ศาสนาเต๋า

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2559

ศาสนาเต๋า

1. ประวัติความเป็นมา

     ศาสนาเต๋า เป็นศาสนาที่แปลก คือดั้งเดิมไม่ได้เป็นศาสนา และผู้ที่ถือกันว่าเป็นศาสดาก็ไม่มีส่วนรู้เห็นเลย กล่าวคือเล่าจื๊อได้รับยกย่องให้เป็นศาสดา แต่สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ เล่าจื๊อ ไม่เคยประกาศตัวเป็นศาสดา และไม่เคยประกาศตั้งศาสนาเต๋า ส่วนที่กลายมาเป็นศาสนาเต๋าก็เพราะความดีและความวิเศษแห่งความรู้ในปรัชญาเต๋าของเล่าจื๊อเป็นเหตุ ทำให้คนยกย่องท่านเป็นศาสดาภายหลังจากที่ท่านสิ้นชีพแล้วหลายร้อยปี เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเล่าจื๊อสิ้นชีพแล้ว ได้มีสานุศิษย์ผู้เลื่อมใสในคำสอนเป็นจำนวนมาก โดยมีจังจื๊อหรือจวงจื๊อเป็นหัวหน้าใหญ่ได้ช่วยกันประกาศคำสอนของเล่าจื๊ออย่างแพร่หลาย จนเป็นเหตุให้ทางบ้านเมืองเห็นความสำคัญของเล่าจื๊อมากขึ้นจนกระทั่งได้ยกย่องให้สูงขึ้นตามลำดับ อย่างเช่น

      พ.ศ. 699 จักรพรรดิหวัน (Hwan) ทรงให้จัดทำพิธีเซ่นไหว้เล่าจื๊อเป็นครั้งแรก

    พ.ศ. 1193-1227 เล่าจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทั้งให้ถือข้อเขียน ทั้งหลายของเล่าจื๊อเป็นข้อสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย

     ส่วนที่เต๋ากลายมาเป็นศาสนาเนื่องจากในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ราว พ.ศ. 337-763) มีนักพรตรูปหนึ่งชื่อ เตียเต๋าเล้ง ได้ประกาศตนว่าสำเร็จทิพยภาวะสามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้ จึงสถาปนาศาสนาเต๋าขึ้น ณ สำนักภูเขาเหาะเม่งซัว ในมณฑลเสฉวน โดยยกเล่าจื๊อเป็นศาสดา และใช้คัมภีร์เต้าเตกเกง1) (เต๋าเตกเกง) ซึ่งเป็นผลงานของเล่าจื๊อ เป็นคัมภีร์ของศาสนาเต๋า ส่วนเตียเต๋าเล้งก็ได้แต่งคัมภีร์สอนศาสนาเต๋าอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มจะหนักไปในทางฤทธิ์เดช เวทมนตร์ต่างๆ ตลอดถึงพิธีกรรมขลังๆ เพื่อความสัมฤทธิผลของเวทมนตร์ เช่นมีการปรุงยาอายุวัฒนะ กินแล้วเป็นอมตะ หรือเวทมนตร์์สำหรับเหาะเหินเดินอากาศได้คล้ายเทวดา เป็นต้น

     เพราะฉะนั้น ศาสนาเต๋าจึงมีลักษณะ 2 อย่าง คือ ถ้าเป็นแบบปรัชญาเต๋าของเล่าจื๊อ ก็เป็นธรรมชาตินิยม เรียกว่า เต๋าเจีย แต่ถ้าเป็นอย่างคำสอนของเตียเต๋าเล้ง และสังฆราชถัดๆ มาก็เป็นแบบไสยศาสตร์หรือรหัสนิยม (Mysticism) อย่างเช่น จางเต้าหลิง หรือจางหลิง ผู้ได้รับสถาปนาเป็นสังฆราชองค์แรกของศาสนาเต๋า ในราวปี พ.ศ. 577 ก็มีดาบศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าดาบของท่านสามารถฆ่าพวกปีศาจแม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ได้ เป็นต้น ศาสนาเต๋าที่มีลักษณะอย่างนี้เรียกกันว่า เต๋าเจียว แต่ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะศาสนาเต๋า ในแบบของเล่าจื๊อเป็นสำคัญ

     ศาสนาเต๋าหลังจากเป็นศาสนาแล้ว ก็เจริญบ้างเสื่อมบ้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางบ้านเมือง เป็นเหตุ คือ สมัยใดที่พระเจ้าจักรพรรดิเลื่อมใส ศาสนาเต๋าก็รุ่งเรือง แต่ถ้าตรงกันข้ามก็ตกต่ำ และที่กระทบกระเทือนมากที่สุด ในสมัยที่คอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศจีน ความเป็นไปของศาสนาเต๋า สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์2) มีดังนี้

    พ.ศ. 331 จักรพรรดิซีฮวงตี่ (Shi Huang Ti) ทรงสั่งให้เผาคัมภีร์ศาสนาขงจื๊อ แล้วยกศาสนาเต๋าขึ้นแทน และทรงส่งเรือไปยังเกาะวิเศษเพื่อค้นหาพฤกษชาติที่กินแล้วเป็นอมตะ

     พ.ศ. 699 จักรพรรดิหวัน (Hwan) ได้ทรงจัดทำพิธีเซ่นไหว้เล่าจื๊อเป็นครั้งแรก

   พ.ศ. 1117-1124 จักรพรรดิหวู (Wu) ได้ทรงจัดลำดับศาสนาเสียใหม่โดยให้ศาสนา ขงจื๊ออยู่ลำดับที่ 1 ศาสนาเต๋าลำดับที่ 2 และศาสนาพุทธลำดับ 3 ต่อมาทรงรังเกียจศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ จึงทรงยกเลิกเสีย ครั้นถึงสมัยพระเจ้าติ๋ง (Tsing) จักรพรรดิองค์ถัดมากลับให้สถาปนาศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธขึ้นอีก

    พ.ศ. 1193-1227 เล่าจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทั้งให้ใช้ ผลงานการเขียนของเล่าจื๊อ เป็นข้อสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย

    พ.ศ. 1256-1285 จักรพรรดิไกเหยิน (Kai Yuen) ทรงประทานคัมภีร์เต๋าเตกเกง ไปทั่วราชอาณาจักรทั้งเสวยพระโอสถที่ทางศาสนาเต๋าปรุงถวาย แสดงว่าพระองค์ทรงเพิ่มความ เชื่อถือในไสยศาสตร์ของศาสนาเต๋ามากขึ้นอีก

    พ.ศ. 1368-1370 จักรพรรดิเปาหลี (Pao-Li) ทรงขับไล่หมอเต๋าทั้งหมดให้ออกไปอยู่จังหวัดใต้สุด 2 จังหวัด ในข้อหาว่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย

    พ.ศ. 1348-1390 จักรพรรดิหวู ซุง (Wu Tsung) ทรงสั่งให้ปิดวัดและสำนักชีทั้งหมดไม่ว่าเป็นของศาสนาเต๋าหรือศาสนาพุทธ แต่ต่อมากลับสั่งให้ศาสนาเต๋าเป็นศาสนาที่พอพระทัยของพระองค์ ทั้งเสวยพระโอสถที่ทางศาสนาเต๋าปรุงถวาย เพื่อทรงเป็นอมตะและ เหาะได้คล้ายเทวดา

   พ.ศ. 2204-2264 จักรพรรดิกังสี (Kang Hsi) ทรงสั่งลงโทษหมอเถื่อนพวกศาสนาเต๋า รวมถึงคนที่มารับรักษาด้วย ทั้งทรงห้ามชุมนุมและเดินขบวนของผู้นับถือศาสนาเต๋า ทรงพยายามบีบคั้นศาสนาเต๋าทุกนิกาย

    พ.ศ. 2443 เกิดพวกขบถมวยขึ้นในนิกายหนึ่งของศาสนาเต๋า พวกนี้เชื่อว่าร่างกายอยู่ยงคงกระพันต่อลูกปืนของต่างชาติ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อตามคำสอนของศาสนาเต๋าที่ว่าเมื่อมาเป็นทหารก็ไม่ต้องเกรงกลัวต่อศาสตราวุธใดๆ ทั้งสิ้น

    ศาสนาเต๋าเคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน มีคัมภีร์ทางศาสนา มีนักบวชที่เรียกว่าเต้าสื่อ หรือเต้ายิ้น มีศาสนสถานและพิธีกรรมเป็นของตนเอง และต่อมาราว พ.ศ. 966 จักรพรรดิจีนทรงแต่งตั้งสังฆราชและผู้สืบตำแหน่งแทน มีฐานะเป็นเทียนจื๊อ หรืออาจารย์สวรรค์ ครั้นราว พ.ศ. 1559 จางเทียนจื๊อได้รับพระราชทานอาณาเขตกว้างขวางในเมืองเกียงสี ถ้ำกวางขาว บนภูเขามังกร-เสือ ซึ่งเชื่อกันว่า จางเต้าหลิงได้พบยาอายุวัฒนะและสิ้นชีพเมื่ออายุ 123 ปี อยู่ในบริเวณนี้ จึงถือกันว่าสถานที่นี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเต๋า
 

 

2.   ประวัติศาสดา

      ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นศาสดาแห่งศาสนาเต๋า คือ เล่าจื๊อ (Lao-Tze) เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดคัมภีร์เต้าเตกเกง และมีผลงาน คือ การออกเผยแผ่คำสอนแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีผู้นับถือ และเอาเป็นตัวอย่างในการดำรงชีวิต


2.1 ชาติกำเนิดและปฐมวัย

    เล่าจื๊อเกิดก่อน ค.ศ. 604 หรือประมาณก่อนพุทธศักราช 61 ปี (มีอายุอ่อนกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมาณ 19 ปี) มีชีวิตระหว่าง 604-520 ก่อนคริสตศักราช เล่าจื๊อเกิดในตระกูลลี (แซ่ลี) บิดามารดาเป็นชาวนาผู้ยากจนในสมัยราชวงศ์จิว (ประมาณ 1122-255 ก่อน ค.ศ.) ณ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ จูเหยน ในเมืองโฮนาน ภาคกลางของผืนแผ่นดินใหญ่จีน กล่าวกันว่า เกิด ณ บริเวณใต้ต้นหม่อน พอคลอดออกจากท้องแม่ ทารกมีผมขาวโพลนออกมา จึงได้นามว่า เล่าจื๊อ หรือเล่าสือ แปลว่า เด็กแก่ หรือเฒ่าทารก แต่โดยความหมายแล้วคำว่าแก่ หมายถึง แก่ความรู้ ไม่ใช้แก่เพราะอยู่นาน หรือไม่ใช่แก่เพราะกินข้าว ไม่ใช่เฒ่าเพราะอยู่นาน นั่นก็คือเมื่อว่าโดยสภาพร่างกายแล้ว เล่าจื๊อเป็นเด็ก แต่เมื่อว่าโดยระดับสติปัญญาแล้วเล่าจื๊อมีระดับสติปัญญาเยี่ยงผู้ใหญ่ ความเป็นปราชญ์มีมาตั้งแต่เป็นเด็กทารก แสดงถึงความมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ และก้าวไกล

      บางตำรากล่าวไว้ว่า นอกจากจะคลอดเป็นทารกผมขาวโพลนออกจากท้องแม่แล้ว ยังแสดงปาฏิหาริย์ คือ มือซ้ายชี้ไปบนท้องฟ้า มือขวาชี้ลงแผ่นดิน พร้อมทั้งเปล่งวาจาว่า ”ในฟ้าเบื้องบน และในดินเบื้องล่าง เต๋าเท่านั้นควรเป็นที่สักการะŽ”

     บางตำรากล่าวไว้ว่า เล่าจื๊ออยู่ในครรภ์มารดาถึง 62 ปี พอคลอดจากครรภ์มารดาก็แก่ผมหงอกขาว ความจริงแล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ น่าจะหมายความในเชิงเปรียบเทียบว่า การที่เล่าจื๊อได้ค้นพบเต๋าเป็นการเกิดใหม่ (ครั้งที่ 2) ก็ได้ เล่าจื๊อได้ใช้เวลาในการพยายาม ค้นคว้าหาวิชาความรู้ ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมเลย เมื่อได้หลักลัทธิและเชื่อว่าดีแล้ว ก็ออกเผยแผ่ ตอนนั้นอายุของท่านได้ 62 ปี ก็เท่ากับว่าท่านได้เกิดใหม่ เหมือนกับท่านอยู่ในครรภ์มารดา 62 ปี จึงได้ค้นพบลัทธิใหม่ คือ เต๋า

    เล่าจื๊อเป็นคนฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ชอบคิดลึกซึ้ง ช่างไตร่ตรองเป็นนิสัยตั้งแต่เยาว์วัย ได้รับการศึกษาจากธรรมชาติมากกว่าจากคน ได้รับการศึกษานอกระบบ มีหมู่คนและชีวิตเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะตัว


2.2 ชีวิตมัชฌิมวัย

 เมื่อเล่าจื๊อ3)โตขึ้นทางบ้านเมืองเห็นว่าเป็นคนฉลาดมีสติปัญญาดี จึงรับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหอสมุดหลวงที่นครลกเอี๋ยง อันเป็นราชธานีของกษัตริย์ราชวงศ์จิว รับผิดชอบทำจดหมายเหตุ เป็นอาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน เล่าจื๊อได้เป็นข้าราชการทำหน้าที่ให้กับกษัตริย์ราชวงศ์จิวเป็นเวลานาน ได้มีโอกาสศึกษาเหตุการณ์ ศึกษางาน ยิ่งเห็นความจริงอะไรหลายอย่างมากมาย เพราะท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ปฏิบัติตามลัทธิเต๋า เป็นผู้มีคุณธรรมสูง เมื่อมาถึงสมัยหนึ่งซึ่งประเทศชาติประสบปัญหายุ่งเหยิงเพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวง การเอารัดเอาเปรียบในระหว่างข้าราชการด้วยกัน ผู้นำของประเทศไม่สามารถจะแก้ไขได้ เล่าจื๊อจึงเอือมระอาที่จะอยู่กับบุคคลที่ไร้คุณธรรม จนเกิดความท้อแท้ใจ เมื่อหมดหนทางจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เล่าจื๊อจึงคิดแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง โดยการหลีกหนี สละตำแหน่งสูงในราชการเสีย ปลีกตัวออกไปจากสังคม ออกเดินทางจากแคว้นโฮนานแล้วท่องเที่ยวหนีความยุ่งยากไปทางทิศตะวันตก (ประเทศอินเดีย หรือทิเบต) ลักษณะร่างกายและอากัปกิริยาของเล่าจื๊อกล่าวกันว่าเป็นชายศีรษะล้าน หนวดเครายาว เดินทางไปที่ใดมักจะขี่ควายคู่ชีพเป็นพาหนะ


2.3 ชีวิตปัจฉิมวัย

     เมื่อเล่าจื๊อเหนื่อยหน่ายสังคมและลาออกจากราชการแล้ว ได้ใช้ควายคู่ชีพเป็นพาหนะท่องเที่ยวไปสอนคนยังที่ต่างๆ วันหนึ่งได้พบกับขงจื๊อซึ่งเป็นนักปราชญ์จีนคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง ทั้งสองได้สนทนาเชิงปุจฉาวิสัชนาธรรมแก่กัน โดยเล่าจื๊อได้แนะนำนักปราชญ์หนุ่มให้ระมัดระวังอย่าทะเยอทะยานมากนัก ดังตัวอย่างข้อความที่สนทนาโต้ตอบกันต่อไปนี้

    ขงจื๊อบอกเล่าจื๊อด้วยความเคารพว่า ปรารถนาที่จะแสดงคารวะต่อท่านนักปราชญ์ทั้งผู้ใหญ่ในอดีต เล่าจื๊อตอบว่า คนที่ท่านจะแสดงคารวะเหล่านั้นไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว เหลือแต่เถ้าและกระดูก เลิกคิดเสียเถิดอย่าปรารภกระนั้นเลย

    ขงจื๊อถามถึงเรื่องเต๋าว่า ศึกษามาก็มากแล้ว ไม่เคยรู้ว่าอะไรคือเต๋า เล่าจื๊อกลับตอบเป็นทำนองย้อนถามว่า ถ้าเต๋าเข้ามาอยู่ที่ตัวคนได้ ใครเล่าจะไม่ปรารถนาเต๋า ทำไมท่านจึงไม่หาเต๋ามาอยู่กับตัวเล่า

    เมื่อขงจื๊อกลับไป พวกศิษย์ถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง ขงจื๊อตอบว่า นกบินอย่างไรข้าพเจ้าก็เคยรู้ ปลาว่ายน้ำอย่างไร สัตว์อื่นวิ่งอย่างไรก็รู้ และรู้ถึงว่าจะจับสัตว์นั้นได้อย่างไร สัตว์บางชนิดต้องใช้บ่วงจับ บางชนิดต้องใช้เหยื่อจับ อีกหลายชนิดต้องใช้ธนู แต่เดี๋ยวนี้มี สัตว์อีกชนิดหนึ่ง คือ มังกร ข้าพเจ้าบอกไม่ได้ว่ามันเลื้อยขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าได้อย่างไร ไม่รู้ว่ามันผ่านก้อนเมฆหรือผ่านขึ้นไปบนสวรรค์ด้วยวิธีไหน วันนี้ข้าพเจ้าได้พบกับท่านเล่าจื๊อ พบแล้วก็ทำให้ปลงใจว่า ท่านเล่าจื๊อ ”เป็นมังกร”Ž ซึ่งยากที่จะเข้าใจ

   เล่าจื๊อเป็นเหมือนมังกรที่น่ากลัว และเหนือกว่าที่ใครจะเข้าใจ เป็นผู้ใฝ่ฝัน แสวงหาความจริงของโลก นิยมการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ใครทำผิดทำถูก เล่าจื๊อเห็นว่าธรรมชาติลงโทษและให้คุณเอง เล่าจื๊อมองเห็นโลกเป็นบ่วง เหนื่อยหน่ายโลก เล่าจื๊อบอกว่าปล่อยให้โลกเป็นไปตามทางของมัน โลกก็จะสุขสบายเอง เล่าจื๊อจึงปรากฏแก่ขงจื๊อเหมือนคนที่ฝันถึงโลกอื่น โผผินอยู่ในระหว่างก้อนเมฆแห่งความคิดฝันของตนเอง ส่วนขงจื๊อก็คงจะปรากฏแก่เล่าจื๊อเหมือนคนเจ้ากี้เจ้าการที่วุ่นวายในเรื่องราวของคนอื่น บุรุษผู้มีอิทธิพลมากที่สุดของของจีน ทั้งสองนี้แตกต่างกันอย่างแท้จริงในวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาโลก ปัญหาสังคม ด้วยวิธีการของตนเอง พูดง่ายๆ ขงจื๊อหนักไปในทางโลก ต้องการอยู่ในโลก ส่วนเล่าจื๊อสอนหนักไปในทางธรรม ต้องการออกนอกโลก แม้จะแตกต่างกันในวิธีการและพฤติกรรม แต่ก็มีเป้าหมายตรงกัน นั่นก็คือ ความสันติสุขของปวงมนุษยชาติ โดยเฉพาะผืนแผ่นดินใหญ่จีน

    เล่าจื๊อบำเพ็ญตนเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ชอบความเรียบง่าย ชอบความสงบสงัด ความไม่วุ่นวาย พอใจความถ่อมตัว มุ่งรักษาความดี และช่วยทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยเมตตาจิต ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเล่าจื๊อ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์เต้าเตกเกงว่า

    “ หมู่ชนทั้งหลายเป็นผู้มีความสุข ข้าพเจ้าเป็นคนชอบสงัด ชอบอยู่แต่ลำพัง จงติเตียน ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการความสุขเช่นหมู่ชนทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นคนโง่คนขลาด ข้าพเจ้าเป็นคนแตกต่างจากผู้มีความสุขทั้งหลาย ข้าพเจ้าจากคนทั้งหลายมาเพื่อแสวงหาเต๋า (สภาพอันเป็นไปตามธรรมชาติ)Ž ”

    “ ชาวโลกทั้งปวงกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นปราชญ์ ข้าพเจ้าหาได้เป็นดังคำกล่าวของคน ทั้งหลายไม่ แต่ข้าพเจ้ามีสมบัติอันเป็นแก้ว 3 ประการในตัวข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าพยายามให้ เกิดมีขึ้นในตนเสมอ และคนทั้งหลายควรดูแลและรักษาไว้ให้ดี สมบัติ 3 อย่างนั้น คือ ความเมตตากรุณา ความกระเหม็ดกระแหม่ และความอ่อนน้อมถ่อมตนŽ”

   “ ถ้อยคำของข้าพเจ้าง่ายที่จะรู้ ง่ายแก่การปฏิบัติ แต่ไม่มีใครสามารถรู้และปฏิบัติได้ เพราะว่าคนทั้งหลายไม่รู้จักธรรมชาติ และไม่รู้จักข้าพเจ้าด้วยŽ”

     ลักษณะอันเป็นคุณธรรม 3 ประการ คือ ความเมตตากรุณา ความกระเหม็ดกระแหม่ และความอ่อนน้อมถ่อมตน ถือว่าเป็นแก้ว 3 ประการภายในตัวของเล่าจื๊อ

     เล่าจื๊อมีอายุยืนยาว อาจจะมีอายุยืนยาวกว่า 160 ปี ก็ได้ ปราชญ์บางคนกล่าวว่า มากกว่า 200 ปี ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าเล่าจื๊อปฏิบัติเข้าถึงเต๋า ผู้เข้าถึงเต๋าจะมีอายุยืน หรือไม่ตาย หรือถ้าตายร่างกายก็จะไม่เปื่อยเน่า เล่าจื๊อได้ใช้ควายคู่ชีพเป็นพาหนะเดินทางหนีจาก ผืนแผ่นดินใหญ่ไปเรื่อยๆ มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก เมื่อไปถึงพรมแดนที่ผ่านเข้าออก นายด่าน ผู้กำกับทางผ่านเข้าออกอยู่จำเล่าจื๊อได้ จึงได้ขอร้องเล่าจื๊อว่าก่อนจะจากไปขอให้ช่วยชี้แจงเรื่องปรัชญาแห่งชีวิตที่ได้ผ่านมา บันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง เล่าจื๊อยินยอมเขียนบันทึกคำสอนของตนไว้ให้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลักเกี่ยวกับสากลโลก ธรรมชาติและชีวิต ให้ชื่อว่า ”เต้า-เตก-เกงŽ” เป็นคำประมาณ 5,500 คำ พวกศิษย์ได้รวบรวมขึ้นเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งภายหลังกลายเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาเต๋า

       ตั้งแต่ขึ้นหลังควายจากไปคราวนั้นแล้ว เล่าจื๊อก็สาบสูญไปไม่ได้กลับมาให้ใครเห็นหน้าอีก

     เนื่องจากชีวิตบั้นปลายของเล่าจื๊อเป็นชีวิตที่สงบสงัด แสวงหาธรรม หาความกลมกลืนกับธรรมชาติ ผู้นับถือลัทธิเล่าจื๊อในสมัยต่อมาจึงบำเพ็ญตนเป็นนักพรต อาศัยอยู่ตามภูผาป่าไม้ บำเพ็ญตนเป็นผู้เสียสละความวุ่นวายทั้งหลายในโลก เป็นเต้าสือ มีความเป็นอยู่ตามภาวะของธรรมชาติ

    ชาวจีนนับถือเล่าจื๊อว่าเป็นมหาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ได้สร้างปูชนียวัตถุเป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึกที่บูชาขึ้น ณ หมู่บ้านจูเหยน อันเป็นถิ่นกำเนิดของเล่าจื๊อ ยิ่งนานวัน คำสอนของเล่าจื๊อก็ยิ่งแพร่หลายกลายเป็นฐานใจของชาวจีน พระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งของจีนที่ขึ้นเสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1193-1231 ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกายกย่องเล่าจื๊อ ขึ้นเป็นปฐมจักรพรรดิ

 

3. คัมภีร์ในศาสนา

     คัมภีร์ของศาสนาเต๋า คือ คัมภีร์เต้าเตกเกง หรือเต๋าเตกเกง (Tao-Teh-Ching) คำว่า ”เต้าŽ” หรือเต๋า แปลว่า ทาง ”เตก”Ž แปลว่า บุญ ความดี หรือคุณธรรม ”เกงŽ” แปลว่า สูตร หรือวรรณคดีชั้นสูง รวมกันแล้วอาจแปลได้ความว่า คัมภีร์แห่งเต๋าและคุณความดี ตามประวัติกล่าวว่า เล่าจื๊อเขียนขึ้นหลังจากได้ลาออกจากตำแหน่งบรรณารักษ์แห่งหอสมุดหลวง และได้มอบให้นายด่านที่พรมแดนระหว่างประเทศจีนกับทิเบต อักษรจารึกเป็นภาษาจีน จัดเป็นหัวข้อ ได้ 81 ข้อ เป็นถ้อยคำ 5,500 คำ และต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ละติน อังกฤษ ฝรั่งเศส มากเป็นที่สองรองจากคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์

  หลักธรรมในคัมภีร์เต้าเตกเกง แสดงถึงเต๋ามีลักษณะเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่ทำให้ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเคลื่อนไหว และควบคุมสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นให้เป็นไปตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังบรรจุหลักธรรมที่สอนให้คนมีคุณธรรม ไม่ควรทะเยอทะยาน ไม่โอ้อวด ไม่แข่งดีแย่งความเป็นใหญ่ ให้มีความสันโดษ เป็นต้น สรุปแล้วก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเต๋า คุณธรรม และจริยธรรม

 

4. หลักคำสอนที่สำคัญ

4.1 สมบัติอันเป็นรัตนะ (แก้ว) 3 ประการ4)

     สิ่งที่ท่านเล่าจื๊อสอนให้บำเพ็ญ ให้เกิด ให้มี ในทุกๆ คน เพื่อความอยู่ดีของสังคม ก็คือ รัตนะ 3 ประการ ดังที่เล่าจื๊อได้กล่าวไว้ว่า ชาวโลกทั้งปวงกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าหาได้เป็นดังคำกล่าวของคนทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้ามีสมบัติอันเป็นแก้ว 3 ประการ อยู่ในตัวข้าพเจ้า ที่คนทั้งหลายควรดูแลและรักษากันไว้ให้ดีคือ

1. ความเมตตากรุณา

2. ความกระเหม็ดกระแหม่

3. ความอ่อนน้อมถ่อมตน

- เพราะมีความเมตตากรุณา    บุคคลก็ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น
- เพราะมีความกระเหม็ดกระแหม่    บุคคลก็ร่ำรวยได้
- เพราะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน    บุคคลก็สามารถมีสติปัญญาเจริญเต็มที่ได้
- ถ้าละทิ้งเมตตากรุณา    รักษาไว้แต่ความกล้าหาญ
- ถ้าละทิ้งความสำรวม    รักษาไว้แต่อำนาจ
- ถ้าละทิ้งการตามหลัง    แต่ชอบรุดออกหน้าเขาก็ตายŽ


4.2 ชีวิตจะดีได้ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ

   เล่าจื๊อสอนให้คนเราดำเนินชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด คนจะทำดีและ ทำชั่วไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ แต่ปล่อยให้ธรรมชาติให้คุณและลงโทษเอง ให้เอาธรรมะเข้าสู้อธรรม เอาความสัตย์เข้าสู้อสัตย์ เอาความดีเข้าสู‰ความชั่ว ดังที่ว่า

”คนที่ดีต่อเรา    เราก็ดีต่อ
คนที่ไม่ดีต่อเรา    เราก็ดีต่อด้วย
เพราะฉะนั้นทุกคน    จึงควรเป็นคนดี
คนที่ซื่อสัตย์ต่อเรา    เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย
คนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อเรา    เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย
เพราะฉะนั้นทุกคน    จึงควรเป็นคนซื่อสัตย์Ž”

     หรือสอนให้เอาความอ่อนโยนสู้ความแข็งกร้าว (Gentles overcome strengths) ดังที่ว่า

”เมื่อคนเราเกิดนั้น    เขาอ่อนและไม่แข็งแรง
แต่เมื่อตาย    เขาแข็งและกระด้าง
เมื่อสัตว์และพืชยังมีชีวิต    ก็อ่อนและดัดได้
แต่เมื่อตาย    ก็เปราะและแห้ง
เพราะฉะนั้นความแข็งและความกระด้าง จึงเป็นพวกพ้องของความตาย
ความอ่อนและความสุภาพ จึงเป็นพวกพ้องของความเป็น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทัพแข็งกร้าว จึงแพ้ในสงคราม”
“เมื่อต้นไม้แข็ง    จึงถูกโค่นลงŽ
สิ่งที่ใหญ่และแข็งแรง    จะอยู่ข้างล่าง
สิ่งที่สุภาพและอ่อนโยน    จะอยู่ข้างบน…Ž”


4.3 ลักษณะคนดีและชีวิตที่มีสุขสูงสุด5)

     เล่าจื๊อสอนไว้ว่า ”คนดีที่สุดมีลักษณะเหมือนน้ำ น้ำทำประโยชน์ให้แก่ทุกสิ่ง และไม่พยายามแก่งแย่งแข่งดีกับสิ่งใดๆ เลย น้ำขังอยู่ในที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นที่ใกล้เต๋า…Ž” (สิ่งทั้งหลายเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยน้ำ แต่น้ำไม่พยายามจะเลื่อนตัวเองให้ไปอยู่ระดับสูง น้ำกลับพอใจอยู่ในที่ต่ำที่ทุกสิ่งทุกอย่างพยายามหลีกเลี่ยง นี่แหละคือลักษณะหรือธรรมชาติของ “เต๋าŽ”)

   ชีวิตที่เป็นไปง่ายๆ ไม่มีการแก่งแย่งแข่งเด่นแข่งดี ปล่อยให้เป็นไปตามวิวัฒนาการของธรรมชาติ ไม่มีการดิ้นรนเพื่อแสวงหาตำแหน่งหน้าที่ ให้เกิดอำนาจแก่ตน ทำประโยชน์ให้ ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนคือ ชีวิตที่มีสุขสูงสุด ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ


4.4 ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ

    สิ่งที่เล่าจื๊อสอนให้บุคคลเห็นและต้องถือเป็นหลักสำคัญของศาสนาเต๋า นั่นก็คือ ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ ได้แก่

  1. สาระหรือรากฐานเดิม (ซิง) ข้อนี้มุ่งถึงสวรรค์ เรียกว่า วูซิง-เทียนชุน หรือ เทียนเปาชุน โดยบุคลาธิษฐานเป็นมหาเทพ สถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ มี พระวรกายเป็นหยก ทรงเปล่งรัศมีดุจแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ให้คนเห็นความจริงในโลก

     2. พลัง (ชี่) คือ พลังแห่งสติปัญญาความสามารถ เรียกว่า วูซี-เทียนชุน หรือ หลิงเปาชุน โดยบุคลาธิษฐานเป็นมหาเทพ สถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ ทรงแบ่งเวลาออกเป็นวัน คืน ฤดู ทรงเป็นเจ้าแห่งธรรมชาติคู่แห่งโลก คือ หยางและหยิน (ในโลกนี้ล้วนมีคู่ เช่น มืด สว่าง, พระอาทิตย์ พระจันทร์, หญิง ชาย เป็นต้น)

    3. วิญญาณ เรียกว่า ฟานซิง-เทียนชุน หรือเชนเปาชุน โดยบุคลาธิษฐานเป็น จอมแห่งวิญญาณทั้งหลาย สถิตอยู่ในอาณาจักรอันเป็นอมตะของอมรทั้งปวง และเป็นผู้ทรงความบริสุทธิ์ยิ่ง เป็นมหาเทพเท่ากับตัวเล่าจื๊อผู้เป็นวิญญาณบริสุทธิ์อวตารลงมาสั่งสอนมนุษย์ ถ้าจะเปรียบก็เท่ากับปรมาตมัน หรือพระพรหมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


4.5 ปรัชญาในการดำเนินชีวิต มี 4 ประการ ชีวิตจะดีได้ จะต้องดำเนินในทางดังนี้

1. จื้อไจ คือ รู้จักตัวของตัวเองให้ถูกต้อง

2. จื้อเซง คือ ชนะตัวเองให้ได้

3. จื้อจก คือ มีความรู้จักพอด้วยตนเอง

4. จี่อีเต๋า คือ มีเต๋าเป็นอุดมคติ

 

5. หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด

   ปรัชญาเต๋า เชื่อว่าเต๋าเป็นธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นพลังแห่งความดีงามสูงสุด ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นแต่ละคนควรมุ่งเข้าถึงเต๋าและใครที่สามารถเข้าถึงเต๋า ก็จะเป็นอมตบุคคล อมตบุคคลอาจเรียกได้หลายอย่าง เช่น สัตยบุคคลบ้าง ฤาษีบ้าง เทพเจ้าบ้าง ผู้วิเศษบ้าง อมตบุคคลมี 2 แบบ คือ อมตบุคคลป่า และอมตบุคคลบ้าน ได้แก่ ฤาษีที่หลีกหนีจากสังคมอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร หาความวิเวกมีเต๋าเป็นจุดหมาย จวงจื๊อ6)ได้กล่าวถึงฤาษีประเภทนี้ไว้ว่า

   ณ ภูเขาโกเซียซัวอันไกลลิบ มีมนุษย์ทิพย์อยู่คนหนึ่ง มีผิวขาวบริสุทธิ์ดุจหิมะ กิริยามารยาทอ่อนโยนสงบเสงี่ยมดุจดรุณีสาว มีลมและน้ำค้างเป็นอาหาร ใช้ปุยเมฆบ้าง มังกรบ้าง เป็นพาหนะเที่ยวไปทั่วมหาสมุทรทั้ง 4 และเนื่องจากมีสมาธิแก่กล้าจึงสามารถบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ในที่ที่ท่านผ่านไป… อันตรายทั้งหลายไม่สามารถกล้ำกรายทำร้ายท่านได้ แม้น้ำท่วมโลกก็ไม่อาจท่วมท่าน ไฟที่ร้อนแรงที่สุดสามารถเผาก้อนหินหรือเหล็กให้ละลายได้ก็ไม่อาจทำอันตรายท่านได้ หรืออากาศจะเย็นเป็นหิมะทำลายสิ่งทั้งหลาย ก็ไม่อาจทำให้ท่านหนาวตาย… สรุปแล้วไม่มีอะไรสามารถทำให้ท่านเดือดร้อนหวาดหวั่น พรั่นพรึงได้ ส่วนฤาษีบ้านยังตั้งอาศรมอยู่ใกล้เมือง ยังเกี่ยวข้องกับสังคม แต่ก็ไม่ถูกอารมณ์โลก ครอบงำ เพราะรู้แจ้งแทงตลอดในเต๋า จึงไม่หวั่นไหวในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ สัตยบุคคลเวลาหลับก็ไม่ฝัน เวลาตื่นก็ไม่วิตกกังวล ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ยินดีในการเกิด ไม่ยินร้ายต่อการตาย เห็นความเกิดและความตายเป็นเรื่องธรรมดา

     ส่วนความเชื่อของศาสนาเต๋าแบบเต๋าเจียว7) ก็เป็นไปในทางอภินิหารและความลี้ลับ อย่างเช่นจางเต๋าหลิง ผู้นำศาสนาเต๋าในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ก็ได้ไปตั้งสำนักที่ภูเขาโฮหมิงซาน มณฑลเสฉวน กล่าวกันว่า จางเต๋าหลิงได้พบกับเล่าจื๊อซึ่งกลายเป็นอมตะที่นั่น เล่าจื๊อได้สอน จางเต๋าหลิงว่า มีภูตผีปีศาจร้ายมากมายอยู่ทั่วไป คอยนำโรคและความตายตลอดทั้งความหายนะต่างๆ มาให้มนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงควรรู้วิธีที่จะเอาชนะวิญญาณร้ายเหล่านั้น เพื่อจะได้มีชีวิตยืนยาว ไม่เจ็บป่วย และถ้าเก่งกล้าคาถาอาคมมากก็อาจนำภูตผีปีศาจร้ายมาใช้งานได้ เช่น ให้ออกรบแทนทหารได้ นอกจากนี้เล่าจื๊อยังได้มอบดาบกายสิทธิ์ 2 เล่มให้จางเต๋าหลิงด้วย

    สำหรับจุดมุ่งหมายสูงสุดของทั้ง 2 นิกาย ก็เพื่อเข้าถึงเต๋าเหมือนกัน จะต่างก็แต่แบบ เต๋าเจีย มุ่งเข้าถึงเต๋า จิตจะมีแต่ความสงบสุขเพราะรู้เท่าทันความจริง ส่วนแบบเต๋าเจียว มุ่งเข้าหาเต๋า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ทำเสน่ห์เล่ห์กล ดูโชคชะตา รักษาโรค คงกะพันชาตรี และเหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น

 

6. สถานที่ทำพิธีกรรม

   วัดหรือสถานที่ทำพิธีกรรมของศาสนาเต๋ามีลักษณะเหมือนศาลเจ้าของจีนโดยทั่วๆ ไป เพียงแต่การตบแต่งภายในที่จะตั้งแท่นที่บูชานั้น ออกจะพิถีพิถันและมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย แม้ในไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้นับถือศาสนาเต๋ามากก็ยังมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ต่างกันออกไป ระหว่างไต้หวันที่อยู่ตอนเหนือและตอนใต้ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า และไสยศาสตร์ และความต้องการที่จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้เคารพบูชา

   อย่างไรก็ตาม โดยทั่วๆ ไปแล้ว ภายในศาลเจ้านิยมติดภาพเขียนของเหล่าเทพเจ้าและปรมาจารย์คนสำคัญของศาสนาเต๋า แต่จะติดตั้งในทิศทางตำแหน่งใดนั้น แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ภาพปรมาจารย์ที่สำคัญของเต๋ามีดังนี้

   1.    ภาพของจางเต๋าหลิงในท่าขี่เสือ ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของความเชื่อที่เล่าสืบกันมาว่า ท่านเคยขี่เสือทะยานขึ้นสู่สวรรค์ และกลับลงมาพร้อมกับพลังอำนาจแห่งสวรรค์ที่ได้รับจากเทพเจ้า

  2.    ภาพของเล่าจื๊อในชุดสีเหลือง ท่านเป็นปรมาจารย์คนสำคัญที่เปิดเผยคำสอนอัน เร้นลับให้แก่จางเต๋าหลิง

   3.    ภาพของเหวินเจียน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของนักรบเต๋าผู้ปกป้องศาลเจ้าทางด้าน ตะวันออก

   4.    ภาพของจูยีในชุดสีแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และหัวใจ แสงแห่ง ดวงอาทิตย์จะช่วยขับไล่ความมืดและความชั่วร้าย ส่วนหัวใจจะช่วยเปิดทางให้เราได้ติดต่อกับเต๋า ภาพของจูยีนิยมติดไว้ใกล้ๆ กับภาพของเต๋าหลิง ในมือของจูยีจะถือเอกสารสีเหลืองซึ่งเชื่อกันว่า เป็นคำสั่งเปิดสวรรค์

  5.    ภาพของพระจักรพรรดิในชุดนักรบ นิยมเรียกกันว่า พระจักรพรรดิแห่งทิศเหนือ ภาพของพระองค์จะแขวนไว้ตรงข้ามกับภาพของจางเต๋าหลิง

   นอกจากนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะพิธีภายในศาลเจ้าสำหรับเป็นที่วางของเซ่นไหว้ตามทิศทางต่างๆ ภายในศาลเจ้าจะมีของเซ่นไหว้เฉพาะทิศนั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทพเจ้าองค์ใดสถิตในที่ใด และถ้ามีการจัดพิธีกรรมใหญ่มากเท่าใด การตั้งโต๊ะก็จะเพิ่มมากขึ้นจนบางครั้งอาจจะเลยมาภายนอกศาลเจ้าได้

    สำหรับนักบวชผู้ทำพิธีกรรมของศาสนาเต๋า มี 2 พวก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิกาย ถ้าเป็นพวก นิกายชวนเชน นักบวชในนิกายนี้ส่วนมากนิยมสละโสด ปฏิบัติเคร่งครัดมาก มีการทำสมาธิ และดำเนินชีวิตแบบสมถะคล้ายกับพระในศาสนาพุทธ ไม่ใคร่มีพิธีกรรมที่พิถีพิถัน ส่วนพวก นิกายเช็งอิ นักบวชสามารถมีครอบครัวได้ และมีหน้าที่ทำพิธีกรรมปัดเป่าความชั่วร้าย และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ทุกข์ร้อน เมื่อทำพิธีกรรมสำคัญ นักบวชเหล่านี้จะมีชุดเสื้อผ้าสำหรับทำพิธีกรรมโดยเฉพาะ และชุดเหล่านี้มีความงดงามวิจิตรพิสดารมาก

    ชุดที่ใช้ทำพิธีกรรมมีทั้งหมด 3 ชุด และแต่ละชุดนั้นใช้ในวาระต่างกัน ชุดเหล่านี้ได้แก่ เต๋าเป้า เจียงอิ และไหชิง

    เต๋าเป้า เป็นชุดที่ใช้บ่อยมากและเกือบจะทุกพิธีกรรม มีสีแดง ปักลวดลายหยินหยาง และถ้าเป็นเต๋าเป้าของหัวหน้านักบวชผู้ทำพิธีกรรมจะมีสีส้มเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง ผู้ช่วยทำพิธีกรรมและหัวหน้านักบวชผู้ทำพิธีกรรม ลวดลายชุดเต๋าเป้าของหัวหน้านักบวชจะละเอียดพิสดารปักทั้งผืน แทบไม่มีที่ว่าง

    เจียงอิ เป็นชุดที่ใช้ในพิธีกรรมที่เป็นทางการและเป็นพิธีกรรมที่ค่อนข้างสำคัญ หัวหน้านักบวชใส่ชุดนี้เพื่อแสดงตนว่าเป็นคนของสวรรค์ เนื้อผ้าเป็นผ้าไหมสีแดง มีการปักลวดลายที่ละเอียดมากแสดงถึงสวรรค์และจักรวาล ถ้าหัวหน้านักบวชใส่ชุดนี้ ผู้ช่วยจะต้องใส่ชุดเต๋าเป้า และถ้าหัวหน้านักบวชใส่ชุดเต๋าเป้า พวกผู้ช่วยจะต้องใส่ชุดไหชิง

    ไหชิง ถ้าเป็นประเทศไต้หวันทางใต้ มีทั้งสีดำและสีส้ม เป็นชุดที่ใส่ในพิธีกรรมพื้นๆ ทั่วๆ ไป เช่น เวลาสวดมนต์ และพิธีกรรมที่ไม่เป็นทางการ

 

 

7. พิธีกรรมที่สำคัญ

7.1 พิธีบริโภคอาหารเจ

    พิธีบริโภคอาหารเจ ศาสนิกชนเต๋าในสมัยต่อมาได้มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากหลักการในคัมภีร์เต้าเตกเกง คือมีทั้งเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์ ทั้งในทางที่ปรับให้มีความประพฤติปฏิบัติชอบโดยนำเอาศีล 5 ทางศาสนาพุทธไปเป็นแนวปฏิบัติ และมีการบริโภคอาหาร แบบมังสวิรัติ คือไม่บริโภคเนื้อสัตว์ จัดให้มีเทศกาลของการบริโภคอาหารเจประจำปีขึ้น ผู้ที่ถือเคร่งครัดอาจปฏิญาณตนที่จะบริโภคอาหารเจเป็นประจำตลอดชีพ ผู้ที่ค่อนข้างเคร่งครัดจะเว้นอาหารเนื้อสัตว์ในวัน 1 ค่ำ และวัน 15 ค่ำ ของเดือนทางจันทรคติของจีน แต่คนสามัญธรรมดาทั่วไป จะถือบริโภคอาหารเจปีละ 1 ครั้ง เป็นเทศกาลกินเจ คือ ตั้งแต่วัน 1 ค่ำ เดือน 9 ติดต่อกันไปเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งตกราวๆ เดือน 11 ของไทย และในการกินเจตามเทศกาลนี้ ผู้จะกินเจต้องล้างท้องก่อนถึงกำหนด 3 วัน และบางคนอาจกินเจปิดท้ายอีก 1-3 วัน


