดูก่อนเทพธิดาผู้รุ่งเรือง  ขอเธอตอบคำถามหน่อยเถิด  นี้เป็นผลบุญอะไร”  เทพนารีสุนันทาตอบว่า
 
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพผู้ทรงบำเพ็ญทานมาแต่กาลก่อน รูป คติ ฤทธิ์ และอานุภาพอันโอฬารของหม่อมฉันบังเกิดด้วยกรรมใด  ขอพระองค์ทรงสดับผลแห่งกรรมอันแสนอัศจรรย์นั้น  หม่อมฉันเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ชื่อว่า สุนันทา  เป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์  ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล  ยินดีในการแจกจ่ายทานทุกเมื่อ  มีใจเลื่อมใสในหมู่สงฆ์ผู้ปฏิบัติตรงต่อพระนิพพาน ได้ถวายผ้านุ่งห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะ ประทีป ทั้งได้รักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘  ตลอด ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์   เป็นผู้ที่สำรวมในศีลห้าเป็นนิตย์  เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการเป็นขโมย เว้นจากการประพฤตินอกใจ  เว้นจากการดื่มน้ำเมา และยิ่งไปกว่านั้น  หม่อมฉันได้ส่งดอกไม้ไปบูชาที่พระสถูปทุกๆ วันไม่ขาดเลย  และก็หาโอกาสไปบูชาเองในวันอุโบสถ  ด้วยบุญนี้ ทำให้หม่อมฉันมีรูป คติ ฤทธิ์และอานุภาพอย่างนี้และหม่อมฉันยังได้บรรลุธรรมเป็นสกทาคามีเพราะบุญนั้น” เมื่อท้าวสักกะได้ฟังอย่างนั้นก็เกิดความปีติเบิกบานและทรงอนุโมทนาในบุญที่ยิ่งใหญ่ของเทพนารีนั้น
 
     จะเห็นได้ว่าอานิสงส์แห่งการบูชาพระเจดีย์ซึ่งเป็นปูชนียสถาน แล้วส่งใจไปถึงพระรัตนตรัย ถึงพระพุทธเจ้าแม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้วก็ตาม ถึงพระธรรมและพระสงฆ์  การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเช่นนี้ มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล  จะอำนวยประโยชน์ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ  เมื่อเกิดในโลกนี้ก็จะเต็มเปี่ยมด้วยโลกิยสมบัติ  ยิ่งไปกว่านั้นก็จะทำให้เข้าถึงโลกุตตรสมบัติ  คือธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ดังเทพนารีสุนันทานี้  ท่านเป็นผู้ที่สมบูรณ์ทั้งอามิสบูชาและก็ปฏิบัติบูชา  ไม่ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่อย่างเดียว  ดังนั้น ขอให้ทุกท่านดำรงตนให้ถึงพร้อมด้วยการบูชาทั้งสองอย่างนี้เถิด

 

 

พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

* มก. เล่ม ๔๘ หน้า ๓๑๗

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014955997467041 Mins