เราทุกคนเกิดมาได้คติสมบัติที่ดีเลิศ คือ ได้ความเป็นมนุษย์ ที่ไม่พิกลพิการ บ้า ใบ้ ปัญญาอ่อน ได้อุปธิสมบัติที่สมบูรณ์พร้อมทั้งความคิดความเห็น คือ ทิฏฐิสมบัติของเราก็มีความเห็นถูกต้อง เห็นว่าเกิดมาแล้วต้องสร้างบารมี เพราะว่าโลกนี้เป็นเหมือนตลาดกลางในการค้าบุญค้าบาป เราจึงเร่งสร้างบุญสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่
นักสร้างบารมีที่แท้จริง จะต้องมีใจจดจ่ออยู่กับการสร้างบารมีอย่างเดียว ไม่ปล่อยให้วันหนึ่งๆ ผ่านไปโดยไม่ได้สร้างบุญอะไรเลย จะต้องคิดอยู่ในใจตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรบารมีของเราจึงจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จะมีดวงบุญในตัวใหญ่โตขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะบุญน้อย ๆ ไปถึงที่สุดแห่งธรรมไม่ได้
ดังนั้นจงคิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรใจของเราจะสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา และก็หยุดใจได้สนิท จนกระทั่งสามารถเข้าถึงธรรมภายในได้ จะได้มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน
มีวาระแห่งพระบาลีตอนหนึ่งปรากฏอยู่ใน โอวาทปาฏิโมกข์ ว่า
“สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
การทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากใจผ่องใสแล้ว ไม่ว่าจะทำบุญอะไรก็แล้วแต่ ก็จะบังเกิดอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล ส่งผลให้ชีวิตมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้จักทำใจให้ผ่องใสแล้วสร้างบุญจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งความเจริญ เป็นบัณฑิตนักปราชญ์อย่างแท้จริง
* เหมือนการสร้างบารมีของ พระมธุสสรเถระ ที่ท่านได้สร้างบุญด้วยใจที่เลื่อมใส และรู้จักทำใจให้ผ่องใสตลอดเวลาที่ได้สร้างบุญ
ชีวประวัติของพระมธุสสรเถระ ท่านเคยสร้างบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ จนกระทั่งมีอยู่ชาติหนึ่งในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงอุบัติขึ้นในโลก ในภพชาตินั้น ท่านมีอาชีพเป่าสังข์สร้างความบันเทิงให้แก่มหาชน ท่านเป็นผู้ที่เป่าสังข์ได้ไพเราะจับใจ เมื่อใครได้ยินได้ฟังหัวใจที่รุ่มร้อนกระวนกระวายก็จะสงบระงับในทันที
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามายังพระนครที่ท่านอาศัยอยู่ ทำให้ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ จึงทำให้ได้คิดตามที่พระบรมศาสดาตรัสว่า สังสารวัฏนี้ ยาวนานเหลือเกิน เราควรที่จะใช้ความสามารถพิเศษของเราเอาบุญใหญ่กับพระบรมศาสดา เพื่อสั่งสมเป็นเสบียงในการเดินทางไกลไปในภพเบื้องหน้า
เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ท่านได้เป่าสังข์ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า บูชาพระพุทธองค์ด้วยเสียงสังข์อันไพเราะนั้น ทุกๆ ครั้งก่อนที่จะถวายการเป่าสังข์ ก็จะทำใจของตนให้ผ่องใส นึกน้อมเป็นพุทธบูชา เสียงที่เป่าออกไปนั้นได้ก้องกังวาน มีความไพเราะไปทั่วอาณาบริเวณที่พระบรมศาสดาประทับ
ท่านทำอย่างนี้เป็นนิตย์ ราวกับดนตรีทิพย์ที่เกิดขึ้นต้อนรับท้าวสักกะ ด้วยบุญกรรมนั้น ส่งผลให้ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในหมู่เทวดาหรือมนุษย์ ก็เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณดีงามปรากฏไปทั่วทุกสถาน และมีเสียงที่ไพเราะจับใจมนุษย์และเทวายิ่งนัก ท่านท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น จนมาถึงในสมัยพุทธกาลนี้ ก็มาบังเกิดในตระกูลสูง เป็นผู้มีบุญพิเศษอย่างหนึ่งคือ จะเป็นผู้ที่มีเสียงไพเราะจับใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังทุก ๆ คน แม้แต่เทวดายังเงี่ยโสตฟัง
ต่อมาภายหลัง ท่านได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคของเรา ก็เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงออกบวชในพระศาสนาแล้วบำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เนื่องจากท่านมีวาจาไพเราะจึงมีนามปรากฏว่า มธุสสระ ซึ่งแปลว่า ผู้มีเสียงไพเราะอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง เพราะอานุภาพแห่งบุญที่ได้เป่าสังข์ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต
วันหนึ่ง ท่านได้ระลึกถึงบุพกรรมของตน จึงเกิดความปีติโสมนัสกล่าวว่า “อานุภาพแห่งบุญนี้น่าอัศจรรย์จริงหนอ เราได้ถวายการเป่าสังข์บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เป็นผู้บำรุงพระสุคตเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เป็นนิตย์ อานิสงส์แห่งการบำรุงพระโลกนาถผู้คงที่ ทิพยดนตรี ๖ หมื่นห้อมล้อมเราทุกเมื่อ เสวยแต่สุขสมบัติ ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ ด้วยบุญนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย
ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๑๖ ครั้ง มีนามว่า มหานิโฆสะ ผู้มีเสียงไพเราะ ทรงพลานุภาพกึกก้องทั่วทุกทิศ มีกำลังอันเกิดจากบุญ ในภพชาติสุดท้ายนี้ เราได้บรรลุธรรมเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ความปรารถนาที่เราตั้งเอาไว้ยาวนานได้สำเร็จแล้ว นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธองค์ด้วยจิตอันเลื่อมใส”
ท่านเปล่งอุทานด้วยความโสมนัสที่ได้เห็นอานุภาพแห่งบุญที่บังเกิดขึ้น ที่ท่านได้อานิสงส์ใหญ่เช่นนี้เกิดจากการที่ท่านสร้างบุญด้วยใจที่ผ่องใส เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง โดยไม่มีความคลางแคลงในคุณของพระรัตนตรัย แต่ทำด้วยใจที่เกิดจากจิตสำนึกภายในที่เห็นคุณค่าของบุญจริงๆ ปรารถนาที่จะได้บุญอย่างยิ่ง ท่านไม่มีเหตุผลอื่นมาเจือปนเลย
หลวงพ่อยังมีตัวอย่างของการสร้างบุญด้วยใจที่ผ่องใสอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวการสร้างบุญของพระอรหันตเถระอีกองค์หนึ่ง ท่านมีนามว่า ภิกขทายกเถระ เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสมัย ๙๔ มหากัปที่ผ่านมา ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ครั้งนั้นพระเถระก็ได้มาบังเกิดในยุคนั้นเหมือนกัน
วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่ ก็ได้มองเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากวิหารเสด็จเที่ยวบิณฑบาต เพียงแค่เห็นก็มีใจเลื่อมใสแล้ว ปรารถนาที่จะได้บุญใหญ่ แต่ตนเองยังไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย มีข้าวอยู่เพียงทัพพีเดียวเท่านั้น แต่หัวใจเต็มตื้นด้วยความปีติเลื่อมใส ก็ไม่รอช้า ได้ทำใจให้ผ่องใสแล้วน้อมถวายข้าวทัพพีนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยบุญกุศลนั้นแม้จะเป็นเพียงการถวายทานเพียงน้อยนิด แต่ท่านได้ตามระลึกถึงบุญนั้นจนตลอดอายุขัย พอละจากโลกนี้ไปก็บังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้นฟ้า เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เต็มเปี่ยมด้วยมนุษย์สมบัติ จนมาถึงในสมัยพุทธกาลนี้ ได้บังเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงออกบวช บำเพ็ญเพียรไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ภายหลังเมื่อท่านระลึกถึงบุพกรรมของตน เกิดความปีติโสมนัส จึงเปล่งอุทานว่า
"เราได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ผู้มีพระฉวีวรรณดังทอง ผู้สมควรรับไทยธรรม เสด็จออกจากป่าอันสงัด เราไม่ได้ตระเตรียมทาน แต่ได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแด่พระพุทธองค์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ เราได้ถวายทานแม้เล็กน้อยด้วยใจที่ผ่องใส ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลยในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ ในกัปที่ ๘๗ แต่กัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ครั้ง มีพระนามว่า มหาเรณุ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ภพชาตินี้เราเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว นี้เป็นผลแห่งการถวายทานด้วยใจที่ผ่องใส
เราจะเห็นว่า การสร้างบุญด้วยใจที่ผ่องใส ที่สะอาดบริสุทธิ์เต็มเปี่ยม ด้วยศรัทธาความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ ก็จะส่งผลให้บุคคลนั้นประสบแต่ความสุขความเจริญทุกภพทุกชาติ แล้วยังช่วยปิดประตูอบายภูมิ เปิดประตูสวรรค์และนิพพานอย่างแท้จริง เหมือนประวัติการสร้างบารมีของพระอรหันตเถระทั้งสองรูป ที่ท่านได้ทำบุญด้วยใจที่ผ่องใส และเป็นผู้ที่ฉลาดในการตามระลึกนึกถึงบุญที่ตนเองได้กระทำเอาไว้อย่างดีแล้ว ผลบุญจึงตามสนับสนุนท่าน จนกระทั่งได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต
เมื่อเรารับทราบกันอย่างนี้ดีแล้วก็ให้ตระหนักเอาไว้ว่า เมื่อเราจะสร้างบุญอะไรก็ตาม ต้องทำใจให้ผ่องใส ให้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เราก็จะได้อานิสงส์ใหญ่ดังเช่นพระอริยสาวกทั้งหลาย
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๓๕๐,๓๕๓