รู้เพียงหนึ่ง แต่จะรู้ได้ทั้งหมด

วันที่ 12 พย. พ.ศ.2558

รู้เพียงหนึ่ง แต่จะรู้ได้ทั้งหมด

พุทธพจน์เตือนใจ

            " บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งปวงเหมือนพระราชโอรส ๔พระองค์ ทรงสงสัยในต้นทองกวาว ฉะนั้น" กิงสุโกปมชาดก 

              ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความละเอียด ลุ่มลึกไปตามลำดับ จากง่ายไปหายาก จากหยาบไปหาละเอียด เป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน ผู้ที่ได้มาศึกษาแล้ว ย่อมทำให้เกิดดวงปัญญา อันจะนำพาไปสู่การปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล ซึ่งปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้น แบ่งออกเป็น ๓ระดับด้วยกัน คือ 

 

        สุตมยปัญญา หรือความรู้จำ เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังมา ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ระดับพื้นฐานเบื้องต้น ความรู้ระดับกลาง เรียกว่า จินตมยปัญญา หรือความรู้ที่เกิดจากการคิด คือ ความรู้ที่เกิดจากการไตร่ตรอง พิจารณาหาเหตุหาผล มีการทดลอง เพื่อให้เกิดผลการทดลอง ทำนองเดียวกับพวกตรรกวิทยาที่ตั้งสมมุติฐานกัน สำหรับความรู้ประการสุดท้าย เรียกว่า ภาวนามยปัญญา หรือความรู้แจ้ง เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากภายใน อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ หรืออย่างที่พระอรหันต์ทั้งหลายได้รู้ เป็นความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงแท้แน่นอน เพราะเป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการฟัง การคิด แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริง เห็นสรรพสิ่งไปตามความเป็นจริง เปรียบเสมือนแม่น้ำลำคลองที่มีน้ำใสแจ๋ว ย่อมสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำได้อย่างถูกต้องชัดเจน ความรู้ที่เกิดจากภาวนามยปัญญาก็เช่นกัน
 
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา กระทั่งใจรวมหยุดนิ่งสนิท ความสว่างภายในย่อมบังเกิดขึ้นมา เหมือนการส่องแสงสว่างไปในที่มืด จึงทำให้พระองค์รู้เห็นสิ่งต่างๆไปตามความเป็นจริงความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้รอบ ไม่ใช่รู้เพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความรู้ที่ครอบคลุมศาสตร์ทั้งปวง คือ รู้เพียงหนึ่ง แต่จะรู้ได้ทั้งหมด เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ที่เกิดจากแหล่งแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ภายใน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยการทำใจให้สงบ ให้หยุดให้นิ่ง

 

           ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงวิธีการทำใจให้สงบไว้ ๔๐ วิธี ซึ่งทั้งหมดนั้น เราสามารถเลือกปฏิบัติวิธีการใดวิธีการหนึ่ง สองหรือสามวิธีการพร้อมกันก็ได้ ตามแต่จริตอัธยาศัยของแต่ละคน แต่สุดท้ายก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการความสงบของใจ เมื่อใจรวมหยุดนิ่ง ก็จะดิ่งเข้าสู่กลางภายในตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และจะได้ตรัสรู้ธรรมไปตามลำดับ แม้วิธีการเริ่มต้นจะต่างกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน คือ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
 


"จากส่วนหนึ่ง ของรายการธรรมะเพื่อประชาชน โดย พระเทพญาณมหามุนี"

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010322332382202 Mins