มูลเหตุการเกิดของศาสนา
มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนานั้นมีมากมายหลายอย่าง แล้วแต่สภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่มชนและยุคสมัย ซึ่งนักการศาสนาได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนา ดังนี้
1. เกิดจากอวิชชา อวิชชาในที่นี้ หมายถึง ความไม่รู้หรือความเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง เช่น ไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัวว่า เหตุใดจึงเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือฝนตก เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงหาคำตอบออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น เข้าใจว่า ฟ้าแลบเนื่องจาก นางมณีเมขลาเอาแก้วมาล่อรามสูร และฟ้าผ่าเพราะรามสูรขว้างขวานไปถูกแก้วแตก เป็นต้น และเมื่อไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงพากันคิดว่าจะต้องมีสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งอาจเป็นเทพยดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ จึงมีการบูชาบวงสรวงอ้อนวอนให้เมตตาปรานี ความคิดเช่นนี้เป็นมูลเหตุทำให้เกิดศาสนาขึ้น ศาสนาของคนโบราณจึงมีมูลเหตุมาจากอวิชชา หรือความไม่รู้
2. เกิดจากความกลัว ความกลัวเป็นมูลเหตุที่ต่อเนื่องจากอวิชชา เมื่อเกิดความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ความกลัว กลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงคิดหาทางเอาอกเอาใจในสิ่งนั้น ในรูปของการเคารพกราบไหว้ เซ่นสรวงบูชา ตลอดจนบนบานศาลกล่าว เพื่อไม่ให้บันดาลภัยพิบัติแก่ตน แต่ให้บันดาลความสุขสวัสดีมาให้ เป็นต้น
3. เกิดจากความภักดี ความภักดีในทางศาสนา หมายถึง ความเชื่อและความเลื่อมใส ด้วยมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเชื่อและเลื่อมใสนั้น เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ตนได้ ศาสนาที่มีมูลเหตุเกิดจากความภักดีได้แก่ศาสนาประเภทเทวนิยม เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น
4. เกิดจากความต้องการความรู้แจ้งความจริงของชีวิต ความต้องการความรู้แจ้ง เป็นมูลเหตุให้เกิดศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่เน้นความรู้ประจักษ์แจ้งความจริงเป็นสำคัญ
5. เกิดจากความต้องการความสงบสุขของสังคม
กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และกติกา ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้ จำเป็นต้องมีคำสอนของศาสนาช่วยขัดเกลาอบรมจิตใจของคนในสังคมให้มีความละอายต่อการทำชั่ว กลัวต่อการทำผิด เมื่อใช้กฎหมายควบคู่กับคำสอนทางศาสนาแล้วย่อมทำให้สังคมมีความสงบสุข ยิ่งขึ้น
หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร