พระพุทธศาสนาในตะวันตก
ประเทศอิตาลี
ประเทศอิตาลีมีชื่อเป็นทางการว่าสาธารณรัฐอิตาลี (Italian Republic) มีประชากรประมาณ 58,751,711 คน (พ.ศ.2549) ชาวอิตาลี 90% นับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกมีถึง 87.8% ชาวอิตาลี 36.8% ปฏิบัติตามหลักศาสนานิกายคาทอลิกด้วยตนเองและ 30.8% จะเข้าร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าคนอิตาลีมีความเคร่งครัดในคริสต์ศาสนามากกว่าชาวตะวันตกชาติอื่นๆ ทั้งนี้อาจจะเป็น เพราะอิตาลีเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนา มีนครรัฐวาติกันอยู่ใจกลางประเทศจึงทำให้คนอิตาลีใกล้ชิดกับศาสนา เป็นเหตุให้เคร่งครัดมากกว่าชาติอื่นๆส่วนพุทธศาสนิกชนในอิตาลีปัจจุบันมีประมาณ 110,000 คน มีองค์กรทางพระพุทธศาสนาประมาณ 110 องค์กร โดยส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธศาสนามหายาน โดยเฉพาะสายทิเบต (Tibetan) มีอยู่ 47 องค์กรรองลงมาเป็นพระพุทธศาสนาแบบเซนจากญี่ปุ่น มี 37 องค์กร พระพุทธศาสนาเถรวาทมีอยู่ 15 องค์กร นอกนั้นก็เป็นนิกายอื่นๆ หรือไม่สังกัดนิกาย
ชาวอิตาลีได้รับทราบเรื่องราวพระพุทธศาสนาครั้งแรกจากคำบอกเล่าของ มาร์โค โปโล เมื่อครั้งที่เขาเดินทางจากประเทศจีน ก่อนหน้านั้น มาร์โค โปโลได้พักอยู่ในจีนนานถึง 16 ปี ระหว่าง พ.ศ.1818พ.ศ.1834 หลังจากที่มาร์โค โปโล เล่าเรื่องพระพุทธศาสนาให้ชาวอิตาลีฟังจบแล้วไม่มีใครเชื่อเขาและเจ้าหน้าที่ได้จับเขาขังคุกทันที มาร์โค โปโลใช้เวลาว่างขณะอยู่ในคุกเขียนหนังสือ Description of the World เล่าเรื่องการเดินทางของเขา รวมทั้งเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศจีน ซึ่งภายหลังได้รับการจัดพิมพ์ หนังสือเล่มนี้ทำให้ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยรู้จักพระพุทธศาสนา
จากเรื่องราวพระพุทธศาสนาที่มาร์โค โปโลเล่าให้ชาวอิตาลีฟัง แม้ในครั้งนั้นจะไม่มีใครเชื่อเรื่องที่เขาเล่า แต่ก็ส่งผลให้หลังจากนั้นไม่นาน คือในปี พ.ศ.1877 พระสันตะปาปา นิโคลา ที่ 4 (Nicholas) ได้ส่งนักบวชจอห์น แห่งมอนเต คอร์วิโน ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ประเทศจีน นักบวชจอห์นพักอยู่ในจีนเป็นเวลาหลายปี และส่งจดหมายทูลรายงานพระสันตะปาปาถึงเรื่องประชาชนผู้นับถือพุทธปฏิมา ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอบแห่งนครข่านบาลิก (นครปักกิ่ง) ภายหลังจากนักบวชจอห์นเสียชีวิตแล้ว นักบวชฟรานซิสแกน ชื่อโอดอริก เดอ ปอร์เดโดเน ก็เดินทางไปทำหน้าที่แทนในปี พ.ศ.1873 และก็มีการส่งนักบวชคริสต์ไปเป็นระยะๆ เรื่องราวการเดินทางของคณะนักบวชเหล่านี้ก่อให้เกิดความสนใจแก่ประชาชนในยุโรปมาก ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ เรื่องราวในหนังสือ Voyages ของนักบวชจอห์น แมนเดอวิลเล (John Mandeville) ซึ่งเขียนในปี พ.ศ.1908 หนังสือเล่มนี้มีต้นฉบับ 300 เล่ม ถูกแปลเป็นภาษาทุกภาษาในทวีปยุโรป พิมพ์ถึง 22 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2013 จนถึงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 18
หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาในอิตาลีไม่มีอะไรเคลื่อนไหวมากนักจนกระทั่งถึงยุคของกูเซปเป เดอ โลเรนโซ (Giuseppe de Lorenzo) และกูเซปเป ทูซซี่ (Giuseppe Tucci) ปราชญ์พระพุทธศาสนาชาวอิตาลี ทั้งสองท่านได้สร้างผลงานไว้มากมาย ศ.กูเซปเป เดอ โลเรนโซ เกิดที่ลาโก เนโกร ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ.2414 เป็นผู้มีชื่อเสียงในฐานะเป็นนักธรณีวิทยาชั้นนำของโลก เพราะความสนใจพระพุทธศาสนา เขาจึงแปลหนังสือปรัชญาของอาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์เป็นภาษาอิตาลี และร่วมมือกับคาร์ล ยูยิน นิวแมนน์ นักปรัชญาพระพุทธศาสนาชาวเยอรมนีแปลคัมภีร์มัชฌิมนิกายจากภาษาบาลีเป็นภาษาอิตาลี เพื่อเผยแพร่แก่ชาวอิตาลีและชาวตะวันตกทั้งหลาย
ศ.กูเซปเป ทูซซี่ เป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาแบบทิเบตและประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เขาเกิดในปี พ.ศ.2437 ที่มาเซราตา ประเทศอิตาลี เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะที่จัดทำหนังสือถึง 210 เล่ม เป็นนายกสมาคมนักวรรณกรรมตะวันออกที่สำคัญของอิตาลี คือ Instituto Italaino Per il Medio Estremo Oriente เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Rome La Sapienza กูเซปเป ทูซซี่กล่าวถึงพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธศาสนาคือศาสนาที่กำลังมีชีวิตเป็นศาสนาเดียวที่ให้เครื่องหมายแห่งพลังชีวิตและพลังขับที่ชุ่มชื่น ความสนใจพระพุทธศาสนาที่อุบัติขึ้นในโลกตะวันตกมิใช่เพียงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในทางจิตภาพอีกด้วย พระพุทธศาสนามีสิ่งที่จะบอกให้ทราบในยามทุกข์สมัยเมื่อคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางศาสนามากหลายกำลังเสื่อมโทรม
ในปี พ.ศ.2514 ขณะที่ศาสตราจารย์กูเซปเป ทูซซี่ มีอายุ 77 ปี เขาเดินทางไปประเทศทิเบตและได้ นทนากับเทนซิง ผู้พิชิตขุนเขาเอเวอร์เรสต์ เทนชิงเล่าว่า จากการสำรวจดินแดนทิเบต เขาได้พบคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณ อายุประมาณ 2,000 ปี จารึกลงในเปลือกไม้ ศ.กูเซปเป ทูซซี่เชื่อว่า ภาษาที่จารึกเป็นภาษาเตอร์กิสถาน ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาในอดีตกาล และเชื่ออีกว่า คัมภีร์เหล่านี้คงถูกนำมาสู่ประเทศทิเบต แต่ยังค้นไม่พบว่าคัมภีร์ส่วนใหญ่เก็บเอาไว้ ณ ที่ใด เขาพยายามสืบเสาะหาแหล่งเก็บคัมภีร์เหล่านั้นในที่สุดก็พบว่า เก็บไว้ที่วัดฆันคาร์ (Ghangar) ซึ่งกองสุมอยู่กับคัมภีร์อื่นๆ มีกองฝุ่นจับหนาทึบทีเดียว ท่านขอซื้อแต่พระลามะไม่ยอมขายให้ โดยบอกว่า ความรู้มิได้มีไว้เพื่อซื้อขายแต่จะให้เปล่าแก่คนผู้ต้องการความรู้
พระภิกษุชาวทิเบตเองก็ได้เข้าไปปักหลักเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอิตาลีเช่นเดียวกัน เช่น ลามะเกชเช จำปะ กยัทโซ (Lama Geshe Jampa Pomaia) ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบัน Institue Lama Tzong Khapa ในเมือง Pomaia ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2519 เป็นสถาบันที่สำคัญมากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอิตาลี นอกจากนี้ยังมี "มูลนิธิลามะกังเชนเพื่อสันติภาพโลก" (The Lama Gangchen World Peace Foundation) ก่อตั้งโดยลามะกังเชน (Lama Gangchen) ในปี พ.ศ.2535 ที่เมืองมิลาน โดยมีสโลแกนว่า "สันติสุขภายใน คือรากฐานที่ดีที่สุดเพื่อสันติภาพโลก" (Inner Peace is the Best for World Peace) ท่านลามะกังเชนได้ขยายสาขาออกไปมากมายทั่วโลก ปัจจุบันมีมากกว่า 100สาขา และยังได้ตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นที่เมืองมิลาน เพื่อพิมพ์เผยแพร่หนังสือพระพุทธศาสนาแบบทิเบตด้วย จัดพิมพ์ต้นฉบับไปแล้วประมาณ 23 เล่ม เป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา บางเล่มพิมพ์ถึง 11 ภาษาทั้งนี้เพื่อปรารถนาให้ชาวโลกหลายชาติหลายภาษาได้มีโอกาสัมผัสขุมทรัพย์ทางปัญญาในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต
บุคคลสำคัญที่สุดที่ทำให้คนอิตาลีและชาวโลกสนใจพระพุทธศาสนาทิเบตคือองค์ทะไล ลามะ ท่านเดินทางไปประเทศอิตาลีบ่อยมาก ไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง ไปแต่ละครั้งก็ได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากทั้งผู้นำประเทศและผู้นำแห่งคริตจักรคือ พระสันตะปาปาแห่งนครรัฐวาติกัน ไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2549 ได้สนทนากับพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างศาสนาของกันและกัน (dialogue) นอกจากนี้ในการไปแต่ละครั้งยังได้สนทนากับนักการศึกษา นักธุรกิจ นักข่าวมากมาย
ในปี พ.ศ.2544 ท่านเดินทางไปเทศน์ที่สถาบัน Institue Lama Tzong Khapa ในเมืองมิลาน ครั้งนั้นมีคนมาฟังมากกว่า 3,000 คน จาก 22 ประเทศ รวมทั้งชาวทิเบต 150 คน ที่อยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป ก็เดินทางมาฟังเทศน์ในครั้งนั้นด้วย ขณะเทศน์มีล่ามแปลเป็นภาษาต่างๆ 4 ภาษา คือ อิตาลี เยอรมัน สเปน และอังกฤษ การปรากฏขององค์ทะไล ลามะ แต่ละแห่งในอิตาลีจะมีสื่อต่างๆ มาถ่ายทำข่าวมากมาย เช่น เมื่อครั้งที่ท่านไปสนทนากับ Mr.Claudio Martini ผู้นำแห่งแคว้นทัสคานี (Tuscany Region) ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2544 มีสื่อมวลชนไปทำข่าวกว่า 80 คนจากหลายองค์กร หรือบางครั้งก็ได้รับเชิญจากรายการทีวีในอิตาลี เพื่อสัมภาษณ์ทัศนะของท่านในเรื่องต่างๆ ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ
นอกจากพระพุทธศาสนาทิเบตแล้ว มหายานนิกายอื่นก็เข้าไปเผยแผ่ด้วยคือ นิกายโซกะกัคไค โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ.2519 จากนักศึกษาในระดับมัธยมปลาย 2 ท่าน คือ ไพไร บอร์ริ (Piero Borri) และมาร์โค มะกรินิ (Marco Magrini) ทั้งสองท่านนี้ได้สัมผัสพระพุทธศาสนาครั้งแรกโดยการรับฟังจากนักร้องชาวอเมริกันสองคนชื่อ คาร์ล พอตเตอร์ (Karl Potter) และมาร์วิน สมิท (Marvin Smith) ขณะที่ทั้งสองแสดงคอนเสิร์ทในที่แห่งหนึ่ง
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไพไร บอร์ริ และมาร์โค มะกรินิ จึงเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนานิกายโซกะ กัคไค และเผยแผ่ไปสู่กลุ่มเพื่อนนักเรียนด้วยกันในชั้นเรียน ปรากฏว่า เพื่อนที่สนใจพระพุทธศาสนามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากสองเป็นสาม จากสามเป็นสี่ จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2519 ในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีการจัดประชุมสมาชิกขึ้นครั้งแรกที่หมู่บ้านปอปเปียโน (Poppiano) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในซอกเขาใกล้เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ในครั้งนั้น มีสมาชิกทั้งหมด 60 คน ต่อมาก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ.2524 ผู้นำองค์กรโซกะ กัคไค คือ ไดซาขุ อิเคดะ (Daisaku Ikeda) เดินทางไปอิตาลีเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เขาได้สร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจและตอบคำถามแก่นักเรียนกลุ่มนี้โดยใช้เวลาหลายชั่วโมงพาพวกเขาเดินสนทนาไปตามท้องถนน ในเมืองเรนเนสเซน (Renaissance)
ผลจากการกระตุ้นของไดซาขุ อิเคดะ ทำให้เยาวชนเหล่านี้มีกำลังใจขึ้นมากและได้สร้างงานพระพุทธศาสนาบนพื้นฐานแห่งปรัชญาโซกะ กัคไค ให้เจริญก้าวหน้าไปตามลำดับชาวอิตาลีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนหันมาดำเนินชีวิตตามหนทางนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาได้ช่วยกันออกนิตยสารพระพุทธศาสนารายเดือนขึ้น ใช้ชื่อว่า II...Nouvo..Rinascimento (The New Renaissance) ฉบับแรกออกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 กิจการได้ขยายใหญ่โตขึ้นตามลำดับในปี พ.ศ.2543สามารถจัดทำนิตยสารได้เดือนละ 21,000 เล่ม นอกจากงานด้านนิตยสาร แล้ว ในปี พ.ศ. 2541 องค์กรโซกะ กัคไค อิตาลี ได้เริ่มต้นจัดนิทรรศการ "Toword a Century of Humanity" ขึ้นเพื่อให้ความรู้และกระตุ้นชาวโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน (Human Rights in Todays World) โดยจัดหมุนเวียนไปตามเมืองต่างๆ คือ โรม มิลาน เนเปิล เวนิส เป็นต้น ชาวอิตาลีกว่า 80,000 คน เข้าร่วมชมนิทรรศการนี้
องค์กรโซกะ กัคไค อิตาลี มีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับจนสามารถทำงานที่มีขนาดใหญ่ได้ คือ ในปี พ.ศ.2542 ได้ร่วมมือกับสมาคมคริสต์ศาสนารวบรวมลายเซ็นของผู้ที่คัดค้านโทษประหารชีวิตรอบโลกเพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิต เฉพาะในเมืองฟลอเรนซ์สามารถรวบรวมลายเซ็นได้กว่า 180,000 คน และทั่วประเทศอิตาลีกว่า 435,000 คน ซึ่งการทำงานชิ้นนี้เป็นโอกาสำคัญในการเผยแผ่คำสอนของโซกะ กัคไคไปด้วย ทั้งนี้เพราะสมาชิกต้องเดินทางไปพบกับผู้คนมากมายในทุกสาขาอาชีพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมาชิกขององค์กรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ.2543 เฉพาะเมืองฟลอเรนซ์มีสมาชิกกว่า 2,500 คน หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญคือนายกเทศมนตรี ลีโอนาโด โดมินิซิ (Leonardo Dominici) ผู้ประกาศยืนยันความศรัทธาว่า เมืองฟลอเรนซ์มีจุดยืนแห่งการสร้างสันติภาพภายใต้หลักการของไดซาขุ อิเคดะ ผู้นำแห่งโซกะ กัคไค
พระภิกษุชาวอิตาลีนิกายเถรวาทก็มีอยู่พอสมควร ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ พระอู. โลกนาถเถระ (U.Lokanatha Thera) อุปสมบทที่ประเทศพม่าในปี พ.ศ.2468 จากนั้นได้จาริกธุดงค์ไปในดินแดนพระพุทธศาสนาต่างๆ รวมทั้งไทย เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาจนมีความรู้ระดับหนึ่งแล้วจึงกลับไปเผยแผ่ที่บ้านเกิดคือประเทศอิตาลี แต่ไม่ได้ผลเพราะศาสนาคริสต์มีอิทธิพลสูงมาก ท่านจึงเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าข้ามทวีปยุโรปตอนใต้และเอเชียไมเนอร์มุ่งสู่อินเดียเดินทางถึงประเทศพม่าในปี พ.ศ.2471 จากนั้นอีก 5 ปีเต็มได้มุมานะศึกษาพระไตรปิฎกนั่งสมาธิ ถือธุดงควัตร 13 ข้ออย่างเคร่งครัด ฉันมังสวิรัติ ไม่เอนหลังนอนเลยตลอด 34 ปีเต็มนับตั้งแต่ พ.ศ.24752509 ท่านได้นำขบวนธรรมทูตจากพุทธคยาไปเผยแผ่ 3 ครั้งคือ ในปีพ.ศ.2476 ไปประเทศพม่า พ.ศ.2482 ไปประเทศไทย และพ.ศ.2483 ไปประเทศศรีลังกา โดยมีเป้าหมายเพื่อปลุกเร้าประชาชนพม่า ไทย และศรีลังกา ให้สนใจพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานั้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา