ใจที่ฝึกดีแล้วย่อมทำอะไรๆ ได้เหนือความคาดหมายของปุถุชน ใจที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขและความสำเร็จมาให้ การฝึกใจด้วยการทำสมาธิ เป็นบุญละเอียดอ่อน เป็นการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สิ่งที่ไม่สำเร็จให้สำเร็จ สิ่งที่ยากให้ง่าย สิ่งที่เหลือวิสัยให้อยู่ในวิสัย เมื่อจิตใจตั้งมั่น หยุด นิ่ง เฉย ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวของเราในทางที่ดีขึ้น จากอ่อนแอเป็นเข้มแข็ง จากสิ้นหวังเป็นสมหวัง จากสับสนเป็นสงบ จากว้าเหว่เป็นอบอุ่น จากห่อเหี่ยวเป็นเบิกบาน จากทุกข์เป็นสุขอย่างไม่มีขอบเขต และเปลี่ยนแปลงชีวิตของปุถุชนให้เป็นพระอริยเจ้าได้ เวลาที่ให้กับการนั่งสมาธินั้นไม่มีสูญเปล่า เพราะเป็นเวลาที่มีคุณค่า และมีประโยชน์เกินกว่าที่จะคาดคิด ชีวิตจะมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป แม้สมบัติโลกทั้งหมดก็เทียบค่าไม่ได้กับเวลาที่ใจหยุดนิ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ว่า
“ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตน มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง
ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือพระสาวก การบำรุงนี้ ย่อมเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย
ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งปวง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”
ศรัทธาคือความเชื่อในพระรัตนตรัย ถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐประการแรก เมื่อเรามีศรัทธาแล้วชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยากจนในการเดินทางข้ามวัฏสงสารอันยาวไกลนี้ ความทุกข์ยากจะน้อยลงและหนทางก็จะสั้นเข้า พระบรมศาสดาของเราจึงได้ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้แล คือ ผู้ใดมีความเชื่อในพระตถาคต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม ที่พระอริยเจ้าชอบใจสรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว พึงประกอบด้วยศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็นธรรมอยู่เนืองๆ
อย่าว่าแต่มนุษย์เลย เมื่อปรารถนาความสุข อยากมีความปลอดภัยในการเดินทางในสังสารวัฏ แม้ในกาลที่เทวดาจะจุติจากหมู่เทพเพราะสิ้นอายุ ในกาลนั้น เทวดาผู้มาปลอบจะเปล่งเสียงอวยพร ๓ ประการ โดยให้มีศรัทธาเป็นประการแรกว่า
"ดูก่อนท่านผู้เจริญ เมื่อท่านจากที่นี่ไปจงไปสู่สุคติ จงได้ความเป็นมนุษย์ เมื่อเป็นมนุษย์แล้ว จงมีศรัทธาชั้นเยี่ยมในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านผู้ตั้งมั่นแล้วจงมั่นคงอยู่เนืองนิตย์ อย่าคลอนแคลนในสัทธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศไว้ดีแล้วจนตลอดชีวิต ท่านจงกระทำกุศลอันไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีอุปธิกิเลส ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจให้มาก และท่านจงทำบุญกุศลด้วยทานให้มาก จงแนะนำแม้สัตว์อื่นๆ ให้ตั้งอยู่ในพรหมจรรย์ในสัทธรรม หมู่สัตว์ผู้รู้ตามเป็นจริง จะพลอยยินดีตามท่าน เพราะความอนุเคราะห์นี้ ขอท่านจงกลับมาหาพวกเรา"
ดังนั้นเมื่อเรามีความศรัทธาแล้ว ถือว่าเราได้ต้นทุนอันมหาศาลในการสร้างบุญบารมีที่ยิ่งๆ ขึ้นไป แม้ในขณะนี้เราจะไม่ได้บรรลุอะไร แต่เมื่อมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ก็ย่อมจะได้บรรลุธรรมขั้นสูงจนกระทั่งหมดกิเลสได้อย่างแน่นอน ขอเพียงให้รักษาต้นกล้าแห่งศรัทธานี้ไว้ ให้เป็นกล้าแห่งธรรมที่จะเติบโตต่อไป
* ดังเรื่องของ พระอานนท์ ผู้มีศรัทธาออกบวชแล้วได้บำรุงพระตถาคตเจ้าด้วยศรัทธา แต่เกิดความเป็นห่วงว่าจะไม่บรรลุธรรม เมื่อบุญส่งผลเต็มที่ ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เรื่องก็มีอยู่ว่า ในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่งแห่งราตรี วันที่พระบรมศาสดาจักปรินิพพานนั้น ท่านพระอานนท์เถระมานึกถึงตนเองว่า "ก็เรายังเป็นเพียงพระโสดาบันเท่านั้น พระศาสดาของเราก็จักปรินิพพานเสียแล้ว การอุปัฏฐากบำรุงที่เรากระทำแก่พระศาสดามาตลอดเวลา ๒๕ ปี น่าจักไร้ผลกระมัง" เมื่อท่านนึกอยู่อย่างนี้ จึงเกิดความเศร้าโศก ได้ยืนเหนี่ยวไม้สลักประตูห้องในอุทยานร้องไห้อยู่
พระศาสดาเมื่อไม่ทรงเห็นพระอานนท์ จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์ไปไหน ครั้นได้ทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้เรียกท่านมา ทรงประทานโอวาท แล้วตรัสปลอบให้กำลังใจว่า "อานนท์ เธอเป็นผู้ได้ทำบุญไว้ดีแล้ว จงหมั่นประกอบความเพียรต่อไปเถิด เธอจักหมดสิ้นอาสวะโดยเร็วพลัน เธออย่าได้คิดเสียใจไปเลย การอุปัฏฐากที่เธอกระทำแก่เราในบัดนี้ เพราะเหตุไรจักไร้ผลเล่า การอุปัฏฐากที่เธอกระทำแก่เรา แม้ในชาติที่เรายังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ ก็ยังมีผลมากเลย" แล้วจึงทรงเล่าเรื่องในอดีตกาลว่า
พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาที่ต้นทองกวาว ในที่ไม่ไกลพระนครพาราณสี ในสมัยนั้น ชาวเมืองพาราณสีมีความเชื่อกันว่า เทวดาเป็นเหตุนำความสุขมาให้ จึงได้ขวนขวายทำพลีกรรมเซ่นสรวงบูชากันอยู่เป็นประจำ ครั้งนั้น มีพราหมณ์ยากจนคนหนึ่งได้ปรนนิบัติเทวดาองค์หนึ่ง ด้วยการดายหญ้ารอบๆ ต้นทองกวาวใหญ่ต้นหนึ่ง ล้อมรั้ว เกลี่ยทราย ปัดกวาด แล้วเจิมด้วยของหอมที่ต้นไม้ บูชาด้วยดอกไม้ ของหอม และธูปหอม จุดประทีป แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญจงอยู่เป็นสุขสบายเถิด” แล้วทำประทักษิณต้นไม้ด้วยความเคารพแล้วก็หลีกไป เช้าตรู่วันที่สอง พราหมณ์ก็ไปถามถึงการนอนเป็นสุขสบายของเทวดาที่ต้นไม้นั้นอีก ทำอย่างนี้เป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง รุกขเทวดาคิดว่า พราหมณ์นี้ปฏิบัติเรายิ่งนัก เราจักทดลองพราหมณ์นี้ดูว่า ปฏิบัติบำรุงเราด้วยเหตุอันใด แล้วจะทำการตอบแทนพราหมณ์นั้น เมื่อพราหมณ์นั้นมาปัดกวาดโคนไม้ รุกขเทวาจึงจำแลงกายเป็นพราหมณ์แก่ยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วพูดว่า
"พราหมณ์ ท่านก็รู้ว่าต้นทองกวาวนี้ไม่มีจิตใจ ไม่ได้ยินเสียงและไม่มีความรู้สึกอะไรเลย เพราะเหตุไรท่านจึงเพียรพยายามบำรุง มิได้มีความประมาทหลงลืม แล้วยังมาถามถึงสุขจากการนอนของต้นไม้อย่างสมํ่าเสมอ"
เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า “ต้นทองกวาวใหญ่ปรากฏไปในที่ไกล ตั้งอยู่ในภูมิประเทศราบเรียบ เป็นที่อยู่อาศัยของทวยเทพ ข้าพเจ้าจึงนอบน้อมต้นทองกวาวนี้”
รุกขเทวดาได้ฟังดังนั้น ก็มีความเลื่อมใสในพราหมณ์จึงปลอบโยนแล้วกล่าวว่า “พราหมณ์ เราเป็นเทวดาที่สถิตอยู่ที่ต้นไม้นี้เอง ท่านอย่ากลัวไปเลย เราจะให้ทรัพย์แก่ท่าน” แล้วยืนในอากาศที่ประตูวิมานของตนด้วยเทวานุภาพอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวว่า “ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นมาคำนึงถึงความกตัญญู จักทำการทดแทนคุณท่านตามสมควรแก่อานุภาพ การที่ท่านขวนขวายมาสู่ที่อยู่ของสัตบุรุษทั้งหลาย จะเปล่าประโยชน์ได้อย่างไรเล่า ต้นเลียบต้นที่อยู่เบื้องหน้าต้นมะพลับที่เขาล้อมรั้วไว้ ที่มหาชนเคยบูชายัญกันมาแต่ก่อนนั้น เขาได้ฝังขุมทรัพย์ที่โคนต้นเลียบนั้น เป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ท่านจงไปขุดเอาไปใช้สอยเลี้ยงชีพเถิด”
รุกขเทวดาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วคิดว่า ขุมทรัพย์นี้มีมากเกินกำลังที่พราหมณ์จะขุดเอาไปได้ เราควรจะนำขุมทรัพย์ไปให้ถึงเรือนด้วยอานุภาพของเราเองจะดีกว่า จึงได้กล่าวกับพราหมณ์ว่า “พราหมณ์ ท่านขุดขุมทรัพย์เองคงลำบากเหน็ดเหนื่อยอย่างแน่นอน ท่านจงไปรอที่เรือนของท่านเถอะ เราจักนำขุมทรัพย์นั้นไปที่บ้านของท่านเอง แล้วจักฝังไว้ ณ ที่โน้น ท่านจงใช้สอยทรัพย์นั้นจนตลอดชีวิต จงให้ทาน รักษาศีล อย่าประมาทเถิด” แล้วรุกขเทวดาก็ได้นำขุมทรัพย์นั้นให้ไปประดิษฐานไว้ที่บ้านของพราหมณ์ ด้วยอานุภาพของตน
พระบรมศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า "พราหมณ์ในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนรุกขเทวดาในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคตเอง" ฝ่ายท่านพระอานนท์ครั้นได้ฟังพระดำรัสที่ได้ตรัสเล่าให้กำลังใจ ก็คลายความเศร้าโศก หลังจากที่พระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน ก่อนการสังคายนาครั้งแรกท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล สมดังพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสไว้ทุกประการ
เราจะเห็นว่า อานิสงส์ของการอุปัฏฐากท่านผู้ประเสริฐกว่าเราก็ดี การบูชาบุคคลผู้ควรแก่การบูชาก็ดี ด้วยความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง เป็นทางมาแห่งบุญอันจะนับจะประมาณมิได้ ถ้าบุญมากพอก็ย่อมจะส่งผลเร็ว ให้เราได้รับความสุขความเจริญ และได้รับความสำเร็จในปัจจุบันชาตินี้เลยทีเดียว เหมือนดังพราหมณ์ที่ได้รับโลกิยะทรัพย์คือขุมทรัพย์มหาศาลให้ใช้ได้อย่างสุขสบายตลอดชีวิต แต่ถ้าได้บำเพ็ญบารมีมามากแล้วบุญก็ย่อมส่งผลให้อย่างแน่นอน เหมือนพระอานนท์ที่ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้
ฉะนั้น เมื่อเราตั้งใจทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ควรทำความดีนั้นให้เต็มที่ ให้ต่อเนื่องเป็นปกติ พยายามรักษาความดีนั้นไว้ และทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อความดียังไม่ส่งผลก็อย่าท้อใจ เพราะสิ่งที่เราทำไปไม่สูญหายไปไหน เป็นความดี เป็นดวงบุญที่เก็บใว้ในใจของเรา เมื่อเรานึกถึงครั้งใดก็มีแต่ความสุขใจเป็นผลในปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ผลของความดีที่เราทำไว้จะเป็นเครื่องปลื้มใจให้แก่เราได้ตลอดเวลา จะทำให้การดำเนินชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น และจะทำให้เราสามารถสร้างบุญสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งบารมีของเราเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ วันใดวันหนึ่งเมื่อบุญส่งผลอย่างเต็มที่แล้ว เราย่อมได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าอย่างแน่นอน
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๔๑๙