สรุปประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
การเสด็จอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ 2,500 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์อินเดียและประวัติศาสตร์โลก เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและวันธรรมในสังคมอินเดียครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ชาวอินเดียจำนวนมากจากทุกชั้นวรรณะทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาพราหมณ์ที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมมาหลายพันปีแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพานแล้วพระพุทธศาสนาในอินเดียก็เจริญรุ่งเรืองอยู่ยาวนาน โดยเฉพาะในยุคพระเจ้าอโศกมหาราชถือว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงส่งสมณทูต 9 สาย ไปประกาศพระศาสนายังดินแดนต่างๆ นอกอินเดีย ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปยังดินแดนต่างๆ อย่างกว้างขวางและส่งผลสะเทือนไปทั้งเอเชียและยุโรป
แม้พระสัทธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้จะเป็นสัจธรรมที่ไม่เสื่อมไปตามกาลเวลาบุคคลใดที่ปฏิบัติตามคำสอนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ก็จะยังให้เกิดปฏิเวธคือการบรรลุธรรมในระดับต่างๆ ได้อย่างแน่นอน แต่พุทธบริษัทในอินเดียยุคหลังเน้นปริยัติใช้จินตมยปัญญา (ความรู้คิด) ในการศึกษาพระธรรมวินัย หย่อนการปฏิบัติธรรม (ขาดความรู้แจ้ง)ทำให้ความรู้ในพระธรรมวินัยไม่ถูกต้องสมบูรณ์ มีความเห็นในพระธรรมวินัยแตกต่างกันไปตามความคิดเชิงตรรกะและประสบการณ์ของแต่ละคน ทำให้พระพุทธศาสนาแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาอ่อนแอลง จนไม่อาจจะต้านทานการรุกรานจากต่างศาสนาคือ ฮินดูและอิสลามได้ ประมาณ 1,700 ปีหลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธศาสนาจึงสูญสิ้นไปจากอินเดีย
ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปจากอินเดียแล้วแต่ยังไม่สูญหายไปจากโลก เพราะผลจากการเผยแผ่ของสมณทูต 9 สายในยุคพระเจ้าอโศกมหาราชและการเผยแผ่ของชาวพุทธในยุคต่อมา ทำให้พระพุทธศาสนาไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนอื่นๆ แทน ทั้งเถรวาททางสายใต้ เช่น ศรีลังกา ไทย พม่า กัมพูชา ลาว และมหายานทางสายเหนือ เช่น จีน ญี่ปุ่น
เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น ชาวพุทธในประเทศเหล่านี้ได้กลับไปฟนฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียขึ้นใหม่ ปัจจุบันจำนวนพุทธศาสนิกชนในอินเดียเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้เมื่อประเทศใดมีทีท่าว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญด้วยภัยต่างๆ ก็จะได้รับความช่วยเหลือฟื้นฟูจากชาวพุทธประเทศต่างๆ หมุนเวียนกันไป ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงคงอยู่คู่โลกมาได้ตราบกระทั่งปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ได้ข้อคิดที่สำคัญในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนา 2 ประการคือ
1. ชาวพุทธต้องเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงจะต้องศึกษาพระปริยัติธรรมให้แตกฉาน แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อยังให้เกิดปฏิเวธคือการบรรลุธรรมในระดับต่างๆ หากชาวพุทธทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้องลึกซึ้งมีศรัทธามั่นคง ซึ่งส่งผลเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะไม่ว่าจะมีภัยใดๆเกิดขึ้น พุทธบริษัทก็จะยึดมั่นต่อพระสัจธรรมคำสอน ไม่หวั่นไหวผันแปรไปตามสิ่งที่มากระทบจะรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบต่อไปแม้จะต้องแลกด้วยชีวิต
2. ชาวพุทธต้องไม่นิ่งดูดายเมื่อมีภัยเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาจะต้องถือหลักว่า "เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา แต่เรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง" ต้องช่วยกันขจัดปัดเป่าภัยที่เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้ได้และช่วยกันเผยแผ่พระธรรมคำสอนให้กว้างไกลไปทั่วโลก ทั้งนี้เพราะหากประเทศใดพระพุทธศาสนาเสื่อมลง ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากประเทศอื่นที่ศาสนาพุทธยังคงรุ่งเรืองอยู่ การเผยแผ่และการขจัดปัดเป่าภัยพระศาสนานี้เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง 4 คือ พระภิกษุสามเณร อุบาสก และอุบาสิกา จะต้องช่วยกันทั้งหมดอย่าปล่อยให้เป็นภาระของพระภิกษุเพียงอย่างเดียวใครอยู่ในเพศภาวะใดและมีทำหน้าที่อะไรก็ให้ทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์ หากทำได้เช่นนี้พระพุทธศาสนาก็จะมั่นคงสืบไปได้ยาวนาน
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา