รักอย่างไรไม่ให้ร้างลา

วันที่ 17 กพ. พ.ศ.2559

รักอย่างไรไม่ให้ร้างลา

              เมื่อเทียบกับสมัยสังคมเกษตรแล้ว อัตราการหย่าร้างในปัจจุบันนั้นสูงขึ้นมาก เพราะส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตของคนปัจจุบันที่มีความเร่งรัดและความเครียดมาก ในสังคมเกษตรสมัยก่อน เมื่อแต่งงานกันไปแล้ว ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ส่วนผู้ชายออกไปทำงานการเกษตรต่างๆ เสร็จเรียบร้อยก็กลับมาบ้าน ฝ่ายหญิงดูแลบ้านและเลี้ยงลูก ดูแลเรื่องความสะอาดและข้าวปลาอาหาร เป็นต้น ชีวิตราบเรียบ สบายๆ ไม่เร่งรีบ

 

            ถึงสมัยก่อนจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มากนัก แต่ชีวิตก็ไม่เร่งรัด ต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์ที่มีความยืดหยุ่น พอมีเรื่องอะไรมากระทบฝ่ายหญิงก็มักจะอดทน เพราะในสมัยนั้นสังคมไม่ยอมรับหญิงที่หย่าร้าง ผู้หญิงจึงต้องพึ่งพาฝ่ายชายในด้านความเป็นอยู่ คือฝ่ายชายเป็นคนหาเลี้ยง แต่ในยุคปัจจุบัน ต่างคนต่างทำงาน เพราะฉะนั้น ต่างฝ่ายต่างมีชีวิตที่ยุ่งด้วยกันทั้งคู่ เครียดด้วยกันทั้งคู่ บางครอบครัวฝ่ายหญิงเก่งกว่าฝ่ายชาย หาเงินเข้าบ้านและหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้มากกว่าฝ่ายชายก็มี พอมีปัญหาเกิดขึ้นฝ่ายหญิงจึงเกิดความรู้สึกว่า ทำไมตนเองต้องอดทนด้วย ถึงแม้แยกทางกันไป ก็สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ความรู้สึกที่ต้องอดทนก็ลดน้อยลงไป

 

            ปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือธรรมชาติของผู้ชายมักต้องการความภาคภูมิใจในตนเองว่า ตนเองเป็นคนสำคัญและเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว พอเจอภรรยาเก่งๆ ก็มีบ้างที่รับไม่ได้ ใจหนึ่งอาจจะรู้สึกดีที่มีภรรยาเก่ง หารายรับเข้าครอบครัวได้มาก แต่อีกใจหนึ่งก็ไปกระทบกับอีโก้ของตนเอง ความรู้สึกภูมิใจในตนเองก็ลดลง ผู้ชายบางคนจึงไปแสวงหาความภูมิใจทางอื่นแทน เช่น ไปมีบ้านเล็กบ้านน้อยเพื่อให้รู้สึกว่าตนยังแน่อยู่ ยังมีคนง้ออยู่ จึงทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่ง ในคู่สามีภรรยาสูงขึ้นกว่าสังคมในอดีต ในภาวะอย่างนี้เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันราบรื่นมั่นคง ครอบครัวไม่เกิดความแตกแยก ลูกไม่เกิดปัญหาขาดความอบอุ่นมีคนกล่าวถึงทางออกของชีวิตคู่ไว้มากมาย แต่จะขอฝากเอาไว้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" และ 
"รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ"

 

-----------------------------------------------------------------------------------------

" หนังสือ Secret of Love  รักลูกอย่างไรไม่ให้เสียน้ำตา "

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00656525293986 Mins