พระพุทธศาสนาในตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันที่ 24 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในตะวันตก
ประเทศสหรัฐอเมริกา

     ประเทศสหรัฐอเมริกา (United Stats of America) มีประชากรประมาณ 300,080,997 คน (พ.ศ.2549) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (ประมาณ 76.7) ส่วนที่เหลือประมาณ 24.3% นับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีศาสนา จากสำรวจของ  Pew Research Center ในปี พ.ศ.2547 พบว่ามีประชากรที่ไม่มีศาสนา (Non-Religious) อยู่ถึง 18.5% (อายุ30 = 12.5%, อายุ30 = 6%) คิดเป็น 55,514,984 คน ประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด คนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ 55,514,984 คน นี้เกือบเท่ากับประชากรในประเทศไทยทั้งประเทศ คือ 60 กว่าล้านคน และจากข้อมูลใน Wikipedia ระบุว่าในปี พ.ศ.2539 มีการสำรวจความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐเมริกา 1,000 คน เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า มีนักวิทยาศาสตร์อยู่ถึง 60.7% ที่ไม่เชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า (Atheists) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆสำหรับพุทธศาสนิกชนนั้นจากรายงานของ  The U.S. State Department's International Religious Freedom ในปี พ.ศ.2547 ระบุว่า มีอยู่ประมาณ 1% หรือประมาณ 3,000,000 คน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนามหายานนิกายเซนและทิเบต

      จุดเริ่มต้นที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา มาจากผลแห่งชัยชนะของพระพุทธศาสนาในการโต้วาทีท่ามกลางมหาชนครั้งสำคัญ ณ ปานะทุระ ประเทศศรีลังกา ในปี พ.ศ.2416 ระหว่างพระมิเคตตุวัตเต คุณานันทเถระ กับคณะบาทหลวงคริสต์ ซึ่งมีบาทหลวงเดวิด เดอ ซิลวา เป็นหัวหน้าคณะ หนังสือพิมพ์ The Time of Ceylon พาดหัวข่าวว่า พระมิเคตตุวัตเต คุณานันทเถระเพียงรูปเดียว ได้เผชิญหน้ากับบาทหลวงชั้นนำของศาสนาคริสต์ และมีชัยต่อปรปักษ์อย่างงดงาม ดร.เจมส์ มาร์ติน พีเบิลส์ นำคำโต้วาทีไปพิมพ์เผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีกในสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวอเมริกันเกิดความสนใจและหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พันเอกเฮนรี่ ตีล โอลคอตต์ ในปี พ.ศ.2423 เขาและมาดามเอช.พี.บลาวัตสกี เดินทางไปประเทศศรีลังกาเพื่ออุทิศชีวิตฟื้นฟูพระพุทธศาสนา


     พันเอกเฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ แต่งหนังสือชื่อ ปุจฉาวิสัชชนาทางพระพุทธศาสนา (Buddhist Catechism) พิมพ์เผยแพร่ใน หรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2424 แต่คนยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก จนกระทั่งปี พ.ศ.2436 ท่านอนาคาริก ธัมมปาละ ชาวศรีลังกาเดินทางไปประชุม สภาศาสนา ( Parlisment of Religions) และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ นครชิคาโก จึงเริ่มมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนและชาวญี่ปุ่น ในครั้งนั้นมีชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ ซี.ที.เอ . เตราส์ (C.T.S.Strauss) ได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
โดยรับไตรสรณคมน์และศีล 5 จากท่านอนาคาริกธรรมปาละ กล่าวได้ว่า ซี.ที.เอ . เตราส์
เป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะในนครนิวยอร์ก นอกจากนี้ ท่านอนาคาริกธัมมปาละ ยังได้ผู้อุปถัมภ์งานพระพุทธศาสนาคนสำคัญคือ นางแมรี่ มิกาฮาลา ฟอสเตอร์ (mary Mikahara Foster)สุภาพสตรีชาวอเมริกันผู้มั่งคั่ง

     ในปี พ.ศ.2434 มีการจัดตั้งชมรมวรรณกรรมตะวันออกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดขึ้นและในปีเดียวกันนี้เอง ทางชมรมได้พิมพ์หนังสือเล่มแรกขึ้นเผยแพร่คือ หนังสือชาดกมาลา อันเป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็มีการจัดพิมพ์คัมภีร์พระพุทธศาสนาออกเผยแพร่อีกจำนวนมาก เช่น Buddhism Legends  ซึ่งเป็นหนังสือคำแปลอรรถกถาธรรมบท หนังสือ The Buddha's Teachings และหนังสือ Being the Sutta Nipata or Discourse Collection และคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ศาสตราจารย์แลนแมน บรรณาธิการคนแรกของชมรมได้อธิบายไว้ว่า ชมรมนี้ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอบทเรียนทั้งหลายอันหาที่เปรียบเทียบมิได้แก่ชาวตะวันตก บทเรียนเหล่านี้ศาสดาทั้งหลาย ผู้อัจฉริยะสามารถสอนพวกเราได้ บทเรียนทั้งหลายว่าด้วยความหวังดีแก่กันและกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล ระหว่างชาติต่อชาติ ฝึกฝนจิตโดยการเอาชนะเจตจำนงชั่วร้าย ความวิตกกังวลความเร่งร้อนในการงาน ลดความปรารถนาทั้งหลายของเราลงระดับความเหมาะสมกับตัวเราการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย และเหนืออื่นใดก็คือ การแสวงหาพระเจ้า การรู้แจ้งซึ่งสัจธรรมไม่ว่าจะโดยตรรกยกรณ์ (Resoning) หรือโดยศรัทธา...

     พระพุทธศาสนานิกายรินไซเซนจากประเทศญี่ปุ่นเผยแผ่เข้าสู่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี พ.ศ.2436 โดยโซเยน ชากุ (Soyen Shaku) ซึ่งได้รับนิมนต์จากจอห์น เฮนรี่ บาร์โร (John Henry Barrows) ให้มาร่วมสัมมนาที่สภาแห่งศาสนาโลก (World Parliament of Religions) ในนครชิคาโก ซึ่งเป็นการมาประชุมครั้งเดียวกันกับที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละเข้าร่วม ในครั้งนั้นโซเยน ชากุ ได้กล่าวถึงเรื่องกฎแห่งกรรม การไม่ใช้ความรุนแรง และความปรองดองต่อ

    ศาสนาอื่นๆ ในกิจกรรมสัมมนาเขาได้มีโอกาสนทนากับดร.ปอล คารุส (Dr.Paul Carus) ปราชญ์พระพุทธศาสนาชาวอเมริกัน ดร.ปอล คารุส กล่าวกับเขาว่า ให้ช่วยส่งผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนานิกายเซนซึ่งสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาที่สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ช่วยสอนชาวอเมริกันทั้งหลายให้มีความรู้ความเข้าใจในเซน หลังจากที่โซเยน ชากุกลับไปที่ญี่ปุ่นแล้ว จึงได้ไปชวน ดร.ดี ที ซูสุกิ ศิษย์ของตน ซึ่งเป็นนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ต่อมาในปี พ.ศ.2440 ดร.ดี ที ซูสุกิก็ได้ไปทำงานร่วมกับดร.ปอล คารุส ที่มลรัฐอิลลินอยส์ ณ ที่นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนานิกายเซนและคัมภีร์อื่นๆ อีกมากมายออกสู่สังคมตะวันตกชาวตะวันตกโดยมากรู้จักเซนเพราะผลงานของเขา

     ดร.ปอล คารุสแม้จะเป็นบุตรของประมุขแห่งคริสต์ศาสนจักรปรัสเซียตะวันออกและตะวันตก แต่เขาก็มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เขียนหนังสือชื่อ The Gospel of Buddha ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของเขา จัดพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2437 ปรากกฎว่าขายดีมาก ในหนังสือตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "จงรื่นเริง ณ กระแสอันน่ายินดี พระพุทธเจ้า พระบรมครูของเราได้ทรงค้นพบรากเหง้าของความชั่วร้ายทั้งมวล พระองค์ได้ตรัสชี้มรรคาความหลุดพ้นจากความทุกข์ให้แก่พวกเรา" หนังเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา และนำไปสอนในโรงเรียนชาวพุทธที่ศรีลังกาและญี่ปุ่นด้วย กาลใดพระพุทธศาสนาถูกโจมตี กาลนั้นดร.ปอล คารุสจะถาโถมเข้าปกป้องด้วยชีวิต เช่น ตอนที่เซอร์ มอร์เนียร์ มอร์เนียร์ วิลเลียมส์ (Sir Monier monier Williams) เขียนหนังสือโจมตีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านั้นไร้คุณค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประทีปของโลกคือพระเยซู

    ดร.ปอล คารุสได้ตอบโต้กลับไปว่า หนังสือพระพุทธศาสนาของเซอร์ มอร์เนียร์ เป็นหนังสือชั้นเลว โดยความพยายามซ้ำและซ้ำอีกที่จะลดคุณค่าของพระพุทธเจ้าลงมาให้ไร้คุณค่าอย่างน้อยที่สุดพระพุทธเจ้าก็เป็นพระบรมครูผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดของโลกพระองค์หนึ่ง...ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างมั่นคงมากกว่าอดีตกาลเสียแล้วว่า ศาสนจักรคริสเตียนของพวกเราย่อมสามารถกลายเป็นศาสนาแท้จริงทางวิทยาศาสตร์ เป็นศาสนาสากลตรงตามหลักตรรกวิทยาและมีความสำคัญสากลก็โดยการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมเป็นอย่างพุทธศาสนาเท่านั้น

    นอกจากพระนิกายเซนจากญี่ปุ่นแล้ว ชาวตะวันตกก็มีพระภิกษุเซนที่มีความสำคัญต่องานเผยแผ่พระศาสนาด้วย เช่น พระภิกษุชาวอังกฤษ ชื่อ เออร์เน ท์ ชินการุ ฮันท์ (Ernest Shinkaru Hunt) ซึ่งบวชในประเทศญี่ปุ่นปี พ.ศ.2467 ท่านได้ตั้งสถาบันพระพุทธศาสนาขึ้นทีฮาวาย ในปี พ.ศ.2475 ชื่อ  The International Buddhist Instute of Hawaii  และได้ตั้งคณะสงฆ์พระพุทธศาสนาชาวตะวันตก (The Western Buddhist Order) ขึ้นด้วย เพื่อให้การทำงานพระศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ในครั้งนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานสงฆ์ พระชินการุเป็นชาวตะวันตกนิกายเซนรูปแรกที่ได้เลื่อนตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้น 1 ตำแหน่งนี้เรียกว่า ไดโอโช (Dai-osho) และที่สำคัญท่านเป็นบุคคลที่ได้รับคารวะจากพุทธศาสนิกชนทุกนิกาย ซึ่งมีน้อยคนที่จะได้รับเช่นนี้

    ในปี พ.ศ.2475 ปีเดียวกันนี้เอง มีผลงานวิชาการชิ้นสำคัญเกิดขึ้น โดย ดร. ไดไวท์ กอดดาร์ด (Dwight Goddard) เมธีชาวพุทธผู้เคร่งครัด ได้จัดทำหนังสือคัมภีร์พระพุทธศาสนา (The Buddhist Bible) เผยแพร่เป็นครั้งแรก เขาคัดเลือกคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากคัมภีร์บาลีสันสกฤต จีน ทิเบต มองโกเลีย เป็นคัมภีร์รวมย่อคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง ดไวท์ กอดดาร์ด มีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า ผลแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมสามารถรักษาความชั่วร้ายของโลกให้หมดไปได้ เขาปลุกเร้าชาวตะวันตกให้รับเอาพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นประทีปชีวิต

    อาจารย์นิกายเซนที่เผยแผ่พุทธธรรมในสหรัฐอเมริกานั้น ยังมีอีกหลายท่านทั้งชาวเอเชียและชาวตะวันตก เช่น โรเบิร์ต ไอเค็น (Robert Aitken) ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง The Diamond Sangha ขึ้นที่าวาย ในปี พ.ศ.2502 เขาได้ขยายสาขาออกไปมากมายทั้งในสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา เยอรมนี และออสเตรเลีย พระชาวจีนนิกายเซนหรือชาน (Chan) รูปแรกที่มาเผยแผ่ในสหรัฐอเมริกาคือ Hsuan Hua ท่านก่อตั้ง  The Dharma Realm Buddhist Association(DRBA) ขึ้นที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี พ.ศ.2502 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสอนพระพุทธศาสนาเซนแบบจีนแก่ชาวอเมริกัน และยังได้ก่อตั้งองค์กรเซนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น The Gold Mountain Monastery, The City of Ten Thousand Buddhas เป็นต้น

 พระภิกษุนิกายเซนชาวเกาหลีที่มีชื่อเสียงในอเมริกาคือท่านเชียงเย็น (Sheng-yen) ซึ่งเดินทางมาสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2513 และได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนานิกายเซนชื่อ The Kwan Um School Og Zen ขึ้นในปี พ.ศ.2515 ได้ขยายสาขาออกไปกว่า 100 แห่งทั้งในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง หัวใจสำคัญในการฝึกของอาจารย์เชียงเย็นคือ การฝึกเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมในทุกกิจกรรม ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องรับประทานอาหารร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และฝึกสมาธิร่วมกัน หากทำเป็นทีมจะทำให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ชาวพุทธญี่ปุ่นนอกจากจะนำนิกายเซนมาเผยแผ่แล้วยังได้นำนิกายโซกะ กัคไค เข้ามาด้วย โดยจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2503 และเพียงเวลาไม่ถึง 40 ปี ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีสาขากว่า 71 แห่ง มีสมาชิก 330,000 คน กระจายอยู่ทั่วทุกมลรัฐ

