พุทธประวัติ

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2560

พุทธประวัติ

พุทธประวัติ, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, อินเดีย

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรสแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระบิดาพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่า พระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่งโกลิยวงศ์ จากกรุงเทวทหะ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ครบทศมา ทรงขอลาพระสวามีเพื่อกลับไปมีพระประสูติกาลที่กรุงเทวทหะเมืองประสูติของพระองค์ตามธรรมเนียมในครั้งนั้น ครั้นเดินทางมาได้ครึ่งทางถึงสวนสาธารณะใหญ่ชื่อ "ลุมพินี" พระนางเกิดประชวรพระครรภ์และประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นรังใหญ่ ในวันเพ็ญเดือน 6 เวลาใกล้เที่ยง ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

    หลังจากประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนราชาเชิญพราหมณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเวท จำนวน 108 ท่าน มาฉันโภชนาหาร และให้เลือกเหลือเพียง 8 ท่านเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในวิชาลักษณะพยากรณ์เพื่อทำหน้าที่พิจารณาทำนายลักษณ์ของพระโอร และขนานพระนามพราหมณ์ทั้ง 8 ท่านที่ได้รับเลือก คือ รามพราหมณ์ ลักษณพราหมณ์ ยัญญพราหมณ์ ธุชพราหมณ์โภชพราหมณ์สุทัตตพราหมณ์สุยามพราหมณ์ และโกญทัญญพราหมณ์ พราหมณ์ 7 ท่านแรกเห็นลักษณะของพระโอรสแล้วได้ทำนายเป็น 2 นัย คือ ถ้าพระโอรสอยู่เรือนจะได้เป็นพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ หากออกผนวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกส่วนโกญทัญญพราหมณ์ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในพราหมณ์ 8 ท่านนั้น ทำนายชี้ชัดลงไปว่า พระโอร นี้จะออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน จากนั้นพราหมณ์ทั้งหมดก็มีความเห็นตรงกันที่จะขนานพระนามพระโอรสว่า "สิทธัตถะ" หรือ "สิทธารถ" ซึ่งแปลว่าสำเร็จดังปรารถนา

      หลังจากวันขนานพระนาม 2 วัน เมื่อพระโอรสมีพระชนมายุได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สิ้นพระชนม์ เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ในการเลี้ยงดูของพระนางมหาปชาบดี ซึ่งเป็นพระน้านางของพระองค์และเป็นมเหสีองค์ที่ 2 ของพระเจ้าสุทโธทนะ เจ้าชายสิทธัตถะมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระชนกที่ประสูติจากพระนางมหาปชาบดี 2 พระองค์คือ พระนันทะและพระนางรูปนันทา และยังมีลูกพี่ลูกน้องในศากยวงศ์รุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายพระองค์ คือ เจ้ามหานามะ เจ้าอนุรุทธะ ซึ่งเป็นโอร ของพระเจ้าอาสุกโกทนะ เจ้าอานนท์ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ และเจ้าเทวทัต โอรสของอาหญิงอมิตาศากยะ กุมารที่มีอายุมากกว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีเพียงองค์เดียว คือ เจ้ามหานามะ

    ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชันษาได้ 7 พรรษา ก็ได้รับการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์จากพราหมณ์ในราชสำนักจนจบสิ้นวิชาการ พระชนกเห็นว่ากุมารฉลาดปราดเปรื่องจึงส่งไปศึกษาต่อยังสำนักของอาจารย์ วิศวามิตร ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นปราชญ์ที่ไม่มีใครทัดเทียมในสมัยนั้นเจ้าชายสิทธัตถะได้ศึกษาวิชาพระเวท เวทางคศาสตร์ จิตศาสตร์ และคัมภีร์อุปนิษัท จนแตกฉานเชี่ยวชาญในวิชาต่างๆ อย่างรวดเร็วกระทั่งสิ้นความรู้ของอาจารย์ มีความรู้พรั่งพร้อมที่จะได้รับตำแหน่งเป็นราชาและเป็นจักรพรรดิปกครองชมพูทวีปในอนาคต

     เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชันษาได้ 16 พรรษา พระชนกเห็นว่าสมควรจะมีชายาได้แล้วจึงไปสู่ขอเจ้าหญิงยโสธรา หรือพิมพา พระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ ที่ประสูติจากพระนางอมิตามาอภิเษกเป็นชายา และต่อมาได้มีพระโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งนามว่า ราหุล ชีวิตการครองเรือนของเจ้าชายสิทธัตถะได้รับการปรนเปรอจากพระชนกและพระประยูรญาติอย่างดีที่สุดสิ่งใดที่คิดว่าจะทำให้เจ้าชายพอใจ พระชนกจะต้องรีบจัดหามาให้โดยหวังว่าจะให้เจ้าชายอยู่ครองเรือนไปตลอดชีวิต และหมายมั่นจะให้ได้เป็นพระราชาและพระเจ้าจักรพรรดิในอนาคต

    จะเห็นได้ว่า ในวัยหนุ่มเจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ จนเจนจบ และออกบวชเมื่อทรงพระชนมายุ 29 พรรษา ทรงมีประสบการณ์ทางการปกครองอย่างดี แต่ด้วยบุญบารมีที่ทรงสั่งสมมาอย่างดีแล้วบันดาลให้ทรงพบเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต เป็นเหตุให้พระองค์มองเห็นความทุกข์ของการอยู่ครองเรือนและปรารถนาจะหาทางพ้นทุกข์ด้วยการออกบรรพชา โดยเสด็จออกในเวลากลางคืน ทรงม้ากัณฐกะและมีมหาดเล็กชื่อฉันนะตามเสด็จ เมื่อไปถึงฝังแม่น้ำอโนมาทรงตัดพระเกศา ละเพศฆราวาส ผนวชเป็นบรรพชิตแล้วให้นายฉันนะกลับไปแจ้งให้พระชนกและประยูรญาติทราบ

   จากนั้นพระองค์เสด็จไปยังสำนักอาฬารดาบสและอุทกดาบสทรงศึกษาวิชาความรู้จนเจนจบทุกอย่างเท่าที่อาจารย์ทั้งสองสามารถสอนได้ แต่พระองค์ทรงเห็นว่าความรู้เท่านี้ไม่สามารถตรัสรู้ได้ จึงปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรตามลำพังด้วยวิธีการต่างๆ ที่เชื่อกันในยุคนั้นว่าจะเป็นทางแห่งการตรัสรู้ เช่น การทรมานพระวรกาย เป็นต้น แม้ปฏิบัติอยู่ถึง 6 ปีด้วยความวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด เมื่อทำจนถึงที่สุดแล้วแต่ก็ไม่นำไปสู่การตรัสรู้ธรรม พระองค์จึงหันมาบำเพ็ญเพียรด้วยการทำสมาธิดำเนินจิตไปตามหนทางสายกลาง ในที่สุดก็ได้บรรลุพระธรรมกาย ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

      เมื่อตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ตลอดจนพวกนอกวรรณะให้ตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ และเข้ามาขออุปสมบทเป็นพุทธสาวกมากมาย บางพวกก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งกันจำนวนมาก พุทธวิธีการสอนของพระองค์มีหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะและอุปนิสัยของแต่ละบุคคล จึงทำให้ผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจและตรัสรู้ตามได้โดยง่าย พระองค์ทรงใช้เวลา 45 ปี เผยแผ่พุทธธรรมปักหลักพระศาสนาในชมพูทวีป และเสด็จขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036930648485819 Mins