พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง

   พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      เอเชียกลางเป็นจุดเชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ดังนี้คือ คาซัคสถาน (Kazakhstan) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) ทาจิกิสถาน (Tajikistan) เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) และคีร์กีซสถาน (Kyrgztan) ปัจจุบันเอเชียกลางเป็นถิ่นอิสลามแทบไม่มีพุทธศาสนิกชนอยู่เลย แม้ในอดีตพระพุทธศาสนาจะเคยเจริญรุ่งเรืองในแถบนี้มาก่อนเพราะประเทศเหล่านี้อยู่บนเส้นทางสายไหม อันเป็นเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียและเคยเป็นเส้นทางการเผยแผ่ศาสนาด้วยโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา

      เอเชียกลางรับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชและเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราชประมาณปี พ.ศ.600 นอกจากนี้เอเชียกลางยังเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศจีนด้วย พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในแถบนี้เป็นเวลาพันปีจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.1200 เป็นต้นไป กองทัพอิสลามเข้าสู่เอเชียกลาง เมื่อตีได้แล้วก็บังคับให้คนแถบนี้เปลี่ยนเป็นมุสลิม

      ข้อมูลประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียกลางนั้นมีอยู่ค่อนข้างน้อย จึงกล่าวถึงโดยรวมๆ ไม่แยกบรรยายในแต่ละประเทศ หลักฐานความเจริญของพระพุทธศาสนาในแถบนี้ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีรัสเซียเมื่อประมาณปี 2500 กว่าๆ เช่น ในปี พ.ศ.2504 กรมโบราณคดีรัสเซียได้ค้นพบเมืองโบราณทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง ณ อุซเบกิสถาน ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ติดกับอัฟกานิสถาน เช่น เมือง สมารกันด์ (Smarkand) เมืองบุขารา (Bukhara) เมืองเทอร์เมซ (Termez) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบพระพุทธรูปแกะสลัก มีพระอัครสาวกทั้งสองยืนเคียงข้างพระศาสดา ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นนิกายเถรวาท และยังค้นพบพระพุทธรูปที่มีพระโพธิสัตว์ยืนเคียงข้าง ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นนิกายมหายาน

        ในปี พ.ศ.2504 ปีเดียวกันนี้เอง นักโบราณคดีชาวรัสเซียยังค้นพบพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ มีขนาดความยาว 14 เมตรสูง 2 เมตรครึ่ง ที่วัดอชินะเทเป (Ajina-tepa) อยู่ข้างเชิงเขาทางทิศใต้ของประเทศทาจิกิสถาน และยังได้พบพระพุทธรูปองค์เล็กอีกหลายร้อยองค์บางองค์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า ภูเขาบ้านแห่งพระพุทธเจ้าพันองค์ (Mountain of one thousand Buddha's Houses) นักโบราณคดีเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้สร้างราวปี พ.ศ.800 ในยุคที่กุสาณะปกครองเอเชียกลาง ปัจจุบันได้ตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์กรุงดูชานเบ (Dushanbe) ประเทศทาจิกิสถาน

         นักโบราณคดีชาวรัสเซียยังได้เข้าขุดค้นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งชื่อว่า เกียอูร กาลา (Giaur Kala) ในปี พ.ศ.2505 ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเติร์กเมนิสถาน พบเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ราวเมตรเศษฝังอยู่ใต้ดิน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์จำนวนมากกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วบริเวณที่ขุดโดยรอบ ปัจจุบันพระพุทธรูปได้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และยังพบสถูป 2 แห่งที่เมืองเมิฟ (Merv) ด้วย

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0031963507334391 Mins