หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๓๑)
ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ
ในองค์กรต่าง ๆ มักจะประสบปัญหาเหมือน ๆ กัน คือ หากขาดผู้นำหรือหัวหน้าไม่อยู่ มักจะเกิดอาการสะดุดหรืองานเดินไปไม่เต็มที่
เกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา อาตมาไม่เคยออกจากวัดเกิน ๑ เดือน จึงไม่ได้มองถึงการณ์ไกล ว่าจะฝึกคนในวัดอย่างไร ให้ทำงานและอยู่ร่วมกันได้ สามารถตัดสินใจอะไรได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดความผิดพลาด ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะจำเป็นที่ต้องไปทำหน้าที่ที่อื่นเป็นเวลานาน จึงหนีไม่พ้นจากอาการดังกล่าว
เมื่อมีโอกาสจึงได้กราบเรียนถามหลวงพ่อทัตตชีโวว่า
“ หลวงพ่อครับ จะทำอย่างไรในกรณีที่เราไม่อยู่วัดเป็นเวลานาน แล้วงานไม่สะดุด ทุกอย่างสามารถดำเนินไปอย่างปกติ ทั้งเรื่องงานและความเป็นอยู่ ”
“ ที่ผ่านมาเอ็งทำไง ” หลวงพ่อถาม
“ ผมก็ให้นโยบาย แล้วก็คอยตามดูครับ ”
“ แล้วปัญหามันคือ อะไร ”
“ ปัญหาคือ เมื่อเจ้าอาวาสไม่อยู่ การตัดสินใจจะไม่ค่อยลงตัว จะกลัวว่าจะเกิดความผิดพลาด หรือหากมีความเห็นที่ขัดกัน จะไม่มีใครกล้าฟันธงครับ ”
“ เวลาพวกเราอ่านพระไตรปิฎก มักจะไม่ได้เอามาใช้ เอ็งดูพุทธองค์สิ ก่อนพระองค์จะปรินิพพาน สั่งไว้เลย ไม่ตั้งใครเป็นศาสดาแทน แต่ให้ธรรมกับวินัยเป็นตัวควบคุม ดูแล หมู่คณะ
จากการที่หลวงพ่อธัมมะท่านเห็นตามวัดต่าง ๆ ที่มีหลวงปู่ หลวงพ่อที่ท่านดัง ๆ พอท่านมรณภาพ จากวัดที่มีคนไปกันมากมาย กลายเป็นวัดร้าง ท่านจึงสร้างระบบ ให้คนรู้จักวัด มากกว่ารู้จักเจ้าอาวาส เห็นไหม ท่านปล่อยมือจากงานบริหารมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ปล่อยให้พระรุ่นหลัง ๆ บริหารกัน ”
“ แล้วจะฝึกน้อง ๆ อย่างไรดีครับหลวงพ่อ ผมก็พยายามให้เขาอ่านตำราที่หลวงพ่อเขียนนะครับ ”
“ กว่าจะสร้างวัดมาได้ หลวงพ่อต้องผ่านประสบการณ์อะไรมามากมาย ในการทำงาน บางครั้งความรู้ในตำรามันช่วยได้นิดหน่อย บางครั้งแทบจะช่วยอะไรไม่ได้เลย เหมือนการสร้างบ้าน หากรู้แต่เรื่องการออกแบบบ้าน แต่ไม่ได้ศึกษาเรื่องทิศทางแดด ทิศทางลม สร้างไปก็ได้แค่บ้านสวย ๆ มาหลังหนึ่ง แต่อยู่ไม่ได้ ” หลวงพ่อขยายความ
“ หลวงพ่อหมายถึง ต้องให้ทีมงานมีประสบการณ์ใช่ไหมครับ ”
“ ใช่ เอ็งต้องฝึกให้เขาคิดเป็น และต้องยอมว่า ในระหว่างที่เขาสั่งสมประสบการณ์ มันก็เหมือนการลองผิดลองถูก มีผิดมีพลาดบ้าง แต่เมื่อได้ฝึกคิด ฝึกทำ ประสบการณ์จะเป็นตัวสอนว่า จะต้องทำอะไร ความผิดพลาดก็จะน้อยลง และจะรู้จักว่า ทำอะไรแล้วได้ ต้องมากกว่าเสีย เพราะมันไม่มีอะไรที่ได้ร้อยเปอร์เซนต์หรือเสียร้อยเปอร์เซนต์ ”
กำลังฟังเพลิน ๆ หลวงพ่อท่านก็ขำขึ้นมา เพราะท่านนึกถึงเรื่องญาติของท่าน
“ ญาติหลวงพ่อ เป็นนักเดินเรือ พอออกทะเลเข้า บางครั้งเข็มทิศช่วยไม่ได้ หาทิศยังไงก็ไม่เจอ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะทำไง ก็อาศัยได้ชาวเกาะที่เอาไปด้วย ”
เห็นท่านหยุดแค่ตรงนี้ อาตมาเลยรีบถามต่อ
“ ชาวเกาะเขารู้ทิศทางได้ดีกว่าหรือครับหลวงพ่อ ”
หลวงพ่อท่านมองหน้า แล้วก็อมยิ้ม “ มันก็ไม่รู้เรื่องทิศหรอก แต่ทำไงรู้ไหม มันแกะหนังส้นเท้ามันที่หนา ๆ นั่นแหละ ทิ้งลงไปในทะเล ปลาก็กระโดดฮุบ พอเห็นว่าเป็นปลาชนิดไหน มันบอกเลยว่า ตรงนี้เป็นที่ไหน นี่แหละประสบการณ์หล่ะ ”
มิน่าหล่ะ ในสังคมปัจจุบันเราจึงมักจะเห็นว่า บางคนตอนเรียนหนังสือเรียนเก่งมาก แต่พอถึงเวลาทำงานทำการ กลับไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง ที่แท้ก็เป็นเพราะ ประสบการณ์สำคัญกว่าความรู้ในตำรานี่เอง
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๙ ส.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae