พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศอินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย (Indonesia) มีชื่อเป็นทางการว่าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) เป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเมืองหลวงชื่อ จาการ์ตา และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 222,781,000 คน (พ.ศ.2548) นับถือศาสนาอิสลาม 87% ศาสนาคริสต์ 9.5% ศาสนพราหมณ์-ฮินดู 1.8% ศาสนาพุทธ 1.3% ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลกคือประมาณ 193,819,470 คน ชาวมุสลิมเหล่านี้มีความเคร่งครัดต่อศาสนามาก ในวันฮารีรายอ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประกอบศาสนกิจที่มัสยิดหลายล้านคน
แม้ในปัจจุบันอินโดนีเซียจะเป็นประเทศมุสลิม แต่ในอดีตพระพุทธศาสนามหายานเคยเจริญมาก่อน มีอนุสรณ์สถานสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา คือ โบโรบุดุร์ (Borobudur) หรือบรมพุทโธ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในที่ราบเกตุ (Kedu) ภาคกลางของเกาะชวา มีรูปทรงคล้ายกับพุทธวิหารที่พุทธคยา แต่กดให้แบนลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสูง 42 เมตร มีขนาดรวม 123 ตารางเมตร ภายหลังถูกฟ้าผ่าและภูเขาไฟระเบิดจึงทำให้ความสูงลดลงเหลือเพียง 31.5 เมตร หินที่ใช้ก่อสร้างและสลัก เป็นหินที่ได้จากลาวาภูเขาไฟประมาณ 55,000 ตารางเมตร
ดร.กรอม (Krom) กล่าวว่า "โบโรบุดุร์" มาจากคำว่า "ปะระ + พุทธ" ดร. ตัทเตอ ไฮม์ (Statterheim)สันนิษฐานว่า "บุดุร" มาจากคำว่า "บุดิว" (Budue) ในภาษามีนังกะบัว (Minangebau) แปลว่า "เด่น ยื่นออกมา" ฉะนั้น "โบโรบุดุร์" จึงควรแปลว่า "วิหารที่เด่นอยู่บนยอดเขา" จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวว่า คำว่า "โบโรบุดุร์" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "ปรมะ + พุทธ" ซึ่งหมายถึง "พุทธ (วิหาร) ที่ยิ่งใหญ่"
พระพุทธศาสนาเข้าสู่อินโดนีเซียในตอนต้นศตวรรษที่ 1 (ค.ศ.1-100 พ.ศ.544+643) ผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลระหว่างอินเดียและอินโดนีเซีย โดยคณะพ่อค้าชาวพุทธนำเข้ามาเผยแผ่ ตั้งแต่บัดนั้นพระพุทธศาสนาจึงค่อยๆ เจริญขึ้นและเจริญสูงสุดในช่วงราชวงศ์ไสเล็นทรา (Sailendra) ในปี พ.ศ.1293-1393 เหล่ากษัตริย์ในราชวงศ์นี้นับถือพระพุทธศาสนามหายานนิกายวัชรยาน ได้สร้างมหาสถูปบรมพุทโธขึ้นในช่วงปี พ.ศ.1323-1376 มหาสถูปนี้เป็นอนุสรณ์สถานทางพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่สิ่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอิทธิพลและเป็นแบบอย่างต่อการก่อสร้างพุทธสถานในยุคต่อมา เช่น นครวัด (Angkor Wat) ในประเทศกัมพูชา เป็นต้น
ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 122 พ่อค้าอาหรับนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่และได้ขยายไปทั่วประเทศประมาณศตวรรษที่ 14 ยุคนี้เป็นยุคเสื่อมของพระพุทธศาสนา บรมพุทโธถูกปล่อยปละละเลยให้ถูกห้อมล้อมอยู่กลางป่ารกชัฏ จนกระทั่งปี พ.ศ.2357 เซอร์ โทมัส แรฟึล (Sir Thomas Raffles) ได้ค้นพบบรมพุทโธอีกครั้งและทำการปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพดีต่อมาปี พ.ศ.25152525 รัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับองค์การยูเนสโกได้ปฏิสังขรณ์บรมพุทโธครั้งใหญ่ และจัดให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกอีกด้วย
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงที่อิสลามเจริญรุ่งเรือง พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียอันน้อยนิดได้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาไว้มิให้สูญสิ้นไป มีชาวพุทธจากประเทศต่างๆเข้าไปฟนฟูพระพุทธศาสนาอยู่เป็นระยะๆ ในปี พ.ศ.2512 คณะสงฆ์ไทยจัดส่งพระธรรมทูตเข้าไป ได้ตั้งสำนักงานพระพุทธเมตตาขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันอินโดนีเซียมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ประมาณ 150 วัด เป็นวัดฝ่ายมหายาน 100 วัด วัดนิกายเถรวาท 50 วัด วัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของฆราวาสเนื่องจากพระภิกษุมีอยู่น้อย
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา