พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือตะวันออกกลาง ประกอบด้วยอะนาโตเลีย (Anatolia) หมายถึง เอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) เป็นพื้นที่ส่วนที่เป็นเอเชียของประเทศตุรกี ประเทศที่เป็นเกาะคือ ไซปรัสในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดินแดนในตะวันออกใกล้ ได้แก่ ประเทศซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน และอิรัก ดินแดนในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ประเทศซาอุดิอารเบีย หรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน เยเมน อาจรวมถึงคูเวต อิหร่านและอัฟกานิสถาน ปัจจุบันตะวันออกกลางเป็นถิ่นมุสลิมสำหรับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ จะกล่าวถึงประเทศอัฟกานิส ถานเพียงประเทศเดียว เพราะมีหลักฐานเด่นชัดว่าพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาก่อน
ประเทศอัฟกานิสถาน
ประเทศอัฟกานิสถานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน (Islamic Republic of Afghanistan) มีเมืองหลวงชื่อ คาบูล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 31,056,997 คน (พ.ศ.2549) ชาวอัฟกานิสถานในปัจจุบันส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามคือ 98% เป็นนิกายสุหนี่ 83.2% นิกายชีอะห์ 14.9% นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ 1.4% ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู 0.4% และศาสนาคริสต์ 0.11%
อัฟกานิสถานเป็นที่รู้จักของชาวพุทธไปทั่วโลก เมื่อครั้งที่กลุ่มตาลิบัน (Taliban) ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ได้ทำลายพระพุทธรูปยืนโบราณสององค์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2544 ท่ามกลางการประณามของยูเนสโกและพุทธศาสนิกชนทั่วโลก พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูง 53 เมตร และองค์เล็กกว่าสูง 38 เมตร มีอายุประมาณ 2,000 ปี แกะสลักอยู่บนหน้าผาในเมืองบามิยันทางภาคกลางของอัฟกานิสถาน
แม้อัฟกานิสถานในปัจจุบันจะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี และยังเป็นเส้นทางผ่านของพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าไปสู่เอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มองโกเลียอีกด้วยพระสงฆ์จากเอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมองโกเลีย ใช้เส้นทางนี้ผ่านเข้ามาแสวงบุญในอินเดีย ซึ่งเรียกเส้นทางสายนี้ว่า เส้นทางสายไหม นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังเป็นทางผ่านของหลายอารยธรรม เช่น กรีก อิหร่าน เปอร์เซียอีกด้วย
พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอัฟกานิสถาน เพราะโบราณสถานจำนวนมากทั่วประเทศเป็นของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เมืองบามิยัน จาลาลาบาดกันทาหาร์ และกาซมี ในสมัยพุทธกาลเรียกดินแดนของอัฟกานิสถานนี้ว่า แคว้นคันธาระ และกัมโพชะ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเรียกว่า แคว้นโยนก หรือเยาวนะส่วนในสมัยพระถังซัมจั๋งเรียกดินแดนแถบนี้ว่า แคว้นอุทยาน แคว้นคันธาระ และแคว้นกปิศะ เป็นต้น
พระพุทธศาสนาเข้าไปในอัฟกานิสถานตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือเมื่อคราวที่สองพ่อค้าชื่อ ตปุสะ และภัลลิกะ ได้พบพระพุทธองค์และประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะ ก่อนกลับพ่อค้าทั้งสองขอเส้นพระเกศาไปประดิษฐานในพระเจดีย์ที่แคว้นอุทยาน ซึ่งอยู่ในเขตของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน นอกจากนี้พระเจ้าปุกกุสาติแห่งนครตักสิลาก็เป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์ จึงทำให้พระองค์เป็นพุทธมามกะด้วย และเนื่องจากเมืองตักสิลาในอดีต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน จึงทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่อัฟกานิสถานอีกเส้นทางหนึ่ง
พระพุทธศาสนาแถบนี้รุ่งเรืองมากในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (King Ashoka)ในครั้งนั้น พระมัชฌันติกเถระและคณะได้นำศาสนาพุทธมาเผยแผ่ โดยไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองมถุราและเมืองกิปิน (Kipin) ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแก่ชนพื้นเมือง
ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ (King Milinda) หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) หรือชื่อในภาษากรีกว่า เมนันดรอส (Menandros) ทรงเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ครองราชย์ราวปี พ.ศ.500 เศษ อาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมพื้นที่อัฟกานิสถานสปากีสถาน อินเดียตอนเหนือทิศใต้ของอุซเบกิสถาน และบางส่วนของอิหร่าน ทรงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแห่งนี้ และยุคนี้มีพระพุทธปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก โดย กุลช่างคันธาระ (Gandhara Style) อันเป็นการผสมผสานของอารยธรรมกรีก โรมัน และแนวคิดพระพุทธศาสนา
ในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช (King Kanishka : พ.ศ.621-644) อาณาเขตของพระองค์ครอบคลุมแม่น้ำกาบูลของอัฟกานิสถาน คันธาระสินธุ์ของปากีสถาน กัศมีร์ (แคชเมียร์)รัฐมัธยมประเทศของอินเดีย รวมถึงสาธารณรัฐในเอเชียกลางบางประเทศ พระองค์ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงให้ความอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 แม้ว่าฝ่าย เถรวาทจะไม่ยอมรับ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และได้เผยแผ่ไปทั่วเอเชียกลาง อิหร่านบางส่วน จีนและเกาหลี
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอัฟกานิสถานอย่างเต็มตัวในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ทั่วทั้งประเทศมีการสร้างพุทธสถานขึ้นมามากมาย พระสงฆ์ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีหลายรูปจาริกไปเผยแผ่ในเอเชียกลางด้วย ต่อมาที่หุบเขาบามิยัน (Bamiyan) มีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่และเล็กขึ้นที่หน้าผาสูงชัน แต่ละองค์ใช้เวลาสร้างไม่น้อยกว่า 200 ปี และมีการขุดเจาะถ้ำขึ้นตามหน้าผามากมายเพื่อเป็นที่พักสงฆ์
เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างอาหรับกับอินเดีย และเป็นทางผ่านไปสู่จีน จึงถูกรุกรานจากศัตรูอยู่เสมอ เช่น พวกกรีก มองโกลสั่นขาว อาหรับ อังกฤษ และโซเวียต เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพมุสลิมอาหรับ ได้ทำลายพุทธสถานอย่างหนัก บังคับผู้คนให้นับถือศาสนาอิสลาม ในปี พ.ศ.1252 กษัตริย์แห่งหุบเขาบามิยันและผู้ปกครองเมืองอื่นๆ จึงต้องจำยอมเปลี่ยนศาสนาเพื่อความอยู่รอด เมื่อผู้นำหันไปนับถืออิสลาม จึงทำให้สถานการณ์พระพุทธศาสนายิ่งเสื่อมลงอย่างหนัก หลังการยึดครองของมุสลิมล่วงไปเพียง 100 ปี อัฟกานิสถานก็กลายเป็นประเทศที่ปราศจากพระสงฆ์โดยสิ้นเชิงสังฆารามมากกว่า 3,000 แห่งตามรายงานของพระถังซัมจั๋งเหลือแต่ซากโบราณสถานเท่านั้น ในปัจจุบันอัฟกานิสถานจึงมีชื่อว่าสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา