การสร้างบารมีสามารถทำได้ทุกวาระ หากมีจิตเลื่อมใสแล้วทุ่มเทอย่างเต็มที่เต็มกำลัง มหานิสงส์อันไม่มีประมาณก็จะบังเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส เสบียงคือบุญนี้ ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตของพวกเรา ดังนั้นอานิสงส์ผลบุญจึงมีความหมายสำหรับนักสร้างบารมีทั้งหลาย เพราะจะทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น
ในฐานะที่เราเป็นนักสร้างบารมีก็ต้องมีจิตใจเยี่ยงพระบรมโพธิสัตว์ ที่ทุกลมหายใจของท่านเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมีอย่างเดียว เราต้องให้ใจของเราผูกพันกับการสร้างบารมีตลอดเวลา จิตใจจะได้ถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ รองรับธรรมะภายในที่จะเกิดขึ้น
* มีวาระแห่งภาษิตที่ปรากฏอยู่ใน อุตติยเถราปทาน ความว่า
“เราร่าเริง มีจิตยินดี ได้ข้ามส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นายกของโลก ที่ฝั่งแม่น้ำโน้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าสิทธัตถะทรงยังเราให้พอใจ ณ ที่นั้นว่า ท่านจักได้บรรลุอมตธรรม
พอเราละอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปสู่เทวโลกแวดล้อมด้วยเทพอัปสร เสวยสุขอันเป็นทิพย์
เราได้เป็นจอมเทวดา เสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๗ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในทวีปทั้งสี่
๓ ครั้ง เราเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก มีปัญญาและสำรวมแล้วด้วยดี ยังกายอันเป็นที่สุดอยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ ที่เราได้ข้ามส่งพระชินเจ้า ด้วยกรรมนั้น
เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งบุญที่เราได้ทำไว้ในทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ”
การทำบุญให้ถูกเนื้อนาบุญนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราสมปรารถนาในชีวิต ขึ้นชื่อว่าเป็นความดีแล้วสามารถทำได้ในทุกสภาวะ โดยไม่มีข้อยกเว้น ขอเพียงแค่อย่ามองข้ามในความดีเล็กๆ น้อยๆ เมื่อมีโอกาสก็ให้ทำความดี เหมือนตัวอย่างที่หลวงพ่อได้นำคำอุทานของนักสร้างบารมีท่านหนึ่งมาเล่าให้พวกเราได้รับทราบข้างต้น ซึ่งเป็นคำกล่าวของพระอรหันต์องค์หนึ่ง ที่ท่านย้อนไปดูบุพกรรมของท่านในอดีต แล้วก็กล่าวออกมาด้วยความปีติและอัศจรรย์ใจในผลแห่งบุญที่บังเกิดขึ้น จากการทำความดีเพียงเล็กน้อย
หลวงพ่อขอนำเอาประวัติการสร้างบารมีของพระเถระรูปนี้มาเล่า เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างบารมีให้พวกเราทั้งหลาย ได้ตระหนักว่าบุญนี้เราควรทำทุกๆ โอกาส ทำทุกๆ บุญ เมื่อโอกาสที่ดีมาถึงก็ควรจะไขว่คว้าไว้ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระเถระท่านย้อนไปดูอดีต การสั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาตามลำดับ จนกระทั่งมาถึงภพชาติหนึ่ง
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก บุญในตัวท่านที่เคยสั่งสมเอาไว้ เผอิญชาตินั้นบุญพร่องลง ทำให้กรรมเก่าที่เป็นบาปอกุศลตามมาทัน จึงไปบังเกิดเป็นจระเข้ในแม่น้ำชื่อว่า จันทภาคา น่าอัศจรรย์ทีเดียว แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ดูงดงามยิ่งกว่าแม่น้ำทุกสายในสมัยนั้น เพราะจะมีแสงสว่างไปทั่วทุกทิศ ประกอบด้วยสิริอันเกิดจากรัตนชาติ ที่กลมกลืนกับแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ มีพื้นทรายที่ขาวสะอาด น้ำก็ใสสะอาดมีรสอร่อย แม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า จันทภาคา ซึ่งแปลว่า เปรียบเหมือนพระจันทร์
จระเข้ใหญ่ได้อาศัยอยู่ในแม่น้ำมายาวนาน มีสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร หากินไปวันๆ โดยไม่รู้ว่าตัวได้สร้างกรรม คือปาณาติบาตอันเป็นบาปอกุศล เนื่องจากเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่ได้รู้เรื่องราวเลยว่า ขณะนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีอยู่วันหนึ่งขณะที่กำลังนอนพักในแม่น้ำ ได้มองเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาใกล้ฝั่งแม่น้ำ เห็นพระฉัพพรรณรังสีแผ่ออกไปรอบพระวรกาย บุญเก่าที่เคยสร้างเอาไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ตามมาทัน ทำให้จระเข้นั้นมีจิตเลื่อมใสคิดว่า
สมณะรูปนี้น่าเลื่อมใสเหลือเกิน ชะรอยท่านคงเป็นพระอรหันต์เป็นแน่ ตัวเราเป็นเพียงแค่สัตว์เดียรัจฉาน หมดโอกาสที่จะฟังธรรมเยี่ยงมนุษย์ทั้งหลาย เอาเถิด ถึงกระนั้นเราก็ควรที่จะเอาบุญกับท่าน โอกาสดีๆ อย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะมาถึงง่ายๆ
เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว หัวใจก็พองโตด้วยความปีติ ประสงค์จะนำพระบรมศาสดาข้ามฟากจึงหมอบที่ใกล้ฝั่งนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวาระจิตของจระเข้ตัวนั้น ดำริว่า จระเข้นี้มีบุญเก่าในตัวพอสมควร กอปรกับความเลื่อมใสในตัวเรา จะเป็นบุญใหญ่ติดตัวไป เราควรอนุเคราะห์สัตว์ผู้ยากไร้นี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงวางพระบาททั้งสองไว้บนหลังจระเข้
จระเข้รู้สึกปีติยินดีหัวใจพองโตทีเดียว เกิดความอุตสาหะมากด้วยกำลังแห่งมหาปีติ จึงว่ายตัดกระแสน้ำนำพระผู้มีพระภาคเจ้าไปสู่ฝั่งโน้นโดยเร็ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเลื่อมใสแห่งจิตของจระเข้ จึงทรงพยากรณ์ว่า "ด้วยอานุภาพที่จระเข้นี้เลื่อมใสในเรา และส่งเราข้ามฟาก จุติจากอัตภาพนี้แล้วจักบังเกิดในเทวโลก และจะท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภูมิ จักสมบูรณ์ด้วยมหาสมบัติทั้งที่เป็นมนุษย์และเป็นทิพย์ ในกัปที่ ๘๔ แต่กัปนี้ไป จักบรรลุอมตนิพพาน" ดังนี้แล้วก็เสด็จหลีกไป
พอจระเข้ละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในสุคติโลกสวรรค์ เหมือนคำพยากรณ์ของพระบรมศาสดาทุกประการ จนกระทั่งมาถึงสมัยพุทธกาลนี้ ก็ได้บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งในกรุงสาวัตถี พวกพราหมณ์ได้ตั้งชื่อเธอว่า อุตติยะ ครั้นเจริญวัยแล้วบุญเก่าในตัวก็มาตักเตือนทำให้ได้คิดว่า การที่เราใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างนี้ โดยไม่ได้แสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารอะไร การมีชีวิตของเราก็เท่ากับว่าเป็นโมฆะบุรุษ เราจักแสวงหาอมตธรรม จึงไปบวชเป็นปริพาชกมุ่งหน้าแสวงหาอมตธรรมตามความเชื่อของตน จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วฟังธรรมก็บังเกิดความศรัทธา บวชในพระศาสนา ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ก็ไม่อาจให้บรรลุคุณวิเศษได้
ท่านปฏิบัติธรรรมยาวนานทีเดียว เห็นภิกษุรูปอื่นปฏิบัติธรรมได้ดี บรรลุอรหัตผลรูปแล้วรูปเล่า ยังอภิญญาให้เกิดขึ้น เห็นแล้วก็อยากเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขอโอวาทโดยสังเขป พระบรมศาสดาได้ประทานโอวาทแก่ท่านว่า "ดูก่อนอุตติยะ เธอจงชำระศีลซึ่งเป็นเบื้องต้นให้สะอาดหมดจด เธอตั้งอยู่ในโอวาท เริ่มบำเพ็ญเพียรไปตามลำดับ เมื่อเธอเริ่มวิปัสสนา อาพาธจะเกิดขึ้นเพราะกรรมเก่า เมื่ออาพาธเกิดขึ้น เธอพึงเกิดความสังเวช จงตั้งใจเจริญวิปัสสนา ก็จะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ท่านได้ทำตามโอวาทของพระบรมศาสดา ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
พอบรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็มานั่งระลึกถึงบุพกรรมของตน เกิดปีติโสมนัส จึงประกาศผลแห่งการสร้างบุญในครั้งนั้นให้สาธุชนทั้งหลายได้ฟัง แล้วท่านก็ยังเล่าต่อไปอีกว่า "ด้วยอานุภาพแห่งบุญในครั้งนั้น ทำให้เราไม่รู้จักทุคติเลย เกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติ เราตั้งใจว่าจะทำความดีในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นความดีเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เพราะเราได้เห็นแล้วซึ่งอานิสงส์ใหญ่ ที่เกิดจากบุญเพียงเล็กน้อย เมื่อสาธุชนทั้งหลายได้ฟังเรื่องราวที่ท่านได้เล่าเป็นอุทาหรณ์ ต่างก็พากันมีกำลังใจในการสร้างความดี ไม่มองข้ามในบุญเพียงเล็กน้อย เมื่อวาระแห่งบุญมาถึง ก็ตั้งใจเอาบุญกันอย่างเต็มที่
เราจะเห็นว่า การทำบุญในทุกบุญทุกโอกาสแม้จะเป็นบุญเล็กบุญน้อยก็ตาม มีแต่จะได้รับมหานิสงส์อันยิ่งใหญ่ เพราะได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ใครก็ตามที่รู้จักเก็บเกี่ยวเอาบุญทุกๆ วาระ บุคคลผู้นั้นไม่ว่าจะไปอยู่สถานที่แห่งใด ก็จะมีแต่ความสุขและความสำเร็จไปทุกภพทุกชาติ ดังนั้นอย่ามองข้ามวาระแห่งบุญที่มาถึงกัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๑๐๙