สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราคือ บุญกุศลที่เราได้ทำไว้อย่างดีแล้ว ซึ่งจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เราจะเข้าถึงความเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีได้ก็เพราะบุญ จะเข้าถึงความเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ก็เพราะบุญ จะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ก็เพราะบุญ ดังนั้นบุญจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เราได้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อัปปมาทสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง
ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เหมือนการประกอบกุศลธรรมอยู่เนืองนิตย์เลย”
การสร้างบุญกุศล ทำได้ด้วยการบำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ แต่ถ้าโดยย่อก็มีเพียงแค่ ๓ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา พระบรมโพธิสัตว์แต่ละท่าน เมื่อปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งใจมั่นว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็จะพิจารณาดูว่า มีบารมีอะไรบ้าง ที่จะเป็นเหตุให้ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านก็เล็งเห็นว่า ทานบารมีเป็นบารมีแรกที่จะต้องทำก่อนบารมีอื่นๆ
การให้เป็นบันไดก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ธรรม ฉะนั้นพระโพธิสัตว์ ท่านก็จะเริ่มต้นด้วยการดำรงตนเป็นผู้ให้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้ทานบารมีธรรมดา กระทั่งเป็นอุปบารมีและปรมัตถบารมี ให้ได้แม้กระทั่งชีวิต เมื่อบารมี ๓๐ ทัศเต็มเปี่ยม ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการให้ทาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งผลให้เราสมหวังดังใจปรารถนาทุกประการ
พระพุทธองค์ทรงให้หลักในการให้ทานเอาไว้ว่า ผู้ให้ต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ให้เพราะหวังบุญเป็นใหญ่ เพื่อขจัดความตระหนี่ออกจากใจ ไม่ได้หวังอยากเด่นอยากดัง หรือแข่งขันกับใคร ก่อนให้ก็มีจิตเลื่อมใส ขณะให้ก็มีใจเบิกบานผ่องใส หลังให้แล้วตามระลึกถึงครั้งใดก็มีความปีติเบิกบานใจ ไม่รู้สึกเสียดาย มีความสุขใจทุกครั้งที่ได้ให้ ปฏิคคาหก คือ ผู้รับทาน ก็ต้องมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ยิ่งถ้าหาก ผู้รับได้เข้าถึงธรรมกาย ผลบุญที่เกิดขึ้นก็มากมายเป็นอสงไขยอัปปมาณัง องค์ประกอบ อีกประการหนึ่งคือ วัตถุทานที่ให้ไปนั้น ก็ต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปลักขโมย คดโกงใครมา หรือว่าไปเบียดเบียนคนอื่น
* เหมือนดังเรื่องราวของหญิงสาวผู้ยากไร้คนหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นมหาทุคคตอุบาสิกาก็ว่าได้ เพราะนางเป็นคนยากจนเข็ญใจ แต่มีใจเปี่ยมไปด้วยศรัทธา ทำให้พลิกผันชีวิต จากที่ยากไร้กลายมาเป็นสตรีหมายเลข ๑ เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ แล้วยังเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรอีกด้วย แต่เดิมนั้นทรัพย์สมบัติของบิดาก็มีอยู่ ต่อมาได้เกิดอุทกภัย ถูกน้ำท่วมพัดพาไป นางจึงยากจนลง ต้องทำงานรับจ้างหาเช้ากินคํ่า แต่นางเป็นคนที่มีผมสวย ดกดำเป็นเงางาม และก็มีกลิ่นหอม ใครเห็นแล้วก็มักจะชื่นชมผมของนาง
ส่วนในอีกเมืองหนึ่ง มีธิดาของเศรษฐีผู้พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ แต่นางเป็นคนอาภัพเรื่องเส้นผม คือเมื่อเติบโตเป็นสาวก็เกิดผมร่วง ยิ่งหายาดีมีราคาแพงมากเท่าใดมารักษา ผมก็ยิ่งร่วงมากขึ้นกว่าเดิมอีก ท่านเศรษฐีหาแพทย์อันดับหนึ่งของเมืองมารักษา ก็รักษาไม่หาย ในที่สุดลูกสาวเศรษฐีจึงกลายเป็นคนไม่มีเส้นผม
ลูกสาวเศรษฐีทราบว่า มีหญิงยากจนที่อยู่ต่างเมือง มีผมงามนุ่มสลวย จึงได้ให้คนไปขอซื้อด้วยจำนวนเงินเป็นหมื่น เป็นแสน แต่นางก็ไม่ยอมขาย แม้ลูกสาวเศรษฐี จะเพิ่มราคาให้สูงขึ้นมากเท่าใด นางก็ไม่ยอมขาย ยอมที่จะเป็นคนยากจนเข็ญใจอยู่อย่างนั้นตามอัตภาพ จนลูกสาวเศรษฐีหมดหนทางที่จะไปต่อรอง
วันหนึ่ง พระมหากัจจายนะเถระ พร้อมด้วยภิกษุ ๗ รูป ซึ่งหลังจากฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้ขออนุญาตกลับไปเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชติที่เมืองอุชเชนี ระหว่างทางได้เดินผ่านหน้าบ้านของหญิงผู้ยากไร้คนนี้ เมื่อนางเห็นศีลาจารวัตรอันงดงาม สงบสำรวมและผิวพรรณวรรณะที่เปล่งปลั่งผ่องใสของพระเถระ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมาอย่างท่วมท้น จึงอยากจะทำบุญกับท่าน
เนื่องจากนางไม่มีปัจจัยไทยธรรมใดๆ พอที่จะถวายได้ แต่ใจอยากจะทำบุญมาก จึงตัดสินใจว่า ต้องขายเส้นผมที่แสนรักแสนหวงให้กับลูกสาวเศรษฐี สิ่งที่สตรีรักและหวงแหน ก็คือความสวยความงาม แต่นางหวังจะให้เส้นผมนี้ เพิ่มเติมบุญบารมีแก่ตนเอง จึงตัดสินใจเอากรรไกรตัดผมที่ยาว ดกดำ และมีกลิ่นหอมนี้ใส่ในผอบ แล้วให้เพื่อนนำไปขายแก่ลูกสาวเศรษฐี
ลูกสาวเศรษฐีดีใจมาก แต่ก็รู้สึกสงสัยใจว่า ทำไมวันนี้หญิงยากจนจึงตัดสินใจขายเส้นผมให้กับตน คงจะต้องมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเป็นแน่ เมื่อคิดเช่นนั้น แทนที่จะจ่ายให้ในราคาสูง กลับกดราคาให้ตํ่าลงเหลือเพียงแค่ ๘ กหาปณะเท่านั้น มหาทุคคตอุบาสิกาท่านนี้ ก็ไม่ได้เสียใจหรือเสียดายเส้นผมอันงดงามของตนเลย ในใจมีแต่ความปีติเบิกบานอยู่ในบุญตลอดเวลา ดีใจว่า “เราจะได้ทรัพย์ เพื่อเอาไปทำบุญแล้ว”
นางจึงรีบกลับบ้าน ทำอาหารหวานคาวด้วยความเบิกบานใจ และก็ทำอย่างประณีตสุดฝีมือ จัดเตรียมอาหารเพื่อถวายพระทั้ง ๘ รูป วันรุ่งขึ้นก็ได้นิมนต์พระมหากัจจายนะและพระภิกษุสงฆ์มารับภัตตาหารที่บ้าน ขณะที่บรรจงใส่ภัตตาหารลงในบาตรนั้น นางก็มีความปีติสุขอย่างยิ่ง ใจเบิกบานผ่องใสกว่าทุกวัน ใบหน้านวล เปล่งปลั่งทีเดียว
พระมหากัจจายนะท่านทราบด้วยเจโตปริยญาณ คือรู้ด้วยวาระจิตว่า สตรีท่านนี้ปรารถนาบุญ จึงถวายทานด้วยความศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง ทานที่ได้มานี้ก็ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ และยากที่คนทั่วไปจะตัดใจทำได้ ท่านจึงนั่งฉันอยู่ในบ้านของนาง เพื่อให้นางปลื้มใจ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของนาง
มหาทุคคตอุบาสิกาเห็นพระทั้ง ๘ รูป นั่งฉันด้วยอาการสงบสำรวม ไม่ได้รังเกียจในความยากจนของนางเลย ก็ยิ่งมีมหาปีติ นึกถึงทานบารมีที่ได้ทำแล้วก็เบิกบานใจ มีความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิตเลย ในขณะที่ก้มลงกราบพระนั่นเอง ความอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น คือเส้นผมของนางที่ตัดออกไป ได้งอกขึ้นมาใหม่ สวยงามกว่าเดิมมากนัก เมื่อพระมหากัจจายนะฉันเสร็จแล้ว ก็ได้อนุโมทนาให้นางสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา แล้วท่านก็เหาะขึ้นสู่อากาศ ไปลงในพระราชอุทยานของพระเจ้าจัณฑปัชโชติ ทำให้นางรู้ว่า ได้ทำบุญกับพระอรหันต์ ก็ยิ่งมีมหาปีติหนักขึ้นไปอีก
แล้วข่าวการถวายมหาทานบารมีของนาง ก็แพร่สะพัดไปทั้งเมือง เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชติทรงทราบกิตติศัพท์ การทำบุญชนิดทุ่มสุดใจของนาง ก็เกิดพระทัยปีติโสมนัส มีความชื่นชมจึงได้ทรงโปรดให้พานางมาอภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ตั้งแต่นั้นมา นางก็ได้ทำบุญยิ่งๆ ขึ้นไปตามความปรารถนา ได้สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนาอีกมากมาย จนเป็นผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทั้งชมพูทวีป ใครได้ยินก็สรรเสริญ อนุโมทนาในทานบารมีของพระนาง
เราจะเห็นได้ว่า การทำบุญด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังจะเอาบุญบารมีเป็นที่ตั้งนั้น จะได้รับอานิสงส์อย่างที่เราคาดไม่ถึงทีเดียว ยิ่งทำถูกเนื้อนาบุญ ผลบุญนั้นก็จะเป็นมหัคคตกุศล ไม่สามารถที่จะนับคำนวณบุญที่เกิดขึ้นได้ ว่ามีประมาณเพียงใด ฉะนั้นถ้าอยากได้บุญมาก ให้หมั่นปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่ง ให้ใจผ่องใสตลอดเวลา ใจมั่นอยู่ในบุญกุศล ในพระรัตนตรัยทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๓๒ หน้า ๓๓๖