หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๒) เจ้าของวัด

วันที่ 12 ตค. พ.ศ.2559

หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๒)
เจ้าของวัด

จากนโยบายของคุณยายอาจารย์ที่ว่า

“ คนมาวัดร้อยให้เลี้ยงได้ร้อย มาล้านให้เลี้ยงได้ล้าน ”

จึงทำให้เกิดโรงครัวของวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นโยบายนั้นบรรลุผล และจากนโยบายของคุณยายอาจารย์เช่นกันว่า

“ คนมาวัดร้อยให้เป็นเจ้าหน้าที่ร้อย มาล้านให้เป็นเจ้าหน้าที่ล้าน ”

จึงทำให้เกิดอาสาสมัครของวัดพระธรรมกายเป็นจำนวนมาก
 

     อาตมาเองก็มาจากเส้นทางของอาสาสมัคร เพียงมาวัดวันแรก ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย แค่เห็นรอยยิ้มของน้องคนหนึ่ง พร้อมกับคำถามว่า “ พี่อยู่แผนกไหนครับ ” เมื่อตอบว่า “ พี่เพิ่งมาวัดครั้งแรก ” น้องคนนั้นก็พาไปแนะนำตัวกับพี่ ๆ แผนกธรรมจริยา ซึ่งต่อมากลายเป็นแผนกต้อนรับ และต้อนรับระดับโลกในปัจจุบัน
 

     ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะนึกถึงเส้นทางการสร้างคนของวัดพระธรรมกาย เนื่องจากวันก่อนเดินผ่านไปท้ายวัด แล้วเกิดความปลื้มใจที่เห็นโยมน้าท่านหนึ่ง ที่อาตมานับถือ รักท่านเหมือนญาติ 

     ๓๐ ปีที่รู้จักท่านมา นอกจากความชราที่มาเยือนแล้ว อาตมาไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากท่านเลย แววตาที่มุ่งมั่น รอยยิ้มที่เปิดเผย จริงใจ ยังคงอยู่เต็มเปี่ยม ที่สำคัญคือ “ ความรักวัด ” ที่ไม่เคยเสื่อมคลาย แม้วันนี้ท่านจะเกษียณแล้ว ไม่ได้ทำงานในวัดแล้ว แต่เมื่อวัดมีภัย ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่มาดูแลวัด โดยไม่มีใครเอ่ยปากร้องขอ แต่ท่านมาด้วยจิตสำนึกว่าท่านคือ 

“ เจ้าของวัด ”
 

    อาตมาได้นำความประทับใจนี้ไปเล่าให้หลวงพ่อและหลวงน้าฌาณาภิญโญฟัง ทั้งสองท่านมีรอยยิ้มที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายและพูดตรงกันว่า “ นั่นเขาเจ้าของวัดตัวจริง ”

      คำถามจึงเกิดขึ้นในใจว่า ทำอย่างไร ลุง ป้า น้า อา ที่เป็นพนักงานวัดในรุ่นบุกเบิก จึงมีจิตสำนึกรักวัดเช่นนี้

      อาตมานึกทบทวนว่า หลวงพ่อได้ให้อาตมาทำอะไรบ้างกับท่านเหล่านั้น แล้วก็พบว่า
 

     ๑. หลวงพ่อให้อาตมาไปนำทำวัตร สวดมนต์และเล่าธรรมะ

     “ เอ็งไปนำลุง ๆ ป้า ๆ สวดมนต์นะ ไม่มีหน่วยงานไหนในโลกหรอก ที่เขาจะให้พนักงานมาสวดมนต์ เพราะใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง เขาเอาเวลานั้นให้ไปทำงานดีกว่า แต่เรามีเป้าหมายมากกว่านั้นคือ เมื่อสวดมนต์แล้ว ใจของคนของเราจะละเอียด เมื่อใจละเอียด งานที่ออกมา ก็จะเป็นงานละเอียดตามไปด้วย

     และเมื่อสวดมนต์เสร็จ ก็ให้เล่าธรรมะ ให้ข้อคิดสั้น ๆ กับลุง ป้า เหล่านั้น ทำเข้าไป เขาจะได้รู้ธรรมะบ้าง ไม่ใช่มาทำงานอย่างเดียว ”
 

     ๒. สิ่งที่อาตมาได้ยินเป็นประจำคือ คำที่หลวงพ่อเรียกคนรุ่นนั้น จะเป็นคำที่ให้เกียรติ และเมื่อท่านให้อาตมาไปนำสวดมนต์ หลวงพ่อก็ย้ำเรื่องนี้เช่นกันว่า

     “ เอ็งจำไว้นะว่า คนรุ่นนี้คือ คนที่บุกเบิกสร้างวัดให้พวกเอ็งอยู่ ไม่ใช่เขาไม่มีที่ไป แต่เขารักวัดจึงไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นเรียกเขาให้เหมาะสม จะเป็นลุง เป็นป้า เป็นน้า อะไรก็แล้วแต่ และให้ทำความรู้สึกว่า เขาเป็นญาติผู้ใหญ่ของเราด้วย ”
 

     ๓. หลวงพ่อมักจะให้อาตมาเดินตามท่านข้ามฝั่งทางหน้าวัด ไปเยี่ยมญาติโยมรอบวัด ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นครอบครัวของคนงานของวัด

     “ คนเหล่านี้ เดิมก็ช่วยหลวงพ่อบุกเบิกสร้างวัด ตอนนี้ก็เริ่มทะยอยแก่กันบ้าง แต่ก็ยังใส่บาตรกันอยู่ เมื่อก่อนหลวงพ่อจะขึ้นบ้านโน้นลงบ้านนี้ มาเยี่ยมเยียนประจำ ใครเจ็บใครป่วย ก็พาไปหามดหาหมอ ดูแลกันไป เพราะนึกถึงคุณที่เขามาช่วยเรา ในขณะที่เรามาจากต่างถิ่น ไม่รู้จักใครเลย เขาก็มีน้ำใจมาช่วยหลวงพ่อสร้างวัด ”
 

     เพราะการที่หลวงพ่อ หลวงน้าและหลวงพี่รุ่นบุกเบิก ดูแลเจ้าหน้าที่ของวัดเสมือนญาติเช่นนี้ จึงทำให้พนักงานรุ่นบุกเบิกสร้างวัดมีความพิเศษคือ นอกจากจะทุ่มเททำงาน ด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว แม้ยามเร่งด่วนขอให้ช่วยงานนอกเวลา ท่านเหล่านั้นยังไม่เคยเรียกร้องค่าล่วงเวลา (OT) แค่เตรียมข้าวปลาอาหารให้ ก็ทำกันข้ามวันข้ามคืน สมกับที่ท่านเหล่านั้นคือ 

“ เจ้าของวัด ”

 

ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๘ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0088865200678507 Mins