พระพุทธศาสนาในตะวันตก
ประเทศออสเตรเลีย
ประเทศออสเตรเลียมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) ประกอบด้วย 6 รัฐ และเขตปกครองตนเอง 2 มณฑล มณฑลแรกคือ ออสเตรเลียน แคพิทอลเทอร์ริทอรี เมืองหลวงชื่อ แคนเบอร์รา (Canberra) เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศมณฑลที่สองคือ นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี มีเมืองดาร์วิน (Darwin) เป็นเมืองหลวงส่วนรัฐ ทั้ง 6 ประกอบด้วย รัฐนิวเซาท์เวลส์ เมืองหลวงชื่อ ซิดนีย์ (Sydney) รัฐนี้มีประชากรหนาแน่นมากที่สุด รัฐควีนส์แลนด์ มีเมืองหลวงชื่อ บริสเบน (Brisbane) รัฐเซาท์ออสเตรเลีย เมืองหลวงชื่อ แอดิเลด (Adelaide) รัฐแทสเมเนีย เมืองหลวงชื่อ โฮบาร์ต (Hobart) รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เมืองหลวงชื่อ เพิร์ท (Perth) และรัฐวิกตอเรีย เมืองหลวงชื่อ เมลเบิร์น (Melbourne)
ประเทศออสเตรเลียมีประชากรประมาณ 20,555,300 คน (พ.ศ.2549)ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นก็มีอยู่พอสมควร เช่น พระพุทธศาสนา อิสลามสินดูและยิว ทั้งนี้เพราะออสเตรเลียให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา จากการสำรวจผู้นับถือศาสนาในปี พ.ศ.2544 พบว่าพุทธศาสนิกชนมีอยู่ประมาณ 357,813 คน และในปี พ.ศ.2549 มีศูนย์ทางพระพุทธศาสนาอยู่ประมาณ 412 ศูนย์ แม้จำนวนพุทธศาสนิกชนในออสเตรเลียจะยังมีปริมาณน้อย แต่ก็มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในทุกศาสนา ดังตารางผลการวิจัยระหว่างปี พ.ศ.252925441 ต่อไปนี้
ออสเตรเลียนแคพิทอลเทอร์ริทอรี (Australian Capital Territory)
รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales)
จากผลการวิจัยนี้ จะเห็นว่าพระพุทธศาสนามีการเติบโตเร็วมากประมาณ 79-80% ในขณะที่ศาสนาคริสต์อันเป็นศาสนาเดิมของชาวออสเตรเลียซึ่งมีผู้นับถือมากที่สุด มีอัตราการเติบโต 1.5% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลา 15 ปี จากปี พ.ศ.2529-2544 คริสต์ศาสนาแทบไม่ขยับขึ้นเลย ทั้งๆ ที่ปริมาณประชากรออสเตรเลียเพิ่มขึ้นทุกปี ผลการวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นว่าประชากรโดยส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จากปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา เลือกนับถือพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น มีเพียงส่วนน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่เลือกนับถือคริสต์ศาสนาอันเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวออสเตรเลีย จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะมีพุทธศาสนิกชนในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
ชาวพุทธในออสเตรเลียยุคแรก เป็นชาวเอเชียที่เข้าไปทำงานในรัฐต่างๆ โดยเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2391 กลุ่มแรงงานชาวจีนจึงเป็นชาวเอเชียกลุ่มแรกที่นำพระพุทธศาสนาเข้าไปแรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมขุดทองของรัฐวิกตอเรีย (Victorian gold fields) เพราะในช่วงนั้นเป็นยุคที่ชาวโลกกำลังตื่นทองคำ (Gold Rush) ต่อมาปี พ.ศ.2399 จึงได้สร้างวัดขึ้นที่ทางตอนใต้ของเมืองเมลเบิร์น วัดนี้มีหลากหลายวันธรรมคือ ทั้งลัทธิเต๋า ขงจื้อ รวมทั้งเทพเจ้าและโหราศาสตร์ต่างๆ สืบเนื่องจากชาวจีนเหล่านี้ไปทำงานชั่วคราว ภายหลังวัดจึงต้องปิดตัวลง
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2410 กลุ่มชาวพุทธจากประเทศญี่ปุ่นหลายกลุ่มได้เข้าไปในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มของนักกายกรรมและนักมายากล ได้เข้าไปอย่างต่อเนื่องตลอดศตวรรษโดยรวมกลุ่มกันอยู่ที่แหล่งอุตสาหกรรมแถบนอร์เทิร์นออสเตรเลีย พระพุทธศาสนาที่นำเข้าไปจากประเทศญี่ปุ่น เป็นมหายานนิกายชินโต จากนั้นในปี พ.ศ.2413 ชาวพุทธจากศรีลังกาได้เข้าไปทำงานในไร่อ้อยที่รัฐควีนส์แลนด์ และสร้างวัดนิกายเถรวาทขึ้นในรัฐนั้นที่ Thursday Island ต่อมาในปี พ.ศ.2525 ชาวศรีลังกาก็ได้เข้ามาสมทบอีกหนึ่งกลุ่มประมาณ 500 คน ชาวพุทธศรีลังกาเหล่านี้ได้ช่วยกันปลูกต้นโพธิ์ขึ้น ซึ่งมีอยู่ 2 ต้นที่ยังคงเจริญเติบโตยั่งยืนควบคู่พระพุทธศาสนามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
แม้ชาวพุทธตะวันตกก็เข้าไปเผยแผ่ในออสเตรเลียเช่นกัน นำโดยพันเอกเฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ เข้าไปในปี พ.ศ.2434 เขาใช้เวลาหลายเดือนบรรยายพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ ด้วยความที่เป็นคนตะวันตกชำนาญในภาษาอังกฤษ เข้าใจวันธรรมในประเทศที่นับถือ
ศาสนาคริสต์เป็นอย่างดี จึงทำให้การบรรยายของเขาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พันเอกเฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ เป็นคนสำคัญที่ร่วมก่อตั้งสมาคม Theosophical Society ขึ้นสมาคมนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเผยแพร่ปรัชญาทางพระพุทธศาสนา หนึ่งในสมาชิกสมาคมนี้คือ เอ็ลเฟร็ด เดียคิน (Alfred Deakin) ซึ่งต่อมาเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลียถึง 3 สมัย เอ็ลเฟร็ด เดียคิน เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียและศรีลังกาเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในปี พ.ศ.2433 เขาได้เผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้จากการเยือนถิ่นพระพุทธศานาในครั้งนั้น
การเผยแผ่พระพุทธศาสนายุคแรกในออสเตรเลีย กระทำโดยฆราวาสเป็นหลักจนกระทั่งปี พ.ศ.2453 พระภิกษุชาวพม่ารูปแรกได้เดินทางไปออสเตรเลีย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้พระภิกษุจากเอเชียประเทศต่างๆ ตามเข้าไปภายหลัง เพื่อยังความสว่างทางปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ชาวออสเตรเลีย นับตั้งแต่บัดนั้นได้เกิดองค์กรทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายแห่ง เช่น ในปี พ.ศ.2481 เล็น บูลเล็น (Len Bullen) ก่อตั้งกลุ่มผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น ในปี พ.ศ.2496 สมาคมพระพุทธศาสนาแห่งวิกตอเรียก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น และที่สำคัญในปี พ.ศ.2501 มีการก่อตั้งสหพันธ์พระพุทธศาสนาแห่งออสเตรเลียขึ้น ซึ่งสหพันธ์นี้เติบโตรวดเร็วมาก ขยายสาขาไปหลายแห่ง เช่น ออสเตรเลียตะวันตก ออสเตรเลียใต้ ควีนส์แลนด์และรัฐวิกตอเรีย
ก่อนถึงปี พ.ศ.2513 มีพระภิกษุจากศรีลังกาชื่อ โสมะโลกะ (Somaloka) เดินทางเข้าไปประกาศพระศาสนา ท่านได้ก่อตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาแห่งนิวเซาท์เวลส์ขึ้นในปี พ.ศ.2514 โดยสร้างขึ้นที่ Blue Mountains ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ (Sydney) สมาคมนี้ได้ขยายศูนย์สาขาเพิ่มขึ้นอีกมากมายสำหรับชาวพุทธจากประเทศไทยก็ได้เข้าไปเผยแผ่เช่นกันเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2527 ได้สร้างวัดธรรมรังษีขึ้นด้วยความร่วมมือจากชาวพุทธนานาชาติ วัดนี้อยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ทำการเปิดสอบธรรมศึกษาเป็นวัดแรกของประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังได้เปิดสอนภาษาไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย รำไทย และอื่นๆ ให้กับชาวต่างชาติและชาวไทยอีกด้วย ภายหลังชาวพุทธไทยก็ได้สร้างวัดขึ้นอีกหลายแห่ง
สำหรับพระพุทธศาสนามหายานนิชิเร็นนิกายโซกะ กัคไคนั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2507 โดยไดซาขุ อิเคดะ ผู้นำองค์กรโซกะ กัคไคคนปัจจุบัน ได้เดินทางเข้าไปในประเทศออสเตรเลีย จัดตั้งกลุ่มโซกะ กัคไคขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น มีสมาชิก 6 คน หลังจากนั้นได้ขยายกลุ่มออกไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 270 กลุ่มทั่วประเทศออสเตรเลีย แต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกประมาณ 5-10 คน
ส่วนพระพุทธศาสนาทิเบต เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2517 โดยลามะจากทิเบตรูปแรก เดินทางเข้าไปเผยแผ่ในออสเตรเลีย จากนั้นในปี พ.ศ.2519 ลามะชื่อ Geshe Acharya Thubten Loden ก็เข้าไปประกาศพระศาสนา ได้ตระเวนสอนชาวออสเตรเลียประมาณ 1,000 คน ถึงวิธีการเข้าถึงความสุขและสันติภาพอันยิ่งใหญ่ผ่านหลักพุทธศาสนาทิเบต นอกจากนี้องค์ทะไลลามะผู้นำสงฆ์แห่งทิเบตก็ได้เข้าไปโปรดชาวออสเตรเลียด้วยเช่นกัน โดยเข้าไปถึง 3 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2525 พ.ศ.2535 และพ.ศ.2539 ไปแต่ละครั้งก็ได้พบปะกับพุทธศาสนิกชนมากมาย และที่สำคัญในการไปครั้งที่สาม องค์ทะไล ลามะได้เข้าพบและถ่ายรูปร่วมกับจอห์น ฮาวเวิร์ด (John Howard) นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศออสเตรเลียด้วย ปัจจุบันศูนย์พระพุทธศาสนาทิเบตมีมากมายทั่วประเทศออสเตรเลีย จากข้อมูลในเว็บไซต์ www.buddhanet.net ระบุว่าปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 107 ศูนย์ ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตรวดเร็วมาก