    สำหรับพระพุทธศาสนามหายานแบบทิเบตนั้น เข้าสู่สหรัฐอเมริกาหลังนิกายเซน โดยลามะรูปแรกที่เป็นผู้บุกเบิกคือ Geshe Ngawang เป็นลามะนิกายเกลุก (Gelug) ท่านเดินทางไปอเมริกาในปี พ.ศ.2498 และจัดตั้งสมาคมลามะแห่งอเมริกา "lamaist Buddhist Monastery of America" ขึ้นที่มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ในปี พ.ศ.2501 ลูกศิษย์ชาวอเมริกันของท่านที่เป็นนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงมีหลายท่าน เช่น Robert Thurman, Jeffey Hopkins และ Alexander Berzin หลังจากนั้นก็มีลามะท่านอื่นๆเข้าไปเผยแผ่อีกหลายรูป 

   สำหรับท่านทะไล ลามะองค์ปัจจุบัน ไปอเมริกาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2522 และไปเยือนครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน พ.ศ.2546 ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติสาเหตุที่องค์ทะไล ลามะเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกเป็นผลมาจากเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ฮอลลีวูดสตูดิโอแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถ่ายทำชีวิตของท่านลงสู่แผ่นฟิล์มออกฉาย ในปี พ.ศ.2540 ในเรื่องคุนดุน (Kundun) และเรื่องเจ็ดปีในทิเบต (Seven years in Tibet) โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ แบรด พิตต์ ดาราชื่อดังแห่งฮอลลีวูดเป็นนักแสดงนำ จึงทำให้มีคนติดตามชมกันทั่วโลก ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของทิเบตคือ กรณีที่ประเทศจีนนำโดยเหมาเจ๋อตุง เข้ายึดครองทิเบตในปี พ.ศ.2494 และเป็นเหตุให้องค์ทะไล ลามะต้องเสด็จลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ธรรมศาลา ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.2502 ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความสะเทือนใจแก่ชาวโลกอย่างมาก และที่สำคัญได้สั่นสะเทือนการเมืองจีนไม่น้อย จนรัฐบาลจีนถึงกับประกาศห้าม  Martin Scorsese ผู้กำกับชื่อดัง และแบรด พิตต์ เข้าไปเหยียบแผ่นดินจีน


    ในปี พ.ศ.2504 ประเทศจากทวีปเอเชีย 8 ประเทศ คือ พม่า กัมพูชา ลังกา อินเดีย ลาว ไทย เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น ได้ร่วมกันก่อสร้างวัดพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้น โดยการประชุมกันของเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ การรวมตัวกันครั้งนี้เป็นการแสดงพลังสามัคคีของชาวพุทธให้โลกได้ประจักษ์ว่า แม้มาจากต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์กัน แต่ชาวพุทธมีเลือดสีเดียวกันคือ สีกาสายะ เป็นสมณศากยบุตรเหมือนกัน

    ในปีเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซินได้เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตร์ในระดับปริญญาเอกขึ้นเป็นแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ในแผนกวิชาภารตศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยพุทธธรรมขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเปิดสอนสาขาวิชาพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และนับจากนั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้เปิดสอนพระพุทธศาสนา และในปี พ.ศ.2539 มีมหาวิทยาลัยประมาณ 15 แห่ง ที่เปิดสอนหลักสูตรพระพุทธศาสนาจนถึงปริญญาเอก เช่น  Havard University, Princeton University, University of Chicago, University of Virginia  เป็นต้น แต่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาเกือบทุกแห่งในสหรัฐอเมริกาเปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนา

    สำหรับพุทธศาสนิกชนไทยในอเมริกา ได้ร่วมใจกันก่อตั้งพุทธสมาคมไทยอเมริกันขึ้นที่นครลอสแอนเจลิส สรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี พ.ศ.2513 ได้นิมนต์พระสงฆ์ไทย จำนวน 3 รูป คือ พระราชโมลี (พระเทพโสภณ วัดพระเชตุพนฯ) พระวชิรธรรมโสภณ (วัดวชิรธรรมสาธิต) และพระมหาสิงห์ทน (วัดพระเชตุพนฯ) เดินทางไปจำพรรษาชั่วคราวที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากนั้น 2 ปี คือในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2515 มีการวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยสมเด็จพระวันรัต (ปุณฺณสิริมหาเถระ) เป็นองค์ประธาน ได้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พร้อมประกอบพิธีฝังลูกนิมิตและผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2525 ภายหลังมีการสร้างวัดไทยขึ้นอีกหลายวัดด้วยกัน เช่น วัดไทยลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย วัดพุทธวราราม รัฐโคโลราโด วัดธรรมาราม รัฐอิลลินอยส์ วัดไทยกรุงวอชิงตันดี.ซี. รัฐแมรีแลนด์ เป็นต้น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02785259882609 Mins