พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศเวียดนาม
เวียดนาม (Vietnam) แปลว่า อาณาจักรฝ่ายทักษิณ มีชื่อทางการว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) มีเมืองหลวงชื่อานอย เมืองใหญ่ที่สุดคือโฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนามมีประชากรประมาณ 84,238,000 คน (พ.ศ.2548) โดย 50% นับถือพระพุทธศาสนามหายาน และอีก 50% นับถือศาสนาขงจือและคริสต์ศาสนา
เวียดนามในอดีตแบ่งเป็น 3 อาณาเขต คือ ตังเกี๋ย (Tong king) ได้แก่ แถบลุ่มแม่น้ำแดง อานัม (Annam) ได้แก่ แผ่นดินส่วนแคบยาวตามชายฝังทะเล อยู่ตอนกลางระหว่างตังเกี๋ยกับโคชินจีน และโคชินจีน (Cochin China) ได้แก่ แผ่นดินส่วนล่างทั้งหมด อาณาจักรอานัมมีอายุเกือบ 3 พันปี แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จนกระทั่งปี พ.ศ.433 ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนและถูกปกครองอยู่นานกว่า 1,000 ปี จึงทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมากในระยะนี้เองเวียดนามมีชื่อว่า อานัม
พระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรอานัมประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งอยู่ระหว่างที่อานัมยังตกเป็นเมืองขึ้นของจีนสันนิษฐานว่าท่านเมียวโป (Meou-Po) ได้นำนิกายมหายานจากจีนเข้ามาเผยแผ่ และยังสันนิษฐานว่า พระชาวอินเดีย 3 รูป คือ พระมหาชีวก พระกัลยาณรุจิและพระถังเซงโย เดินทางมาเผยแผ่ในยุคนี้ด้วยแต่ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะกษัตริย์จีนนับถือศาสนาขงจือ ทรงไม่พอพระทัยที่มีคนนับถือพระพุทธศาสนา
ต่อมาปี พ.ศ.1482 ชาวเวียดนามกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ พระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง ครั้งนั้นพระภิกษุชาวอินเดียชื่อ วินีตรุจิ เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซนในจีน แล้วเดินทางต่อเพื่อมาเผยแผ่ในเวียดนาม ต่อมาในปี พ.ศ.1511-1522 รัฐบาลจัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยรวมเอานักบวชเต๋ากับพระสงฆ์เข้าในระบบฐานันดรศักดิ์เดียวกัน พระจักรพรรดิทรงสถาปนาพระภิกษุง่อฉั่นหลู เป็นประมุขสงฆ์และแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ด้วย
พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยราชวงศ์ไล เพราะเป็นศาสนาเดียวที่ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ รัชสมัยพระเจ้าไลไทต๋อง (พ.ศ.1571-1588) โปรดให้สร้างวิหาร 95 แห่ง รัชสมัยพระเจ้าไลทันต๋อง (พ.ศ.1597-1615) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเอาใจใส่กิจการบ้านเมืองและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเจริญรอยตามพระเจ้าอโศกมหาราช
เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีกครั้งในปี พ.ศ.19571974 จึงทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมไปมาก เพราะกษัตริย์ราชวงศ์หมิงของจีนส่งเสริมแต่ลัทธิขงจือและเต๋า จีนได้ทำลายวัดเก็บเอาทรัพย์สินและคัมภีร์พุทธศาสนาไปหมด หลังจากได้รับเอกราชแล้วสถานการณ์พระพุทธศาสนายังไม่ดีขึ้น เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ก็ไม่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา
ต่อมาปี พ.ศ.2014 พระเจ้าเลทันต๋องรวบรวมอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่นานคือในปี พ.ศ.2076 เวียดนามได้แตกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือ ฝ่ายเหนือ ได้แก่ ตังเกี๋ยของตระกูลตรินห์ (Trinh) และฝ่ายใต้ ได้แก่ อานัมของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) ทั้ง 2 อาณาจักรทำสงครามกันมาเป็นเวลา 270 ปี ในช่วงนี้ต่างฝ่ายต่างทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีการสร้างวัดและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 ชาวตะวันตกหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส อลันดา ฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ เดินทางเข้ามาค้าขายและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเวียดนาม เผยแพร่คำสอนอยู่ได้ 200 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2370-2401 ชาวเวียดนามปราบปรามพวกคริสต์อย่างเด็ดขาด นักสอนศาสนาถูกฆ่าตายจำนวนมาก และยังฆ่าชาวคริสต์ญวนอีกนับ 100,000 คน ด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้เวียดนามกับอังกฤษขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในที่สุด ปี พ.ศ.2402 อังกฤษก็เข้ายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น
หลังพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ในปี พ.ศ.2426 เวียดนามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสอีก สมัยนี้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงมาก เพราะถูกเบียดเบียนจากพวกฝรั่งเศสมีการห้ามสร้างวัดเว้นแต่ได้รับอนุญาต จำกัดสิทธิพระสงฆ์ในการรับไทยธรรมและจำกัดจำนวนพระภิกษุด้วย ชาวพุทธถูกกีดกันจากตำแหน่งบริหารระดับสูงในหน่วยงานราชการส่วนผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และโอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศ จะได้รับสิทธิพิเศษยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงมีท่าทีว่าจะสูญสิ้นไปจากเวียดนาม
ในท่ามกลางความทุกข์ยากอันเกิดจากการตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนี้เอง ได้มีบุคคลผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่เวียดนามตอนกลางในปี พ.ศ.2469 ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวตะวันตกในนาม ติช นัทฮันห์ ผู้อุทิศชีวิตต่อต้านสงครามเพื่อสันติภาพจนได้รับการเสนอชื่อโดย ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ให้เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ.2510
ท่านติช นัทฮันห์ ออกบวชเมื่ออายุได้ 16 ปี ในช่วง งครามเวียดนาม (พ.ศ.2503-2518) ท่านออกจากวัดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและรณรงค์ต่อต้านสงคราม ในปี พ.ศ.2509 ท่านเดินทางไป หรัฐอเมริกาตามคำเชิญของสมาพันธ์เพื่อการสมานไมตรี ในครั้งนั้นท่านได้กล่าวถึงความเจ็บปวดของชาวเวียดนามอันเกิดจากผลของสงคราม การเคลื่อนไหวของท่านทำให้รัฐบาลเวียดนามประกาศขู่ว่าจะจับกุม ด้วยเหตุนี้ท่านติช นัทฮันห์ จึงไม่อาจจะกลับบ้านเกิดได้ตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาไปปักหลักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมคือหมู่บ้านพลัมขึ้นในปี พ.ศ.2525 และพำนักอยู่ที่นั่นตราบกระทั่งปัจจุบัน
หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจากการยึดครองของฝรั่งเศส จนมีท่าทีว่าจะสูญสิ้นไป ในปี พ.ศ.2474 ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ มีการจัดตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาศึกษาขึ้นหลายแห่งที่เมืองไซง่อน เมืองเว้ (อานัม) และเมืองานอย โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ มีการปฏิรูปพระวินัยของสงฆ์และส่งเสริมให้พระภิกษุศึกษาพระพุทธศาสนาแบบใหม่ ได้จัดพิมพ์วารสารและแปลคัมภีร์ต่างๆ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งนั้นประสบความสำเร็จมากสามารถเปลี่ยนความคิดของปัญญาชนผู้ผิดหวังจากวัตถุนิยมตะวันตก ให้หันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนาได้มากมาย
ในปัจจุบันชาวเวียดนามนับถือพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และขงจือ เป็นการนับถือแบบผสมผสาน มีการเปิดสอนพระพุทธศาสนาขึ้น ณ มหาวิทยาลัยวันฮันห์ จัดตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนาม ปัจจุบันเปิดสอน 4 คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะภาษาศาสตร์ โดยคณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา มี 9 ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั่วไป พระพุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออกปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา