ความโกรธที่โหดเหี้ยม

วันที่ 15 มค. พ.ศ.2559

ความโกรธที่โหดเหี้ยม

          สาเหตุที่ตรัสชาดก ภิกษุรูปหนึ่งเป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นเสมอ เมื่อถูกกล่าวว่าเพียงเล็กน้อยก็ขุ่นแค้นมุ่งร้าย พระทศพลให้เรียกเธอมาแล้วตรัสว่า เธอควรจะห้ามความโกรธเสียความโกรธไม่ทำประโยชน์ให้ในโลกนี้และโลกหน้า แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังนี้..

 

         ในอดีตสามีภรรยาคู่หนึ่งถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกัน ต่อมา บิดามารดาฝ่ายสามีตายไปสามีก็เบื่อหน่ายในชีวิตคู่ที่ไม่มีอิสระทางใจ จึงขอมอบทรัพย์ทั้งหมดให้ภรรยา แล้วลาเข้าป่าหิมพานต์ออกบวชเพื่อทำที่พึ่งให้แก่ตน ฝ่ายภรรยารีบถามสามีว่า..
"แล้วผู้หญิงบวชได้ไหมจ๊ะพี่"
"ก็บวชได้เช่นกันนะ"สามีตอบ
"ฉันก็จะบวชด้วยสิ! ฉันไม่มีธุระอะไรกับทรัพย์สมบัติเหล่านี้ และก็ไม่ขอรับก้อนเขฬะที่พี่ถ่มทิ้งให้ฉันหรอก"
"อย่างนั้นก็ดีแล้ว"สามีสนันสนุน

 

         ทั้งสองจึงช่วยกันให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วเข้าป่าไปสร้างอาศรมอันร่มรื่นอยู่เป็นบรรพชิตแสวงหาผลาผลเลี้ยงชีพ จนเวลาผ่านไปถึง 10 ปี ฌานสมาบัติก็ยังมิได้เกิดขึ้นแก่ทั้งคู่เลย ทั้งสองคงอยู่ได้ด้วยความสุขที่เกิดแต่บรรพชาเท่านั้น

 

          อยู่มาวันหนึ่ง ทั้งสองจาริกไปตามชนบทสู่เมือง พระราชาเกิดทอดพระเนตรเห็นนักบวชหญิงรูปร่างงดงามเพริดพริ้งน่ามองยิ่ง พระองค์เกิดมีพระทัยปฏิพัทธ์สะท้านพระทัยด้วยอำนาจตัณหารีบเข้าไปตรัสถามฤาษีว่า..

"ข้าแต่บรรพชิต! นางนี้เป็นอะไรกันกับท่านรึ"
"ไม่ได้เป็นอะไร เพียงแต่บวชด้วยกันเท่านั้น แต่ว่าตอนเป็นคฤหัสถ์ นางนี้ได้เป็นภรรยาของอาตมภาพ" ฤาษีตอบ

"ถ้าจะมีใครพาเอานางผู้มีนัยน์ตาโตน่ารัก ใบหน้าอมยิ้มนี้ของท่านไป ท่านจะว่าอย่างไร"
พระราชาถามฤาษีด้วยทรงหื่นกระหาย
"มหาบพิตร ถ้ามีใครพานางนี้ไปแล้วความโกรธเกิดขึ้นแก่อาตมภาพ อาตมภาพจะข่มห้ามมัน
เสียโดยพลันด้วยเมตตาภาวนา เหมือนฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลีให้หมดไป"

 

          พระราชาแม้ทรงสดับคำฤาษีจนรู้ดีรู้ชั่ว แต่ก็ไม่อาจหักห้ามพระทัยในกามารมณ์ได้ จึงทรงบังคับอำมาตย์ให้คุมตัวนักบวชสาวสวยไปยังพระราชนิเวศน์ ฤาษีฟังเสียงร้องคร่ำครวญของอดีตภรรยาแล้วอดกลั้นความโกรธ ไม่หันกลับไปดู

 

         บัดนี้ราชภัยได้บังเกิดขึ้นแล้ว! พระราชารีบวิ่งไปห้องบรรทมด้วยความเร่งร้อน ทรงใช้วิธีการเกลี้ยกล่อมต่างๆ นาๆ ก็ไม่สามารถผูกใจนางไว้ได้ จึงมีรับสั่งให้ขังนางไว้ในห้องบรรทมก่อนต่อมาตัณหาพระราชาซาลง ทรงดำริว่า..

"นางคนนี้ช่างมีศีลธรรมดีงามเหลือเกิน ไม่ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่อยากเด่นอยากดังเหมือนใครๆ เขาเลยส่วนฤาษีนั้นเล่าก็ไม่ได้มองดูเราด้วยความโกรธแค้นเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ไม่แน่นักหรอก! เราจะไปดูให้รู้แน่ก่อนว่า ท่านนั่งทำอะไรอยู่"


         พระราชาค่อยๆ เสด็จเข้าไปหาฤาษีโดยมิให้มีเสียง ขณะนั้น ฤาษีกำลังนั่งเย็บจีวรไปเรื่อยๆ
ไม่ได้มองดูพระราชา พระราชาจึงทรงดำริว่า..

"โธ่! ฤาษีเจ้าเล่ห์ ที่แรกอวดอ้างว่า หากความโกรธเกิดขึ้นก็จะรีบข่มลงโดยเร็ว แต่ตอนนี้ยังโกรธเราอยู่เลย ไม่ยอมมองเรา ไม่คุยกับเราเสียเฉยๆ" จึงเข้าไปคุยเพื่อจับพิรุธฤาษีว่า..


"ท่านกล่าวอวดอ้างไว้อย่างไรกันหนอ วันนี้ทำไมทำเป็นไม่เห็นเราเอาแต่นั่งเย็บสังฆาฏิอยู่เล่า"
"มหาบพิตร ความโกรธนั้นมีโทษมากมาย เพราะมันประกอบกันจนเกิดความพินาศใหญ่หลวงเมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว คนนั้นจะไม่เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ของคนอื่นเลย ถ้าความโกรธยังไม่เกิดขึ้น คนนั้นย่อมเห็นเหตุการณ์ได้ดี ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญาที่คิดหักห้ามไม่ได้คนที่โกรธยังชื่อว่าเป็นศัตรูแก่ตัวเอง หาทุกข์ใส่ตัวโดยแท้ ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำ จะละทิ้งกุศลประโยชน์มากมายก็จะซัดส่ายกระจายไป เขาจะถูกกิเลสหมู่ใหญ่ที่น่ากลัว บังคับให้ข่มทำลายคนอื่นให้อยู่ในอำนาจ ไฟเกิดที่ไม้สีย่อมเผาไม้นั้นฉันใด ความโกรธเกิดขึ้นแก่ใคร แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละ! เผาลนเพราะความแข่งดีของเขา ยศของเขาย่อมเสื่อมไปเหมือนพระจันทร์ข้างแรม ถ้าความโกรธสงบลงได้ ก็เป็นประดุจไฟไร้เชื้อ ยศผู้นั้นก็จะเต็มเปียมเหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น"

 

          พระราชาสดับคำภาษิตนี้แล้ว ทรงรับสั่งให้อำมาตย์นำนางฤาษิณีมา แล้วตรัสว่า..
"ท่านผู้เจริญ! ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่ด้วยความสุขเถิด ขอท่านอยู่ในอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะช่วยพิทักษ์รักษาโดยชอบธรรมแก่ท่านทั้งสองเอง"
พระราชาทรงขอขมาโทษ นมัสการลาแล้วเสด็จกลับ

        กาลต่อมา ฤาษิณีได้มรณภาพ พระฤาษีก็กลับเข้าสู่ถิ่นหิมพานต์ ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้นได้ หมั่นเจริญพรหมวิหาร 4 มีความสุขสงบในป่าอันร่มรื่นไปจนสิ้นอายุขัย ก็ไปพักต่อที่พรหมโลกสืบไป

 

ประชุมชาดก
          พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า นางปริพาชิกาครั้งนั้นมาเป็นมารดาพระราหุล พระราชามาเป็นพระอานนท์ ปริพาชกมาเป็นตถาคตแล


          จากชาดกเรื่องนี้ ฤาษีอดกลั้นความดูหมิ่นได้ ด้วยเห็นโทษของความโกรธ ฤาษิณีก็อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้าในลาภยศและความนับถือในราชตระกูล ไม่หลงไปกับกิเลสกาม จึงทำให้ทั้งคู่ไม่เสื่อมจากพรหมจรรย์

 

"นิสัยมองเห็นโทษความโกรธอยู่เสมอ, ไม่พรั่นพรึงต่อความดูหมิ่น, ไม่ชอบคิด
คับแค้นใจ และไม่หลงใหลในสิ่งใด" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าใน
ขันติบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0054104487101237 Mins