เคยไหมๆ เวลาพยายามหาอะไรแล้วมักจะหาไม่เจอพอหาไม่เจอก็ต้องตามคนมาช่วยหา พอมาช่วยกันหา
ก็มักจะช่วยกันย้อนอดีต ว่าเห็นของชิ้นนั้นครั้งล่าสุดที่ไหน เอาไปใช้ทำอะไร เราเดินไปที่ไหนบ้าง แม้กระทั่งบางครั้งหาทั้งบ้านแล้วก็ยังไม่เห็น แหมน่าเห็นใจฟังดูแล้วลำเค็ญ แต่พอนั่งเล่นๆ กลับหันไปเจอแบบไม่ได้ตั้งใจเหตุการณ์ข้างบนก็ไม่ใช่มีสาเหตุมาจากไหน แต่กลับมาจากเรื่องง่ายๆ คือการจัดระเบียบของในชีวิต
ประจำวันของเรานั่นเอง แล้วจัดของให้เป็นระเบียบเขามีหลักอย่างไรกันบ้างมาดูกันเลยดีกว่า
เรียงตามการใช้
- รายวัน
- รายสัปดาห์
- รายเดือน
- นานกว่า 1 เดือน
แบ่งของที่ใช้เป็น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และนานกว่า 1 เดือน เก็บของที่ใช้ประจำรายวันไว้ในจุดที่หยิบง่าย ของใช้รายสัปดาห์เก็บในที่ หยิบง่ายรองลงมา ของใช้รายเดือนอาจเก็บไว้ต่างหากในตู้เก็บสักที่ส่วนของที่นานๆใช้ทีควรอยู่ในห้องเก็บของ
เรียงพี่เรียงน้อง
ไม่ว่าจะเก็บที่ไหนก็ตามถ้าไม่อยากให้ของดูรกดูเกะกะให้เรียงของที่สูงกว่าอยู่ข้างในสุด ของที่สูงน้อยกว่าไล่ลำดับลงมา จะทำให้มองครั้งเดียวก็สามารถรู้ว่าอะไรเก็บอยู่ตรงไหนบ้าง
เรียงมุมเข้ามุม
ของที่วางด้วยกันถ้าเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมให้จัดแบบมุมชิดกัน เมื่อวางซ้อนหลายๆชั้นจะดูเป็นระเบียบ
เรียงด้านชิดด้าน
หากของที่จะจัดมีขนาดไม่เท่ากัน แต่ต้องวางซ้อนกัน ให้เรียงด้านใดด้านหนึ่งให้เสมอกัน จะทำให้ของที่วางมีสมดุลไม่ล้อมง่ายและดูสบายตา
เรียงพวกเดียวกัน
สำหรับสิ่งที่จำเป็นต้องแยกประเภท เช่น ยารับประทาน กับยาทาภายนอก แบบนี้ต้องเรียงตามพวกเดียวกันด้วยวางปนกันอาจส่งเสียในเวลารีบใช้
เรียงสีสัน
ของที่มีขนาดเท่ากัน แต่สีไม่เหมือนกันถ้าเราจัดโทนสีเดียวกันไว้ใกล้กัน ค่อยๆไล่ลำดับสีไปจะทำให้ดูงดงามมากขึ้น
การจัดสิ่งของนั้นนอกจากจะทำให้ "หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา" แล้วยังมีผลต่อจิตใจของเราด้วย
ของเป็นระเบียบใจก็จะสบาย เพราะหาอะไรก็ง่าย แต่ถ้าของไม่เป็นระเบียบใจก็หงุดหงิด กว่าจะเริ่มทำอะไรได้มัวแต่หาของจนหมดแรง สุดท้ายสมาธิที่จะใช้ในการเรียนหรือการทำงานอะไรก็หมดไปกับการหาของรื้อของที่จัดไม่เป็นระเบียบนั่นเองใครๆก็อยากได้ห้องเรียนที่เป็นระเบียบแต่ปัญหามักจะอยู่ที่ "มีของอยู่ในห้องเยอะ" วิธีการง่ายๆในกรจัดห้องเรียนของเรา คือ
1. รื้อ คือ เอาของทั้งหมดออกมาจากห้อง ไม่ว่าจะเก็บไว้ในอะไรก็ตาม
2. ทำความสะอาด ตั้งแต่หลังคา หลังตู้ กระจก หน้าต่าง จนพื้นห้องเอาให้สะอาดนอนได้ไปเลยแล้วความรู้สึกรักห้องเรียนของเราจะเกิดขึ้น
3. แบ่งของที่อยู่ในห้องของเราให้เป็นประเภท เป็นหมวดหมู่เช่น หนังสืออยู่กับหนังสือ เครื่องเขียนอยู่กับเครื่องเขียน เป็นต้น
4. แบ่งปัน อะไรที่เก็บมานาน แล้วไม่ได้ใช้สักที แล้วไม่ได้ใช้สักที อย่าเก็บต่อไปเลยแบ่งปันของที่ไม่ได้ใช้ให้กับเพื่อนๆดีกว่า
5. ลาก่อน สุดท้ายของอะไรที่ไม่ได้ใช้จริงๆ อย่าเสียดายทิ้งเถอะนะเพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีห้องเรียนที่น่าอยู่ น่าเรียน ส่งเสริมสมาธิในการศึกษาของเราได้เป็นอย่างดี
----------------------------------------
"หนังสือ 5 ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ฉบับสร้างแรงบันดาลใจ
ทีมงานหลักสูตรโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก"