วันวิสาขบูชา (วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖)

วันที่ 20 พค. พ.ศ.2548

วันวิสาขบูชา (วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖)

ความหมาย
      วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือ เดือน ๖ เนื่องในโอกาสคล้ายวันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อ ๓ เหตุการณ์สำคัญ เวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า

 

ความเป็นมา

           พระพุทธเจ้าประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน อยู่ระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะ แคว้นสักกะ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองลุมมินเด ประเทศเนปาล) ใ นเช้าวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ต่อมาพระองค์ได้เสด็จออกผนวช และทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากตรัสรู้แล้วพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดผู้ควรแนะนำสั่งสอนให้ได้บรรลุมรรคผล จนนับไม่ถ้วน และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

 

การถือปฏิบัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

          การประกอบพิธีวิสาขบูชาในเมืองไทย เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกราช กษัตริย์แห่งลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์แห่งลังกาในราชการต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตามแม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

 

      ในสมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกา มีความสัมพันธ์กันทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิดมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ในหนังสือนางนพมาศ ได้กล่าวถึงบรรยากาศ การประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้พอสรุปใจความ ได้ว่า

 

“ เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟ แลดูสว่างไสวไปทั่วทั้งพระนคร เป็นการบูชา พระรัตนตรัยเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาตอนเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนช้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยต่างชวนกันรักษาศีล ฟังพระเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่และคนพิการ บางพวกก็ชักชวนกันสละทรัพย์ซื้อสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อไถ่ชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระโดยเชื่อว่าจะทำให้ตนอายุยืนยาวต่อไป ”

 

          ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ ให้ปรากฏในแผ่นดินไทยต่อไป กับมีพระราชประสงค์จะให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศก โรคภัย และอุปัทวันตรายต่าง ๆ โดยทั่วหน้ากัน ฉะนั้นการประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

 

หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา

๑. ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น ผู้ที่ทำอุปการคุณก่อนเรียกว่า “ บุพการี ” ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายคนดี ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตรธิดาก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน สำหรับครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่ และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่ผู้ควรแนะนำสั่งสอน จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป


     ๒. อริยสัจ ๔    อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่และตาย ่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ

สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น

นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต ทั้งหมดนั้นแก้ไขได้โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น

มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่าทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘

 

๓. ความไม่ประมาท คือ การมีสติ ทุก “ ขณะ ” ทั้งคิด พูด ทำ ซึ่ง “ สติ ” คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูด และทำ ในภาคปฏิบัติ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ ทั้ง เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่าง ๆ วันวิสาขบูชา เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมปฏิบัติบูชา ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พร้อมกันทั่วโลก และเป็นกัลยาณมิตรเชิญชวนบุคคลอันเป็นที่รักสร้างบุญกุศล เป็นการดำเนินรอยตามวิถีการค้นพบสันติภาพภายใน คือ พระนิพพาน เฉกเช่น พระพุทธเจ้า เทอญ

 

วุฑฒิวงศ์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010438481966654 Mins