แก่ดีกรี(ตอนที่ ๖)

วันที่ 10 มค. พ.ศ.2547

luangtia.jpg

 

พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมราชานุวัตร

 

.....พระธรรมเทศนา แสดงโดยพระธรรมราชานุวัตร สมัยดำรงสมณศักดิ์ พระราชโมลี วัดพระเชตุพน ในพิมพ์ไทยอาทิตย์ คอลัมน์ ธรรมนอกธรรมาสน์ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๔

.....เมื่อความจริงเป็นอยู่เช่นนี้ ทางที่ดีที่สุดที่ผู้บังคับบัญชาทหารจะทำได้ คือ ต้องแสดงตนเป็นเพื่อนทหารและเป็นข้าราชการด้วยกันกับพลทหาร มีหน้าที่จะต้องทำราชการ อาศัยซึ่งกันและกัน ต่างกันแต่ด้วยตำแหน่งหน้าที่ คือหน้าที่นายทหารจะต้องใช้วิชาความรู้ เพื่อนำพลไปสู่ที่ชัยชนะ หน้าที่พลต้องตามไปและตั้งใจต่อสู้ราชศัตรูจนสุดกำลัง เพื่อหวังเอาชัยชนะ เมื่อต้องอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เช่นนี้ การที่จะให้มีข้อบาดหมางหรือเกลียดชังซึ่งกันและกันหาควรไม่

.....แต่การที่จะใช้ความอะลุ้มจนเกินไปตามใจผู้น้อยทุกประการก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ผู้ที่ใช้ความอะลุ้มมักเข้าใจว่า ถ้าทำเช่นนั้นคนจะรักใคร่มาก แท้จริงกลับกลายเป็นทำให้คนดูถูก และไม่ยำเกรง และเมื่อถึงเวลาที่จะบังคับจริง ๆ บ้าง ก็เลยบังคับไม่ได้

.....การอะลุ้มมีอยู่ในหมู่พลเรือนมากกว่าทหาร เพราะในทางการพลเรือน ได้อังกฤษเป็นครูเป็นพื้น และวิธีบังคับบัญชาการพลเรือนของอังกฤษ เขาใช้วิธีตามใจผู้น้อยมากอยู่ แต่ที่จริงของเราออกจะตามใจครูเกินไปเสียอีก จนการงานอะไร ๆ แทบจะสำเร็จเด็ดขาดอยู่ที่ผู้น้อยทั้งสิ้น ผู้ใหญ่ข้างจะเกรงผู้น้อยมาก คอยแต่เงี่ยหูฟังผู้น้อยอยู่เสมอ ข้อนี้เองทำให้ผู้น้อยได้ใจเมื่อผู้ใหญ่สั่งหรือวางการอะไรที่ไม่พอใจแล้วก็ชอบนินทาว่าให้ หรือร้ายกว่านั้นเขียนหนังสือ “คอร์เรสปอนเดนซ์” ส่งไปโรงพิมพ์ว่าให้ในหนังสือพิมพ์ หรืออย่างเลวที่สุดทิ้งบัตรสนเทห์ว่าให้ดื้อ ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นของที่เสียวินัยและแบบแผนในราชการทั้งสิ้น และเสื่อมเสียอำนาจและเกียรติยศราชการ เปิดช่องให้ผู้อื่นเย้ยหยันหรือดูถูกได้ ทั้งทำให้เขาติเตียนได้ว่าไทยเราช่างไม่มีความปรองดองในหมู่กันเองเสียเลย

.....การที่ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้น้อยระเริงใจ เข้าใจหน้าที่ของตนผิดได้ถึงปานนี้ ก็เพราะผู้ใหญ่ได้ใช้วิธีอะลุ้มเกินไปนั้นมาเสียช้านานแล้ว ถ้าได้ใช้การรักษาวินัยเสียบ้างตั้งแต่แรกแล้วก็จะไม่เป็นไปได้ถึงเพียงนี้ นี้ได้ไปถือเอาธรรมเนียมของอังกฤษ ซึ่งเหมาะแก่นิสัยของอังกฤษมาใช้กับคนไทยซึ่งไม่เหมาะกับนิสัยไทย จึงได้ไม่เรียบร้อย

.....การยอมให้คนต่างคนมีความเห็นส่วนตัวได้นั้น เหมาะสำหรับนิสัยของอังกฤษ เพราะเขาเป็นผู้ที่รู้จักกาลเทศะดังจะแสดงให้เห็นปรากฏได้ คือในขณะเมื่อบ้านเมืองเขาสงบศึกเขาแบ่งเป็น ๔ คณะ ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษและว่ากันต่าง ๆ แต่พอเมื่อเกิดสงครามขึ้นแล้วสิ เขาทิ้งความแก่งแย่งกันได้หมดราวกับปลิดทิ้ง ในเวลานี้ไม่มีก๊กไม่มีคณะมีแต่ชาติอังกฤษ ซึ่งคิดตรงกันหมด ส่วนไทยเรามีนิสัยผิดกับอังกฤษคิดเห็นไม่ได้อย่างเดียวกัน และเข้าใจไม่ได้ว่าการที่ทุ่มเถียงกันนั้นเขากระทำต่อเมื่อเป็นเวลาว่าง เข้าใจว่าเมื่อยอมให้แบ่งกันเป็นพวกแล้ว ก็แปลว่าเป็นอันแบ่งกันอยู่ตลอดเวลา

.....เหตุฉะนี้หวังใจว่า ต่อไปเบื้องหน้าผู้ที่หน้าที่บังคับบัญชา ทั้งฝ่ายทหารพลเรือน จะเอาใจใส่ในทางสังเกตและรู้จักนิสัยคนให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมาแล้ว

.....๘.ความรู้จักผ่อนผัน ข้อนี้เป็นข้อสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติให้เหมาะได้ยากกว่าที่คาดหมาย เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ปฏิบัติให้ดีจริง ๆ ได้น้อย

.....คนโดยมากที่มีหน้าที่บังคับบัญชาคน ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนมักเข้าใจคำว่าผ่อนผันนี้ผิดกันอยู่เป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่งเห็นว่าการผ่อนผัน เป็นสิ่งซึ่งจะทำให้เสียระเบียบทางการไป จึงไม่ยอมผ่อนผันเลย และแปลคำผ่อนผันว่า “เหลวไหล” เสียทีเดียว อีกจำพวกหนึ่งเห็นว่าการใด ๆ ทั้งปวง ควรจะคิดถึงความสะดวกแก่ตัวเองและบุคคลในบังคับบัญชาของตนเป็นที่ตั้ง จึงยอมผ่อนผันไปเสียทุกอย่างจนเสียทั้งวินัย ทั้งแบบแผนและหลักการทีเดียว ก็มีทั้ง ๒ จำพวกนี้เข้าใจผิดทั้ง ๒ จำพวก …

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01976820230484 Mins