พระพุทธศาสนาในอินเดียหลังยุคพุทธกาล

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในอินเดียหลังยุคพุทธกาล

พระพุทธศาสนาในอินเดียหลังยุคพุทธกาล, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

1. พระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน 500 ปี
  ในมหาปรินิพพานสูตรมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้วพวกเราไม่มีพระศาสดา ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย"

      พระพุทธดำรัสนี้เป็นสิ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า พระผู้มีพระภาคทรงให้ความสำคัญกับธรรมและวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้วอย่างสูงยิ่ง ทรงยกธรรมและวินัยนั้นไว้ในฐานะศาสดาแทนพระองค์เอง นั่นหมายความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ธรรมและวินัยถือเป็นสิ่งแทนพระศาสดาและเป็นตัวพระศาสนาที่แท้จริงที่พุทธบริษัทจะต้องช่วยกันรักษาให้ดำรงคงอยู่สืบไป

         การปรารภที่จะสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น เริ่มมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในปาสาทิกสูตร กล่าวว่า ภายหลังจากที่นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตสานุศิษย์ได้ทะเลาะกันขนานใหญ่จนแตกแยกนิกายกัน พระพุทธองค์ทรงปรารภเหตุนี้ ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันสังคายนาพระธรรมวินัยไว้เพื่อให้พรหมจรรย์คือพระศาสนานี้ดำรงอยู่ได้นาน และเพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน ทั้งนี้เพราะไม่ทรงปรารถนาให้สาวกทั้งหลายต้องแตกแยกทะเลาะวิวาทกันเหมือนอย่างสาวกของศาสนาเชนที่ต่างทุ่มเถียงกันว่าก่อนนี้ศาสดาของตนได้สอนไว้อย่างไร

      ฉะนั้น ในเวลาต่อมา พระสารีบุตรจึงได้แสดงวิธีการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผนโดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆมาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ มีตัวอย่างดังปรากฏในสังคีติสูตร

        สังคายนา (Buddhist Council) หรือสังคีติ มาจากคำว่า  (พร้อมกัน) คีติ (การสวด) ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า การสวดพร้อมกัน แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำสืบต่อกันมา

      แต่เดิมนั้นการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มา ปรากฏว่ามีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิดหรือตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้างจัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลังๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดหรือเข้าใจผิดเกิดขึ้น

      สำหรับการสังคายนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียนั้น มีด้วยกัน 4 ครั้ง การสังคายนาที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกนิกาย คือ การสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 ยอมรับกันเฉพาะฝ่ายเถรวาทส่วนมหายานและหินยานนิกายอื่นไม่มีการกล่าวถึงการสังคายนาครั้งนี้สำหรับการสังคายนาครั้งที่ 4 ที่ทำกันในอินเดียภาคเหนือโดยมีพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์นั้น ฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับ เพราะถือว่าเป็นส่วนของฝ่ายมหายานที่สืบสายแยกกันไป ตลอดจนภาษาที่รองรับคัมภีร์ก็ใช้ต่างกัน คือฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลีส่วนฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะการสังคายนาครั้งที่ 1-3 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในฝ่ายเถรวาทเท่านั้น


1.1 การสังคายนาครั้งที่ 1
ปฐมสังคายนา   :  หลังจากพุทธปรินิพพาน 3 เดือน

ประธานสงฆ์     :  พระมหากัสสปเถระ มีพระอุบาลีเป็นผู้เรียบเรียงสวดพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้เรียบเรียงสวดพระสูตร

ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา  :  พระอรหันตขีณาสพจำนวน 500 รูป

องค์อุปถัมภ์  :  พระเจ้าอชาตศัตรู

เหตุปรารภในการทำสังคายนา  :  พระสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย

สถานที่ประชุมทำสังคายนา  :  ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์

ระยะเวลาในการประชุม : กระทำอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ

บันทึกเหตุการณ์สำคัญ :
    หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้เพียง 7 วัน เหล่าพระสาวกที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ ต่างมีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าสุภัททะ กลับดีใจพูดว่า "พระพุทธเจ้านิพพานเสียแล้วก็ดี ต่อไปจะได้ไม่มีใครมาคอยกล่าวว่าสิ่งนี้ควรทำสิ่งนี้ไม่ควรทำ"

    พระมหากัสสปะได้ฟังดังนั้น ก็บังเกิดความสลดใจว่า "พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียงไม่กี่วัน ยังมีผู้กล่าวถ้อยคำที่ไม่สมควรเช่นนี้ ถ้าไม่จัดการอะไรลงไป ปล่อยไว้ให้เนิ่นนานเสียก็จะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญสิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมกำลัง พวกอธรรมวาทีจักเจริญ พวกธรรมวาทีจักเสื่อมถอย" ดังนั้นเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ท่านจึงชักชวนภิกษุทั้งหลายให้มาร่วมทำสังคายนา

     ในระหว่างสังคายนา พระอานนท์ได้แจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตว่า ถ้าสงฆ์เห็นสมควรก็สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันว่าสิกขาบทเล็กน้อยหมายความถึงสิกขาบทใดบ้าง พระมหากัสสปะจึงสรุปว่าจะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว และจะไม่บัญญัติสิกขาบทที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งที่ประชุมสงฆ์ก็รับรองเป็นเอกฉันท์ จึงเป็นหลักปฏิบัติต่อพระวินัยของคณะสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะคณะสงฆ์เถรวาท

     หลังจากการทำสังคายนาผ่านไปไม่นานนัก มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า ปุราณะ พร้อมด้วยบริวารประมาณ 500 รูป อยู่จำพรรษาที่ทักขิณาคีรีชนบท เมื่อท่านทราบว่า การสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว ท่านและบริวารจึงได้เข้าสู่กรุงราชคฤห์ พระสังคีติกาจารย์ที่ร่วมในการทำสังคายนาได้เข้าไปแจ้งให้ท่านทราบว่า พระสงฆ์ได้ทำสังคายนากันแล้ว ขอให้ท่านยอมรับมติด้วย

     พระปุราณะกลับกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยก็ดีแล้ว แต่ข้าพเจ้าได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่าอย่างไร ข้าพเจ้าก็จักถือปฏิบัติตามนั้น" เมื่อได้ชี้แจงกันพอสมควรแล้ว ปรากฏว่าพระปุราณะมีความเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก แต่ก็มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องวัตถุ 8 ประการ ซึ่งเป็นพุทธานุญาตพิเศษที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำได้ในคราวเกิดทุพภิกขภัย แต่เมื่อภัยเหล่านั้นระงับก็ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำอีก

สำหรับวัตถุ 8 ประการนั้น คือ

1. อันโตวุฏฐะ เก็บของที่เป็นยาวกาลิก คือ อาหารไว้ในที่อยู่ของตน
2. อันโตปักกะ ให้มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน
3. สามปักกะ พระลงมือหุงปรุงอาหารด้วยตนเอง
4. อุคคหิตะ คือการหยิบเอาเองซึ่งของเคี้ยวของฉันที่ยังมิได้ประเคน
5. ตโตนีหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์ ซึ่งเป็นพวกอาหาร
6. ปุเรภัตตะ การฉันอาหารก่อนเวลาภัตตาหาร ในกรณีที่ตนรับนิมนต์ไว้ในที่อื่น
แต่ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์
7. วนัฏฐะ ของที่เกิดหรือตกอยู่ในป่า ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ
8. โปกขรณัฏฐะ ของที่เกิดในสระ เช่น ดอกบัว เหง้าบัว

     วัตถุทั้ง 8 ประการ เป็นพุทธานุญาตพิเศษในคราวเกิดทุพภิกขภัย 2 คราว คือ ที่เมืองเวสาลีและที่เมืองราชคฤห์ แต่เมื่อทุพภิกขภัยผ่านพ้นไปแล้ว ทรงห้ามมิให้ภิกษุกระทำพระปุราณะและบริวารของท่านคงจะได้ทราบเฉพาะเวลาที่ทรงอนุญาต จึงปฏิบัติไปอย่างนั้นเนื่องจากการอยู่กันกระจัดกระจายคนละทิศละทาง การติดต่อบอกกล่าวอาจไม่ถึงกัน ซึ่งจะว่าท่านดื้อรั้นก็คงไม่ใช่ เพราะท่านถือตามที่ท่านได้สดับมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกันเมื่อพระสังคีติกาจารย์ชี้แจงให้ท่านฟัง ท่านปุราณะก็มีความเห็นว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญุตญาณไม่สมควรที่จะบัญญัติห้ามแล้วอนุญาต อนุญาตแล้วกลับบัญญัติห้ามมิใช่หรือ"

      เมื่อเป็นดังนี้ ความแตกต่างในทางข้อปฏิบัติ ( สีลสามัญญตา) จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นแต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้เกิดการแตกแยกเป็นนิกาย


1.2 การสังคายนาครั้งที่ 2
ทุติยสังคายนา  :  ประมาณ พ.ศ.100

ประธานสงฆ์  :  มีพระยสกากัณฑกบุตรเถระเป็นประธานพระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบ
ผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา  :  พระอรหันตขีณาสพจำนวน 700 รูป

องค์อุปถัมภ์  :  พระเจ้ากาฬาโศกราช

เหตุปรารภในการทำสังคายนา  :  วัตถุ 10 ประการ

สถานที่ประชุมทำสังคายนา  :  วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี

ระยะเวลาในการประชุม  :  กระทำอยู่ 8 เดือนจึงสำเร็จ

บันทึกเหตุการณ์สำคัญ : การทำสังคายนาครั้งที่ 2 ปรารภเรื่องวัตถุ 10 ประการที่ภิกษุชาววัชชีนำประพฤติปฏิบัติโดยถือว่าไม่ผิดธรรมไม่ผิดวินัย ซึ่งมีใจความดังนี้

     1. ภิกษุชาววัชชี ภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนงแล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้ ไม่เป็นอาบัติ (พระสัพพกามี โต้ตอบว่า การเก็บเกลือไว้ในเขนง โดยตั้งใจว่าจะใส่ลงในอาหารฉันนั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเป็นการสะสมอาหารตามโภชนสิกขาบท)

      2. ภิกษุชาววัชชี ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง 2 องคุลีก็ได้ไม่เป็นอาบัติ (พระสัพพกามีโต้ตอบว่า ภิกษุฉันโภชนะในเวลาวิกาล เมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว 2 องคุลี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในเวลาวิกาล)

     3. ภิกษุชาววัชชี ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้วเข้าไปสู่บ้าน จะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมได้ ไม่เป็นอาบัติ (พระสัพพกามีโต้ตอบว่า ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วคิดว่าจักฉันอาหาร เข้าไปในบ้านแล้ว ฉันโภชนะที่เป็นอนติริตตะ (ไม่เป็นเดน) ผิด เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้)

     4. ภิกษุชาววัชชี ในอาวา เดียวกันมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกทำอุโบสถได้ ไม่เป็นอาบัติ (พระสัพพกามีโต้ตอบว่า ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในอุโบสถขันธกะ ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฎ)

    5. ภิกษุชาววัชชี ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถไปก่อนก็ได้ โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้ ไม่เป็นอาบัติ (พระสัพพกามีโต้ตอบว่าสงฆ์ทำสังฆกรรมด้วยคิดว่า ให้พวกมาทีหลังอนุมัติ ทั้งที่สงฆ์ยังประชุมไม่พร้อมหน้ากัน ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในจัมเปยยขันธกะ ต้องอาบัติทุกกฎ)

    6. ภิกษุชาววัชชี การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ (พระสัพพกามีโต้ตอบว่า การประพฤติปฏิบัติ ด้วยเข้าใจว่าอุปัชฌาย์อาจารย์ของเราเคยประพฤติมาอย่างนี้ ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะท่านเหล่านั้นอาจประพฤติผิด


 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036089682579041 Mins