ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คัมภีร์ในศาสนา

วันที่ 23 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
คัมภีร์ในศาสนา

      คัมภีร์สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู5) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. ศรุติ

    ศรุติ ได้แก่ คัมภีร์พระเวททั้ง 4 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ไม่มีผู้แต่ง แต่เป็นการค้นพบของฤๅษีทั้งหลาย เป็นของที่มีอยู่ชั่วนิรันดร เป็น ลมหายใจของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสัจธรรมที่แสดงถึงประสบการณ์ทางวิญญาณของฤๅษีทั้งหลายในอดีตกาลที่ยาวนาน พระเวทแบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ คือ

   1. ฤคเวท เป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด เป็นบทเพลงสวดหรือมนตร์สรรเสริญอ้อนวอน พระผู้เป็นเจ้าและเทวี มีบทเพลงสวด 1,017 บท แสดงให้เห็นถึงการยกย่องอำนาจธรรมชาติในการต่อสู้ระหว่างแสงสว่างกับความมืด ความร้อนกับความหนาว อำนาจธรรมชาติถูกยกฐานะเป็นเทพเจ้า มีเทพเจ้าสำคัญๆ คือ อัคนี อินทร์ สูรยะ วรุณ อุษา อัศวิน ปฤฤวี มรุต รุทระ ยมะ ฯลฯ บทเพลงสวดจะมีชื่อฤๅษีกำกับอยู่ด้วย แสดงว่าบทเพลงสวดนั้นๆ เปิดเผย โดยฤๅษีที่มีชื่อนั้นๆ

   2. ยชุรเวท เป็นคัมภีร์ที่เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ ซึ่งเป็นบท ร้อยแก้วที่อธิบายวิธีประกอบพิธีกรรม บวงสรวงและการทำพิธีบูชายัญ จัดตามลำดับเพลงสวด ซึ่งส่วนมากเอามาจากฤคเวท ถือว่าเป็นคัมภีร์ที่จะต้องศึกษาเป็นพิเศษ และมีสาขาแตกขยายไปเป็นจำนวนมาก

   3. สามเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทสวดมนต์ ซึ่งเป็นบทร้อยกรองมีทั้งหมดถึง 1,549 บท โดยนำมาจากฤคเวทเป็นส่วนมาก ที่แต่งขึ้นใหม่ มีประมาณ 78 บท จะใช้สำหรับสวดในพิธีถวายน้ำโสมและขับกล่อมเทพเจ้า

    4. อถรรพเวท  เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นใหม่ในปลายสมัยพราหมณ์ เป็นคาถาอาคม มนต์ขลังศักดิ์สิทธิ์ สำหรับทำพิธีขับไล่เสนียดจัญไร และอัปมงคลให้กลับมาเป็นสวัสดิมงคล นำความชั่วร้ายไปบังเกิดแก่ศัตรู

    เดิมทีเดียวคัมภีร์มีเพียงฤคเวทเท่านั้น ต่อมาได้มีการแยกออกไปเป็น 3 เล่ม จึงมีชื่อเรียกว่า ไตรเพท และหลังจากนี้ไปเป็นเวลาหลายร้อยปี พวกพราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งเรียกชื่อว่า อถรรพเวท หรืออาถรรพเวท รวมกับคัมภีร์เก่าเป็น 4 คัมภีร์ แต่คงเรียกรวมกันว่า ไตรเพท เหมือนเดิม


     นอกจากนี้ แต่ละคัมภีร์ดังกล่าวยังแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่อีก 4 หมวด ที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน ดังต่อไปนี้ คือ

     1. หมวดสังหิตา เป็นหมวดที่รวบรวมมนตร์ต่างๆ สำหรับเป็นบทบริกรรมและขับกล่อม อ้อนวอน สดุดีเทพเจ้า เนื่องในพิธีกรรมบวงสรวง ทำพิธีกรรมบูชา

     2. หมวดพราหมณะ หมวดนี้เป็นบทร้อยแก้ว หรือเรียงความ อธิบายระเบียบการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไว้อย่างละเอียด

     3. หมวดอารัณยกะ เป็นบทร้อยแก้ว ใช้เป็นตำราคู่มือการปฏิบัติของพราหมณ์ ผู้ประสงค์ดำเนินตนเป็นวานปรัสถ์ ชฎิลหรือปริพาชก เพื่อหาความสุขสงบ ตัดความกังวลจากการอยู่ครองเรือน

     4. หมวดอุปนิษัท เป็นคัมภีร์ที่มีแนวคิดทางปรัชญาอย่างลึกซึ้ง เป็นตอนสุดท้ายแห่งพระเวท เป็นบทสนทนาโต้ตอบ ได้อธิบายถึงธรรมชาติและจักรวาล วิญญาณของมนุษย์ การเวียนว่ายตายเกิด กฎแห่งกรรม และหลักปฏิบัติ ปรัชญาสังคม ซึ่งเป็นการอธิบายสาระสำคัญของคัมภีร์พระเวททั้งหมด ดังนี้

1) ปรมาตมัน คือวิญญาณดั้งเดิมหรือความจริงสูงสุดของโลกและชีวิต หรือจักรวาล ซึ่งเรียกว่า พรหมัน สรรพสิ่งมาจากพรหมัน และในที่สุดก็จะกลับคืนสู่ความเป็นเอกภาพกับ พรหมัน ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน
2) อาตมัน หรือชีวาตมัน เป็นส่วนอัตตาย่อย หรือวิญญาณย่อย ซึ่งปรากฏแยก ออกมาอยู่ในแต่ละคน ดังนั้นการที่อาตมัน หรือชีวาตมันย่อยนี้เข้าไปรวมกับพรหมัน หรือ ปรมาตมัน ได้จึงจะพ้นจากทุกข์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
3) เรื่องกรรม การที่ชีวาตมันจะกลับคืนสู่พรหมันเป็นเอกภาพอมตะได้นั้น ผู้นั้น จะต้องบำเพ็ญเพียรทำกรรมดี และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เรียกว่า โยคะ คือกรรมโยคะ ทำกรรมดี ภักติโยคะ มีความภักดีในเทพเจ้า และชญานโยคะ การศึกษาจนเข้าใจพระเวท อย่างถูกต้อง

 

2.  สมฤติ

     สมฤติ เป็นคัมภีร์ขั้นสอง แปลตามศัพท์ว่า สิ่งที่จำไว้ได้ จึงเป็นสิ่งที่จดจำต่อๆ กันมา และถ่ายทอดกันสืบต่อมา เป็นคัมภีร์ที่ปราชญ์ทางศาสนาในเวลาต่อมาได้แต่งตำราประกอบขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนให้การศึกษาคัมภีร์พระเวทเป็นไปโดยถูกต้องและมีประสิทธิผล

     ตำราที่ผู้เป็นปราชญ์ทางศาสนาแต่งขึ้นเป็นอุปการะสนับสนุนคัมภีร์พระเวทนั้นเรียกว่า คัมภีร์เวทางคศาสตร์ แปลว่า คัมภีร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับองค์แห่งพระเวท มีเนื้อหาสรุปได้ คือ

     1.    ศึกษา หรืออุจจารณวิลาส (สัทศาสตร์) ได้แก่ ตำราว่าด้วยการออกเสียงสอนให้เรารู้จักเสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น เสียงสูง เสียงต่ำ และให้รู้จักออกเสียงให้ไพเราะสละสลวย ความรู้เรื่องการออกเสียงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบทมนตร์ต่างๆ ต้องจำให้ขึ้นใจ หรือแม่นยำ ถ้าออกเสียงผิดก็ใช้ไม่ได้

    2.    ฉันท์ ได้แก่ ตำราเรียนรู้วิธีแต่งฉันท์ หรือโศลก เพราะมันตระหรือสังหิตาต่างๆ ล้วนแต่งเป็นฉันท์ เมื่อเป็นคณะฉันท์แล้วก็จะกำหนดจดจำได้ง่าย และออกเสียงไม่ผิดพลาด วิธีแต่งโศลกหรือคำฉันท์นั้น แต่งโดยการรวบรวมจากตำราของท่านยาสกะ

    3.    ไวยากรณ์ ได้แก่ ตำราอธิบายกฎเกณฑ์ทางภาษา การแปลความและตีความในบทสังหิตาต่างๆ ตำราไวยากรณ์นี้ ปาณินีได้รวบรวมจากตำราเดิมมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ เมื่อประมาณปีที่ 240 ก่อนคริสต์ศักราช

    4.    นิรุกติ ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับการแปลศัพท์ให้ถูกต้องตามมูลธาตุเดิม หรือรากศัพท์เดิมของคำนั้นๆ ที่มีอยู่ในคัมภีร์พระเวท

    5.    โชยติส ได้แก่ ตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ เพื่อให้กุลบุตรรู้จักชื่อและลักษณะของดวงดาว และรู้ดิถีวัน คืน ขึ้น แรม รู้เดือนปี รู้นิมิตและชะตาดีหรือร้าย และฤกษ์อันเหมาะแก่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ

    6.    กัลปะ ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับข้อกำหนด กฎเกณฑ์ในการประกอบพิธีกรรม และองค์ที่ 6 นี้มีความสำคัญมากเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในกิจพิธีของชีวิตชาวอารยัน จึงต้องมีคู่มือที่แต่งเป็นสูตร โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

1)    เศราตสูตร ได้แก่ สูตรว่าด้วยพิธีบวงสรวงบูชา เป็นการย่อใจความในคัมภีร์พราหมณ์มาใช้
2)    คฤหยสูตร ได้แก่ สูตรว่าด้วยพิธีเกี่ยวกับครอบครัว เช่น การขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน เป็นต้น
3)    ธรรมสูตร ได้แก่ สูตรว่าด้วยกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับความประพฤติ ข้อวัตรปฏิบัติของชนชั้นต่างๆ และระยะวัยของบุคคลที่เรียกว่า อาศรมธรรม 4 คือ พรหมจารี คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ และสันยาสี ธรรมสูตรนี้ได้มีการเขียนขึ้นประมาณปีที่ 600 ถึง 200 ก่อนคริสต์ศักราช

    7. คัมภีร์ธรรมศาสตร์ ได้แก่ ตำราอธิบายลักษณะกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อ วางระเบียบความประพฤติของประชาชน และสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเจริญของสังคมฮินดู ดังนั้นชื่อของผู้ให้กำเนิดกฎหมาย คือ มนู ยาชญวัลกยะ และปราศระ เป็นชื่ออมตะ ในโลกของกฎหมาย

    8. คัมภีร์นิติศาสตร์ ได้แก่ ตำราอธิบายลักษณะการกระทำ จรรยา ความประพฤติของบุคคลและที่เกี่ยวกับสังคม

    9. คัมภีร์อิติหาส คือคัมภีร์ว่าด้วยวีรกรรมของวีรบุรุษ อันได้แก่ มหากาพย์ทั้งสอง คือ รามายณะ หรือรามเกียรติ์ กับมหาภารตะ ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงผลของการประพฤติธรรมตามแนวคัมภีร์ธรรมศาสตร์

    10. คัมภีร์ปุราณะและคัมภีร์อุปปุราณะ เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยเทพองค์หนึ่งๆ โดยเฉพาะกลุ่มใดนับถือเทพองค์ใดเป็นพิเศษจะมีศรัทธาต่อเรื่องนั้นๆ เป็นพิเศษ ซึ่งจุดประสงค์ของคัมภีร์นี้ก็คือ การสอนศาสนาแก่ประชาชนโดยเล่าเรื่องเทพนิยาย นิทาน และพงศาวดารต่างๆ เป็นคัมภีร์ที่รู้จักกันดีที่สุดในกลุ่มชาวบ้านทั่วไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

คัมภีร์ปุราณะ 18 เรื่อง ได้แก่

1. พระพรหม                7. กฤษณะ               13.    ภวิษยัต
2. ดอกบัว                    8. ศิวะ                     14.    ปางปลาของพระวิษณุนารายณ์
3. อัณฑะของพรหม      9. ศิวลึงค์                15.    ปางสุกรของพระวิษณุนารายณ์
4. ไฟ                         10. นารทิยะ              16.    ปางเต่าของพระวิษณุนารายณ์
5. วิษณุ                      11.    คเณศวร           17.    ปางพราหมณ์เตี้ยของพระวิษณุนารายณ์
6. ครุฑ                       12.    มารกันเทยะ     18.    ภาควัตหรือพระวิษณุนารายณ์อวตาร

 

คัมภีร์อุปปุราณะ 18 เรื่อง ได้แก่

1. อาทิ                       7. นันทิเกศวร            13. มเหศวร
2. นรสิงหะ                  8. อุศนัส                   14.    ปัทมะ
3. วายุ                        9. กบิล                     15.    เทวะ
4. ศิวธรรม                  10.    วรุณ                 16.    ปราศระ
5. ทุรวาศา                  11.    สามพะ             17.    มรีจะ
6. นารท                     12.    กาลิกะ              18.    ภาศกร

 

11. คัมภีร์อุปเวท ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับวิชาชีพดังต่อไปนี้

1. วิชาอายุรเวท เรียนเรื่องการนำพฤกษชาติพันธุ์ต่างๆ มาทำยารักษาโรค
2. วิชาคานธรรพเวท เรียนเรื่องดนตรีและนาฏศาสตร์
3. วิชาธนุรเวท เรียนวิธีรบ รุก ถอย วิธียิงธนู แผลงศร
4. วิชาสถาปัตยกรรม เรียนเรื่องการก่อสร้างสิ่งต่างๆ

     นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์อาตมะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของแต่ละนิกาย ว่าด้วยการบูชาเทพเจ้า พร้อมทั้งข้อปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

1) ไวษณวะ-อาคม มีพระวิษณุเป็นหลัก
2) ไศวะ-อาคม มีพระศิวะเป็นหลัก และ
3) ศักตะ-อาคม หรือตันตระ มีศักติ หรือเทวี เป็นหลัก แม้จะแตกต่างกันออกไปตามแนวนิกาย ทุกคัมภีร์ก็มีพระเวทเป็นหลักยึดทั้งสิ้น

 

 


5) Four Authors. A Simple History of Ancient India, 1971 p.90-95.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.053353865941366 Mins