วันลอยกระทง

วันที่ 29 มีค. พ.ศ.2560

วันลอยกระทง (Loy Krathong Festival)
วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

วันลอยกระทง , Loy Krathong Festival ,  วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

    วันลอยกระทง ของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขึ้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง


วันลอยกระทง , Loy Krathong Festival ,  วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

ประวัติวันลอยกระทงและประเพณีลอยกระทง

      การลอยกระทงมีวัตถุประสงค์ด้วยกัน 2 ประการ คือ

      1. เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท้องที่ถือว่าลอยกระทงเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสที่พระพุทธองค์ได้ไปแสดงธรรมในนาคภิภพ และทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพราะฉะนั้นการที่บ้านเรามีประเพณีลอยกระทง ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองก็เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสนี้ 

      ส่วนทางเหนือนั้นมีประเพณียี่เป็ง มีทั้งลอยกระทงและลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งบรรจุอยู่ในจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เราจึงจุดประทีป ลอยโคม ส่งใจขึ้นไปบูชาพระเขี้ยวแก้วร่วมกับพระอินทร์ที่นำหมู่เทวดาบูชาพระเขี้ยวแก้วที่จุฬามณีในวันเพ็ญเดือนสิบสองนี้เช่นกัน

      ยี่เป็งสันทราย ได้จัดประเพณีลอยกระทง และลอยโคม ซึ่งเป็นภาพวัฒนธรรมไทยที่งดงามมากในสายตาของชาวโลก และยังได้มีการจัดลอยโคมที่มองโกเลีย และอินเดียเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่งใหญ่มาแล้วด้วย

    2. เพื่อบูชาพระแม่คงคา เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ เพราะมนุษย์เราอยู่ได้เพราะน้ำ ตั้งแต่โบราณมาชุมชนทั้งหลายเวลาสร้างเมือง ต่างก็เลือกติดแม่น้ำ ดังนั้นถึงเวลาในรอบ 1 ปี ก็เลือกเอาวันเพ็ญเดือนสิบสอง ระลึกว่าตลอดปีที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต  ขณะที่ลอยกระทงเราก็นึกถึงคุณของน้ำ ไม่ใช่ลอยเฉยๆ ต้องรำลึกว่าต้องรู้จักใช้น้ำอย่างถูกวิธี และใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้ทิ้งขว้าง  ไม่ทำให้น้ำสกปรก ไม่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ เป็นการขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคา ไม่ใช่เป็นการไหว้เทวดาพระแม่คงคาแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ ในฐานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตเรา


คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้

1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา

2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทม สินธุ์อยู่ในมหาสมุทร

3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไป จำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทาน ทีเมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ

5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของ พระพุทธเจ้า

6. กาลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก

7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้อง ทะเลลึกหรือสะดือทะเล


ประวัติวันลอยกระทงในประเทศไทย
      การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานทีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแค้วนทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา
 

การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
      เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)

      รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีเพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา
 
การลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ
        1. การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และ
        2. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก


ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี
     เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา "สาธุ โข ปพฺพชฺชา" แล้ว จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำ
 

ตำนานการลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก 
       เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)


ความเชื่อของประเพณีลอยกระทง ลอยทุกข์ ลอยโศก
     ความเชื่อของการลอยกระทงเพื่อลอยทุกข์ ลอยโศกให้ลอยหายไปพร้อมกับกระทงด้วยการตัดเล็บ ผม และเงินใส่ลงไปในกระทง สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่มีมาในในภายหลัง เป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจ แต่ความจริงเราไม่สามารถที่จะลอยทุกข์โศกให้หมดไปได้ด้วยการลอยกระทง  ดังนั้นถ้าจะให้ทุกข์โศก โรคภัย เคราะห์ร้ายออกไปด้วย เราต้องสร้างบุญ โดยในตอนกลางวัน ก่อนที่จะไปลอยกระทง เราก็ไปทำบุญที่วัดก่อน แล้วนำบุญนั้นมาอธิษฐานในคืนวันลอยกระทง ด้วยกุศลผลบุญนี้ขอให้ทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายออกไปจากใจของข้าพเจ้า


วันลอยกระทง , Loy Krathong Festival ,  วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค 
         ลักษณะการจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัด และแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ 

        -  วันลอยกระทง ภาคเหนือ (ตอนบน) จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง" อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่  (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย) โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า 

        -  วันลอยกระทง จังหวัดตาก จะประดิษฐ์กระทงขนาดเล็ก แล้วปล่อยลอยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย" 

         -  วันลอยกระทง จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง 

        -  วันลอยกระทง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง 

       - วันลอยกระทง กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานลอยกระทงหลายแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ "งานภูเขาทอง" ที่จะเนรมิตงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ส่วนใหญ่จัดอยู่ราว 7-10 วัน ตั้งแต่ก่อนวันลอยกระทง จนถึงหลังวันลอยกระทง 

        - วันลอยกระทง ภาคใต้ มีการจัดงานลอยกระทงในหลาย ๆ จังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีงานยิ่งใหญ่ทุกปี 


ลักษณะของกระทงที่ใช้ลอย

       1. กระทงใบตอง ปักด้วยเทียน เป็นการบูชาพระสัมาสัมพุทธเจ้าด้วยแสงสว่าง

       2. กระทงโฟม ต่อมามีโฟมก็เลือกใช้โฟม

    3. กระทงสาย ทำจากกะลามะพร้าว ที่ขัดให้สะอาดและหลอมเทียนพรรษาใส่ลงไปในกะลาจุดเทียนแล้วลอยลงแม่น้ำ ไหลตามกันเป็นสายตามร่องแม่น้ำปิง ซึ่งมีสันทรายอยู่ใต้น้ำ จึงเรียกกระทงสาย ซึ่งประเพณีของจังหวัดตาก

 

 

 

เพลง วันลอยกระทง

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง  
เราทั้งหลายชายหญิง  
สนุกกันจริง วันลอยกระทง  
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง  
ลอยกระทงกันแล้ว  
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง  
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง  
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.005190098285675 Mins