7.2 พิธีปราบผีปีศาจ

    พิธีปราบผีปีศาจ ศาสนิกชนเต๋าเชื่อว่าภูตผีปีศาจร้ายต่างๆ นั้น สามารถที่จะ ขับไล่และป้องกันได้ถ้ารู้จักวิธี เช่น ถ้าเดินป่าก็ต้องร้องเพลงหรือผิวปากให้เป็นเสียงเพลง ผีเจ้าป่าไม่ชอบเสียงเพลง เมื่อได้ยินเสียงเพลงก็จะหนีให้ห่างไกล เหมือนยุงกลัวควันไฟ หรือถ้ากลัวว่าผีจะเดินตามเข้าไปในบ้านด้วย พอเดินมาถึงประตูบ้านก็ต้องหยุดยืนหมุนตัวสัก 2-3 รอบก่อนค่อยเข้าบ้าน เพราะถ้ามีผีตามมาจะทำให้มันหน้ามืดตาลาย ถึงกับวิ่งชนกำแพงหรือรั้วบ้านก็ได้ หรือจะวาดรูปป่าไม้น้อยใหญ่ไว้ที่ประตูบ้าน เมื่อภูตผีมารร้ายต่างๆ มาเห็นเข้าก็จะเข้าใจว่าเป็นป่าใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกมันมากกว่าที่จะเป็นช่องห้องหอของใครๆ แล้วก็จะไม่ทำร้ายแก่ผู้ใด เป็นต้น


7.3 พิธีกรรมไล่ผีร้าย

    พิธีกรรมไล่ผีร้าย ศาสนิกชนเต๋าเชื่อว่า มีภูตผีปีศาจร้ายมากมายคอยหลอกหลอนทำร้ายผู้คน เช่น ปรากฏร่างน่าเกลียดน่ากลัว หรือทำเสียงแปลกๆ เป็นต้น ทำให้คนถูกหลอกเจ็บป่วยได้ จึงเกิดกรรมวิธีไล่ผีร้ายขึ้นมา โดยมีพระเต๋าเป็นผู้ประกอบพิธี พระเต๋าแต่ละรูปที่มาประกอบพิธีจะสวมหมวกติดดาว 7 ดวง และผ้ายันต์ เมื่อเริ่มพิธี พระเต๋า 5 รูป จะถือ ธง 5 ธง คือ ธงสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว และสีดำ โดยแต่ละรูปจะยืนอยู่แต่ละทิศ คือ ทิศตะวันออก ตะวันตก กลาง และทิศเหนือ ในพิธีจะแขวนรูปเทพเจ้าของศาสนาเต๋าไว้ จุดธูปและนำน้ำมาทำน้ำมนต์ พระเต๋าจะบรรเลงเครื่องดนตรี พระเต๋ารูปหนึ่งถือดาบและน้ำ อีก รูปหนึ่งจะถือธงมีดาว 7 ดวง และอีกรูปหนึ่งจะถือแส้คอยขับไล่พวกผีปีศาจร้าย พระเต๋าทั้งหมดยังจะต้องช่วยกันสวดอัญเชิญเทวดาต่างๆ ให้มาช่วยจับผีร้ายให้หมดไปด้วย


7.4 พิธีส่งวิญญาณผู้ตาย

     พิธีส่งวิญญาณผู้ตาย คนจีนให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษมาก ถือเรื่องสายโลหิตเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อมีญาติตายจะต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อช่วยให้วิญญาณคนตายไปสู่สุคติ อยู่อย่างเป็นสุข ไม่ถูกผีปีศาจร้ายรบกวน การประกอบพิธีก็ลดหลั่นกันไปตามฐานะผู้ตาย และเจ้าภาพ อย่างเช่น คนชั้นสูงตาย และเจ้าภาพเป็นผู้มีฐานะดีก็อาจนิมนต์พระเต๋า มาประกอบพิธีถึง 49 รูป และประกอบพิธีนานถึง 49 วัน แต่ถ้าคนชั้นกลางตาย ก็อาจนิมนต์พระเต๋าอย่างน้อย 1 รูป มาประกอบพิธีตั้งแต่ 1-3 วัน ตามแต่ฐานะการเงินของเจ้าภาพ พระเต๋าจะบรรเลงดนตรีและร่ายมนตร์ ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยให้คนตายพ้นจากถูกลงโทษในโลกวิญญาณ ในการทำพิธี พระเต๋าจะใช้สีแดงสดเขียนชื่อ วันเกิด วันตาย และที่อยู่ของผู้ตายลงบนกระดาษสีเหลือง 2 แผ่น และประทับตราประจำวัดลงบนกระดาษ ถือกันว่ากระดาษแผ่นนั้น จะเป็นเสมือนใบรับรองผู้ตาย กระดาษแผ่นหนึ่งจะใส่ไว้ในโลง อีกแผ่นหนึ่งจะถูกเผา เชื่อกันว่าถ้าทำดังกล่าวจะช่วยให้วิญญาณผู้ตายไปถึงเทพเจ้าโดยตรง ไม่ต้องถูกวิญญาณท้องถิ่นคอยหน่วงเหนี่ยว และขณะที่หามโลงไปเผา ก็จะมีพระเต๋าเดินนำหน้า คอยสั่นกระดิ่ง บรรเลงดนตรี และสวดมนต์ในขณะเดียวกันด้วย


7.5 พิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ

    พิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ ชาวจีนไม่เฉพาะศาสนิกชนเต๋าเท่านั้น นิยมกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษอย่างลึกซึ้ง พวกเขามีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า สิ่งทั้งหลายได้มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ทั้งหมด และเชื่อว่าถ้าลูกหลานมีความกตัญญูกราบไหว้วิญญาณบรรพบุรุษแล้ว วิญญาณเหล่านั้นจะต้องดูแลคุ้มครองลูกๆ หลานๆ ผู้ยังมีชีวิตอยู่ให้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข พิธีปฏิบัติก็คล้ายๆ กับที่ชาวจีนเมืองไทยประพฤติปฏิบัติกันในแต่ละปี คือ จะพากันไปทำความสะอาดและตกแต่งฮวงซุ้ย จุดธูป เซ่นสังเวยดวงวิญญาณด้วยเหล้า และอาหาร อีกทั้งเผากระดาษเงินกระดาษทองส่งไปให้ผู้ตายด้วย

 

8. นิกายในศาสนา

      ศาสนาเต๋ามีอยู่หลายนิกาย มีนิกายใหญ่อยู่ 2 นิกาย คือ นิกายเช็ง-อิ และนิกายชวน-เชน นิกายเช็ง-อิ เป็นนิกายฝ่ายใต้ เพราะเจริญอยู่แถบทางใต้ของแม่น้ำแยงซี นิกายนี้มุ่งไปในทางอิทธิฤทธิ์ของอาจารย์สวรรค์ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า นิกายเทียนจื๊อ เชื่อกันว่า จางเต๋าหลิงเป็นอาจารย์สวรรค์คนแรก มีดาบศักดิ์สิทธิ์สามารถฆ่าปีศาจ แม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ได้ นิกายนี้เชื่อเรื่องโชคลางอภินิหารและคาถาอาคม จึงมีคาถาอาคมมากมาย เช่น คาถาขอฝน คาถา กันฝน คาถากันผี เป็นต้น นอกจากนี้ยังถือการเข้าทรงเป็นสำคัญอีกด้วย นักบวชของนิกายนี้มี ความเป็นอยู่แบบชาวบ้านทั่วไป และมีครอบครัวได้

    ส่วนนิกายชวน-เชน เป็นนิกายฝ่ายเหนือ เพราะเจริญอยู่แถบทางเหนือแม่น้ำแยงซี เป็นนิกายที่มุ่งดำเนินตามคำสอนเต๋า จึงมีปฏิปทาดำเนินชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ รักสงบ เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ศาสนิกจำนวนไม่น้อยจะสละบ้านออกไปอยู่วัด รับประทานอาหารมังสวิรัติ ทั้งจะอดอาหารในบางโอกาส ส่วนนักพรตจะแต่งงานไม่ได้ ดื่มน้ำเมาไม่ได้ นิกายนี้มีความ โน้มเอียงที่จะรวมทั้ง 3 ศาสนา คือศาสนาเต๋า ศาสนาขงจื้อ และศาสนาพุทธเข้าเป็นอันเดียวกัน

 

9. สัญลักษณ์ของศาสนา

     สัญลักษณ์โดยตรงของศาสนาเต๋าก็คือ รูปเล่าจื๊อขี่ควาย อันหมายถึง การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ของเล่าจื้อมักจะใช้ควายเป็นพาหนะ แม้กระทั่งการเดินทางครั้งสุดท้ายไปยังพรมแดนของจีนต่อกับทิเบตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก็ใช้ควายเป็นพาหนะ และก็หายไปทั้งเล่าจื้อและควายคู่ชีพ สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือรูปหยางและหยิน มีลักษณะเป็นวงกลมแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากันด้วยเส้นเว้น แสดงถึงธรรมชาติคู่ของโลก อันหมายถึง พลัง (ชี่) อันเป็นพลังแห่งสติปัญญาความสามารถ โดยบุคลาธิษฐานเป็นจอมเทพสถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ ทรงแบ่งธรรมชาติออกเป็นคู่ๆ เช่น มืดกับสว่าง กลางวันกับกลางคืน หญิงกับชาย เป็นต้น

 

10. ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

    ศาสนาเต๋าเคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน8) แต่ต่อมาได้รับความกระทบกระเทือนมาก เมื่อคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือว่าทุกศาสนาเป็นยาเสพติด ศาสนาต่างๆ ถูกมองในแง่ร้าย เช่น ศาสนาขงจื๊อเป็นตัวแทนการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย ศาสนาเต๋าก็งมงายเชื่อถือในโชคลาง ศาสนาพุทธก็มาจากต่างประเทศ ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าดีจริงหรือไม่ ศาสนาคริสต์ก็เป็นศาสนาต่างด้าว ทั้งเป็นตัวแทนจักรวรรดินิยมตะวันตก ศาสนาอิสลามนอกจากจะเป็นศาสนาต่างด้าวแล้ว ยังไม่เหมาะกับการปกครองในประเทศจีน ทุกศาสนาจึงควรที่จะถูกกวาดล้างออกไป เพื่อจะได้ไม่ ขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นทุกศาสนาถึงถูกเบียดเบียนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2509 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม สถานการณ์ของทุกศาสนายิ่งทรุดหนัก เพราะถูกถือว่าเป็นความคิดเก่าคร่ำครึใช้ไม่ได้ ไม่เหมาะกับสมัยปัจจุบันจึงควรที่จะถูกกำจัดให้หมดไป ดังนั้นวัดโบสถ์วิหารและศาสนสถานของศาสนาต่างๆ จึงถูกทำลาย ศาสนิกถูกจับ ถูกทำร้ายจนศาสนิกของศาสนาต่างๆ ไม่กล้าแสดงตัวว่านับถือศาสนา และชาวเต๋าบางส่วนก็ได้หนีไปอยู่ที่ประเทศไต้หวัน อย่างเช่นจังอีร์ปู ผู้หนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ได้รับแต่งตั้งเป็นเทียนจื๊อหรืออาจารย์สวรรค์ เป็นสังฆราชของศาสนาเต๋า ท่านผู้นี้ยังได้รับความเคารพและเกรงกลัวว่าเป็น ผู้ปกครองภูตผีปีศาจและสัตว์ประหลาด

    ปัจจุบันศาสนาเต๋ายังมีผู้นับถืออยู่ มีนักบวชชายหญิง มีศาลเจ้า มีสมาคมในหมู่ชาวจีน มีโรงเจสำหรับคนบริโภคอาหารมังสวิรัติอยู่ทั่วไป แต่การนับถือศาสนาเต๋าได้เสื่อมลงเพราะ ผิดไปจากหลักการเดิมในคัมภีร์เต้าเตกเกง คือมากไปในทางทรงเจ้า บูชาเจ้า พระเต๋ามี หน้าที่สวดมนต์ให้พร รดน้ำมนต์ ขายเครื่องรางของขลัง ทำพิธีขับผีและทำเสน่ห์เล่ห์กล เป็นต้น บางแห่งก็นำศีล 5 ทางศาสนาพุทธไปปฏิบัติ และนำพระสูตรทางศาสนาพุทธฝ่ายมหายานไปสวดด้วย กลายเป็นเต๋าผสมพุทธ ชาวเต๋าส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องศาสนาเต๋า ไม่ได้ศึกษาคัมภีร์ เต้าเตกเกง ได้แต่ปฏิบัติตามประเพณีที่ทำตามกันมาเท่านั้น

  ปัจจุบันสถานการณ์ของศาสนาบนแผ่นดินใหญ่ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังจากเมาเซตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิต ในปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลจีนได้หันไปติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เปิดการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผ่อนคลายการกดขี่ศาสนาลง ให้พลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้น เช่น อนุญาตให้พระและสามเณรกลับไปอยู่วัดได้ ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ และเมื่อปี พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยนานกิง ได้เป็นศูนย์กลางศึกษาศาสนาต่างๆ ในประเทศจีน

    ปัจจุบันการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ กำลังล่มสลายในหลายประเทศ แม้ในประเทศจีนเองอิทธิพลของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ลดลงตามลำดับ ทำให้พลเมืองมีเสรีภาพมากขึ้นในการนับถือศาสนา ผู้ที่นับถือศาสนาเต๋าอยู่แล้วก็กล้าที่จะแสดงตัว ทั้งนี้เป็นความจริงที่ว่า ความเชื่อของคนไม่อาจล้มล้างด้วยกำลังได้ การเปลี่ยนความเชื่ออย่างหนึ่งจะต้องใช้ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งซึ่งดีกว่ามาทดแทนเท่านั้น มิใช้ด้วยกำลัง

     ศาสนิกศาสนาเต๋าในปัจจุบันมีประมาณ 183 ล้านคน (Encyclopaedia Britannica 1992 : 269) กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาก เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

 

 


1) เสถียร โพธินันทะ. เมธีตะวัน, 2514 หน้า 181-182.
2) Hume Robert E. The World's Living Religions, 1957 p. 147-148.
3) โจเซฟ แกร์. ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร. แปลจาก What great religion believe , 2533 หน้า 110-111.
4) คูณ โทจันธ์. วิถีแห่งเต๋า, 2537 หน้า 168.
5) พจนา จันทรสันติ. วิถีแห่งเต๋า, 2523 หน้า 168.
6) เสถียร โพธินันทะ. เมธีตะวันออก, 2514 หน้า 373-374.
7) Liu Da. The Tao and Chinese Culture.1981 p.71.
8) Hopfe Lewis M. Religions of the World. 1994 p.210-212.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012024362881978 Mins