ปัญญาข้ามชาติ

วันที่ 21 ธค. พ.ศ.2558

ปัญญาข้ามชาติ

 

    สาเหตุที่ตรัสชาดก พระทศพลประทานโอวาทแก่พระเจ้าโกศลถึงราชธรรม แล้วตรัสถึงโบราณกษัตริย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิต เสวยราชย์โดยธรรม ยังเทพนครให้เต็มบริบูรณ์เมื่อพระเจ้าโกศล ทรงทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตมาตรัสดังนี้..

    ในอดีต พระเจ้าพรหมทัตแห่งนครพาราณสีทรงเลี้ยงนกไว้ 3 ตัวเป็นนกประจำราชสำนักพวกอำมาตย์ต่างคุยล้อเลียนกัน ถึงเรื่องที่พระราชาได้ทรงทำความคุ้นเคยกับสัตว์เดรัจฉานมากเกินไปราวกับเป็นบุตร เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าหมู่อำมาตย์ได้เข้าใจพระองค์ผิดไปเช่นนั้น จึงตรัสเรียกให้นกทั้ง 3 มาตอบปัญหาธรรมท่ามกลางหมู่อำมาตย์และเหล่าข้าราชบริพารทั้งปวงรวมทั้งเรียกปวงมหาชนมาฟังด้วยพระราชาตรัสถามปัญหาแรกแก่นกูกว่า..

 

"นกเอ๋ย เราขอถามเจ้าว่า ผู้เสวยราชสมบัติทำอย่างไรจึงประเสริฐ"นกูกทูลตอบว่า..
"ขอเดชะ! ชื่อว่าพระราชาควรมีธรรม 3 ประการนี้ก่อน แล้วจึงเสวยราชสมบัติ พระราชาไม่ควรพูดมุสาวาท ไม่โกรธและไม่ร่าเริงก่อน จากนั้นค่อยตรัสสั่งให้ทำกิจทั้งหลาย แว่นแคว้นของพระราชาผู้ตรัสมุสาย่อมไม่มีโอชาเพราะรัตนะ 7 เข้าไปใต้สถานที่ทำโอชาในแผ่นดิน อาหาร น้ำมันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย หรือโอสถทั้งหลายย่อมหาโอชามิได้ ประชาชนทานอาหารขาดโอชา ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้รายได้ไม่เกิดขึ้นในแว่นแคว้น เมื่อรายได้ไม่เกิด พระราชาก็ต้องยากลำบาก พระองค์ไม่สามารถสงเคราะห์เสวกามาตย์ได้ เหล่าเสวกามาตย์มิได้รับสงเคราะห์ก็จะไม่มองดูพระราชาด้วยจิตเคารพยำเกรง ฉะนั้นจึงไม่ควรกล่าวมุสาวาทแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต แต่ควรกำหนดถือเอาสุภาษิตข้อที่ว่าความสัตย์ดีกว่ารสทั้งหลาย อนึ่งมุสาวาทเป็นเครื่องกำจัดคุณความดี มีความวิบัติเป็นที่สุด ทำให้มีอเวจีเป็นเบื้องหน้า..

 

    พระองค์ทรงรักใคร่หรือเกลียดชังแล้วทำกรรมใดไป กรรมนั้นจะยังพระองค์ให้เดือดร้อนโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อกษัตริย์ประมาทแล้ว โภคสมบัติทุกอย่างในแว่นแคว้นจะพินาศ ข้อนั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นความทุกข์ของพระราชา ความโกรธของคนอื่นไม่ถึงจุดเดือดรวดเร็ว แต่ของพระราชาย่อมถึงเร็ว ธรรมดาพระราชาทั้งหลายมีวาจาเป็นอาวุธ กริ้วเมื่อใดก็ทำคนอื่นให้พินาศได้ แม้เพียงแค่ชำเลืองดู เพราะฉะนั้นพระราชาอย่ามีความโกรธเกินกว่าคนอื่นๆ ควรเพียบพร้อมด้วยขันติเมตตาและความเอื้อเอ็นดู ควรแลดูพสกนิกรเหมือนโอรสที่รักของตน พระราชาผู้มีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ย่อมไม่สามารถรักษาพระเกียรติยศที่เกิดขึ้นได้..

 

    พระราชาควรหักห้ามความเป็นคนขี้เล่นในราชกิจต่างๆ ห้ามความสนุกสนานร่าเริงลงเสียไม่ควรจะเชื่อถือผู้อื่น ต้องจัดการราชกิจทุกอย่างโดยประจักษ์แจ้งแก่พระองค์เองเท่านั้น พระราชาที่มีพระทัยฮึกเหิมแล้วทำราชกิจจะไม่พินิจพิจารณาก่อน ทำให้พระอิสริยยศพินาศลง..

    พระราชาเว้นมุสาวาทเป็นอันดับแรก ความโกรธเป็นอันดับสอง ความสนุกสนานเป็นอันดับสามแล้ว จากนั้นจึงควรตรัสสั่งให้ทำราชกิจที่ควรทำต่อชาวแว่นแคว้นในภายหลัง เมื่อพระราชาทรงอุตสาหะไม่ทรงประมาท เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครองป้องกัน จงทรงพยายามในกิจทั้งหลายเพราะคนเกียจคร้านย่อมไม่พบความสุข เมื่อพระราชาประพฤติอยู่อย่างนี้ย่อมองอาจสามารถยังมวลมิตรให้มีความสุขและยังศัตรูให้ถึงความทุกข์ได้"

 

    นกกูกกล่าวจบ มหาชนบังเกิดความอัศจรรย์ใจ ยังสาธุการร้อยหนึ่งให้เป็นไป พระราชาทรงโสมนัสตรัสปรึกษาอำมาตย์ อำมาตย์ทูลเสนอให้มอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ ทรงสถาปนาไว้ในฐานันดรศักดิ์ นับแต่นั้นมา..

    ผ่านไปประมาณสิบวัน พระราชาตรัสเรียกนางนกสาลิกามาถามปัญหาว่า.."นางนกกุณฑลินีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของนกมีบรรดาศักดิ์ เจ้าทราบหรือไม่ว่า กิจอันใดที่ผู้มุ่งจะครอบครองสมบัติทำแล้วประเสริฐ"นกสาลิกาตอบว่า.."ข้าแต่เสด็จพ่อ! ประโยชน์ตั้งอยู่ในเหตุ 2 ประการคือ ความได้ลาภที่ยังไม่ได้ และการตามรักษาลาภที่ได้แล้ว คนบางคนได้ยศแล้วมัวเมาทำความชั่ว ผู้ใดได้ยศแล้วไม่ประมาท ทำกรรมอันงามยศของบุคคลนั้นย่อมเจริญเหมือนพระจันทร์ในศุกลปักษ์ ขอพระองค์ทรงอย่าประมาท ดำรงอยู่ในโภคสมบัติ ดำรงราชย์โดยธรรม ตามรักษาพระเกียรติยศของพระองค์ที่บังเกิดขึ้นแล้วเถิด

 

    พระองค์จงเลือกอำมาตย์ผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์ ไม่แพร่งพรายความลับไม่เมาสุรา ไม่ทำให้เสื่อมเสีย อำมาตย์คนใดรักษาพระราชทรัพย์ให้อยู่ได้ดุจนายสารถีคุมรถ พระองค์ทรงใช้อำมาตย์ผู้นั้นให้ทำกิจทั้งหลายของพระองค์ พระองค์โปรดตรวจดูหมู่อำมาตย์ที่ไม่ใช่นักพนันไม่ใช่คนโกงและไม่เป็นคนหลอกลวง มิใช่ผู้ทำธนสารและธัญญาหารอันเป็นราชทรัพย์ให้ฉิบหายพระราชาควรสงเคราะห์ชนฝ่ายในด้วยดี ตรวจตราพระราชทรัพย์ ควรทราบรายได้และรายจ่ายด้วยพระองค์เอง ไม่ควรวางพระทัยในคนอื่น ควรทรงทราบกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำ ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง ธรรมดาพระราชาต้องทรงพิจารณาชำระคนผู้ควรข่ม ควรตรวจ อบดูตัวบทกฎหมายที่พระราชาก่อนๆ ตราไว้ แล้วจึงทรงลงพระราชอาชญาตามสมควร ผู้ใดเป็นคนควรยกย่องซึ่งเป็นผู้สามารถทำลายกำลังปรปักษ์ที่ใครๆ ไม่อาจทำลายได้ หรือเป็นคนปลุกปลอบกำลัง
ฝ่ายตนที่แตกแล้วให้รวมกันได้ หรือเป็นคนนำราชสมบัติที่ยังไม่ได้มาถวายให้ หรือคนที่ทำราชสมบัติที่ได้มาแล้วให้ถาวร หรือผู้ที่ช่วยพระชนม์ชีพไว้ได้ พระราชาทรงยกย่องบุคคลเช่นนี้ ด้วยสักการะใหญ่เมื่อเป็นเช่นนี้คนอื่นๆ จะถวายชีวิตทำกิจที่ควรทำ

 

    พนักงานข้าราชการผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รับสินบนแล้วกลับคำพิพากษา พระองค์อย่าประมาทจงอนุศาสน์พร่ำสอนด้วยพระองค์เองทีเดียว อนึ่งพระองค์อย่าทรงทำเอง หรือทรงใช้คนอื่นให้ทำกิจทั้งหลายโดยฉับพลัน เพราะการงานที่ทำลงไปโดยฉับพลัน ไม่ดีเลยคนอื่นย่อมเดือดร้อนในภายหลังพระองค์อย่าทรงทำอกุศล อย่าทรงปล่อยพระทัยให้เกรี้ยวกราดนัก เพราะว่าสกุลที่มั่นคงเป็นอันมากได้รับความพินาศเพราะความโกรธ พระองค์อย่าทรงนึกว่าเราเป็นใหญ่แล้วให้ความฉิบหายแก่มหาชน ความทุกข์อย่าได้มีแก่สตรีและบุรุษของพระองค์เลย พระองค์อย่าทรงปล่อยพระหฤทัยให้ขุ่นเคืองโกรธกริ้วเกินไป ข้าแต่เสด็จพ่อ! เมื่อใดที่พวกราชบุรุษกราบทูลแสดงโจรต่อพระองค์ว่าเจ้านี่ฆ่าคน! โปรดอย่าปล่อยพระทัยให้ขุ่นเคืองเต็มที่ด้วยถ้อยคำของผู้อื่น หากยังมิได้ทรงสอบสวนแล้ว อย่าได้ทรงลงพระอาญา ทรงชำระด้วยดี รู้ว่าเขาเป็นโจรโดยประจักษ์ด้วยพระองค์เองแล้วจึงโปรดกระทำสิ่งที่ควรทำ เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ยังมิได้ทำพระหฤทัยให้เย็นก่อน ไม่ควรทำการวินิจฉัย เมื่อใดพระหฤทัยเยือกเย็นสดับร้อน อ่อนโยน เมื่อนั้นจึงควรทำการวินิจฉัย เพราะเมื่อจิต
หยาบคาย เหตุผลย่อมไม่ปรากฏเหมือนยามน้ำเดือดพล่าน เงาหน้าก็ไม่ปรากฏ ฉะนั้น

 

    พระราชาใดทรงระลึกถึงแต่ความใคร่ อยากได้สิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นตามความพอใจ เหมือนคนตาบอดทิ้งไม้เท้า เหมือนช้างดุไม่มีขอสับ โภคสมบัติทั้งปวงของพระราชานั้นย่อมฉิบหายไป พระองค์จงเป็นผู้ทรงศีลสมบูรณ์ด้วยอาจารมรรยาท ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเถิด"

    พระราชาทรงยินดีพระทัย ปรึกษาเหล่าอำมาตย์ แล้วตั้งนางนกสาลิกาในฐานันดรศักดิ์แห่งขุนคลังสิบวันต่อมาพระราชาตรัสเรียกนกแขกเต้ามาถามว่า.."ลูกรัก! คราวนี้เจ้าจงบอกกำลังอันสูงสุดของพระราชาให้เราฟังบ้างเถิด"

นกแขกเต้าทูลสนองว่า.."ข้าแต่พระมหาราชเจ้า! ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์จงเงี่ยพระโสตลงสดับเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะกล่าวถวายแด่พระองค์ ดังนี้..

 

    กำลังของราชาในโลกมี 5 ประการ ในกำลังทั้ง 5 นั้น กำลังแขน บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังต่ำทราม กำลังทรัพย์เป็นกำลังที่สอง กำลังอำมาตย์เป็นกำลังที่สาม กำลังชาติเป็นกำลังที่สี่ กำลังปัญญาเป็นกำลังที่ห้า ซึ่งบัณฑิตกล่าวว่ากำลังปัญญานั้นเป็นกำลังอันประเสริฐยอดเยี่ยมกว่ากำลังทั้งหลาย เพราะเมื่อกำลังปัญญาสนับสนุนแล้วย่อมได้ซึ่งประโยชน์ ถ้าบุคคลมีปัญญาทราม แม้ได้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ก็ไม่อาจทำการครอบครองธรณีนั้นได้ เพราะคนมีปัญญาทรามย่อมไม่สามารถรักษายศที่ได้ แล้วคนอื่นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาก็ครอบครองแผ่นดินนั้นเสียข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน! ถ้าบุคคลแม้มีชาติสูงได้ราชสมบัติ แต่มีปัญญาทรามหาเป็นอยู่ด้วยราชสมบัติได้ไม่ ย่อมเป็นผู้ถึงความลำบากเพราะความไม่ฉลาดในอุบาย ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยเรื่องที่ได้สดับ เป็นเครื่องยังเกียรติยศและลาภสักการะให้เจริญ ผู้ประกอบด้วยปัญญาแม้มีทุกข์เกิดขึ้นก็เป็นผู้ปลอดภัย กลับได้ความสุขเพราะฉลาดในอุบาย คนบางคนไม่ตั้งใจฟังให้ดี ไม่อาศัยผู้เป็นพหูสูตผู้อยู่ในธรรม ไม่เข้าไปใกล้ ไม่ฟังบุคคลผู้เป็นบัณฑิต ไม่หยั่งดูว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล ย่อมไม่ได้ซึ่งปัญญา

 

    อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในเวลาเช้า ไม่เกียจคร้าน ทำความเพียรในกาลอันควรการงานของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จเผล็ดผลส่วนการงานของผู้ทุศีลซึ่งมีปกติเบื่อหน่าย ย่อมไม่เผล็ดผลข้าแต่เสด็จพ่อ! ขอพระองค์จงทรงประกอบความเพียร รักษาทรัพย์ที่รวบรวมไว้ อย่าได้ทำลายทรัพย์สินด้วยการงานอันไม่สมควร

    ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระราชบิดา พระราชมารดา ในพระราชโอรสและพระมเหสี ในมิตรอำมาตย์พลนิกาย ในราษฎร ในสมณะทั้งหลาย และในหมู่สัตว์ทั้งหมดเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์

 

    บิดาควรห้ามบุตรธิดาจากความชั่วก่อนแล้วให้ตั้งอยู่ในกรรมดี ให้เล่าเรียนศิลปวิทยา มอบทรัพย์ให้ ชื่อว่าประพฤติธรรมในบุตรธิดาสามียกย่องนับถือภรรยา ไม่ประพฤตินอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้ ให้เครื่องประดับ ชื่อว่าประพฤติธรรมในภรรยา พระราชาสงเคราะห์มิตรและอำมาตย์ด้วยสังคหวัตถุ 4 ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง ชื่อว่าประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์ พระราชาพระราชทานสิ่งที่ควรพระราชทานแก่พาหนะ เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น แก่พลนิกาย ทำการเชิดชูไม่ใช้ช้างม้าในเวลาแก่ ชื่อว่าประพฤติธรรมในพาหนะและพลนิกาย พระราชาไม่บีบคั้นราษฎรด้วยอาชญาและช่วยอากร ชื่อว่าประพฤติธรรมในราษฎร พระราชาพระราชทานจตุปัจจัยแก่สมณะทั้งหลาย ชื่อว่าประพฤติธรรมในสมณะ พระราชาพระราชทานอภัยแก่สัตว์ทั้งปวง ชื่อว่าประพฤติธรรมในหมู่สัตว์

 

    ธรรมที่บุคคลประพฤติแล้วย่อมนำความสุขมาให้ พระอินทร์ ทวยเทพและหมู่พรหมไปทิพยสถานได้ก็ด้วยธรรมอันตนประพฤติดีแล้วทั้งนั้น ข้าแต่บรมกษัตริย์! พระองค์แม้จะต้องสละพระชนม์ชีพก็อย่าทรงประมาทในธรรม พระองค์โปรดคบหาสมาคมกับคนมีปัญญาเป็นนิตยกาลเถิดจงเป็นผู้มีกัลยาณธรรม พระองค์ทรงทราบความข้อนั้นแล้ว จงทรงปฏิบัติให้ครบถ้วนเถิด"

    นกแขกเต้าแสดงธรรมจบลง มหาชนโห่ร้องปีติยินดีในธรรมอันอัศจรรย์ครบถ้วนบริบูรณ์ พระราชาทรงยินดีพระทัย ตรัสเรียกอำมาตย์มาปรึกษา แล้วทรงมอบตำแหน่งมหาเสนาบดี

 

    นับแต่นั้นมา นกทั้งสามได้อนุศาสน์พร่ำสอนอรรถและธรรมถวายแด่พระราชา พระราชาทรงตั้งอยู่ในโอวาท ทรงบำเพ็ญบุญกุศลสม่ำเสมอได้มีสวรรค์เป็นที่ไป อำมาตย์ทั้งหลายเมื่อจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชาแล้วก็แจ้งแก่นกทั้งสามว่า พระราชาทรงทำราชพินัยกรรมยกเศวตฉัตรให้แก่นกแขกเต้า แต่นกไม่ต้องการราชสมบัติ ได้แนะนำเหล่าอำมาตย์ให้จารึกหลักการวินิจฉัยข้อธรรมลงในสุพรรณบัฏแล้วกลับเข้าสู่ป่า โอวาทนั้นได้สั่งสอนชาวชมพูทวีปอยู่ตลอดถึง40,000 ปี จนมนุษย์ในยุคนั้นประพฤติธรรมกันทั้งชมพูทวีป ละโลกแล้วก็ไปสวรรค์กันนับไม่ถ้วน..


ประชุมชาดก
    พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระราชาครั้งนั้นมาเป็นพระอานนท์ นางนกกุณฑลินีมาเป็นนางอุบลวรรณา นกเวสสันดรมาเป็นพระสารีบุตร นกชัมพุกะมาเป็นตถาคตแล

    จากชาดกเรื่องนี้ ผู้ฝึกคุณธรรมมาดีข้ามชาติ ปัญญาย่อมดีไปด้วย เพราะสอนตักเตือนตนเองได้ส่วนผู้ที่ฝึกคุณธรรมมาไม่ดี ย่อมมีปัญญาทรามตามไปด้วย เพราะแม้รู้ธรรมะแต่ก็สอนตัวเองไม่ได้ยังอดใจไม่ทำบาปมิได้ ฉะนั้นบุคคลจะมีสหชาติปัญญาติดตัวมาข้ามชาติได้ จึงต้องเป็นผู้ที่ทั้งหมั่นศึกษาธรรมะจนแตกฉานและปฏิบัติตามธรรมนั้นได้อย่างชำนาญ

 

    "นิสัยขยันขวนขวายศึกษาธรรมะ แล้วนำมาปฏิบัติจนชำนาญข้ามชาติ" จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในปัญญาบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0080822507540385 Mins