สาเหตุที่ชาวตะวันตกหันมานับถือพระพุทธศาสนา
การมาเอเชียของชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม แม้โดยมากความตั้งใจเดิมจะมาเพื่อการค้า การเมือง และการเผยแผ่คริสต์ศาสนา แต่เมื่อเขาเหล่านั้นได้สัมผัสกับหลักเหตุผลในพระพุทธศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ที่กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในตะวันตก ทำให้หลายต่อหลายคนเกิดความประทับใจทุ่มเทศึกษาอย่างจริงจัง และยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ในแดนตะวันตกด้วย ประกอบกับในพุทธศตวรรษที่ 24 และ 25 ที่ผ่านมา มีการจัดส่งสมณทูตจำนวนมากจากเอเชียไปเผยแผ่พุทธธรรมในยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย ปัจจุบันชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยจึงหันมาสนใจพระพุทธศาสนาและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนามหายาน ทั้งนี้เพราะหลักคำสอนที่ให้ศรัทธาในพระเจ้าโดยปราศจากเหตุผล ไม่เป็นที่นิยมของชาวตะวันตกเสียแล้ว ชาวยุโรปและอเมริกาจำนวนมาก โดยเชื่อเรื่องพระเจ้า หากพระเจ้าทรงมีมหิทธานุภาพ ทรงสร้างสรรพสิ่ง และยิ่งด้วยความเมตตากรุณาจริง พระองค์คงไม่ปล่อยให้โศกนาฏกรรมสะเทือนโลกวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 เกิดขึ้นกับชาวอเมริกัน ด้วยเหตุนี้ชาวตะวันตกมากมายจึงเลิกนับถือศาสนาเดิมและกลายเป็นคนว่างจากศาสนา แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาพบพระพุทธธรรม คำสอนที่ท้าให้พิสูจน์โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม จึงปักใจรักพระพุทธศาสนายิ่งนัก
อัลเบิร์ต ไอสไตน์ เคยให้ทัศนะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสนาที่สอนให้เชื่อในพระเจ้าไว้ว่า "ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตนและควรเว้นคำสอนแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว และแบบเทววิทยา คืออ้างเอาเทวดาเป็นหลักใหญ่ ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างที่เป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้ ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์ สมัยปัจจุบัน ศาสนานั้นควรเป็นพระพุทธศาสนา"
นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังมีคำสอนไม่ให้ใช้ความรุนแรงด้วย ดังที่ปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์ จึงถูกใจชาวตะวันตกผู้ใฝ่หาสันติภาพยิ่งขึ้น ชาวพุทธที่แท้จริงแม้ถูกทำร้ายจนถึงชีวิตก็ไม่มีปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าได้รวมตัวกันจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ได้แต่ใช้ความอดทนตามพระพุทธโอวาท แต่ในศาสนาเทวนิยมนั้นมีปรากฏอยู่บ่อยครั้งทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เกิดการนองเลือดขึ้นระหว่างศาสนาบ้าง ระหว่างนิกายบ้าง เช่น สงครามครูเสด (Crusade) เป็นต้น ชาวคริสต์และมุสลิมต่อสู้กันยาวนานเกือบ 200 ปี จากปี พ.ศ.1639 - พ.ศ.1834เพื่อแย่งเมืองเยรูซาเล็ม ที่เชื่อกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามหลักศาสนาของตน ด้วยหลักแห่งเหตุผล ไม่สอนให้เชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์ และการไม่ใช้ความรุนแรง พระพุทธศาสนาจึงเป็นที่ยอมรับของชาวตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในตะวันตกจึงเติบโตรวดเร็วมาก
ชาวตะวันตกในแต่ละประเทศที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา