" อารมณ์ " กับ " เหตุผล " อยู่ตรงข้ามกันเสมอไปจริงหรือ

วันที่ 03 ธค. พ.ศ.2558

" อารมณ์ " กับ " เหตุผล " อยู่ตรงข้ามกันเสมอไปจริงหรือ


       จริงๆแล้วบางครั้งอารมณ์ก็สามารถส่งเสริมเหตุผลได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเรื่องราวสมัยพุทธกาลพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า " อุปติสสะ " ท่านมาพบพระพุทธศาสนาโดยเห็น " พระอัสสชิ " ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์พระอรหันต์รุ่นแรกสุดในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งพระอัสสชิเดินบิณฑบาตในเมือง ขณะนั้นยังมีพระสงฆ์น้อยมาก ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักพระพุทธศาสนา มากนัก อุปติสสะเห็นบุคลิกของพระอัสสชิ ก็รู้สึกว่า สมณะรูปนี้สงบเสงี่ยม มีผิวพรรณวรรณะผ่องใส หากจะมีพระอรหันต์ในโลกแล้ว สมณะรูปนี้ต้องเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน 

 

        อุปติสสะรอจนพระอัสสชิบิณฑบาตเสร็จ พอท่านนั่งลงจะฉันภัตตาหาร อุปติสสะก็จัดเตรียมที่นั่งให้แล้วถวายน้ำดื่มน้ำใช้ พอพระอัสสชิทำภาระกิจเสร็จ อุปติสสะจึงกราบเรียนถามท่านว่า " อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณวรรณะก็ผุดผ่อง ท่านออกบวชเฉพาะใคร  ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร
 ศาสดาของท่านกล่าวสอนอย่างไร "

    พระอัสสชิเป็นพระอรหันต์แล้วตอบว่า " พระมหาสมณะโคดมผู้เสด็จออกบวช จากศากยตระกูลนั้น
มีอยู่ข้าพเจ้าออกบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพระองค์เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรม
ของพระองค์ ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหม่อยู่ เพิ่งบวชในพระธรรมวินัยไม่นาน เพราะฉะนั้น จะขอแสดงธรรมแก่ท่านโดยย่อธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น 
พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้ "


    เมื่ออุปติสสะฟังจบก็บรรลุธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันทันที พวกเราได้ฟังอย่างนี้แล้วบรรลุธรรมหรือไม่ ตอบว่า " ยัง " ใช่หรือไม่ ทำไมอุปติสสะฟังแล้วจึงบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที ส่วนหนึ่งคือ อุปติสสะสั่งสม บารมีมามาก แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีน้ำหนักมากพอสมควร คือ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธานั่นเอง พออุปติสสะได้เห็นบุคลิกลักษณะของพระอัสสชิแล้วเกิดความศรัทธาทำให้ใจเปิด เพราะฉะนั้น คำพูดที่กล่าวโดยผู้ที่เรามีความเลื่อมใสศรัทธา กับคำพูดที่กล่าวโดยคนทั่วไปแม้เป็นคำพูดเดียวกัน แต่มีน้ำหนักต่างกัน


    ในกรณีนี้คือ " อารมณ์เสริมเหตุผล " อุปติสสะเป็นผู้มีเหตุผลมาก ภายหลังท่านออกบวชได้เป็นพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นผู้เลิศทางปัญญา แสดงว่า ท่านเป็นผู้มีเหตุผลชั้นหนึ่งรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว แต่กระนั้นอารมณ์ความรู้สึกก็ยังมีผลเสริมส่งทำให้เกิดศรัทธา พอเกิดศรัทธาได้แล้วฟังธรรมสั้นๆจึงบรรลุธรรมทันที ถ้าเราตอกย้ำใจตนเองให้หนักแน่น มีศรัทธาขนาดพระสารีบุตรไม่แน่พอเราได้ฟังธรรมเมื่อใด ธรรมนั้นจะไปอยู่ในใจของเรา ทำให้ใจเราหยุดนิ่ง  ใจสงบจนสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน ในบางกรณีอารมณ์ก็เป็นเครื่องเสริมเหตุผล แต่ในบางกรณีอารมณ์กับเหตุผลก็ขัดแย้งกันเช่น เหตุผลมีว่าเราไม่ควรออกไปเที่ยวเตร็ดเตร่และควรทำการบ้านให้เสร็จ แต่อารมณ์กลับบอกว่าขี้เกียจ 
อยากจะออกไปเที่ยวกับเพื่อน 

-----------------------------------------------------------------

หนังสือ " The Lover รักเป็นจะเห็นใจ "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.076898066202799 Mins