ประเภทของศาสนา
เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อถือ จึงทำให้เกิดศาสนาหลายรูปแบบขึ้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา จำเป็นจะต้องมีการแบ่งศาสนาออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะและสภาพการณ์จริงในปัจจุบันของศาสนาเหล่านั้น ดังนี้
1.แบ่งตามลักษณะของศาสนา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. เอกเทวนิยม (Monotheism) เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้น
2. พหุเทวนิยม (Polytheism) เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนากรีกโบราณ เป็นต้น
3. สัพพัตถเทวนิยม (Pantheism) เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ในทุกคน ทุกแห่ง เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (บางลัทธิ) ถือว่าพระพรหมสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง
4. อเทวนิยม (Atheism) ไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน
ทั้ง 4 ประเภทนี้ อาจย่อลงเป็น 2 คือ
- เทวนิยม (Theism) เป็นศาสนาที่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนายิว (ยูดาย) ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ
- อเทวนิยม (Atheism) เป็นศาสนาที่ปฏิเสธเรื่องพระเจ้าสร้างโลก ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน
2. แบ่งตามสภาพการณ์จริงในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ศาสนาที่ตายแล้ว (Dead Religions) หมายถึง ศาสนาที่เคยมีผู้นับถือในอดีตกาล แต่ปัจจุบันไม่มีผู้นับถือแล้ว คงเหลือแต่ชื่อในประวัติศาสตร์เท่านั้น มี 12 ศาสนา ได้แก่ ในทวีปแอฟริกา 1 ศาสนา คือ ศาสนาของอียิปต์โบราณ
1.2 ในทวีปอเมริกา มี 2 ศาสนา คือ
(1) ศาสนาของพวกเปรูโบราณ
(2) ศาสนาของพวกเม็กซิกันโบราณ
1.3 ในทวีปเอเชีย มี 5 ศาสนา คือ
(1) ศาสนามิถรา (Mithraism) ได้แก่ ศาสนาที่นับถือพระอาทิตย์ ของพวกเปอร์เซีย
(2) ศาสนามนีกี (Manichaeism) มีผู้นับถือระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3-5 ชื่อศาสนาตั้งขึ้นตามชื่อผู้ตั้งศาสนานี้ เรียกทั่วไปว่า มนี ศาสนานี้ถือว่าพระเจ้ากับซาตาน หรือพญามาร เป็นของคู่กัน ชั่วนิรันดร
(3) ศาสนาของพวกบาบิโลเนีย
(4) ศาสนาของพวกฟีนิเซีย
(5) ศาสนาของพวกฮิตไตต์ (Hittites) ชนพวกนี้เป็นชนชาติโบราณที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเอเชียไมเนอร์
1.4 ในทวีปยุโรป มี 4 ศาสนา คือ
(1) ศาสนาของพวกกรีกโบราณ
(2) ศาสนาของพวกโรมันโบราณ
(3) ศาสนาของพวกติวตันยุคแรก
(4) ศาสนาของพวกที่อยู่ ณ แหลมสแกนดิเนเวีย (สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก)
2. ศาสนาที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Religion) หมายถึง ศาสนาที่ยังมีผู้นับถืออยู่ ในปัจจุบันมี 12 ศาสนา ดังนี้
2.1 ศาสนาที่เกิดในเอเชียตะวันออก
1.1 ศาสนาเต๋า
1.2 ศาสนาขงจื๊อ
1.3 ศาสนาชินโต
2.2 ศาสนาที่เกิดในเอเชียใต้
2.1 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
2.2 ศาสนาเชน
2.3 ศาสนาพุทธ
2.4 ศาสนาซิกข์
2.3 ศาสนาที่เกิดในเอเชียตะวันตก
3.1 ศาสนาโซโรอัสเตอร์
3.2 ศาสนายูดาย หรือยิว
3.3 ศาสนาคริสต์
3.4 ศาสนาอิสลาม
3.5 ศาสนาบาไฮ
3. แบ่งตามลำดับแห่งวิวัฒนาการของศาสนา แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
1. ศาสนาธรรมชาติ (Natural Religion) คือศาสนาที่นับถือธรรมชาติ มีความรู้สึกว่าในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ ฯลฯ มีวิญญาณสิงอยู่ จึงแสดงความเคารพนับถือโดยการเซ่นสรวง สังเวย เป็นต้น
การที่มนุษย์เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติแล้วใช้ความรู้สึกสามัญของมนุษย์ตัดสิน กระทั่งทำให้เกิดความเชื่อว่าทุกอย่างต้องมีผู้สร้าง ธรรมชาตินั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่เหนือธรรมชาติคอยควบคุมอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงออกของศาสนาดั้งเดิม และเป็นขั้นแรกที่มนุษย์แสดงออกเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
2. ศาสนาองค์กร (Organized Religion) ศาสนาประเภทนี้มีวิวัฒนาการมา โดยลำดับ มีการจัดรูปแบบ มีการควบคุมเป็นระบบ จนถึงกับก่อตั้งในรูปสถาบันขึ้น อาจเรียกว่า ศาสนาทางสังคม (Associative Religion) ซึ่งมีการจัดระบบความเชื่อตอบสนองสังคม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมแก่สภาวะของแต่ละสังคมเป็นหลัก และก่อรูปเป็นสถาบันทางศาสนาขึ้น เป็นเหตุให้ศาสนาประเภทนี้มีระบบและรูปแบบของตัวเอง มีความมั่นคงถาวรในสังคมสืบมา เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ ศาสนาพุทธ เป็นต้น
4. แบ่งตามประเภทของผู้นับถือศาสนา แบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ
1. ศาสนาเผ่า (Tribal Religion) คือ ศาสนาของคนในเผ่าใดเผ่าหนึ่ง เป็นความเชื่อของกลุ่มชนในเผ่า เช่นศาสนาของคนโบราณเผ่าต่างๆ ซึ่งได้พัฒนาการขึ้นเป็นศาสนาชาติ เช่น ศาสนาเชน และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือกันเฉพาะในประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ นับถือเฉพาะในหมู่ชนเผ่าเปอร์เซีย ศาสนายูดายหรือศาสนายิวนับถือกันเฉพาะในประเทศอิสราเอลหรือหมู่ชาวยิว ศาสนาชินโตนับถือเฉพาะในหมู่ชาวญี่ปุ่น และศาสนาขงจื๊อก็นับถือเฉพาะในหมู่ชาวจีน
2. ศาสนาโลก (World Religion) คือ ศาสนาที่มีผู้นับถือกระจายอยู่ทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่ใดที่หนึ่ง เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าศาสนาสากล
3. ศาสนานิกาย (Segmental Religion) คือ ศาสนาที่เกิดจากศาสนาใหญ่ หรือนิกายย่อยของศาสนาสากล ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุความกดดันทางสังคม เช่น การเหยียดสีผิวสิทธิทางกฎหมาย ความไม่เท่าเทียมกัน ฯลฯ กลุ่มบุคคลที่เสียเปรียบทางสังคมจึงหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้และธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตน จึงฟื้นฟูลัทธิศาสนาและระบบทางสังคมให้เป็นของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยรวบรวมผู้คนที่เห็นด้วยทำการเผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรมของตนในต่างแดน เช่น กลุ่มชาวพุทธในอินโดนีเซีย กลุ่มมุสลิมดำในอเมริกา กลุ่มโซโรอัสเตอร์ในอินเดีย กลุ่มฮินดูในแอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยอาศัยศาสนาเป็นพลังชี้นำ
หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร