พระพุทธศาสนาในตะวันตก
ประเทศเยอรมนี
ประเทศเยอรมนีมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) มีประชากรประมาณ 82,438,000 คน (พ.ศ.2548) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (ประมาณ 68 % ) และจากการสำรวจประชากรเยอรมันมากกว่า 10,000 กลุ่มในปี พ.ศ.2549 พบว่า มีคนที่ไม่มีศาสนา (Non-Religious) หรือผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า (Atheists) อยู่ถึง 29.6 % คิดเป็น 24,400,000 คน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดสำหรับพุทธศาสนิกชนในประเทศเยอรมนีนั้น จากสำรวจในปี พ.ศ.2549 พบว่ามีประมาณ 230,000 คน มีองค์กรทางพระพุทธศาสนาประมาณ 661 องค์กร และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแพร่ในเยอรมนีจากงานเขียนของ ไอแซค จาคอบ สมิท (Isaac Jacob Schmidt) ในปี พ.ศ. 2322 - 2390 บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญมากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนายุคแรกๆ คือ อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) เขาเริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนาจากงานเขียนของไอแซค จาคอบ สมิท ต่อมาอาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์เขียนหนังสือชื่อ The World as will and Repressentation พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2362 และได้เขียนเล่มอื่นๆ อีกมากมาย หนังสือของเขามีคนอ่านมากที่สุดนับแต่ 25 ปีแรกแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายต่อหลายคนเมื่อได้อ่านหนังสือเขาแล้วหันมาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกไปตลอดชีวิต
อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ เชิดชูพระพุทธศาสนาไว้ว่า "เป็นที่ประจักษ์ว่าภาษาเก่าแก่ที่สุดคือความสมบูรณ์ที่สุดฉันใด ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดก็คือความสมบูรณ์ที่สุดฉันนั้น ถ้าหากว่าจะถือเอาผลแห่งปรัชญาของข้าพเจ้าเป็นมาตรฐานแห่งความจริงแล้ว ข้าพเจ้าจะยกให้พระพุทธศาสนามีความโดดเด่นเหนือแนวคิดอื่นๆ... วัตถุประสงค์ของพระศากยมุนีพุทธเจ้าคือ การแยกเอาเมล็ดในออกจากเปลือก เพื่อแยกคำสอนที่สูงเด่นออกจากส่วนผสมของจินตนาการและเทพเจ้า เสริมสร้างคุณค่าภายในอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธศาสนาให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่ายของประชาชน ในเรื่องนี้ พระศากยมุนีพุทธเจ้าประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์ที่สุด เพราะฉะนั้นศาสนาของพระองค์จึงเป็นศาสนาดีที่สุดของโลก มีศาสนิกนับถือมากที่สุด"
ไฟรดริช ซิมเมอร์มานน์ (Friedrich Zimmermann) วิศวกรโยธาชาวเยอรมัน เป็นผู้หนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือของอาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ เขาเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ในปี พ.ศ.2423 ได้เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น ภิกษุสุภัททะ โดยมิได้เข้าพิธีอุปสมบทมิได้ปลงผมและหนวด ยังคงแต่งกายดุจฆราวาสทั่วไป เขาเขียนหนังสือชื่อ Buddhistischen Katechismus ซึ่งเป็นเรื่องการปุจฉาวิสัชนาทางพระพุทธศาสนา โดยยึดหลักฐานจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกและพระวินัยปิฎกเป็นหลัก พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2431หนังสือของเขามีผู้นิยมอ่านกันมากในหลายประเทศดุจหนังสือประทีปแห่งเอเซีย ต้องจัดพิมพ์ใหม่ถึง 14 ครั้ง และแปลออกเป็นหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศ ญี่ปุ่น อิตาลีสังการี เปน และรัสเซีย
พระพุทธศาสนาในเยอรมนีช่วงแรกเผยแผ่โดยผ่านหนังสือเป็นหลัก ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปี พ.ศ.2446 ดร.คาร์ล โซเดน ตักเกอร์ (Karl Seidenstuecker) เป็นผู้นำชาวพุทธเยอรมันกลุ่มหนึ่งก่อตั้ง สมาคมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเยอรมนี (Society for buddhist Mission of Germany) ขึ้นในเมืองไลปซิก (Leip Zig) ซึ่งเป็นสมาคมพระพุทธศาสนาแห่งแรกในเยอรมนี จากผลงานนี้ทำให้ ดร.คาร์ล โซเดน ตักเกอร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาสาวก (Apostle) ของพระพุทธศาสนาแห่งเยอรมนี
เขาสร้างสายสัมพันธ์ขบวนการชาวพุทธตะวันออกกับชาวพุทธเยอรมันให้ประสานเป็นเอกภาพและได้ริเริ่มจัดตั้งมหาโพธิสมาคมสาขาเยอรมนีขึ้น
พระภิกษุชาวเยอรมันรูปแรกที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนาสายเถรวาทชื่อ แอนตัน วอลเตอร์ ฟลอรัส กูเอธ (Anton Walter Florus Gueth) มีฉายาว่า ญาณติโลกะ อุปสมบทที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2447 เป็นศิษย์ของท่านอานันทเมตเตยยะ พระภิกษุชาวอังกฤษพระญาณติโลกมหาเถระ (Nyanatiloka Maha Thera) เป็นพระภิกษุที่ได้รับความเคารพนับถือสูงยิ่ง ในบรรดาพระภิกษุชาวตะวันตกทั้งหลาย เพราะท่านเคร่งครัดในพระวินัยและอุทิศตนเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลังจากอุปสมบทแล้วท่านเดินทางไปประเทศศรีลังกา และพักอยู่ที่เกาะเล็กเกาะหนึ่งในทะเลสาบโททันทุวา ซึ่งไร้คนอาศัย และเป็นแหล่งงูพิษร้าย ท่านถือรุกขมูลธุดงค์บำเพ็ญสมาธิทั้งกลางวันและกลางคืน ตอนรุ่งอรุณชาวศรีลังกาผู้ศรัทธาจะนำภัตตาหารลงเรือไปถวายทุกเช้า ขณะนั่งสมาธิที่โคนไม้ งูร้ายจะเลื้อยเพ่นพ่านไปมารอบต้นไม้ บางครั้งเลื้อยผ่านหน้าตักแต่ก็ไม่ได้ทำร้ายท่าน ต่อมาชาวบ้านผู้ศรัทธาได้สร้างกระท่อมให้ท่านอยู่
ในเวลาไม่นานนักชาวตะวันตกหลายชาติ เช่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เดนมาร์ก อิตาลี และยิวได้สละเพศฆราวาส อุปสมบทเป็นพระภิกษุไปอาศัยอยู่กับท่านจำนวนมาก เกาะนี้จึงมีชื่อเสียงว่า เป็นบุญสถานที่พระภิกษุชาวตะวันตกผู้เคร่งครัดในพระวินัยมาบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทุกวันพระและวันจันทร์เพ็ญชาวพุทธชาวศรีลังกานับพัน หลั่งไหลมาจากทุกภาคของประเทศเพื่อมาตักบาตรไหว้พระสวดมนต์ และฟังพระธรรมเทศนา พระญาณติโลกมหาเถระเขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ The World of the Buddha พิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. 2449 หนังสือเล่มนี้สร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก จัดพิมพ์ถึง 9 ภาษา บางภาษาพิมพ์ 10,000 เล่ม ขายหมดด้วยเวลาเพียงไม่นาน และได้จัดพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้งยาวนานถึง 6 ชั่วอายุคน ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2500 รัฐบาลศรีลังกาประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพให้อย่างสมเกียรติ ชาวศรีลังกามาร่วมงานถึง 500,000 คน และได้บรรจุอัฏฐิของท่านไว้ ณ Independene Square กรุงโคลัมโบ ก่อนมรณภาพท่านตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้กลับมาเกิดเป็นบุรุษในศรีลังกาและได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเยอรมนีกว้างขวางมากขึ้น ชาวพุทธเยอรมันนำ โดยท่านธัมมสารี จึงจัดตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นที่เบรสเลา (Breslau) ในปี พ.ศ.2452 เพื่อพิมพ์วารสารทางพระพุทธศาสนาเผยแพร่ และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการจัดตั้งสมาคมบาลีเยอรมันขึ้น (German Pali Society) โดยมีภารกิจสำคัญคือการสร้างวัดพุทธศาสนาในตะวันตก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปีก็ต้องปิดตัวลง และมีสมาคมใหม่เกิดขึ้นชื่อ League for Buddhist Life ในปี พ.ศ.2456 ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาสายเถรวาท
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศเยอรมนีกว้างขวางแพร่หลายมากขึ้น เมื่อชาวเยอรมันผู้หนึ่งหันมาเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลนั้นคือ ยอร์จ กริมม์ (George Grimm) บิดามารดาต้องการให้เขาบวชในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่เมื่อเขาได้อ่านหนังสือปรัชญาของอาร์เธอร์ โชเปนเฮาเออร์ ด้วยความยกย่องอย่างสูงของอาร์เธอร์ที่มีต่อพระพุทธศาสนาและการประกาศตัวเป็นชาวพุทธของเขา ทำให้ ยอร์จ กริมม์ เริ่มสนใจและเมื่อได้ศึกษามากเข้าทำให้เกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรม ตัดสินใจออกจากงานตุลาการเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและเผยแผ่พระธรรมคำสอนให้กว้างไกล เขาประกาศว่า จะปฏิบัติพุทธธรรมให้บรรลุโสดาบันในชีวิตนี้ให้จงได้
ในปี พ.ศ.2464 ยอร์จ กริมม์ และ ดร.คาร์ล ไซเดน ตักเกอร์ ได้จัดตั้งชุมชนหมู่บ้านหายชาวพุทธเยอรมันขึ้นใน นอกจากชาวเยอรมันแล้วยังมีชาวพุทธฝรั่งเศส จำนวนมากมาฟังบรรยายและร่วมประชุมเสวนาเรื่องพระพุทธศาสนากับเขา ยอร์จ กริมม์เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา 8 เล่ม และเขียนบทความเผยแพร่ในวารสารมากฉบับ ดร.อันส์ มุช ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคของโลก ได้ประกาศตนเป็นชาวพุทธผู้เคร่งครัด เพราะได้อ่านหนังสือของเขา ยอร์จ กริมม์รู้สึกว่าตนเองเป็นหนี้บุญคุณทุกคนที่ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาแก่เขา เขานำภาพขนาดใหญ่ของอาร์เธอร์ โชเปนเฮาเออร์ ประดับพวงดอกไม้สดแขวนไว้เหนือเตียงนอน และพร่ำพรรณนาคุณความดีของเค.อี.นูมานน์ และดร.ปอล ดุสเซน ผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เขาในการศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่เสมอไม่ขาด
พระภิกษุชาวเยอรมันอีกท่านหนึ่งชื่อ ซิกมันด์ เฟนิเกอร์ (Siegmund Feniger) ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในประเทศศรีลังกา ในปี พ.ศ.2479 ได้รับฉายาว่า ญาณโปนิกะ เป็นศิษย์ของพระญาณสัตตมหาเถระ ซิกมันด์ เฟนิเกอร์ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจากการอ่านหนังสือ เขาได้จัดตั้งชมรมการศึกษาพระพุทธศาสนา (Buddhist Study Circle) และจัดตั้งห้องสมุดพระพุทธศาสนาขึ้นที่โกนิก เบอร์กโดยให้ประชาชนยืมหนังสืออ่านฟรี หลังจากอุปสมบทแล้วได้เดินทางมาร่วมกระทำฉัฏฐมสังคายนาที่ประเทศพม่าในสมัยที่อูนุเป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานคนหนึ่งขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Felloship of Buddhist) พระญาณโปนิกมหาเถระ (Nyanponika Maha Thera) จัดตั้งสมาคมการพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาในเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา โดยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการและประธานตรวจการพิมพ์ของสมาคม พิมพ์หนังสือ จุลสาร แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารทุกประเภทเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จำนวน 1,000,000 เล่ม ส่งไปเผยแพร่ 70 ประเทศทั่วโลก
ปราชญ์ชาวพุทธเยอรมันที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีอีกหลายท่าน เช่น เอร์มานน์ โอลเดนเบอร์ก (Hermann Oldenburg) บุตรชายนักบวชคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ เป็นคนแรกที่จัดทำเรื่องเถรคาถาและเถรีคาถาเผยแพร่แก่ชาวยุโรป ดร.ปอล ดาห์ลเก (Paul Dahlke) ผู้ที่อนาคาริก ธรรมปาละ กล่าวยกย่องว่า รักษาศีล 5 เคร่งครัด ไม่ยอมให้ด่างพร้อย ปฏิบัติหน้าที่ไม่บกพร่อง เป็นนักมังสวิรัติ ไม่ดื่มสุราเมรัย ยากนักหนาที่จะหาชาวพุทธที่ดีไปกว่า ดร.ปอล ดาห์ลเก นอกจานี้ก็มี วิลเลม์ ไกเกอร์ (Wihelm Geiger) ผู้จัดทำคัมภีร์และแปลคัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานชั้นยอดเยี่ยมของนิรุกติศาสตร์เชิงวิพากษ์ โดยพิมพ์เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ.24512473 และนางมายา เกลเลอร์ กริมม์ (Maya Keller Grimm) ผู้แต่งหนังสือปุจฉาวิสัชนาเรื่องพระพุทธศาสนา นางเป็นผู้ศรัทธาลึกซึ้งต่อพระพุทธศา นามาตั้งแต่เยาว์วัย น้ำตาของนางจะไหลอาบแก้มทุกครั้งเมื่อได้อ่านมหาปรินิพพานสูตร เพราะอาลัยรักในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับพระพุทธศาสนามหายานในเยอรมนี เริ่มต้นจากนิกายเซน หลังจากที่ ดร.ดี ที ซูสุกิ ทำให้เซนเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกแล้ว ในประเทศเยอรมนี ศาสตราจารย์ยูเจ็น เฮอริเก็ล (Eugen Herrigel) ก็ทำให้ชาวเยอรมันและชาวตะวันตกรู้จักเซนมากขึ้นผ่านงานเขียนชิ้น
สำคัญชื่อ Zen in the Art of Archery ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากติดอันดับ ติดต่อกันนานกว่า 40 ปี หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่ ยูเจ็น เฮอริเก็ลไปสอนวิชาปรัชญาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 ปี ในปี พ.ศ.24672472 ในระหว่างนั้นเขาได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติพระพุทธศาสนานิกายเซนไปด้วย เมื่อเขากลับมาเยอรมนีแล้ว ในปี พ.ศ.2479 ได้เขียนถ่ายทอดความรู้เรื่องเซนตีพิมพ์ในวารสารฉบับหนึ่งของเยอรมัน ภายหลังได้จัดทำเป็นหนังสือและแปลเป็นภาษาต่างๆ ใน พ.ศ.2496 ตั้งแต่นั้นมาชาวเยอรมันจึงรู้จักเซนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในระหว่างปี พ.ศ.25032513 พระพุทธศาสนาแบบเซนเป็นที่สนใจศึกษาและฝึกปฏิบัติกันมากในเยอรมนี
ในช่วงที่เซนกำลังได้รับความนิยมจากชาวเยอรมัน กลุ่มโซกะ กัคไค ของนิกายนิชิเร็น จากญี่ปุ่นก็เริ่มเข้าไปเผยแผ่ในปี พ.ศ.2505 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 8 ปี โดยกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปทำงานที่นั่น ผู้บุกเบิกเหล่านี้ทำงานอย่างเข้มแข็งต่อสู้กับวัฒนธรรมและศาสนาพื้นเมือง ในปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากส่วนพระพุทธศาสนาทิเบตนั้นเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายของชาวเยอรมันตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ.2523-2533 มีศูนย์กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่ม Diamond Way ของนิกายการ์จู (Kagyu) ปัจจุบันมีอยู่ถึง 126 ศูนย์กลุ่ม2 และยังมีนิกายอื่นๆ อีกจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28-30 พฤษภาคม พ.ศ.2546 องค์ทะไล ลามะ ได้เดินทางไปบำเพ็ญศาสนกิจที่ประเทศเยอรมนี เวลาที่พระองค์ไปเยือนแต่ละเมือง มีประชาชนในเยอรมนีมาต้อนรับและฟังปาฐกถาธรรมกันล้นหลาม เช่น เมืองเบอร์ลิน มีผู้ศรัทธามาต้อนรับและฟังธรรมถึง 18,000 คน และเมืองมิวนิกอีก 10,000 คน เป็นต้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา