ใครจะรู้ว่าบางสิ่งเปลี่ยนแปลงได้

วันที่ 03 ตค. พ.ศ.2559

 ใครจะรู้ว่าบางสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ ,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
 
 ใครจะรู้ว่าบางสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ 
ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ทางราชการแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าไปดํารงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งอยู่ในย่านแหล่งเสื่อมโทรม หรือเรียกกันในยุคนี้ว่าชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงต้องเผชิญในศีลข้อ ๒ คือ “ลักทรัพย์” นี่อย่างหนัก ไม่ใช่เฉพาะนักเรียน แต่ผู้ปกครองและคนทั้งหลายในชุมชนนั้นทีเดียว

ผู้คนที่นั่นประพฤติตนผิดศีลข้อนี้เหมือนเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังสอนลูกหลานของตนกระทําตาม ข้าพเจ้าจําได้ อุปกรณ์ก่อสร้างโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นไม้ สังกะสี ปูน ฯลฯ ต้องมีเวรยามเฝ้ากันอย่างเข้มงวด ขนาดนั้นก็ยังรอดหูรอดตา บางครั้งข้าพเจ้าไปพบพ่อลูกช่วยกันขโมยไม้ของโรงเรียน ลากไปวางข้างรั้วริมถนน พ่อเป็นคนไปเรียกรถรับจ้าง มาถึงก็ช่วยกันขนขึ้นรถหนี เห็นกันอยู่ซึ่งหน้าวิ่งไล่กวดกันไม่ทัน

ข้าวของโรงเรียนซึ่งลูกหลานของพวกเขาเรียนอยู่นี่แหละไม่เคยมีการยกเว้น ถังแก๊สในครัว สายทองแดงล่อฟ้า ลําโพงขยายเสียง ตัวเครื่องขยายเสียง หลอดไฟฟ้า กลอนประตูหน้าต่าง กําลังเล่าให้คุณฟังอยู่นี้ยังขยะแขยงขึ้นมาอีก ทําไมผู้คนจึงทํากันได้ลงคอ ข้าพเจ้าไปอยู่ที่นั่นใหม่ๆ อยากจะลาออกวันละร้อยหนพันหน พฤติกรรมของชาวบ้านเหลือทนจริงๆ อาคารเรียนของเราสูงถึง ๓ ชั้น เด่นกว่าสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ทั้งหมดในเวลานั้น เมื่อฝนตกฟ้าคะนอง ฟ้าจึงผ่าลงที่ตัวอาคาร ห้องพังทะลุไปห้องหนึ่งที่ต้องซ่อม ดีแต่เป็นเวลากลางคืนไม่มีนักเรียน มิฉะนั้นก็นึกภาพไม่ออกว่าถ้านักเรียนอยู่เต็มห้อง ฟ้าผ่าลงมาจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ข้าพเจ้าจึงได้วิ่งเต้นหาเงินทองมาทําสายล่อฟ้าทั้งโรงเรียน หมดเงินไปหลายหมื่นบาทสมัยโน้น ชาวบ้านยังใจร้ายมาขโมยตัดสายทองแดง ต้องเสียเงินซ่อมกันอีกเป็นหมื่น เขาไม่นึกถึงความปลอดภัยแม้แต่ของลูกหลานของเขาเอง

บางครั้งข้าพเจ้าตามไปเยี่ยมเด็กถึงบ้าน พบเห็นของที่ชาวบ้านขโมยไปจากโรงเรียน ไม้ก็ตาม สังกะสีก็ตาม ถามดูก็ยอมรับหน้าตาเฉยพร้อมทั้งออกปากขอเสียอีก

ลูกศิษย์ของข้าพเจ้าถูกตํารวจจับได้อยู่เรื่อย บางที่วิ่งแย่งตะกร้าจ่ายตลาดของคนที่เดินซื้อกับข้าวเอาไปต่อหน้าต่อตา แย่งเงินจากมือคน กระทั่งสินค้าจากรถที่กําลังขน

ที่สุดแสนจะอดทนต่อไปคือเรื่องขโมยของครู กระเป๋าถือของครู วางทิ้งห่างตัวไม่ได้ มีเรื่องที่จําได้แม่นอยู่เรื่องหนึ่ง วันนั้นประมาณบ่ายสองโมง ครูสตรีซึ่งเป็นคนที่ใครๆ รู้จักกันดีว่าเป็นคนที่ใจดีที่สุด วิ่งหน้าซีดหน้าตาตื่นตระหนกมาหาข้าพเจ้า ละล่ำละลักบอก

“อาจารย์ แหวนเพชรของหนูหายทั้งสองวงเลยค่ะ ช่วยหนูด้วย”

หลังจากสอบถามแล้วข้าพเจ้าแทบหมดสติ นึกไม่ถึงว่านักเรียนซึ่งมีอายุเพียง ๑๓ ปี จะกล้าหาญชาญชัยขนาดนั้น ครูวางกระเป๋าถือไว้บนโต๊ะเรียน หันหลังให้นักเรียนเพื่อเขียนข้อความที่กําลังสอนลงบนกระดานดํา เด็กใช้ไม้บรรทัดเขี่ยกระเป๋าให้ตกลงที่พื้นห้อง แล้วใช้เท้าเขี่ยมาที่ตนนั่ง หยิบแหวนเพชรของครูออกจากกระเป๋า เขี่ยกระเป๋าไปไว้ใต้โต๊ะครู แล้วทําเป็นขออนุญาตไปห้องส้วมเอาแหวนไปซ่อน มีเพื่อนคนหนึ่งมองเห็นขณะกําลังเขี่ยกระเป๋าก็ถูกขู่มิให้ฟ้องครู ถ้าฟ้องจะให้พี่ชายมาดักทําร้าย ครูเกิดเอะใจที่เห็นกระเป๋าอยู่ใต้โต๊ะ เปิดออกตรวจดูจึงรู้เรื่อง แต่ค้นของกลางไม่พบ ต้องไปแจ้งความให้ตํารวจมาสอบสวนรายตัว เด็กจึงสารภาพ แต่หาของกลางที่เอาไปซ่อนไว้หลังส้วมไม่พบ เข้าใจว่าคงถูกน้ำฝนที่ตกมาอย่างแรงพัดสูญหายดินกลบไป

ครูต้องพากันไปพบผู้ปกครองขอความเห็นใจ บังเอิญผู้ปกครองพอมีฐานะอยู่บ้างจึงรับปากขอชดใช้เงินให้ครึ่งหนึ่งของราคา นักเรียนที่นั่นทํากับครูถึงขนาดนี้ ส่วนกับเพื่อนๆ นั้นไม่ต้องพูดถึง วันหนึ่งๆ ข้าพเจ้าอ่อนใจกับรายงานเรื่องสิ่งของนักเรียนหาย ปากกา นาฬิกา เครื่องเขียน กระทั่งรองเท้า เพราะต้องถอดไว้ก่อนเข้าห้องเรียน

ในยุคที่ข้าพเจ้าต้องไปบริหารโรงเรียนนั้น เป็นโรงเรียนเพิ่งสร้างใหม่ ทางราชการไม่มีงบประมาณเรื่องอัตรากําลังครูให้ จึงใช้วิธีขอครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่มีอัตรากําลังเกินจํานวนเด็ก ลองนึกดูเถิดใครจะให้ครูชนิดดี แต่ละโรงเรียนให้มาจึงเป็นครูที่เขาต้องการทิ้งแล้วทั้งสิ้น ครูก็มีปัญหา นักเรียนก็มีปัญหา ปัญหาของครูส่วนใหญ่คือเรื่องหนี้สิน เรื่องชู้สาว เรื่องหย่อนความสามารถ (ข้าพเจ้าจะเล่าปัญหาของครูให้ท่านฟังในโอกาสต่อไป)

เวลานั้น ข้าพเจ้าอยากลาออกจากราชการทุกวันด้วยความเบื่อหน่ายเอือมระอาในปัญหาทั้งหมดที่เล่าไว้ เหมือนบุญบันดาลทําให้มีโอกาสไปฝึกปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำ กับคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย (ขณะนั้นยังไม่ได้บวช) จึงได้คิดเอาวิธีการฝึกกรรมฐานนั้นมาแก้ปัญหาในโรงเรียน โดยเฉพาะแก้ปัญหาความประพฤติของเด็ก ข้าพเจ้าได้สอนฝึกสมาธิให้เด็กด้วยตนเอง สอนให้นักเรียนทุกคนทุกชั้น โดยเปลี่ยนเวรกันมาเรียนวันละห้องสองห้องหลังเลิกเรียนแล้ว

เป็นเรื่องมหัศจรรย์ เด็กนักเรียนสามารถปฏิบัติธรรมกันได้ผลดีนับเป็นหลายร้อยคน ข้าพเจ้าจึงได้อาศัยเด็กนักเรียนเหล่านั้นที่สามารถทําทิพพจักขุให้เกิดได้ไปดูภพภูมิต่างๆ ที่เราเคยรู้กันจากวรรณคดีบ้าง จากทางศาสนาบ้าง แต่เด็กๆ ไม่เคยรู้มาก่อน เด็กๆ พากันเห็นได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ข้าพเจ้ามักเน้นให้เด็กไปดูนรกขุมต่างๆ โดยเฉพาะ ขุมอทินนาทาน เพราะนักเรียนชอบประพฤติผิดกันมากเหลือเกิน ด้วยเหตุที่ทางบ้านยากจน และไม่ได้รับการอบรมที่ดีจากผู้ปกครอง

ด้วยวิธีนี้ข้าพเจ้าสามารถแก้ปัญหาความประพฤติของเด็กได้อย่างรวดเร็วทันตาเห็น อยากจะเล่าเป็นตัวอย่างให้ท่านฟังสักเรื่องหนึ่ง

เย็นวันนั้นเป็นเวรของนักเรียนชั้นประถมปีที่สอง ข้าพเจ้าให้เข้ามาฝึกสมาธิทั้งหมดห้องมีประมาณ ๔๐ คน เนื่องจากข้าพเจ้าฝึกนักเรียนให้ทํากรรมฐานเป็นพันๆ คน พอมีความชํานาญในการดูลักษณะเด็ก พอ มองออกว่าเด็กคนใดจะทําสมาธิได้ผลเร็วกว่าคนอื่น จึงเลือกเอามานั่งข้างหน้า แล้วเลือกเด็กที่ดูท่าทางจะเป็นคนบุญน้อยมาเกิดนั่งใกล้ๆ ให้แยกกันเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ลืมตาแหย่กัน วันนั้นมีเด็กที่ได้ทิพพจักขุ ๖-๗ คน ข้าพเจ้าให้ไปดูนรกขุมที่ทําบาปเรื่องลักขโมย เด็กที่เห็นเล่าเหมือนกันว่า

“ผมไปแล้วครับ ผมเอาธรรมกายของผมลอยไป ไปพร้อมกันเลยทุกคน” เด็กรายงานให้ข้าพเจ้าทราบ พร้อมทั้งบอกรายชื่อพวกเขาทุกคนที่เริ่มเห็นกายธรรมในวันนั้นเอง

“ครูครับ ผมไปถึงนรกที่เขาทําโทษคนที่ทําบาปเรื่องขี้ขโมยแล้วครับ” อีกคนรายงาน เมื่อข้าพเจ้าให้รายงานภาพที่เห็น เขาก็เล่าว่ามีสัตว์นรกตัวผอมๆ ผมยาวกระเซอะกระเซิง ยืนเข้าแถวกันยาวเหยียดเพื่อคอยรับโทษ

“โทษเป็นยังไง” ข้าพเจ้าถาม

“เจ้าหน้าที่เค้าจับสัตว์นรกนอนลง แล้วเอาเส้นลวดสีดําๆ ตีลงไปบนตัวเหมือนเวลาช่างไม้เค้าจะเลื่อยไม้ เค้าต้องใช้เชือกชุบหมึกสีดําขีดให้เป็นรอยหมึกบนไม้ แล้วก็เลื่อยไม้ตามรอยนั้นแหละครับ”

“ทีนี้เค้าเอาอะไรไม่รู้ครับเหมือนจอบเหมือนขวาน แต่คมกริบเลยครับมาถากตามตัวสัตว์นรก ทั้งเนื้อทั้งเลือดไหลออกมาแดงเลยครับ ร้องครวญครางกันใหญ่” เด็กช่วยกันเล่า

ข้าพเจ้าถามว่าทําไมเขาต้องลงโทษด้วยวิธีถากตัว เด็กก็ถามเจ้าหน้าที่ในนรก

“ครูครับ เค้าบอกว่าพวกนี้เมื่อเป็นมนุษย์มันชอบขี้โกง ตายมาตกนรกต้องถากตัวให้มีรูปร่างตรงๆ เสียบ้าง ตรงส่วนไหนของร่างกายยื่นออกมาต้องถากให้ตรง ตัดให้เรียบ ทำอย่างนี้เวลาไปเกิดเป็นคนใหม่ จะได้เป็นคนซื่อตรงกะเค้าน่ะครับ”

“เออ แล้วทําไมเมื่อเห็นการลงโทษอย่างนี้แล้วเค้าไม่หนี ไปยืนเข้าแถวคอยอยู่ทําไม” ข้าพเจ้าถาม

“เค้าไม่เห็นเหมือนที่เราเห็นหรอกครับ เค้าเห็นว่าคนที่ถูกเลื่อยตัวบ้าง คนถูกถากด้วยขวานบ้าง กลายเป็นภาพคนนั้นกําลังกินอาหาร เสียงที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดก็กลายเป็นเสียงร้องว่า อร่อยจริง อร่อยจริง พวกเค้าอยากกินบ้างก็เลยมายืนเข้าแถวกันยาวเหยียด ตัวที่ถูกถากตายแล้วก็จะไปเกิดใหม่ยืนต่อท้ายแถว ลืมเรื่องเมื่อกี้นี้”

ข้าพเจ้ายังให้เด็กๆ คุยกับสัตว์นรกแต่ละตัว ว่าเมื่อก่อนตายไปตกนรกเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน ทําบาปอะไรไว้  เด็กก็เล่าเป็นฉากไปทีเดียว ล้วนแต่บาปเกี่ยวกับการคดโกง ลักขโมย จี้ปล้น ฉ้อโกงรายไหนก็รายนั้น

เมื่อหมดเวลาหนึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าให้ทุกคนออกจากสมาธิแผ่เมตตา แล้วให้กลับบ้านได้ ก่อนที่เด็กทุกคนจะเดินจากข้าพเจ้าไปนั้น ได้หันกลับมาที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ต่างคนต่างรุมกันชี้หน้า

“ครูครับ ครูขา ยายสิรีนี่ต้องตกนรกขุมเมื่อกี้นี้แน่ๆ เลยครับ (ค่ะ) เค้าขี้ขโมย”

เด็กที่ถูกชี้หน้า หน้าตาซีดเซียวยืนตัวแข็งอยู่กับที่ ดูเหมือนจะกลัวข้าพเจ้าจนปากคอสั่นระริก

ข้าพเจ้าบอกให้เด็กทุกคนกลับไป ขอให้สิรีอยู่กับข้าพเจ้า เมื่ออยู่กันตามลําพัง เด็กยิ่งแสดงความหวาดหวั่นพรั่นพรึงถึงขีดสุด คงจะกลัวข้าพเจ้าลงโทษเฆี่ยนตีเพราะรู้ความผิดของแก ข้าพเจ้าเห็นอาการของเด็ก ช่างเหมือนอาการของตัวข้าพเจ้าเองเมื่อเรียนอยู่ที่โพธาราม สมัยหนีภัยสงคราม อาศัยอยู่บ้านญาติที่ใช้ข้าพเจ้าตักน้ำรดผักจนกระป๋องหล่นลงไปในบ่อนั่นแหละ ตอนนั้นน้ำมันก๊าดที่ใช้จุดตะเกียงมีราคาแพงมาก พ่อจะซื้อมาฝากข้าพเจ้าทุกเดือนๆ ละ ๓-๔ ขวด เพื่อให้ลูกใช้ดูหนังสือ แต่ผู้ปกครองที่ข้าพเจ้าอยู่ด้วยเก็บเข้าไว้ในห้องใส่กุญแจไม่ให้ใช้ ทุกคืนจึงไม่มีตะเกียงทําการบ้าน ส่วนตอนเย็นก็ต้องตักน้ำรดผัก เลี้ยงหมูอีกสิบกว่าตัว แค่หั่นหยวกกล้วยคลุกปนกับรําก็มืดค่ำพอดี

ตอนเช้าเมื่อครูถามว่า “ไหนใครไม่ได้ทําการบ้านมาบ้าง” ก็จะมีข้าพเจ้าถูกตีที่หน้าชั้นอยู่คนเดียว ครูไม่เคยสอบถามถึงสาเหตุ แต่ละเช้าเมื่อครูถามประโยคนี้ เพื่อนทุกคนจะรุมกันชี้หน้าข้าพเจ้า รอยไม้เรียว ที่ครูตีก้นวันละ ๓ ที ไม่ทําให้ข้าพเจ้าเจ็บปวดเท่าใด แต่การรุมกันฟ้องดังที่เพื่อนกระทําต่อข้าพเจ้านั่นต่างหาก ที่ทําให้รู้สึกเศร้าโศกเป็นทุกข์ ว้าเหว่เหลือประมาณ ไม่มีคนเข้าใจเลย

ข้าพเจ้ามองหน้าของสิรี นึกในใจว่า เด็กคนนี้คือตัวแทนของเราในครั้งกระโน้น ถูกเพื่อนรุมชี้หน้าจ้องหน้า มองเด็กก็ยิ่งรู้สึกสมเพชเวทนา ตัวสั่นงันงกหน้าซีดหน้าเซียว... ครูจะไม่เป็นอย่างครูของครู ที่ตีเด็กโดยไม่ถามเหตุผล แต่ครูคนนี้จะถามเหตุผลจากสิรี ไม่ทําต่อหน้าเพื่อนให้หนูอับอายด้วย

“สิรีลูกไม่ต้องกลัวนะจ๊ะ ครูไม่ทําโทษอะไรหนูหรอกลูก ครูว่าหนูคงไม่อยากเป็นเด็กขี้ขโมยหรอกจ้ะ ลูกขโมยอะไรของเพื่อนไปลองบอกครูหน่อยนะจ๊ะ”

เด็กหญิงสิริเล่าบอกข้าพเจ้าไปตามซื่อ ของที่ขโมยเพื่อนส่วนใหญ่คือเครื่องใช้ในการเรียนที่เด็กขาดแคลน ผู้ปกครองไม่ซื้อให้นั่นเอง

“ครูขา ตั้งแต่นี้หนูไม่ขโมยของจากใครๆ อีกแล้ว หนูกลัวตกนรกค่ะ” เด็กร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ำตาเต็มหน้า พร้อมทั้งพูดให้สัญญา ข้าพเจ้าโอบกอดเด็กไว้ในอ้อมกอด เป็นการแสดงให้ทราบว่าข้าพเจ้าจะเป็นที่พึ่งให้

“ครูก็ให้สัญญากับหนูนะ ตั้งแต่วันนี้ไป หนูไม่มีเครื่องเรียนอะไรๆ ให้บอกครู ครูจะซื้อให้ทุกอย่าง

ข้าพเจ้าปลอบโยนให้เด็กคลายความหวาดกลัวแล้วข้าพเจ้าทําตามสัญญานั้น โดยมิใช่ช่วยเหลือเฉพาะสิรี แต่ได้ช่วยเด็กขาดแคลนทั้งโรงเรียน ด้วยการจัดหาทุนตามวิธีการต่างๆ รับบริจาคจากผู้มีเมตตาจิตบ้าง จากการจัดงานกุศลบ้าง จากทางราชการ ทางเอกชน รับทั้งสิ้น เมื่อกําจัดความขาดแคลนหมดไป ปัญหาเรื่องการลักขโมยก็พลอยคลี่คลายลง ยกเว้นรายที่เป็นโรคจิตจริงๆ คือมิใช่ขโมยเพราะความขาดแคลน แต่ขโมยเพราะชอบกระทํา ข้าพเจ้าเคยพบเด็กประเภทนี้ขโมยปากกาเพื่อนอยู่เสมอๆ แล้วเอาซ่อนไว้ในขาเก้าอี้นั่งแทบทุกตัวในห้องเรียน เพราะขาเก้าอี้เป็นเหล็กกลวง ถอดจุกยางที่รองขาออกก็เอาสิ่งที่ขโมยใส่ไว้  เมื่อให้คําอธิบายเรื่องบาปบุญคุณโทษ และให้เพื่อนที่เห็นการลงโทษในนรกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในนรกให้ฟัง เด็กเกิดความกลัว เช่นเดียวกับสิรี สารภาพผิดต่อข้าพเจ้า นําไปที่ห้องเรียนเปิดฝาขาเก้าอี้ เทปากกาออกมาได้หลายสิบด้าม

วิธีให้รู้บุญรู้บาป เป็นวิธีแก้ปัญหาความประพฤติที่ดีได้วิธีหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าช่วยลูกศิษย์แก้ปัญหา ไม่เหมือนครูคนนั้นของข้าพเจ้า เฆี่ยนข้าพเจ้าทุกเช้าเป็นเดือน กว่าข้าพเจ้าจะแก้ปัญหาให้ตนเองโดยวิธีมุดลง ใต้ถุนบ้าน ไปขออาศัยแสงตะเกียงของบ้านอื่นซึ่งแกะมะขามทุกคืน ทําการบ้านได้ก็เล่นเอาไม่นึกรักเพื่อนร่วมชั้นในครั้งนั้นเลย หัวเราะเยาะเย้ย ขบขันกันอยู่ได้ทุกวัน ไม่มีใครเข้าใจและเห็นใจ รวมทั้งครูผู้ชายช่างตีท่านนั้นด้วย โตขึ้นเมื่อเป็นครูบ้าง ข้าพเจ้าดีใจที่ไม่ได้เป็นครูชนิดนั้น

การฝึกสมาธิให้เด็กมีตาทิพย์เกิดขึ้นด้วยการทําจิตให้ผ่องใสถึงระดับกายธรรมจนสามารถเห็นการลงโทษที่ผู้ทําชั่วต้องได้รับนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นอุบายในการอบรมจริยธรรมให้เด็กๆ ได้ดียิ่งวิธีหนึ่ง เป็นการปลูกฝังให้เกิดการกลัวบาปได้อย่างแท้จริง ถึงแม้จะฝึกเด็กให้ได้ตาทิพย์ไม่ได้ทุกคน แต่คนที่ไม่เห็นก็จะฟังจากคนที่เห็น แล้วก็กลัวไปเอง เพราะเขารู้ว่าเพื่อนที่เห็นไม่ได้พูดปด แต่งเรื่องเองไม่ได้ ไม่มีเรื่อง อย่างนั้นในเมืองมนุษย์

การลักขโมยนั้น ยิ่งถ้าเป็นทรัพย์สิ่งของของผู้มีคุณงามความดี เราไปล่วงเกินลักขโมยเข้า ยิ่งมีโทษมากกว่าคนธรรมดา การลักขโมยที่มีโทษมากดูจะเป็นการขโมยของสงฆ์ ถือเป็นกรรมหนัก ถ้ามีความพยายามมาก เช่น ถึงกับมีการใช้อาวุธจี้ปล้นทําร้าย ก็ยิ่งเพิ่มกรรมให้หนักมากขึ้น

 
 

ชื่อเรื่องเดิม นักเรียนโจร นักเรียนธรรม

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม2

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012628948688507 Mins